ขวางโหวต‘พิธา’ซํ้า ส.ว.-พรรคร่วมยันขัดข้อบังคับ‘วันนอร์’โยนสภาชี้

ประชุมวิป 3 ฝ่ายไร้ทางออก “วันนอร์” รอฟังเสียงสมาชิกหน้างานก่อนตัดสินใจเรื่องโหวตนายกฯ  ชื่อซ้ำ “พิธา” รับกังวลใจหากชงชื่อเดิมไม่ได้ ส่งคำหวานเพื่อไทยบอกลงเรือลำเดียวกันแล้ว หากไปไม่ถึงเก้าอี้ก็ต้องร่วมรัฐนาวาเดียวกัน “ชัยธวัช” ตีเส้นหากรื้อมาตรา 272 บรรจุไม่ทันก่อนโหวตรอบ 3 ให้เป็นหน้าที่ พท.จัดการ  “ชลน่าน” โวหากส้มหล่นต้องรื้อเอ็มโอยู พร้อมเติมพรรคที่ 9 และ 10 “อุ๊งอิ๊ง” ตีปี๊บล่วงหน้าส่งชื่อ “เศรษฐา” พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติย้ำชัดไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566  ยังคงมีความต่อเนื่องในการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันพุธที่ 19 ก.ค. เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 2

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มาทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมคณะกรรรมการประสานงาน 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายวุฒิสภา, ฝ่าย 8 พรรค และฝ่าย 10 พรรค เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมดังกล่าว โดยนายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค.  ว่าต้องยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่กำหนดห้ามเสนอญัตติชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ เพราะมีความเห็นอีกฝ่ายระบุว่า เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อ 41 โดยได้แยกเป็นอีกหมวดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งตรงกับหมวด 9 ข้อ 136-139 อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามเสนอชื่อซ้ำ ดังนั้นจึงต้องฟังเสียงของสมาชิกรัฐสภาให้ครบถ้วนเสียก่อน

เมื่อถามถึงการชี้ขาดนั้น ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยเองหรือต้องขอมติจากที่ประชุม นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่าต้องรับฟังข้อมูลจากสมาชิกทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน และต้องดูหน้างานอีกครั้งว่าจะวินิจฉัยเองหรือต้องขอมติจากที่ประชุม ทั้งนี้ ในการหารือวิป 3 ฝ่าย มีผู้เสนอว่าจะให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ก็ต้องดูหน้างานอีกเช่นกัน

ถามว่า ในวันที่ 19 ก.ค. หากชื่อนายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเพื่อโหวตนายกฯ ต่อได้เลยใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้

เมื่อถามถึงญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สามารถพิจารณาในวันที่ 19 ก.ค.ได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่สามารถพิจารณาได้ เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติและชื่อผู้เสนอ ซึ่งเมื่อโหวตนายกฯ เสร็จสิ้น สามารถพิจารณาได้เลย แต่ถ้ายังไม่จบ กระบวนการบรรจุก็ต้องอยู่ในลำดับหลังการเลือกนายกฯ

ด้านนายพิธา กล่าวถึงเสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต้องมีจำนวนเท่าไหร่ ว่า หากเพิ่มขึ้น 10% หรือ 345-350 เสียง ก็เป็นทิศทางที่ดี ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 นั้น อย่างที่เคยกล่าวไปว่า ไม่ได้เป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือถ่วงเวลา แต่เป็นการตัดสินใจด้วยสถิติ

ถามอีกว่า ในการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 แม้เสียงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่ผ่าน ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า หากได้ผลลัพธ์ เราก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ได้เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ หากไม่ได้ผลลัพธ์อะไรก็แสดงว่ายุทธศาสตร์ที่ผ่านมาไม่สามารถต้านแรงสกัดได้ ก็ต้องยอมให้ประเทศชาติเดินหน้าไปต่อได้

เมื่อถามว่า หากพรรค ก.ก.จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องแถลงด้วยตนเองก่อนหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องเป็นอย่างนั้น

‘พิธา’ เริ่มเกาะขาเพื่อไทย

เมื่อถามถึงการใช้ข้อบังคับที่ 41 ไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ นายพิธายยอมรับว่า   กังวลใจถ้าจะทำเช่นนี้เพื่อสกัดกั้นตนเองคนเดียว ควรให้เป็นเรื่องของระบบทั้งหมด หากมัดตนเองและพรรคก้าวไกล ก็จะมัดพรรคอื่นๆ ด้วย หากเป็นในเชิงรัฐศาสตร์ ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องมีการเสนอชื่อ หากเป็นญัตติหมด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งศาล ฝ่ายบริหาร หรือสภาแล้วโดนบังคับเช่นนี้หมด ก็จะเป็นการผูกที่แก้มัดได้ยากมาก และจะเป็นปัญหาต่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปในอนาคต

ถามถึงการปรับเอ็มโอยูเพื่อดึงพรรคที่ 9 และ 10 เข้ามาร่วมนั้น มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ตอนนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร

เมื่อถามว่า หากพรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรค ก.ก.ต้องอยู่ในสมการเดียวกันหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ในเมื่อเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งโดย 8 พรรค มีเอ็มโอยูชัดเจน เราทำงานกันมาถึงขนาดนี้ ในฐานะที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถไปต่อได้ ก็ต้องส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับสอง เราลงเรือลำเดียวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลความหวังของประชาชน

นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. ยืนยันว่า  กระบวนการเลือกนายกฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จะไปตีความข้อบังคับให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ และมันจะสร้างบรรทัดฐานที่มีปัญหาได้ในอนาคต จึงต้องพยายามใช้เหตุผล โดยขึ้นกับประธานในที่ประชุม และคงต้องติดตามหน้างาน

เมื่อถามต่อว่า หากที่ประชุมรัฐสภามีความเห็นไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 จะให้สิทธิพรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อเลยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันใน 8 พรรคร่วม ทั้งนี้พรรค ก.ก.มุ่งมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จให้ได้ หากมีการโหวตไปแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และหากวาระเพิ่มเติมที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่สามารถบรรจุได้ทันก่อนเลือกนายกฯ ครั้งที่ 3 หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็คงต้องเปิดโอกาสให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท.

เมื่อถามย้ำว่า ตัวเลขที่มีนัยสำคัญเป็นจำนวนเท่าไหร่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงไม่ต้องกะเกณฑ์ชัดเจน เราเห็นตัวเลขเราก็พอจะประเมินได้ ถ้าตัวเลขขยับขึ้นมาคนก็มีความหวัง

ถามต่อว่า หากตัวเลขขยับ การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ถ้าไม่มีโอกาสเป็นไปได้จริงๆ ก็คงต้องเปิดโอกาสให้ประเทศ อย่าให้การเมืองเดินถึงทางตัน แม้ว่าเรามีสิทธิโดยชอบธรรม แต่เข้าใจดีว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเท่าไหร่ คงพยายามอย่างเต็มที่ คิดว่าเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องจับไว้ให้มั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

เมื่อถามว่า พรรค พท.ได้บอกหรือไม่ว่าตัวเลขที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่ได้คุยกันขนาดนั้น โดยสรุปคือมีนัยสำคัญมองเห็นความเป็นไปได้ ทั้งนี้ ตัวเลข 344 ที่นายพิธาได้ระบุในการแถลงเมื่อวันที่ 17 ก.ค. อาจเป็นเพราะนายพิธายกตัวเอง แต่ไม่ได้มีสูตรตายตัวอย่างนั้น คิดว่าตัวเลขที่ออกมาก็คงจะเห็น และหากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เข้าก่อน การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 เราก็อาจดูตรงนั้นอีกเล็กน้อย

ก.ก.บอกแค่เช็กเสียง ปชป.

นายชัยธวัชยังกล่าวถึงกระแสข่าวได้ติดต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน วันก่อนได้โทร.หานายเฉลิมชัยจริง แต่นายเฉลิมชัยไม่ได้รับสาย และอีกเบอร์หนึ่งปิดเครื่อง จึงไม่ได้ติดต่อไปอีก เจตนาคืออยากจะเช็กท่าทีของพรรค ปชป. ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร หากเสนอแคนดิเดตนายกฯ จากเสียงข้างน้อย ยืนยันว่าไม่ได้รวมเสียงโหวต เพราะถ้ามีเรื่องนี้คงต้องเอาเข้าที่ประชุมพรรค รวมถึงเอาไปหารือในที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลด้วย

ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. กล่าวถึงกรณีนายพิธาระบุว่าหากโหวตนายกฯ รอบ 2 คะแนนไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็เป็นหน้าที่พรรค พท. ว่านายพิธาคงพูดไปตามระบบ แต่ขอให้ทำให้เต็มที่ก่อนในวันที่ 19 ก.ค. ยืนยันพรรค พท.สนับสนุน แต่ที่สุดแล้วผลจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู

เมื่อถามว่า ส่วนของแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.ทั้ง 3 คนได้พูดคุยกันบ้างหรือไม่ หากถึงเวลาพรรค พท.ต้องเสนอชื่แคนดิเดตจะเป็นใคร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า พรรค พท.ก็จะเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน อันนี้เป็นที่ชัดเจน แต่เราทำไปทีละขั้น

 “ตอนนี้ประเทศชาติไม่ง่าย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าตัวเลือกที่สุดกับประเทศ ณ ตอนนี้คือคุณเศรษฐา ที่จะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าไม่ได้เราก็ทำงานร่วมดันในการช่วยประเทศชาติ ทั้งนี้ หากเป็นหัวหน้ารัฐบาลและต้องเลือกจากเรา เราก็มองว่าคือคุณเศรษฐา” น.ส.แพทองธารกล่าว

เมื่อถามว่า ท่าที ส.ว.หากยกมือสนับสนุนพรรค พท.ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องที่ 8 พรรคร่วม และกรรมการบริหารพรรคคุยกัน เราจะทำไปทีละขั้นตอน เรื่องนี้มันอ่อนไหวมาก หากพูดอะไรออกไป ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบแบบนั้น และยังไม่ได้วางฉากทัศน์แบบนั้น

น.ส.แพทองธารยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการเดินทางกลับประเทศเพื่อรับโทษของนายทักษิน ชินวัตร อดีตนายกฯ  ว่า คงเลื่อนกลับจากภายในเดือน ก.ค.ออกไปนิดหน่อย เพราะสถานการณ์การเมืองยังเลือกนายกฯ ไม่เรียบร้อย และจากการคุยกับนายทักษิณล่าสุด ก็บอกว่ารอได้ รอให้เหตุการณ์ราบรื่น ยังไงเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงกรณีถ้าต้องเสนอชื่อนายพิธาโหวตเป็นนายกฯ รอบสาม ต้องได้คะแนนรอบสองเท่าไหร่ ว่าพรรค พท.และ ก.ก.เคยคุยกัน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท.ได้ยกตัวอย่างถึงการโหวตรอบสามว่าต้องมีแนวโน้มสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งนายพิธาไปบอกว่าควรมีคะแนนเพิ่มขึ้น 10% หรือ 344-345 คะแนน แต่ถ้าคำว่า 10% หมายความว่าต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปร่วมกับ 324 เสียงเดิมในรอบแรก ก็ต้องได้คะแนนถึง 356-360 ถึงเป็นไปตามเงื่อนไขนายพิธาพูดเอาไว้

  “พรรคเพื่อไทยเคารพพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการในการให้พรรคอันดับสองขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะมาทึกทักว่าเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมต้องรอให้มีแถลงการณ์จากพรรคอันดับหนึ่งมอบให้พรรคอันดับสองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงจะบอกได้ว่าเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ” นพ.ชลน่านกล่าว

จ่อแก้เอ็มโอยูเพิ่มเติมพรรค

 เมื่อถามว่า พรรค พท.ต้องการเวลาหาเสียงสนับสนุนนานเท่าไหร่เพื่อตั้งรัฐบาล หากชื่อของนายพิธายังไม่ผ่านการโหวตในรอบสอง นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคก่อน โดยถ้าได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระเอ็มโอยูทั้ง 8 พรรคหลายเรื่องต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ยกเลิก เช่น ชื่อนายพิธาต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 การหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภาบรรจุญัตติเลือกนายกฯ ในสัปดาห์หน้าเราก็พร้อม

 หัวหน้าพรรค พท.ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธารระบุว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเสนอชื่อโหวต หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ ว่า เป็นความเห็นของ น.ส.แพทองธาร ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคก่อน ส่วนชื่อของนายเศรษฐาจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ได้ทันทีหรือไม่ หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่านนั้น  ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป  เพราะชื่อนายเศรษฐาไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุมของ 8 พรรคร่วมเพื่อหารือกันมาก่อน ซึ่งต้องรอดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 ก.ค.อีกครั้ง

ขณะที่นายเศรษฐาได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า น.ส.แพทองธารได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว และเมื่อถามย้ำถึงการเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นขั้นตอนของ กก.บห. ซึ่งเรื่องปากท้องก็สำคัญอยู่

ต่อมาพรรค พท.มีการประชุม ส.ส.พรรค โดยใช้เวลาประชุมเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้น นพ.ชลน่านแถลงว่า ที่ประชุมมีมติสำคัญเห็นชอบเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30 โดย 8 พรรคร่วมขอให้พรรค พท.เป็นผู้เสนอชื่อ จึงได้มอบหมายให้นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นผู้เสนอชื่อ และหากมีสมาชิกรัฐสภาตั้งญัตติถามว่าการโหวตนายพิธาเป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ และขอให้ลงคะแนน เราจะเห็นค้านผู้เสนอญัตตินี้ เพราะการเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ โดย ส.ส. 141 เสียงของพรรค พท.พร้อมขานชื่อนายพิธา

เมื่อถามว่า หากในวันที่ 19 ก.ค.ไม่สามารถโหวตนายพิธาได้อีก พรรคร่วมจะดำเนินการอย่างไรต่อ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องรอดูว่าพรรคแกนนำอันดับหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไร และเขาจะแถลงว่าเมื่อรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ และให้พรรคอันดับสองมาดำเนินการ ซึ่งถ้าหากประกาศออกมาแบบนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพรรคอันดับหนึ่ง และการพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วม ซึ่งขณะนี้พรรคยังไม่มีการเตรียมการอะไร

สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้น พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) อย่างอารมณ์ดี ทักทายสื่อมวลชนโดยกล่าวสวัสดีถึง 3 ครั้ง แต่ปฏิเสธจะตอบคำถามเรื่องจะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หากมีการเสนอชื่อโหวตชิงนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.หรือไม่

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. โดยยังปฏิเสธว่าไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตรในกรณีการเสนอชื่อชิงนายกฯ และเมื่อถามว่านายกฯ จะช่วยพูดคุยกับ ส.ว. หรือไม่ เพราะมีการมองว่านายกฯ เป็นคนจัดตั้งขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เหรอ เขาก็มีวุฒิภาวะของเขาละมั้ง ไม่ต้องไปสั่งอะไรเขาหรอก”

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ในการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยได้ปรารภถึงเรื่องการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างอารมณ์ดี โดยหลังประชุมเสร็จได้ชวนบรรดารัฐมนตรีรับประทานอาหารกลางด้วยกัน โดยระบุว่า “นานทีๆ ได้มาประชุมชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 เลยทำให้คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่อยู่กันแบบอบอุ่น”

ส่วน พล.อ.ประวิตรที่เข้าร่วมประชุม ครม.วันนี้ก็อารมณ์ดี แต่ปฏิเสธตอบคำถามในกระแสข่าวชิงเก้าอี้นายกฯ และหลังประชุม ครม.ก็ไม่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการเมืองอีกเช่นกัน

ป้อมกำชับเข้าร่วมประชุม

ต่อมาที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตรเป็นการประชุม กก.บห. และ  ส.ส.ของพรรค เพื่อหารือถึงแนวทางการโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง โดยหลังประชุมเสร็จ พล.อ.ประวิตรยังคงมีสีหน้านิ่ง และปฏิเสธตอบทุกคำถาม ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า พรรคจะร่วมแสดงความคิดเห็นในการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำว่าทำไม่ได้ แต่ก็ต้องฟังในที่ประชุมว่ามีเหตุผลอื่นหรือไม่ และหากไม่สามารถโหวตนายพิธาได้เพราะเสนอชื่อซํ้า ก็คงมีสองแนวทางคือ 1.ปิดประชุมและนัดประชุมใหม่ 2.เสนอชื่อบุคคลอื่นให้ไม่ซ้ำกับครั้งที่แล้ว โดยพล.อ.ประวิตรได้ฝากในที่ประชุม ส.ส.ของพรรค ว่าให้ ส.ส.เข้าประชุมพร้อมเพรียงกัน ให้รับผิดชอบต่อหน้าที่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องดูหน้างาน เนื่องจากไม่มีข้อสรุปแน่นอน แต่ขอยืนยันเราไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด

ด้านนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.  อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการประชุมในวันที่ 19 ก.ค. ยืนยันว่า จะไม่มีการเนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท.โหวตแข่ง เพราะต้องให้พรรคอันดับหนึ่งจัดก่อน หากพรรคอันดับหนึ่งจัดไม่ได้ก็ให้พรรคอันดับสองและสามจัด 

ต่อมาในการประชุมพรรค ภท. โดยก่อนเริ่มการประชุม นายอนุทินได้ขอให้ ส.ส.พรรคปรบมือแสดงความชื่นชมให้แก่นายชาดาในการอภิปรายแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ และทำให้เห็นจุดยืน เหตุผล และเจตนารมณ์ของพรรคที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ก็ตาม ที่มีความต้องการจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย  แถลงผลภายหลังการประชุมว่า พรรคย้ำ 2 จุดยืนของ ภท.คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ พรรคเห็นในทางทิศทางเดียวกับ ส.ว.ว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯ  ซ้ำได้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41  ดังนั้นหากที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. หรือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังมีความเห็นที่จะเสนอชื่อนายกฯ คนเดิมซ้ำ ทางพรรคภูมิใจไทยได้เตรียมผู้อภิปรายแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้แล้วแน่นอน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงจุดยืนพรรคว่า การไม่แตะมาตรา 112 เป็นจุดยืนของ ปชป.ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา  (ชทพ.) กล่าวเช่นกันว่า จุดยืนของ ชทพ. เราให้ความสำคัญเรื่องมาตรา 112 สูงสุด ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยไม่มีแนวทางแก้ไขมาตรา 112 น่าจะคุยกันได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน ยังไม่ได้มีใครจากติดต่อมา

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ยืนยันแนวทางและนโยบายของ รทสช. ว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม คือ 1.ไม่เสนอแคนดิเดตนายกฯ ของ รทสช.ทั้ง 2 คน เพราะเราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 2.เราจะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่มีนโยบายหรือแนวทางการทำงานที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ​ เปิดเผยภายหลังการประชุม ส.ส.ว่า ได้มีการหารือถึงเรื่องญัตติการโหวตเลือกนายกฯ ที่มีการโหวตนายพิธาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ดังนั้นในการประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค. ถ้ายังมีการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ อีก พรรคถือว่ายังเป็นสถานการณ์เดิม โดยพรรคได้มอบหมายให้นายวิทยา​ แก้วภราดัย​ รองหัวหน้าพรรค​ พร้อมด้วยนายเอกนัฏ​ พร้อมพันธุ์​ เลขาธิการพรรค และตน เป็นผู้อภิปรายชี้แจง​ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถนำญัตติเดิมขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้ ทั้งนี้หากที่ประชุมสภาได้มีมติให้ญัตติเดิมตกไป​ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับ​ 2 เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แต่ถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วม รทสช. จะไม่โหวตให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้อง​ 3 สถาบันหลัก​ ชาติ​ ศาสนา​ และพระมหากษัตริย์

วันเดียวกัน จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคำร้องที่ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 6 ) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่นั้น พบว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็มีการนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณด้านหน้าห่างจากทางเข้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญราว 50 เมตร พร้อมนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือจีโน่ และรถเติมน้ำ พร้อมรถบรรทุกควบคุมผู้ต้องหาขนาดใหญ่ 2 คันมาจอดสแตนด์บายไว้

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ออกประกาศเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย โดยห้ามผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงานหรือติดต่อราชการ และต้องผ่านการตรวจบุคคลสิ่งของที่นำมาตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัย โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เวลา 18.00 น. ถึง 20 ก.ค. เวลา 24.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง