พปชร.-ปชป.เดือด! เลือกซ่อมชุมพร-สงขลา ศาลสั่ง‘5กปปส.’พ้นส.ส.

ศาล รธน.มติเอกฉันท์ 5 อดีต กปปส.หลุดเก้าอี้ ส.ส. "ถาวร" น้ำตาตกใน เจ็บปวดสุดในชีวิตการเมือง จับตาเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา วัดใจ "บิ๊กป้อม" จะให้ พปชร.หลีกทางไม่ส่งคนลงสู้จุลใสแฟมิลีหรือไม่ หลังลือสัญญาใจยกทีมซบ พปชร.รอบหน้า แต่กลุ่ม ส.สใต้ หนุนส่งคนลงชน ปชป. สงขลาส่อเดือด! พรรคร่วม รบ.รบกันเอง

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลง จากกรณีศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา และขังผู้ถูกร้องทั้ง 5 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม้ต่อมาผู้ถูกร้องทั้ง 5 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งการรับฟังคำวินิจฉัยวันนี้มีเพียงนายพุทธิพงษ์และนายถาวรที่เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ด้วยคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าระหว่างการพิจารณาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 มีพระบรมราชโองการให้ผู้ถูกร้องที่ 2, 4 และ 5 พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ศาล รธน.จึงสั่งไม่รับคำร้องกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของผู้ถูกร้องที่ 2, 4 และ 5 และวันที่ 31 พ.ค.64 มีประกาศสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ถูกร้องที่ 5 มีหนังสือขอลาออกจากการเป็น ส.ส. ตั้งแต่ 29 พ.ค. 64 เพื่อให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปของพรรคพลังประชารัฐ เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าแม้ผู้ถูกร้องที่ 5 ลาออกจาก ส.ส.เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) แต่ยังมีเหตุให้พิจารณาวินิจฉัยคดีต่อไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51

ศาลกำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4) เป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 96 (1) (2) (4) อนุมาตรา (6) ซึ่งบัญญัติว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และมาตรา 96 บัญญัติว่า ผู้มีลักษณะต่อไปนี้ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้าม เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลนั้นต้องมีความประพฤติและคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.จึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มาตรา 96 (2) และมาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่ในหมายของศาล โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญย้ำประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัยระบุตอนหนึ่งว่า การที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าการที่ศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ไม่ใช่การคุมขังโดยหมายของศาลตามมาตรา 98 (6) นั้น ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาและออกหมายขังระหว่างรออุทธรณ์เป็นการขัดขวาง ส.ส.จะมาประชุมสภานั้น บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครอง ส.ส.ระหว่างพิจารณาคดี แต่ในกรณีการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นจนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาย่อไม่อาจอ้างความคุ้มครองได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (4) (6) บัญญัติไว้เพื่อควบคุมคุณสมบัติของบุคคลก่อนการสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น เห็นว่าหาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (4) (6) ระหว่างดำรงตำแหน่ง ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงระหว่างดำรงตำแหน่งได้ ไม่ใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และข้อโต้แย้งที่อ้างว่าคดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นคดีถึงที่สุดนั้นฟังไม่ขึ้น

"อาศัยเหตุผลข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) ประกอบมาตรา 96 (2) และสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 7 เม.ย.2564 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธ.ค.2564" คำวินิจฉัยระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้มีตำแหน่งของ ส.ส.เขตว่างลง ในพื้นที่เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา และให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย ส่วนตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีลำดับถัดไปของพรรคการเมืองนั้นมาเป็น ส.ส.แทน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐคือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คือ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์

หลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยดังกล่าว นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.เขต 6สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า แม้จะยอมรับโดยหลักการ แต่เหตุผลตนไม่เชื่อถือ เมื่อศาลใช้แนวทางอย่างนี้ต่อไป ถ้าหากว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐจับกุม ส.ส.สัก 20 คนขังสัก 1 นาที ส.ส.เหล่านั้นก็จะขาดการเป็นสมาชิกภาพ ไม่สามารถประชุมลงมติไม่ได้ ก็จะมีการกลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตามยอมรับโดยดุษณีภาพ ซึ่งจะไปร้องแรกแหกกระเชอไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างให้สัมภาษณ์ นายถาวรได้นำบัตร 3 ใบ คือบัตรประจำตัว ส.ส.สงขลา, บัตรรัฐมนตรีช่วยคมนาคม และบัตรสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มาโชว์ให้สื่อดู พร้อมบอกว่าเจ็บปวดมากสำหรับชีวิตนักการเมือง เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2511 ถึงวันนี้ก็ 53 ปี เจ็บปวดมากสำหรับชีวิตนักการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าตนเป็นผู้ที่มีความมัวหมอง มีความไม่น่าไว้วางใจ มีความน่ารังเกียจจากการกระทำความผิด คุณไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นนักการเมือง ที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

"ด้วยน้ำตาตกใน ด้วยอกระทม ด้วยความเจ็บปวด ที่ไม่มีคำบรรยายใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะบอกพี่น้องพรรคประชาธิปัตย์ บอกกรรมการบริหารพรรค บอกบรรพบุรุษของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าผมสิ้นแล้วซึ่งเกียรติยศที่จะเป็นสมาชิกพรรคด้วยความวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องกราบขออภัยจริงๆ ที่ทำให้พรรคมัวหมอง ต้องกราบขอโทษผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่ทำให้ท่านผิดหวัง” นายถาวร กล่าวด้วยเสียงสั่นและน้ำตาคลอ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร จะมีผู้แสดงความจำนงยื่นใบสมัครในวันที่ 9 ธ.ค. ที่พรรค ปชป.

มีรายงานว่า การเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา เขตการเลือกตั้งที่ 6 นั้น นางสุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา และภรรยาของนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หรือนายกชาย จะลงสมัครแทนนายถาวร ส่วนการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร พบว่านายอิสระพงษ์ มากอำไพ เลขานุการนายก อบจ.ชุมพร จะเป็นผู้สมัครเลือกตั้งแทนนายชุมพล ซึ่งเป็นหลานภรรยาของลูกหมี ชุมพล ส่วนคนที่ขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทนนายอิสสระ สมชัย คือนายจักพันธ์ ปิยพรไพลูย์ หรือ ส.จ.เซ้ม เจ้าของโกวเซ้มฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ชนชื่อดังระดับประเทศ เป็นหลานชายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจักพันธ์เคยเป็น ส.ส.ได้ 10 วัน แต่สุดท้ายก็ต้องหลุดจาก ส.ส. เพราะ กกต.มีการคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รอให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกันก่อน ส่วนจะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อไหร่นั้น ยังไม่รู้เลย เมื่อถามว่ากรณีนี้ต้องให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นเจ้าของพื้นที่เก่าหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องดูพรรคก่อน ต้องคุยกันในพรรคก่อน

ส่วนนายวันชัย ปริญญาศิริ ส.ส.สงขลา พรรค พปชร. ในฐานะคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง กล่าวว่า ต้องรอหัวหน้าพรรคจะมีมติอย่างไร ตอนนี้ในพรรค พปชร.มีคนประสงค์ลงหลายคน ต้องดูว่าใครที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

แหล่งข่าวจาก พปชร.ระบุว่า การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมทั้งสองจังหวัดดังกล่าว มีปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาคือ ทั้ง 2 พื้นที่เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และไม่ให้มีปัญหาในภายหลังตามมา อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.ภาคใต้ของพรรค พปชร.หลายคนเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจส่งผู้สมัคร ส.ส.เลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 เขต เพราะจะได้เป็นการวัดกระแสนิยมของพรรคในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ไปในตัว แต่สุดท้ายผู้ใหญ่ในพรรคจะเป็นคนตัดสินใจ เนื่องจากอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 เขตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะนายชุมพล ที่เพิ่งจะไปต้อนรับ พล.อ.ประวิตรระหว่างการลงพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้จากกลุ่ม 14 ส.ส.ภาคใต้ พปชร. ว่า พล.อ.ประวิตร อาจจะให้ พปชร.ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หลังมีข่าวลือในพรรค พปชร. เรื่องสัญญาใจว่ากลุ่มลูกหมี หรือจุลใสแฟมิลีชุมพร อาจจะพาทีมของตัวเองรวมถึงพี่ชาย ลูกช้าง สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร เขต 3 พรรครวมพลังประชาชาติไทยไปอยู่กับพรรค พปชร.ทั้งหมดในการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา พปชร.ไม่สามารถเจาะพื้นที่ชุมพรได้แม้แต่เขตเดียว จากที่ส่งไป 3 เขต แต่ ส.ส.ภาคใต้ พปชร.บางส่วนไม่ค่อยเห็นด้วย และต้องการให้พรรคส่งคนลงที่ชุมพร เพราะยังไม่เชื่อว่ากลุ่มลูกหมีจะย้ายมา พปชร.จริง ขณะที่พรรคกล้าของนายกรณ์ จาติกวณิช ก็วางตัว พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือ ผกก.หนุ่ย ลงสมัครโดยมีการทำพื้นที่มาหลายเดือนแล้ว

ส่วนที่สงขลา มีข่าวว่านายอนุมัติ อาหมัด หัวหน้าทีมเลือกตั้งภาคใต้ พปชร.วางตัวผู้สมัครคนใหม่จากเลือกตั้งปี 2562 โดยจะดันนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ทายาทของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัท บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ บริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ที่มีโรงงานอยู่ที่สงขลาด้วยลงสมัคร โดยที่ผ่านมานายอนุกูลได้ขึ้นป้ายหาเสียงและทำพื้นที่มาหลายเดือนแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์