ถีบ‘ก.ก.’ตั้งรัฐบาล พท.ฉีกMOUเอาใจสภาสูง/หนูบี้เปิดตัวพรรคร่วม

ฉีกทิ้ง MOU 8 พรรค!   "เพื่อไทย" อ้างประโยชน์ชาติ-ปชช. เดินหน้าตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ ผลัก "ก้าวไกล" เป็นฝ่ายค้าน "ชลน่าน" บอกจำเป็นต้องแยก มั่นใจ 4 ส.ค.โหวตนายกฯ "เศรษฐา" ฉลุย "ภูมิธรรม" ยันไม่ใช่เกี๊ยะเซียะทางการเมือง สะพัดสูตร รบ.ใหม่ 270 เสียง "ก.ก." โวยการเมืองบิดเบี้ยว ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่ "พิธา" นิ่งไร้ความเห็น "โรม" รับเจ็บปวด "อนุทิน" ดักทางลักไก่ ร้อง "พท." แถลงพรรคไหนร่วมรัฐบาลก่อนโหวต "รทสช." จี้ "เสี่ยนิด" เข้าโชว์วิสัยทัศน์ในสภา

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) วันที่ 2 ส.ค. เวลา 09.30 น. แกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเป็นคณะเจรจานำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค, นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรค เดินทางเข้าพรรค พท.เพื่อหารือกันถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับทางแกนนำพรรค พท.  ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค

ทั้งนี้ แกนนำพรรค ก.ก.ได้เดินทางเข้าพรรค พท.จากทางลานจอดรถชั้น 7  หลังที่ทำการพรรค โดยทางแกนนำพรรค ก.ก.ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อดักรอสัมภาษณ์แกนนำจากทางลานจอดรถด้วย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาหารือร่วมกันนานเกือบ 5  ชั่วโมง

เวลา 14.20 น. แกนนำพรรค พท.ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน, นายภูมิธรรมและนายประเสริฐ ร่วมแถลงผลการหารือร่วมกับทางพรรค ก.ก. โดย นพ.ชลน่านอ่านแถลงการณ์ “เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ” ระบุว่า "เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้จับมือร่วมกับพรรคการเมืองอีก 6 พรรค  รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

วันที่ 13 ก.ค. แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้  โดยมีเพียง 324 เสียง จากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถ  ทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้

ดังนั้นที่ประชุม 8 พรรคร่วมจึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้ เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก สว.และ สส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี

ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทยได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พท.ฉีก MOU ก.ก.ฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐาขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียงให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ ดังนี้

1.เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง ส.ส.ร.ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น ในฐานะพรรคแกนนำ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วม เพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ

พรรคเพื่อไทยขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชนว่า นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้งคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกที่ไม่ปกติให้คืนสู่ความปกติ และใช้ประสบการณ์ ความสามารถของบุคลากรของพรรค พท.เร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดจากอำนาจประชาชน"

นพ.ชลน่านกล่าวเพิ่มเติมว่า  บรรยากาศพูดคุยเป็นไปด้วยดี ทางพรรค ก.ก.ต้องการความชัดเจนจากพรรค พท. ซึ่งพรรค ก.ก.เข้าใจเหตุผลของเรา แต่ขอสรุปให้ชัดว่าไม่ใช่การบอกเลิกกัน แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ต้องแยกกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรค ก.ก.

ถามถึงพรรคร่วมรัฐบาลใหม่มีพรรคไหนบ้าง และพรรค ก.ก.จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราได้คุยกับพรรค ก.ก.โดยขอให้เป็นเอกสิทธิ์ สส.ที่จะลงคะแนนให้กับพรรค พท. โดยเราไม่ได้ร้องขอ จะโหวตหรือไม่โหวตให้เราก็ได้   ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลใหม่จะขอแจ้งให้ทราบในวันที่ 3 ส.ค. ส่วน สว.จะโหวตให้ พท.หรือไม่นั้น จากการแถลงวันนี้และแนวทางที่ชัดเจนที่เราแสดงเจตนารมณ์ ข้อกังวลของ สส.และ สว.  เราเชื่อว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว เราลดเงื่อนไขทั้งหมด น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ สว.จะโหวตให้ความเห็นชอบ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในการเสนอนายกฯ คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนครบ จากนั้นเราจะตั้งรัฐบาล ถ้าจะให้รัฐบาลเข้มแข็งควรมีเสียงเกิน 300 เสียงขึ้นไป แต่ด้วยข้อจำกัดขณะนี้เราจะหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าการโหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค.จะจบด้วยการได้นายกฯ ในวันดังกล่าว

"ที่ สว.ต้องการให้นายเศรษฐาแสดงวิสัยทัศน์นั้น การแสดงวิสัยทัศน์ใช้เฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ข้อบังคับการเลือกนายกฯ ไม่ได้ระบุว่าจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ เท่าที่คุยกับนายเศรษฐาก็พร้อมจะตอบทุกข้อสงสัย แต่ด้วยความที่นายเศรษฐาไม่เป็น สส.และถ้าเข้าสภาไปอาจจะมีประเด็นที่คาดไม่ถึง จึงขอไม่เข้าไปในที่ประชุม แต่หากมีอะไรที่พาดพิง สส.ของพรรค พท.พร้อมลุกขึ้นชี้แจงแทน" นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า จะไม่มีพรรคสองลุงเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขอให้รอความชัดเจนในวันที่ 4 ส.ค. และมั่นใจว่าเราจะตอบคำถามสังคมในทุกข้อสงสัย

สูตรรัฐบาลใหม่ 270 เสียง

ส่วนนายภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีแกนนำพรรค ก.ก.วิพากษ์วิจารณ์พรรค พท.ประวิงเวลา ไม่เรียกประชุมพรรคร่วมเสียทีว่า ไม่ใช่การประวิงเวลา แต่ที่ช้าเพราะเราถูกร้องขอจากแกนนำพรรคก.ก.ให้รอถึง 23.00 น.คืนวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเรารอถึงเที่ยงคืนของวันที่ 1 ส.ค. แต่พรรค ก.ก.ก็ไม่มีการติดต่อกลับมา เราจึงดำเนินการตามแนวทางของเราตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. โดยเราหารือกับพรรค ก.ก.มาตลอด แต่แกนนำพรรคก.ก.อาจจะมีปัญหาการสื่อสารภายในกับสมาชิก เราได้โทรศัพท์ชี้แจงพรรคร่วมที่เหลือแล้วว่าเราต้องตั้งรัฐบาลเพื่อคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้น

 “การตกลงกันครั้งนี้ระหว่างพรรคพท.และพรรค ก.ก. ไม่ใช่การเกี๊ยะเซียะทางการเมือง แต่เป็นการต่างคนต่างทำหน้าที่โดยไม่มี ก.ก.ร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ส่วนนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน เราพร้อมร่วมผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน  แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยคือการแก้ไขมาตรา 112 โดยเราจะทำหน้าที่ใช้ประสบการณ์ของเราแก้วิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองให้เข้าสู่ระบบปกติทั้งหมด” นายภูมิธรรมกล่าว

รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า การประสานงานหลังจากนี้ ทุกพรรคการเมืองไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการเข้าร่วม โดยเป้าหมายของพรรค พท.คือต้องได้ตัวนายกฯ ก่อน ส่วนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลใหม่นั้น ต้องเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการบริหารประเทศได้

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอของนายเศรษฐาในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ โดยเนื้อหาเป็นการเน้นย้ำนโยบายการพัฒนาประเทศ และมีตอนหนึ่งระบุว่า “เอาปืน เอารถถังออกมายึดอำนาจจากพวกเรา จากประชาชน แล้วคิดว่าคนอย่างผม นายเศรษฐา อยากไปร่วมกับเขาเหรอ ผมไม่คิดไปร่วม ไม่มีความคิดเลยด้วย”

มีรายงานจากพรรค พท.ถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองที่จะยกมือสนับสนุนให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า จะประกอบด้วย พรรค พท. 141 เสียง, พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, พรรคประชาชาติ 9 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง,  พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง และพรรค 1 เสียงที่เหลือ ยกเว้นพรรคเป็นธรรม  ประกอบด้วย พรรคเสรีรวมไทย ประชาธิปไตยใหม่ พรรคใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 19-22 เสียงจากทั้งหมด 25 เสียงจะยกมือให้  ยกเว้นกลุ่มของนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ภายใต้พรรค พท.เป็นแกนนำจะรวม ส.ส.ได้ 270 คน

"ในส่วนเสียง สว. เรามั่นใจว่าหลังจากไม่มีพรรค ก.ก.ร่วมรัฐบาล ลดเงื่อนไขมาตรา 112 ไปแล้วจะได้รับเสียงสนับสนุนประมาณ 100-150 เสียงขึ้นไป จึงมั่นใจว่ามีเสียงเพียงพอให้นายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ ในวันที่ 4 ส.ค." แหล่งข่าวจากพรรค พท.ระบุ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประกอบไปด้วยเสียงของพรรคก้าวไกล 151 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง, พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง 

ที่อาคารไทยซัมมิท เวลา 16.00 น.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก.ก. แถลงภายหลังพรรค พท.ออกแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก.ก.ว่า ต้องขอโทษประชาชนที่เราไม่สามารถผลักดันให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่เคารพเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้สำเร็จตามที่พรรค พท.ได้แถลงไปแล้วว่า หลังจากนี้พรรค พท.จะแยกกับพรรค ก.ก.ไปจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง โดยในการพูดคุยระหว่างตัวแทนของพรรค ก.ก.และพรรค พท.เมื่อเช้านี้ พรรค พท.ได้แจ้งกับพรรค ก.ก.ว่าต้องการที่จะขอออกจากเอ็มโอยูที่เราได้ทำร่วมกันทั้ง 2 ฉบับ คือเอ็มโอยูในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของทั้ง 8 พรรค และเอ็มโอยูที่พรรค พท.กับพรรค ก.ก.ได้ทำร่วมกันในตอนที่มีการพูดคุยเรื่องการเลือกประธานสภาฯ 

ก.ก.โวยการเมืองบิดเบี้ยว

นอกจากนี้ ในการพูดคุยกัน พรรคพท.ไม่ได้มีการขอให้พรรค ก.ก.พิจารณาถอยเรื่องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 และตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเจรจากันในเรื่องนี้ โดยพรรค พท.ได้ให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดที่พรรค พท.เคยพูดคุยกันที่ผ่านมา ไม่ต้องการให้พรรค ก.ก.เข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะมีเรื่องมาตรา 112 หรือไม่ รวมทั้งพรรค พท.ไม่ได้ขอให้พรรค ก.ก.โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. เพราะว่าถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค และในการพูดคุยกันเมื่อเช้านี้ แกนนำของพรรค พท.บางท่านยังได้แสดงความกังวลใจด้วยซ้ำว่าหากพรรค ก.ก.จะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยอาจจะทำให้ สว.ไม่ไว้วางใจได้ เพราะอาจจะไปกังวลว่าถ้าพรรค ก.ก.ไปโหวตให้พรรค พท.หลังจากโหวตนายกฯ เสร็จ พรรค พท.จะดึงก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลอีก

"เรียนต่อประชาชนว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหนหลังจากนี้ ก.ก.จะทำงานในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างดีที่สุดตามที่เราได้รับความไว้วางใจจากประชาชน  อีกทั้งผลักดันการกระจายอำนาจการปฏิรูประบบราชการ การสร้างพระที่โปร่งใสเป็นธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะทำงานอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน เพื่อที่จะสร้างระบบการเมืองของบ้านเราให้เป็นระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" นายชัยธวัชระบุ

ถามว่า จะไม่โหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ พท.ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องการโหวตเราได้มีการประชุม สส.กัน จะได้มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยในวันที่ 3 ส.ค. น่าจะมีการสรุปเป็นมติของพรรคอีกที

"ต้องทำความเข้าใจว่าเอ็มโอยูไม่มีอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ในฐานะ สส. เราก็จะสามารถเสนอร่างกฎหมายและเสนอแนะมาตรการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้ โดยหวังว่า สส.แม้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกัน หากพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หวังว่า สส.ฝั่งรัฐบาลจะเห็นชอบด้วย" นายชัยธวัชกล่าว

ถามถึงความรู้สึกของพรรค ก.ก.ในขณะนี้ นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของการเมืองไทย ซึ่งเราได้เคยพูดแล้วว่าปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยในยุคสมัยนี้ คืออำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชน ซึ่งคงเป็นภารกิจของพวกเราที่จะผลักดัน เปลี่ยนแปลงอย่างสุดความสามารถ ให้การเมืองไทยกลับมาสู่ความปกติ ที่เสียงและอำนาจของประชาชนสำคัญที่สุด

ซักว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายชัยธวัชกล่าวว่า ขณะนี้นายพิธาอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการของไข้หวัดใหญ่หนักกว่าที่คิดไว้ จึงไม่ได้เข้าร่วมการประชุม สส.ของพรรคในวันนี้ แต่ส่วนตัวได้มีการพูดคุยกับนายพิธาทางออนไลน์แล้ว และได้แจ้งให้นายพิธาทราบภายหลังการประชุมร่วมกันกับพรรค พท.แล้ว ซึ่งนายพิธาไม่ได้ให้ความเห็นอย่างไร เพราะเมื่อพรรค พท.ตัดสินใจเช่นนี้แล้ว เราคงไปเรียกร้องอะไรไม่ได้

ส่วนท่าทีของคนในพรรค ก.ก.นั้น  นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค ก.ก. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า พรรคเพื่อไทยแถลงว่ามีความจำเป็นไม่ให้ก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก สส.และ สว.ไม่เห็นด้วยว่า ข้อมูลนี้ไม่ตรงกับที่แกนนำพรรคเพื่อไทยพูดในวงเจรจาช่วงสายของวันนี้ (2 ส.ค.) ที่ถูกต้อง คือ ในวงเจรจาแกนนำพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งพูดว่าไม่ได้ต้องการเสียงของก้าวไกล เหตุผลเพราะถ้าก้าวไกลโหวตให้จะทำให้ 1.สว.อาจจะไม่พอใจ 2.สว.อาจจะระแวงได้ว่าต่อไปจะเอาก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล

ต่อมา นางอมรัตน์ยังได้โพสต์ข้อความอีกว่า “ถึงชั่วโมงที่เกรงใจ สว. มากกว่าเกรงใจประชาชน”

เช่นเดียวกับนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนี้ก็ทำให้ทราบแล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ สส.พรรคก.ก.กำลังมีการประชุมกันว่าเราจะมีจังหวะเดินต่อไปอย่างไร

"ผมก็เข้าใจว่าแต่งงานกันแล้ว จดทะเบียนกันแล้ว ซึ่งมีเอ็มโอยูที่เปรียบเสมือนการจดทะเบียน แต่ว่าวันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องของเจ้าสาวรอเก้อ แต่เป็นเรื่องของจะมีการหย่ากันมากกว่า เราไม่อยากให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น และหากจินตนาการว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงเป็นพรรคเดียว ก็น่าจะจบ แม้อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะเสียงไม่ถึง 376 เสียง แต่ก็เชื่อว่าถ้าเราเหนียวแน่น การรอ 10 เดือนก็ไม่มีความหมาย ซึ่งไม่ต้องถึงก็ได้ แต่ตอนนี้ก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าจะเกิดการสลายขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยทำให้เราเจอวิกฤตในตอนนี้ประชาชนและไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่ประชาชนให้มาได้" นายรังสิมันต์กล่าว

ถามว่า จะทำให้มวลชนเกิดการรวมตัวกันมากขึ้นหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวความรู้สึกผมที่รู้สึกเจ็บปวด และพี่น้องประชาชนที่เขาฝัน มันน่าเศร้านะ มันอีกนิดเดียวจริงๆ

จี้ พท.ชัดเจนก่อนโหวต

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 4 ส.ค.นี้ว่า ต้องดูก่อนว่าการนำเสนอเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกับแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใดๆ

"พท.ยังไม่มีส่งสัญญาณอะไรมา มีเพียงการพูดคุยกันเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้แจ้งข้อจำกัดว่าพรรค ภท.จะไม่แตะมาตรา 112 ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่สามารถร่วมงานกับรัฐบาลที่มีพรรค ก.ก.ได้ ซึ่งพรรคยังอยู่ในกรอบนี้อยู่" นายอนุทินกล่าว

ถามว่า ทาง สว.มีความเป็นห่วงว่าแม้ ก.ก.จะยอมเป็นฝ่ายค้านในตอนโหวตนายกฯ แต่เวลาจัดตั้งรัฐบาลกังวล พท.จะนำ ก.ก.มาร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า คิดว่าคนที่จะไปร่วมรัฐบาลต้องแถลงให้ชัดเจน อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ปล่อยให้โหวตกันไปก่อน ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้ ควรต้องทำให้ชัดเจนประชาชนต้องมีส่วนรับรู้รับทราบ ลักไก่ตีกินไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกอย่างจะต้องมีความชัดเจน ตนถึงบอกว่าต้องไม่ใช้คำว่าดีลลับ ซึ่งมีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้อง

"ต้องพูดให้ชัดเจน ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นว่าใครร่วมรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน เมื่อร่วมแล้วจะต้องไม่มีนโยบายอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจกัน ผมคุยกับหัวหน้าพรรคหลายๆ พรรค หลายๆ ท่านก็ยืนยันในหลักการนี้ ขอย้ำว่าต้องมีการพูดคุยกันก่อน เราก็ต้องรอเขาก่อน นี่คือข้อตกลงที่เราไปพูดคุยกันเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา หากมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาจะมีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการ รับรองไม่มีดีลลับ ทุกอย่างต้องเปิดเผย เพราะมาถึงจุดนี้แล้ว” นายอนุทินกล่าว

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีพรรค พท.ทาบทามพรรค ชทพ.ร่วมรัฐบาลหรือยังว่า ถึงเวลานี้ยังไม่มีใครโทรศัพท์มาก็คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ในการพูดคุยครั้งนั้น แนวทางของ ชทพ.กับ พท.มีแนวนโยบาย แนวคิด และทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน

 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า พรรคนัดประชุม สส. ในวันที่ 3 ส.ค. เวลา 08.30 น. ที่รัฐสภา เพื่อกำหนดท่าทีในการพิจารณาเลือกนายกฯ แต่จะยังไม่ได้หยิบยกในเรื่องการร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นมาพูดคุยกันในพรรค เชื่อว่าหากวาระการเลือกนายกฯ ผ่านไปแล้ว และได้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ พรรคก็จะได้พิจารณาทิศทางในทางการเมืองอีกครั้ง

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เวลา 17.00 น. นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวหลังประชุม สส.ของพรรค ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาวัน 4 ส.ค. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีว่า จนถึงวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีชี้ชัดลงมา และเราก็ไม่มั่นใจว่าในวันที่ 3 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยหรือไม่ แล้วในวันที่ 4 ส.ค. ตามที่ประธานสภาฯ ได้นัดหมาย มีอะไรเปลี่ยนแปลง และท่านรู้ได้อย่างไร หรือจะมาเริ่มต้นการพิจารณาใหม่ แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปอีกทางหนึ่ง ก็จะเกิดบรรยากาศคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้น  ดังนั้นการเร่งรัดของประธานสภาฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าติดตามการเมืองทั้งหมดวันนี้ ก็ได้ทราบชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้มีการประกาศยกเลิกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูของ 8 พรรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่าจะเริ่มต้นใหม่ของการจัดตั้งรัฐบาล และทราบว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
"ก็ต้องรอดู เพราะถ้าเสนอชื่อนายเศรษฐา ท่าทีของ สว.จะคิดอย่างไร จากที่นายเศรษฐาเคยยืนยันที่ต้องจับมือกับก้าวไกลมาโดยตลอด และเคยประกาศสนับสนุนแก้ไขมาตรา 112 เรื่องนี้ต้องดูว่า สว.จะคิดอย่างไร และนายเศรษฐาจะมีคำตอบอย่างไรต่อที่ประชุมรัฐสภา และจะต้องมีคำตอบกับพวกผมที่เราไม่เอาเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณา  รทสช.ยืนยันถ้ามาแล้ว มีคำตอบที่ไม่มั่นใจ ยืนยันอะไรไม่ได้ เราก็ผ่านให้ไม่ได้" นายวิทยากล่าว
ถามว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  หัวหน้าพรรค ได้ให้คำแนะนำอะไรบ้าง นายวิทยากล่าวว่า นายพีระพันธุ์ให้ทุกคนดูตามสถานการณ์ ซึ่งในฐานะประธานวิปก็จะมีการหารือในสถานการณ์นั้นๆ ว่าจะลงมติสวนเลยหรือจะงดออกเสียง หากไม่มีความชัดเจน มีแค่ 2 ทางนี้เท่านั้น
ซักว่า รทสช.ต้องการให้นายเศรษฐาออกมาพูดให้ชัดใช่หรือไม่เรื่องของมาตรา 112 นายวิทยากล่าวยอมรับว่า  ใช่ เรื่องนี้ต้องตอบในสภา ซึ่ง สว.และสส.ก็รอฟังอยู่ เมื่อจะเป็นนายกฯ ก็ต้องมีความพร้อมในการที่จะเข้าไปอธิบายในสภาเหมือนที่นายพิธาเคยทำ นายเศรษฐาต้องขออนุญาตสภาเพื่อไปชี้แจงกับสมาชิกว่าจะเข้ามาเป็นนายกฯ รวมทั้งตอบข้อซักถามของสมาชิก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

'แพทย์ชนบท' แฉเบื้องลึก! ทำไม 'หมอชลน่าน' หลุดเก้าอี้

เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความว่า ชมรมแพทย์ชนบท ขอขอบคุณ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา

ถามจันทร์ส่องหล้าจะกล้าไหม? มี 3 คน เหมาะนั่ง ‘รมว.ต่างประเทศ’

ทำท่าจะล่มปากอ่าว เสียฤกษ์หมด แต่เมื่อเป็นไปแล้วคือรัฐมนตรีต่างประเทศลาออก หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าตั้งรัฐมนตรีไม่ถึง 24 ชั่วโมง