พท.แบะท่าให้ภท.จัดตั้งรัฐบาล

“ชลน่าน” แจงยิบเรื่องถกขั้วรัฐบาลเดิม ปูดหากหมดปัญญาหาเสียงเพิ่มอาจต้องให้พรรคลำดับ 3 ระบุ 25 ก.ค.เป็นวันชี้ขาดอนาคตของ 8 พรรคจะเอาอย่างไร เตรียมนำข้อเสนอ 5 พรรค-สว.เข้าที่ประชุมให้ก้าวไกลตัดสินใจเอง เตือนอย่าโลกสวยรอ 10 เดือนให้สภาสูงหมดวาระ “ก.ก.” ประชุมออนไลน์กอดขาเพื่อไทยแน่น แบะท่ายืดตั้งรัฐบาล 8 พรรคยาว อ้างเร่งรีบแต่ไม่สะท้อน 27 ล้านเสียงอาจเกิดปัญหา ยันไม่ผสมพันธุ์ “พปชร.-รทสช.”แน่ อนุทินชี้ไกลเกินไปเรื่องพรรคอันดับ 3 เป็นแกนนำ

เมื่อวันจันทร์ ยังคงมีความต่อเนื่องในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้เก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นอันดับ 2 เป็นแกนนำ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรค พท.ได้กล่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตอนหนึ่งว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการทำงานของพรรค 2 ประเด็น คือ 1.เราเชิญมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขของ 8 พรรค ซึ่งไปหาเสียงเพิ่ม ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งรัฐบาล และ 2.รูปแบบที่พรรคทำ หลายคนไปตีความว่าเราไปกดดัน ไปผลักดัน ซึ่งตอนแรกเราคิดถึงธรรมเนียมเดิม ก็กลัวจะตีความว่าเราไปส่งเทียบเชิญ คือถ้าจะเทียบเชิญไปร่วมรัฐบาลต้องไปหาเขา เหมือนไปสู่ขอ เลยต้องขอให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มาที่พรรค ดังนั้นสัญลักษณ์มันชัด

 นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า การพูดคุยกับ 5 พรรค วิธีการอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะ 5 พรรคล้วนไม่เอา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เหมือนให้พรรคเหล่านี้มาประกาศและกดดันพรรค ก.ก.ทางอ้อม ซึ่งยอมรับว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางความคิดของคน ทั้งนี้มีหลายพรรคมีเงื่อนไขเรื่องมาตรา 112 เรารับโจทย์ในทางประชุมว่า ไปถามในรายละเอียดว่าจะลดเงื่อนไขอย่างไร เพื่อให้ที่ประชุม 8 พรรคมาพิจารณา และเพื่อให้พรรค ก.ก.นำเอารายละเอียดเหล่านั้นไปพิจารณาว่าจะตอบคำถามตรงนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากทั้ง 5 พรรคแล้ว ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ไปตอบ 8 พรรคต่อไป ยอมรับว่าคำตอบก็คือไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 แต่ 4 พรรคมองว่าไม่สามารถร่วมงานกับพรรค ก.ก.ได้ เพราะแนวทางวิธีการไม่ตรงกัน มีแค่พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) เท่านั้นที่ร่วมงานกับพรรค ก.ก.ได้ แต่ต้องไม่แตะมาตรา 112

 “พยายามอยู่ว่าจะมีแนวทางใดที่ 8 พรรคร่วมยังอยู่ด้วยกัน หรืออย่างน้อยหลักสำคัญมีพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลจับกันอยู่ และพยายามมุ่งมั่นหาคะแนนเพิ่ม หรืออาจมีทางเลือกอื่นที่มีคนเสนออีก เช่นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคอันดับหนึ่ง เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดไม่ได้ ในเมื่อเราหมดปัญญาแล้ว ทำไมไม่ส่งต่อให้คนอื่น คือพรรคอันดับสาม นั่นหมายความว่าเรายกเสียงข้างมากเราไปให้เสียงข้างน้อย” นพ.ชลน่านกล่าว

 นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า มั่นใจว่าในวันที่ 25 ก.ค. ถ้าไม่มีข้อสรุปที่ดี ยังไม่ตัดสินว่าจะไปไหน เช่นพรรคเพื่อไทยกระโดดตั้งข้ามฟาก ซึ่งสมมุติฐานนี้ทุกฝ่ายทุกคนเห็นว่าไม่ดี เพราะเรามาจากประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ส่วนทางออกที่เสียน้อยที่สุด เช่นจำเป็นต้องเอาเสียงฝั่งโน้นมาบวก โดยมีเงื่อนไขที่ทุกพรรคพอรับได้ มันก็อาจเป็นทางออก ซึ่งทุกพรรคที่วางกติกาไว้ก็เพื่อบ้านเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างคำนึงถึงประโยชน์โดยรวม ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง ปลดเงื่อนไข และหันหน้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนไปก่อน มั่นใจว่าจะมีทางพอที่จะรับได้

25 ก.ค.ตัดสินอนาคต

 "วันที่ 27 ก.ค.จะขอเลื่อนการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วันที่ 25 ก.ค.จะเป็นตัวตัดสิน ถ้าวันที่ 25 ก.ค.ยังไม่มีแนวทางเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อาจเลื่อนไปสักสัปดาห์หนึ่งก่อนหรือไม่ ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนถ้าพรรคก้าวไกลยืนยันขอให้จับแน่น 8 พรรค ถ้ามีข้อเสนอเช่นนั้น เราต้องมาทำงานต่อว่าเราจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร ส่วนจะต้องให้พรรคก้าวไกลถอยอะไรหรือไม่ มองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นคนบอกกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่จะเอาข้อมูลข้อเท็จจริงให้ 8 พรรค และต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกลตัดสิน” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางเกาะกันให้แน่นจน ส.ว.หมดวาระ จะเป็นไปไม่ได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในมุมพรรคเพื่อไทย เราให้ลำดับความสำคัญน้อยสุด และไม่ควรจะเกิด ถ้าจะเกิดอย่างนั้น เราจะได้เพียงแต่ว่า เราจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ไม่มีมาตรา 272 มาเกี่ยวข้อง แต่การแลกอย่างนั้นมันจะคุ้มค่ากับการสูญเสียในระยะเวลา 10 เดือนหรือไม่ ถ้าคุ้มค่าก็สมควรกับการแลก

ต่อมา นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการประสานพูดคุยกับ สว. ว่ามีคณะทำงานไปพูดคุยรายบุคคล ไม่มีการเชิญมาลักษณะองค์กรหรือตัวแทน สว. ส่วนการพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมวันที่ 25 ก.ค.นั้น วาระสำคัญคือนำการบ้านที่ 8 พรรคร่วมมอบให้พรรคในฐานะพรรคแกนนำไปดำเนินการ สิ่งที่เราจะเสนอคือคำตอบของ สว.และ สส.ว่าตอบอย่างไร มีความเห็นเงื่อนไขอย่างไร

 “สว.หลายคนที่ผมได้พูดคุยก็ได้ยืนยันว่า ไม่ยึดติดว่าใครได้เป็นรัฐบาล แต่เจตนารมณ์คือยึดหลักการเดิม เหมือนที่ได้เสนอไปในรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค.” นพ.ชลน่านกล่าวถึงการสรุปเนื้อหาที่ได้พูดคุยกับ สว.ว่าจะพยายามทำให้เสร็จก่อนหารือกับ 8 พรรควันที่ 25 ก.ค.

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้เลื่อนโหวตออกไป 10 เดือนจนกว่า สว.หมดอำนาจ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร สิ่งที่เราต้องมาดูในรายละเอียดคือ ผลสัมฤทธิ์จะเป็นไปตามที่เราคาดหวังหรือไม่ ซึ่งระบบรัฐสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก แม้เราอยากจับมือกันไป 10 เดือน ถ้าเสียงข้างมากเขาไม่ยอม แทนที่จะได้สิ่งที่เราต้องการ เหมือนไปส่งเสริมสิ่งที่ทุกคนไม่อยากทำ ข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอด นี่คือผลกระทบทางการเมือง เป็นสิ่งที่พึงระวัง เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ ในทางการเมืองมันมีหลายมิติ ก็ต้องมาคิดกันว่าถ้าเราไม่ทำแพ็กกันแน่นอยู่แบบนี้ แล้วคนอื่นไม่มีวิธีคิดหรือ เขาก็มีวิธีคิด และเขาก็สามารถรวบรวมเสียงได้ในที่ประชุมรัฐสภา  ถามว่าเราทำอะไรได้ เราก็ต้องยอมรับ แม้แต่การโหวตข้อบังคับว่าการเลือกนายกฯ เป็นญัตติทั้งที่เราบอกว่าไม่ใช่ เมื่อแพ้เราก็ต้องยอมรับ

 ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพิจารณากรณีนายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค.ออกไปก่อนหากยังไม่พร้อม นพ.ชลน่านกล่าวว่า การเลื่อนประชุมเป็นอำนาจประธานรัฐสภา และขึ้นอยู่กับความเห็นวิปทั้ง 3 ฝ่าย อย่าง 8 พรรคร่วมเป็นเพียงความเห็นของหนึ่งใน 3 ที่จะเสนอ ถ้าเราพร้อมแต่อีกสองฝ่ายไม่พร้อม ประธานรัฐสภาก็สามารถเลื่อนได้ จึงต้องฟังความเห็นของทั้ง 3 ฝ่าย

เมื่อขอให้ขยายความที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หาก 2 พรรคหมดปัญญาจะมอบให้พรรคอันดับ 3 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่อยากขยายความเดี๋ยวตีความผิดอีก ความหมายคือทางเลือกมีคนเสนอเยอะ เพียงบอกว่าทางเลือกอื่นมีคนเสนอมาทำนองนี้ว่าเราหมดปัญญาแล้ว การมอบให้พรรคที่ 3 เป็นไปได้หรือไม่ จึงบอกไปว่ามันเป็นทางเลือกจะเกิดขึ้นหรือไม่เราไม่รู้ และยังพูดไปชัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้เสียงข้างน้อย

เมื่อถามย้ำว่า ให้จบที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราจะพยายามในฐานะแกนนำภายใต้ 8 พรรคร่วม

ปูดเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3

มีรายงานข่าวจากจากพรรค พท.แจ้งว่า หลังจาก สว.เปิดประเด็นขอเลื่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ ออกมา ทำให้พรรคต้องฟังความเห็นของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ก่อนเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายที่จะหารือกันวันที่ 26 ก.ค. เวลา 14.00 น. โดยหากเลื่อนโหวตนายกฯ คาดว่าจะนัดโหวตอีกครั้งวันที่ 3 ส.ค.

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีหลายพรรคประกาศไม่ร่วมงานกับพรรค ก.ก.ที่มีการแก้ไขมาตรา 112 ว่า เราเคยยืนยันมาหลายครั้งว่าการยกเรื่องมาตรา 112 มาเป็นแค่ข้ออ้าง ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่การตัดสินใจของพรรค พท. ส่วนท่าทีของ สว.ที่พรรคเพื่อไทยไปคุยและมีข้อเสนอแนะเรื่องนี้ เราก็จะรอฟังว่ารูปธรรมและรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องฟังข้อเสนอก่อน ส่วนจะมีการถอยในมาตรา 112 หรือไม่อยู่ที่ข้อเสนอ

เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วพรรค พท.จะปล่อยมือพรรคก้าวไกล นายชัยธวัชกล่าวว่า อย่าเพิ่งรีบสรุป พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้พูดแบบนั้น ส่วนที่มีคนมองว่าพรรค พท.ไปพูดคุยกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม จะเป็นการยืมมือเพื่อเขี่ยพรรค ก.ก.หรือไม่นั้น คงห้ามประชาชนไม่ให้มองแบบนั้นไม่ได้ แต่สำหรับก้าวไกลต้องรอฟังจากพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอในวันที่ 25 ก.ค.

เมื่อถามว่า ที่ว่าพรรคเพื่อไทยต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์ตรงกับ 5 พรรคการเมือง หรือ 8 พรรคการเมือง หมายถึงอะไร นายชัยธวัชกล่าวว่า พูดในความหมายที่หากไม่มีทางอื่น ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยเหตุผลนี้ พรรคที่คิดว่าเพื่อไทยไปเจรจาแล้วถึงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเลือก ซึ่งยังไม่คิดว่าถึงคราวนั้น แต่หากต้องเลือก ในเมื่อพรรคจำนวนหนึ่งบอกว่าอุดมการณ์และแนวทางการทำงานการเมืองไม่ตรงกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยก็จำเป็นต้องเลือก หากไปถึงสถานการณ์เช่นนั้นจริง แล้วพรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์และแนวทางการทำงานทางการเมืองใกล้เคียงกับใครมากกว่า

ถามว่า ในการประชุมหารือ 8 พรรคร่วมในวันพรุ่งนี้จะมีการฉีกเอ็มโอยูหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น และเมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเลือกแฟนใหม่แล้วทิ้งแฟนเก่าเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล นายชัยธวัชกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยที่จะตัดสินใจ

ถามถึงการรอให้ สว.หมดวาระอีก 10 เดือนจึงตั้งรัฐบาลได้ นายชัยธวัชกล่าวว่า 10 เดือนอาจนานไป ตอนนี้เรายังเชื่อว่าถ้า 8 พรรคร่วมจับมือกันแน่น การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปได้ยาก

ก้าวไกลแบะท่ายืดตั้งรัฐบาล

ต่อมาพรรค ก.ก.ได้จัดหารือทางออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และการกำหนดทิศทางการร่วมรัฐบาลของพรรค ก.ก. โดยได้ข้อสรุปว่า ยืนยันจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.พรรค พปชร.และ รทสช.เป็นหัวหอกหลักในการยึดอำนาจ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ซ้ำยังมีกระบวนการสืบทอดอำนาจ 2.พรรคมีจุดยืนชัดเจนต่อประเด็นการสืบทอดอำนาจ และประกาศตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2565 ว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ 3.ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม

4.แม้กลไก สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะสกัดขัดขวางนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ให้ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ยืนยันว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่นายพิธาเป็นนายกฯ หรือก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วย 8 พรรคตามมติประชาชน 5.แม้การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด จะมีความสำคัญ แต่เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยจนอาจยากต่อการเรียกกลับคืน และ 6.พรรคยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชนไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรค พปชร.หรือ รทสช. โดยจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.เพื่อโหวตนายกฯ รอบ 3 ออกไปก่อน ว่าเรื่องนี้ให้ฝ่ายกฎหมายประชุมกันในวันที่ 24 ก.ค.เพื่อสรุปผลมาแจ้งให้ทราบ จากนั้นจะนำเรื่องไปหารือกับวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค.ต่อไป รวมถึงต้องฟังผลการหารือของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งวันที่ 25 ก.ค.อาจจะชี้แจงในรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

เสี่ยหนูปัดเรื่องไกลตัว

สำหรับความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ นั้น น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ฝากบอกสื่อมวลชนว่า ปล่อยให้เขาตั้งรัฐบาลกันไป เราก็ดูแลบ้านเมือง ทำหน้าที่ของเรา แต่อยากให้อยู่ในความสงบ เพราะทุกอย่างกำลังจะดี เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวก็กำลังมา

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสการจัดตั้งรัฐบาลอาจมาถึงพรรคอันดับ 3 ว่า ยังไม่เห็นข่าวนี้ มันยังไกลตัว ล่าสุดเพิ่งไปหารือกับผู้บริหารจากพรรคอันดับ 2 บรรยากาศเป็นไปด้วยดี

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการส่งไม้ต่อจากพรรคเพื่อไทย พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ตอนนี้ขอให้กำลังใจพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก่อนเป็นมารยาท เป็นการให้เกียรติพรรคอันดับที่สูงกว่าเรา ที่ไปหารือกันแค่ไปบอกว่าภูมิใจไทยติดขัดเรื่องอะไรบ้าง เราให้กำลังใจกันและกัน ยังไม่ถึงบทบาทที่พรรคต้องมาคิดเรื่องตั้งรัฐบาล การพูดคุยที่ผ่านมาถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะในอดีตถ้าอยู่คนละขั้วก็คุยกันลำบาก แต่แบบนี้ถือว่าได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน

เมื่อถามถึงกรณีให้รอ 10 เดือนหลัง สว.หมดอำนาจ นายอนุทินตอบว่า ไม่ควรต้องปล่อยเวลาให้นานขนาดนั้น บ้านเมืองต้องมีรัฐบาล คนมาทำงานการเมืองต้องเสียสละและต้องคิดถึงชาติบ้านเมืองให้มากๆ ต้องยึดบ้านเมืองเป็นหลัก

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงการหารือกับพรรค พท.ว่า เป็นไปตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคได้แสดงจุดยืนไปแล้ว แต่จะร่วมกันหรือไม่ต้องมาหารือร่วมกันภายในพรรคก่อน ซึ่งจะมีการประชุม สส.ในวันพุธที่ 26 ก.ค. ซึ่ง สส.ภายในพรรคเป็นเอกภาพ ฉะนั้น การพูดคุยเจรจาถ้ามีเงื่อนไขทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ก็คิดว่า สส.ของพรรคไม่มีปัญหา

เมื่อถามถึงแนวคิดของ นพ.ชลน่านเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคในลำดับที่ 3 นายธนกรกล่าวว่า เป็นไปตามหลักการทั่วไป ซึ่งก็เห็นใจพรรคเพื่อไทย เหมือนมติของ 8 พรรคร่วมให้ไปแสวงหาคะแนนเพิ่มในแนวทางต่างๆ แต่เมื่อ พท.ไปแสวงหา แกนนำพรรคก้าวไกลก็กลับเหน็บแนม และสมาชิกพรรคก้าวไกลก็บุกไปยังที่ทำการพรรค มีการใช้แป้งซึ่งไม่เหมาะสม หัวหน้าพรรค ก.ก.ต้องเข้าใจระบอบประชาธิปไตย และควรทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคที่รักใคร่ชอบพอ เพราะบรรยากาศแบบนี้เหมือนท่านปล่อย ซึ่งมันเป็นทฤษฎี 2 ขาและนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด

 “ที่บอกว่ารอไปสัก 10 เดือนนั้นไม่ควร เพราะประเทศเสียหาย และประชาชนเฝ้ารอดูอยู่ ส่วนท่าทีของพรรคก้าวไกลที่ดูเหมือนว่าจะไม่ยอมออกจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น แบบนี้มันเป็นเด็กเกินไปหรือเปล่า บ้านเมืองไม่ใช่เด็กเล่นขายของ เหมือนกับคนที่เป็นแฟนกัน หมั้นกันแล้วเขาก็เลิกกันได้ เหมือนพ่อแม่คลุมถุงชนมาอย่างนี้ วันหนึ่งเมื่อหมั้นกันแล้ว พ่อแม่คลุมถุงชนมาเขาก็ยังเลิกกันได้เลย เพราะมันไม่ได้รักกันด้วยหัวใจไง ฉะนั้นคนที่จะแต่งงานกัน มันต้องมีความรักที่ออกมาจากใจ ไม่ใช่รักด้วยสมอง แต่ต้องรักด้วยหัวใจ” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

'แพทย์ชนบท' แฉเบื้องลึก! ทำไม 'หมอชลน่าน' หลุดเก้าอี้

เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความว่า ชมรมแพทย์ชนบท ขอขอบคุณ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา

ถามจันทร์ส่องหล้าจะกล้าไหม? มี 3 คน เหมาะนั่ง ‘รมว.ต่างประเทศ’

ทำท่าจะล่มปากอ่าว เสียฤกษ์หมด แต่เมื่อเป็นไปแล้วคือรัฐมนตรีต่างประเทศลาออก หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าตั้งรัฐมนตรีไม่ถึง 24 ชั่วโมง