“ภูมิธรรม” บอกอยู่ระหว่างทาบทามทีมทำประชามติ-แก้รัฐธรรมนูญ รับอยากคุย “วิษณุ” เพราะเป็นกูรูกฎหมาย แบ่งรับแบ่งสู้ทาบคนก้าวไกล ชี้โควตาไม่ควรเกิน 30 เก้าอี้ เดี๋ยวอุ้ยอ้ายไป อยากทำประชามติน้อยที่สุด เพราะหากทำ 3-4 ครั้งใช้งบกว่าหมื่นล้าน “ประธานสภาสูง” เห็นด้วย แต่ยกตัวอย่างมะกันแก้รายมาตรา
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ว่า จะพูดคุยกันภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อย ส่วนไทม์ไลน์การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ขอให้นัดประชุมในครั้งแรกก่อน ซึ่งจะได้เห็นไทม์ไลน์ วัตถุประสงค์ ขอบเขต เป้าหมาย รวมถึงการร่างกฎหมายลูกต่างๆ
“ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมุติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี ผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง” นายภูมิธรรมระบุ
นายภูมิธรรมยังกล่าวอีกว่า ได้ทาบทามผู้ที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยพูดคุยทั้งนายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งบุคคลเหล่านี้สนใจ แต่ต้องพูดคุยในรายละเอียด เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมเกิดความสบายใจ ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทาม
เมื่อถามว่า จะทาบทามนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า นายวิษณุยังไม่มีโอกาสได้คุย แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากคุยเพราะเป็นผู้รู้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญในกฎหมาย รวมถึงทั้งหลายท่านที่เคยมีบทบาท เราจะได้เอาความคิดเห็น ส่วนจะเชิญคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาร่วมด้วยหรือไม่นั้น ยินดีต้อนรับทุกคน แต่ต้องคุยกันในรายละเอียดและกรอบแนวทางว่าเป็นอย่างไร
ถามต่อว่า ได้ทาบทามตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าร่วมหรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า พรรคการเมืองพยายามเชิญมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณจำนวนคน เมื่อลิสต์รายชื่อก็เกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการก็เข้ามามีส่วนร่วม พบปะพูดคุยแสดงความคิดเห็น
เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและประชามติรวมแล้วประมาณเท่าใด นายภูมิธรรมกล่าวว่า การทำประชามติตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมาณ 3-4 ครั้ง จะใช้งบประมาณครั้งละประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในแนวทางที่พูดคุยกันให้ชัดเจน แต่พยายามจะทำให้การทำประชามติน้อยครั้งที่สุด เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้งตามที่ศาลวินิจฉัยจะใช้งบประมาณสูงถึงหมื่นล้านบาท
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สส.เป็นหลัก ส่วน สว.ไม่มีอะไรขัดข้องในการดำเนินการร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ สว.ก็มีบางประเด็นที่ต้องเสนอให้แก้ไข แต่ต้องฟังรัฐบาลก่อน ถ้ารัฐบาลเห็นอย่างไรก็คงมีความเห็นในแนวทางนั้น ส่วนรูปแบบจะทำอย่างไร จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล
เมื่อถามว่า ดูเหมือนจะมีการรื้อทั้งฉบับ นายพรเพชรกล่าวว่า ยังไม่ทราบ อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล อะไรที่จำเป็นเร่งด่วน หรืออะไรที่เห็นว่าควรต้องทำอย่างยิ่ง ก็ทำก่อน ทำได้ในหลายอย่าง คราวที่แล้วก็แก้มา แต่แก้น้อยไปหน่อย เพียงเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์การตั้งคณะกรรมการขึ้น ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาหรือไม่นั้น เรื่องนี้วิเคราะห์ไม่ได้
เมื่อถามว่า สว.ที่จะเสนอเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง นายพรเพชรกล่าวว่า เกี่ยวกับองค์ประกอบในการสรรหาองค์กรอิสระ เพื่อให้แยกกันให้ชัดเจนว่าองค์กรอิสระจะดำเนินการสรรหาเป็นอย่างไร ส่วน สว.จะพิจารณาเฉพาะการตรวจสอบประวัติและความประพฤติในทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการสรรหา ทำให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการบาลานซ์ก่อนที่จะมีความเห็นชอบจาก สว.
“เมื่อรัฐธรรมนูญใช้มาระยะหนึ่งก็ควรแก้ไข ฝ่าย สส.อาจจะมีหลายประเด็น และการแก้ไขที่ผมเห็นด้วยเสมอคือหลายประเทศเขาก็แก้ไขโดยไม่ต้องแก้ไขทั้งฉบับ อย่างสหรัฐอเมริกา เขาก็ใช้มาตั้งแต่เกิดปฏิวัติอังกฤษ เขาใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นตลอดมา แต่มีการแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง” นายพรเพชรกล่าว
นายพรเพชรยังกล่าวถึงวาระ สว.ที่จะอายุครบ 5 ปีในเดือน พ.ค.2567 ว่าเมื่อครบ 5 ปี ก็จะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดย สว.จะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ามี สว.ชุดใหม่ โดย สว.ชุดใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการสรรหาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องทำ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนในการพิจารณา
วันเดียวกัน นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีเนื้อหา 5 หน้ากระดาษเอ 4 มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) \\งบแห่งชิเลือกตั้ง (มีแนวทางที่จะทบทวนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และหัวหน้า คสช.ที่ยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ โดยหลักการแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ดี และมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
“การเลิกดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคแรก ตอนท้ายที่ระบุว่า การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี” นายพิชิตระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่นิรโทษฯ ม.112 รัฐบาลจ่อคลอด ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขดับฝันก.ก.
ไม่นิรโทษฯ ม.112 รัฐบาลจ่อคลอด ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขดับฝันก.ก.
‘พีระพันธุ์’ล้มมติค่าไฟกกพ. ยืนยันทำมากกว่าพูดเอาเท่
‘พีระพันธุ์’ล้มมติค่าไฟกกพ. ยืนยันทำมากกว่าพูดเอาเท่
หลักเกณฑ์ใหม่ โยกย้ายอัยการ เริ่มเดือนเมษา!
หลักเกณฑ์ใหม่ โยกย้ายอัยการ เริ่มเดือนเมษา!
9 ธ.ค. ได้แน่หัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’
9 ธ.ค. ได้แน่หัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’
ฟื้นหลักสูตรเทิดทูนสถาบัน
ฟื้นหลักสูตรเทิดทูนสถาบัน
คุก6กปปส.ไล่ปู 6ด.-5ปี9เดือน แต่รอลงอาญา
ศาลสั่งจำคุก 6 กปปส.ชุดเล็ก ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อความวุ่นวาย