ไอลอว์ยื่นกกต.2แสนชื่อ เร่งทำประชามติแก้รธน.

ไม่สนปัญหาปากท้อง! "ก้าวไกล" ฟิตจัด! ชงเปลี่ยนวาระประชุม    เลื่อนญัตติถกคำถามประชามติแก้ รธน.พิจารณาก่อน แต่ฝั่งรัฐบาลค้านแหลก  ใช้เสียงข้างมากตีตก ด้าน "ไอลอว์" ทำงานคู่ขนาน ยื่น 2 แสนรายชื่อทำประชามติร่าง รธน.ฉบับใหม่ต่อ กกต.

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม   หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนแล้ว นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอที่ประชุมให้เปลี่ยนระเบียบวาระ โดยนำญัตติขอให้สภาพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกบรรจุในเรื่องที่ค้างพิจารณาลำดับที่ 33 ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวาระอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระ

 นายพริษฐ์กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สภาต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากที่สังคมถกเถียงในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะใช้เวลาดำเนินการจากวันนี้จนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีผลบังคับใช้นั้น อาจจะต้องใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งการเสนอคำถามประชามติเดียวกันที่หลายพรรคการเมืองเคยลงมติเห็นชอบแล้วในสภาชุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65 ดังนั้นการเสนอของตนเพื่อยืนยันหลักการของสภาที่เคยลงมติมาแล้วในรอบที่ผ่านมา

  “มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยใช้เวทีของสภา เพราะ ครม.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำได้โดยเร็วหรือไม่ แม้จะระบุว่าจะทำเรื่องในนัดแรกที่มีการประชุม และไม่ว่า ครม.จะได้ข้อสรุปตามนั้นจริงหรือไม่ คิดว่าการถกเถียงกันในสภามีความจำเป็น และหากครม.มีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้ข้อสรุปโดยเร็วในการประชุมนัดแรก ยิ่งเป็นเหตุผลที่จะใช้สภาในการเดินคู่ขนานและสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า ในเมื่อ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2564 มีการอนุญาตให้ทำประชามติได้ แต่หาก ครม.เดินหน้าได้ข้อสรุปโดยเร็วว่าจะจัดทำประชามติหรือไม่ อย่างไร หากเป็นเช่นนั้น เราต้องยิ่งถกในสภาที่มีทุกพรรค   ต้องถกเถียงให้ตรงกัน ว่าควรจะทำประชามติ แต่ปีศาจอยู่ในรายละเอียด และรายละเอียดมีความสำคัญมากในการกำหนดชะตากรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือคำถามประชามติที่ควรออกแบบให้ดี” นายพริษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ  อภิปรายคัดค้านว่า เรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้านั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งตนเสนอและบรรจุไว้ในลำดับที่ 3 อย่างไรก็ตาม การเลื่อนระเบียบวาระตนไม่ขัดข้อง หากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน แต่ตนไม่เห็นด้วย และต้องการให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม

  ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเพื่อหาทางออกว่า ในวันที่ 31 ส.ค. ทราบว่าจะมีการเสนอข้อหารือเพื่อปรึกษาปัญหาของประชาชนในประเด็นเรื่องสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ดังนั้น อาจใช้โอกาสเพื่อหารือถึงประเด็นกุ้งร่วมด้วยได้ หากนายอรรถกรรับปากว่าในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) จะพิจารณาญัตติเรื่องคำถามประชามติ พรรคก้าวไกลพร้อมถอนญัตติของนายพริษฐ์เพื่อเปลี่ยนระเบียบวาระ

 ทำให้นายอรรถกรตอบโต้ว่า ตนไม่สามารถให้คำสัญญาได้ เพราะตัดสินใจเองไม่ได้ หากจะเปลี่ยนวาระ ต้องหารือกัน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ตนไม่รับรอง และขณะนี้มี สส.หลายคนที่ยื่นญัตติไว้ ดังนั้นอย่าแซงดีกว่า

  ทั้งนี้ มี สส.จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนนายอรรถกร โดยขอให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ ทำให้ต้องใช้การลงมติตัดสิน แม้นายวันมูหะมัดนอร์กดสัญญาณให้แสดงตนแล้ว แต่ยังมีการอภิปรายพาดพิงไปมาระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ซึ่งพรรคก้าวไกลย้ำว่าได้เดินคุยกับพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ไม่มีใครขัดข้อง

  ส่วนนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ขอใช้สิทธิพาดพิงว่า วันนี้อย่าไปคิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่ทำอะไร และนายกฯ แจ้งว่าอีก 1-2 สัปดาห์ ครม.จะมีการประชุมนัดแรกแล้วก็จะมาคุยกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญกว่าการถกเถียง ดังนั้นไม่อยากให้หารือซ้ำซาก และอย่ามาพาดพิงพรรคเพื่อไทย พรรคท่านที่เป็นผู้เจริญแล้วจะทำอะไรก็ทำ แต่ขอนิมนต์อย่ามายุ่งกับเขา”

  จากนั้นได้มีการลงมติ โดยผลการลงมติ เสียงข้างมาก 262 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระ ต่อ 143 เสียง  ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนระเบียบวาระ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทำให้ไม่มีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้การหารือในห้องประชุมถือว่าทำได้ แต่การใช้เวทีวิปจะทำให้ไม่เสียเวลาที่ประชุม

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw พร้อมด้วยเครือข่าย นำโดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร และเครือข่ายกลุ่มประชาชนตั้งรัฐธรรมนูญนำรายชื่อประชาชน 212,139 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอคำถามทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มายื่นต่อ กกต.

โดยตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า เราคาดหวังว่าหลังจากที่ได้ส่งรายชื่อให้ กกต.แล้ว กกต.จะทำงานอย่างรวดเร็วและส่งให้กับ ครม. และเราจะได้ทำประชามติตามคำถามที่เราได้ออกแบบมา นอกจากนี้เรายังเห็นว่าการร่วมลงชื่อครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของประชาชนอย่างมหาศาล ตอนแรกเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ 50,000 รายชื่อ ใช้การลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ประชาชนได้แสดงพลังให้เห็นแล้วว่าไม่ได้หายไปไหน คนที่ต้องการประชาธิปไตยยังมีอีกมาก และได้แสดงให้เห็นแล้วผ่านการลงชื่อในครั้งนี้ เราจึงคาดหวังที่จะส่งไม้ต่อให้กับ กกต. ให้ กกต.ร่วมเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เผยว่า มีเงื่อนเวลาให้ตรวจสอบภายใน 30 วัน แต่เมื่อเป็นความต้องการเราก็จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด    ถ้าเอกสารเรียบร้อยก็ไม่นาน ขอให้เอกสารหลักฐานต่างๆ การเข้าชื่อที่ส่งมาให้เรียบร้อย การตรวจสอบไม่ได้นานแม้จะมีถึง 200,000 รายชื่อ ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งหมด ไม่เฉพาะแค่ 50,000 รายชื่อตามกฎหมาย โดยการตรวจสอบใช้เลขบัตรประชาชนก็เพียงพอแล้ว    และจะพยายามทำให้อยู่ตามกรอบเวลาที่กำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง