โพลยี้สลายขั้ว ชู‘แพทองธาร’ แทนที่‘เสี่ยนิด’

นิด้าโพลเผยคน 48% ไม่เห็นด้วยเพื่อไทยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว อึ้ง!  เสียงส่วนใหญ่หนุน "แพทองธาร"  มากกว่า "เสี่ยนิด" ซูเปอร์โพลบอกคนส่วนใหญ่ 69% บอกไม่รีบร้อนอยากได้รัฐบาลใหม่ 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2566  ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง    “เรื่องวุ่นๆ ของพรรคเพื่อไทย” ซึ่งสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศทางโทรศัพท์ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

โดยเมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า 39.62% ระบุว่าไม่เคยเลือกพรรค พท. หรือพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชน, 33.13% เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566, 26.72% เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. และ 0.53% ไม่เคยไปเลือกตั้ง  

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษสลายขั้วของพรรค พท. พบว่า ตัวอย่าง 47.71% ไม่เห็นด้วยเลย, 19.47% เห็นด้วยมาก,   16.79% ไม่ค่อยเห็นด้วย, 15.11% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 0.92% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรค พท. พบว่า 38.63% น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, 36.56% นายเศรษฐา ทวีสิน, 8.47% นายชัยเกษม นิติสิริ และ 16.34% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรค พท.และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พบว่า 49.85% เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญต่อกัน, 27.33% เป็นแค่คนรู้จักกัน, 20.99% เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน และ 1.83% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขณะที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจเรื่องสุดขั้วการเมือง ซึ่งสำรวจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป  จำนวน 1,150 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการรอคอยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พบว่า  ส่วนใหญ่หรือ 68.5% ระบุเป็นเรื่องที่รอได้ เพราะต้องการรัฐบาลที่ดี ไม่มีปัญหา  ต้องการรัฐบาลที่ทำงานได้ดี มีผลงาน แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้แท้จริง ในขณะที่ 31.5% ควรเร่งจัดตั้งโดยเร็ว เพราะชาวบ้านกำลังเดือดร้อน เศรษฐกิจจะพังไปมากกว่านี้ ขาดความเชื่อมั่น เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรอบเวลาที่รอการจัดตั้งรัฐบาลได้ พบว่า 25.9% ระบุภายในเดือน ส.ค., 20.4% ภายในเดือน ก.ย.,  24.1% ภายใน ต.ค. และ 29.6% รอได้ไปเรื่อยๆ และเมื่อถามถึงคุณสมบัติของนายกฯ คนใหม่ที่ต้องการ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 72.2% ระบุเข้าถึงประชาชน แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน แม้ในถิ่นทุรกันดาร, 63% เป็นคนดีต่อเนื่อง ไม่มีประวัติด่างพร้อย, 51.9% เคยมีประสบการณ์แก้วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตธุรกิจของตนเอง แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้, 42.6% เป็นคนที่ไม่สนับสนุนแนวคิดของกลุ่มแบ่งแยก แตกแยกของคนในชาติ และ 42.5%มีประสบการณ์การเมืองและบริหารราชการ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ความกังวลของประชาชนหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 81.5% ระบุปัญหาวิกฤตของประชาชนไม่ถูกแก้ไข ประชาชนถูกหลอกเหมือนเดิม, 74.1% ทุจริตคอร์รัปชัน, 63% ความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ, 61.1% ความวุ่นวายของบ้านเมือง และ 7.4% ไม่กังวลอะไร เป็นต้น

ด้านนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการสลายขั้วความขัดแย้ง ว่า เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 มาโดยตลอด เพราะความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการแบ่งกลุ่ม แบ่งสี ผลัดกันขึ้นมีอำนาจมาหลายรอบ แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ ปัจจุบันยังลุกลามไปถึงเด็ก เยาวชน และสถาบันหลักของชาติ หากไม่หาทางยับยั้ง จะเป็นภัยอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ

นายอดุลย์กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่เยื้อมานาน เนื่องจากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่แรก โดยให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งอันดับหนึ่งกับพรรคอันดับสอง ซึ่งเสียงใกล้เคียงกัน ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตามหลักสากลแล้วไม่มีประเทศไหนเขาทำ เมื่อพรรคอันดับหนึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคที่ได้อันดับสองต้องไปเป็นฝ่ายค้าน มิเช่นนั้นหาก 2 พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลด้วยกัน ฝ่ายค้านก็จะอ่อนแอ และหากพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัว รัฐบาลก็ล้มคว่ำทันที  นอกจากนี้ยังตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรกด้วย ที่ยังแบ่งขั้วทางการเมือง เพราะจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะไม่มีทางยุติได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามจันทร์ส่องหล้าจะกล้าไหม? มี 3 คน เหมาะนั่ง ‘รมว.ต่างประเทศ’

ทำท่าจะล่มปากอ่าว เสียฤกษ์หมด แต่เมื่อเป็นไปแล้วคือรัฐมนตรีต่างประเทศลาออก หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าตั้งรัฐมนตรีไม่ถึง 24 ชั่วโมง