ถึงไทยเยียวยาทันที แจ้งกลับทะลุ5พันดับเพิ่ม2รายยันตัวประกันปลอดภัย

กองทัพอิสราเอลระดมอาวุธหลักโจมตีกลุ่มฮามาสต่อเนื่อง ยึดคืนเมืองทางตอนใต้ได้กว่า 12 เมืองใกล้ฉนวนกาซา เผยยังไม่มีการเจรจาสงบศึกหรือแลกตัวประกัน  "เศรษฐา" สั่งเสริม จนท.สถานทูตฯประสานช่วยคนไทยกลับ ปท. “โฆษกบัวแก้ว” แถลงมีแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวม 20 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ถูกจับตัวประกัน 14  ราย ยอดขอกลับพุ่งเป็น 5,174 คน ไม่ขอกลับ 64 คน แจงแผนดูแล 15 คนไทยกลุ่มแรกถึง 12 ต.ค. "แรงงาน" จ่ายชดเชยทันทีคนละ 1.5 หมื่นบาท "สุทิน" การันตีกลุ่มถูกจับเป็นตัวประกันปลอดภัยดี

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เอเอฟพีรายงาน ว่าตลอดวันที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลได้โจมตีเป้าหมายกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ยับเยินเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง โดยกองทัพระบุพบศพกว่า 1,200 ศพ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ ขณะที่เจ้าหน้าที่ในฉนวนกาซารายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1,055 ราย จากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ของอิสราเอลเช่นกัน

ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลระดมกำลังพล รถถังและอาวุธหนักอื่นๆ ปูพรมถล่มฉนวนกาซาตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเรียกการโจมตีป่าเถื่อนของฮามาสว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่า  ชาวกาซามากกว่า 260,000 คนถูกบังคับให้อพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนที่พังพินาศ และการโดนปิดล้อมที่ทำให้ขาดแคลนทั้งน้ำ อาหารและเชื้อเพลิง ขณะที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มี "ทางเดินเพื่อมนุษยธรรม" เพื่ออนุญาตให้พลเรือนหลบหนีระหว่างสงครามครั้งที่ 5 ในรอบ 15 ปี

มีรายงานด้วยว่า ช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา อิสราเอลเผชิญการโจมตีด้วยจรวดจากกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนและซีเรียที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ต้องรับศึกหลายด้าน และกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ออกมาประกาศว่าเป็นฝีมือของตน ซึ่งอิสราเอลได้ยิงจรวดตอบโต้กลับไปทางตอนใต้ของเลบานอน กับการที่ต้องรับศึกหลายด้าน พันธมิตรอย่างสหรัฐให้คำมั่นว่าจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเพิ่มเติมแก่อิสราเอล และเตือนกลุ่มอื่นๆ หรือชาติใดๆ ไม่ให้เข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้

ทั้งนี้ อิสราเอลสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากการโจมตีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปี และความล้มเหลวด้านข่าวกรองที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธมากกว่า 1,500 คนบุกทะลวงผ่านแนวกั้นด้านความมั่นคงฉนวนกาซาในการโจมตีทางบก, ทางอากาศ และทางทะเลในวันสะบาโตของชาวยิว

ล่าสุดกองกำลังอิสราเอลสามารถยึดคืนเมืองทางตอนใต้ได้มากกว่า 12 เมืองใกล้ฉนวนกาซา พบทั้งศพพลเรือนและทหารเกลื่อนกลาด หลังจากการสู้รบบนท้องถนนอันโหดร้ายมาหลายวัน อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังคงกังวลต่อชะตากรรมของตัวประกันอย่างน้อย 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ ซึ่งถูกกลุ่มฮามาสควบคุมตัวไปและยังไม่ยื่นเงื่อนไขสำหรับการเจรจาสงบศึกหรือแลกตัวประกัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการเตรียมแผนอพยพคนไทยมีความคืบหน้าเพิ่มเติม 2 ทาง ทางแรกกลับมาโดยสายการบินพาณิชย์ และทางที่สองกลับโดยเครื่องบินกองทัพอากาศไปรับ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชุด 1.อพยพออกมาถึงไทยวันที่ 12 ต.ค.ประมาณ 15 คน ชุดแรกนี้เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและแรงงานที่อพยพจากพื้นที่เสี่ยงภัย 2.อพยพประมาณ 140 คน ออกจากไทยในวันที่ 14 ต.ค. เป็นการส่งเครื่องบินกองทัพอากาศ Airbus A340 ไปรับและจะไปถึงกรุงเทลอาวีฟ นครหลวงของอิสราเอลในวันที่ 15 เพื่อเตรียมพร้อมรับคนไทยกลับบ้านทันทีที่ได้รับอนุญาตจากทางการอิสราเอล และ 3.ส่งคนไทยจำนวน 80 คนกลับทางเครื่องบินพาณิชย์ โดยจะถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 ต.ค.

ดับเพิ่ม 2 รายขอกลับพุ่ง

นายชัยกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ไปเสริมสนับสนุนข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ในภารกิจช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย รวมทั้งในส่วนของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันได้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพูดคุยกับบรรดามิตรประเทศต่างๆ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

"อยากขอให้ความมั่นใจว่าเราได้ทำทุกทางและจะพยายามอย่างสูงสุดเพื่อช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงอิสรภาพของคนไทยที่ถูกจับตัวไปเป็นสำคัญที่สุด ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเป็นกำลังใจให้ญาติ เพื่อน ของพี่น้องชาวไทยที่กำลังจะกลับมาและอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือดูแลคนไทยทุกคน” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เวลา 11.00 น. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงพัฒนาการสถานการณ์ในอิสราเอลว่า เมื่อคืนของวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางสถานทูตได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่ามีผู้เสียชีวิตจากจรวดโจมตี 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นเป็นจำนวน 20 ราย ผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมอีก 4 ราย รวม 13 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 14 ราย ส่วนยอดคนไทยที่ลงทะเบียนประสงค์กลับประเทศไทย ณ วันที่ 10 ต.ค. มีทั้งสิ้น 5,019 คน ไม่ขอกลับ 61 ราย

ถามถึงความปลอดภัยของตัวประกันสามารถยืนยันความปลอดภัยได้หรือไม่  นางกาญจนากล่าวว่า ยืนยันยากมาก  ยืนยันไม่ได้ เพราะอยู่ในภาวะสงคราม โดยกลุ่มฮามาสแจ้งว่าได้จับบุคคลเป็นตัวประกันรวมทุกชาติ 150 คน มีการคาดการณ์ว่าตัวประกันอยู่แบบกระจัดกระจายตามจุดต่างๆ

ซักว่าหากน่านฟ้าอิสราเอลปิด มีแผนสำรองในการอพยพแรงงานไทยหรือไม่ นางกาญจนากล่าวว่า มีการพูดคุยกันว่าอาจเป็นทางเรือ เพราะสามารถอพยพได้จำนวนมากกว่า แต่ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ไม่ปลอดภัยเช่นกัน

ต่อมาเวลา 15.00 น. นางกาญจนา แถลงอีกครั้งร่วมกับนายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล และนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในประเทศอิสราเอล
นางกาญจนากล่าวว่า นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา และมี น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รายงานสถานการณ์ล่าสุดให้ที่ประชุมรับทราบ โดยจำนวนคนไทยที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์จะขอกลับไทยนั้น ล่าสุดเพิ่มเป็น 5,174 คน และคนที่ยังไม่ขอกลับประเทศเพิ่มเป็น 64 คน

โฆษก กต.กล่าวว่า สำหรับการอพยพคนไทยจากอิสราเอลกรณีกลุ่มแรกจำนวน 15 คนที่จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 12 ต.ค.นั้น มีทั้งผู้ที่ใช้หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญประจำตัว (ซีไอ) ที่ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยออกให้ และในจำนวน 15 คนนี้ มี 2 คนที่ประสงค์ขอรถเข็น

นอกจากนี้ จะมีคนไทยกลุ่มที่ 2 เดินทางโดยเครื่องบินแอร์บัสของกองทัพอากาศ ออกจากอิสราเอลในวันที่ 15 ต.ค.นี้ และจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 04.00 น. ซึ่งเครื่องบินลำนี้สามารถรองรับได้สูงสุด 140 คน แต่อาจมีคนไทยโดยสารกลับได้ 120 คน  เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องร่วมปฏิบัติการเป็นพิเศษด้วยจากนั้นเที่ยวบินถัดไปจะนำคนไทย 80 คน เดินทางจากอิสราเอล ด้วยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ เที่ยวบิน LY 083 ในวันที่ 18 ต.ค. และกลับมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 11.00 น.

"เรายังได้เตรียมที่จะนำเครื่องบินของกองทัพอากาศพาคนไทยเดินทางออกจากอิสราเอลในวันที่ 24 ต.ค.ด้วย แต่สถานเอกอัครราชทูตไทยกำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการพยายามนำคนไทยเดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์ออกมาให้ได้มากที่สุด สำหรับคนไทยที่อพยพข้ามแดนจากอิสราเอลไปยังประเทศใกล้เคียงนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทยที่ในประเทศจอร์แดนและอียิปต์ พร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหารและน้ำดื่มแก่คนไทยทุกคน" โฆษก กต.กล่าว

จ่ายชดเชยคนละ 1.5 หมื่น

ถามถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ฉนวนกาซาหลังทางการอิสราเอลเตรียมยกระดับปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ฉนวนกาซา โฆษก กต.กล่าวว่า จำนวนคนไทยและแรงงานไทยอยู่ในฉนวนกาซา มีประมาณ 5,000 คนและทางการอิสราเอลกำลังเคลื่อนย้ายพลเมืองออกจากบริเวณดังกล่าวให้มากที่สุดบางส่วนแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อยุทธการณ์ทางทหาร แต่ยอมรับว่าสถานเอกอัครราชทูตเคลื่อนย้ายแรงงานได้เองลำบาก เนื่องจากเป็นภาวะสงคราม แต่ทางการอิสราเอลก็ได้พยายามเคลื่อนย้ายคนออกจากฉนวนกาซาให้ได้มากที่สุด

ด้านนายนฤชัยกล่าวเสริมถึงขั้นตอนการรับคนไทยกลุ่มแรกจำนวน 15 คนว่า เมื่อมาถึงผู้แทนรัฐบาลและจากหน่วยงานต่างๆ จะรอรับและอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยพยายามทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีความรวดเร็วที่สุด ไม่มีพิธีรีตอง โดยจะมีการจัดพื้นที่สำหรับการให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวกับสื่อมวลชน พร้อมเปิดโอกาสให้พูดคุยกับคนไทยในเวลาไม่นานมาก จากนั้นจะนำคนไทยกลุ่มนี้ขึ้นโดยรถบัสที่กระทรวงคมนาคมจัดเตรียมไว้ เดินทางไปยังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะตรวจเช็กสุขภาพ ขณะที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการเรื่องเงินชดเชยแก่แรงงาน ทั้งนี้ญาติของแรงงานไทยสามารถไปรอรับได้ และเมื่อเสร็จขั้นตอนต่างๆ แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะช่วยนำคนไทยเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนา
"ผมพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลุ่มแรกรวม 4 คน จะเดินทางไปยังอิสราเอลในค่ำวันเสาร์ 14 ต.ค.นี้ เพื่อช่วยภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตไทยในการอพยพคนไทยกลับประเทศต่อไป" นายนฤชัยกล่าว

ส่วนนายสมาสภ์กล่าวว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการในส่วนของกองทุนจัดหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยได้ตรวจสอบกรณีของคนไทย 15 คนนี้แล้วทั้งหมดเป็นสมาชิกกองทุนฯ จึงจะได้รับสิทธิจากกองทุน โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาต่างกัน มาจาก จ.ตาก 1 คน, สุรินทร์ 1 คน, หนองบัวลำภู 4 คน,  น่าน 1 คน, พะเยา 1 คน, นครราชสีมา 1 คน, เชียงราย 1 คน, ยโสธร 1 คน,  หนองคาย 1 คน, อุดรธานี 1 คน,  สกลนคร 1 คน และอุบลราชธานี 1 คน 

"การมอบเงินสงเคราะห์นั้น ขั้นแรกเมื่อเดินทางกลับมาแล้วทางกองทุนฯ จะจ่าย 15,000 บาท โดยจะเตรียมเงินทั้งหมดไปจ่ายให้แรงงานที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการ กระทรวงแรงงานจะรับคำร้องไว้และนำไปพิจารณาต่อไปว่าจะจ่ายเงินให้อีก 15,000 บาทหรือไม่ ซึ่งต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบ" ผู้ตรวจฯ กระทรวงแรงงานกล่าว

ถามถึงกรณีที่มีแรงงานไทยที่อพยพมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว ร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับค่าจ้าง นายสมาสภ์กล่าวว่า จะให้ทูตแรงงานในอิสราเอลเป็นผู้ดำเนินการ แต่ขอยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ ขอให้แรงงานไทยสบายใจว่าหากไปทำงานแล้วต้องได้ค่าจ้างอย่างแน่นอน โดยตนเองยืนยันว่าจะช่วยคนไทยทุกคน ทั้งแรงงานที่เข้าไปโดยถูกกฎหมาย และแรงงานบางส่วนที่ผิดกฎหมายด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินของสายการบินอิสราเอล เที่ยวบิน LY083 ในวันที่ 11 ต.ค.นี้ 1.นายสมมา แซ่จ๊ะ 2.นายจิรายุ สุกใส 3.นายวิมาน วงศ์จำปา 4.นายกรัชกร พุทธสอน 5.นายอนุชา บุญญะสาร 6.นายกิตติพงษ์ ไชยโก 7.นายสมบูรณ์ แซ่ว่าง 8.นายจันทร์ดี แซ่ลี 9.นายสุพิพัฒน์ กงแก้ว 10.นายสมพร คาระบุตร 11.นายธนศักดิ์ จันทร์ดำ 12.นายสถิตย์ พรมอนารถ 13.นายไกรสร บัวฝาย 14.นายณรงค์ชัย ลีละครจันทร์ และ 15.นายวิชัย คำศรี

ยันตัวประกันปลอดภัย
ที่กระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลว่า การอพยพเราจะต้องได้รับอนุญาตจากอิสราเอลถึงจะสามารถบินไปรับได้ แต่ขณะนี้ทางอิสราเอลกับกระทรวงการต่างประเทศได้มีการพูดคุยกัน และอนุญาตในระดับหนึ่ง ซึ่งล็อตแรก 15 คน จำเป็นต้องใช้เครื่องบินพาณิชย์มาตามปกติ แต่ในรอบต่อไปวันที่ 15 ต.ค. กองทัพอากาศจะบินไปรับ ซึ่งการบินไปต้องมีการประสานกลับประเทศต่างๆ รวมถึงอิสราเอล ซึ่งเขาก็ดูแลเต็มที่ เดิมทีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ รวมทั้งตนจะเดินทางไปด้วย แต่มาวิเคราะห์ในหลายด้านควรต้องชะลอไว้ก่อน เพราะไปเป็นภาระและเกรงว่าจะไปเป็นภาระของผู้โดยสารไปแย่งที่เขาก็เลยทำได้แค่ไปส่งและไปรับ

"กองทัพอากาศคงต้องบินไปรับหลายรอบ ซึ่งวิเคราะห์กันแล้วในระดับรัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องผสมผสานกับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพราะว่าทางกองทัพอากาศแม้จะทำเต็มที่ แต่ก็ยังล่าช้าไม่ทัน เพราะปัจจุบันคนแสดงความจำนงที่จะกลับ 3,000 กว่าคน" นายสุทินกล่าว

ถามถึงคนที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน รมว.กลาโหมกล่าวว่า ได้มีการประสานตลอด และได้รับการยืนยันว่าทุกคนอย่างปลอดภัย แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของอิสราเอลที่จะดำเนินการให้ ในส่วนของเราเองก็พยายามทำทุกทางอาศัยทุกช่องทางในการช่วยคนของเราให้เต็มที่

ที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า กองทัพอากาศมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรวบรวมข้อมูล และในวันที่ 8 ต.ค.ได้ตั้งชุดติดตามสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชน ขั้นต้นได้เตรียมเครื่องบินแอร์บัส 340 จำนวน 1 เครื่อง และ C-130 อีก 5 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์การบิน เพื่อคัดกรองกรณีผู้ป่วยติดเครื่องมาด้วย ส่วนเวลาเดินทางไปรับคนไทยขอไม่แจ้ง ณ ที่นี้ เพราะจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย ซึ่งภารกิจเมื่อบินไปรับแล้วจะบินกลับทันที

"กองทัพอากาศไม่มีข้อจำกัดในการไปช่วยเหลือคนไทย แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการบินผ่านน่านฟ้า ตามปกติต้องใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ แต่กระทรวงการต่างประเทศสามารถประสานงานให้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มีบางประเทศที่ไม่ยอมให้บินผ่าน จึงจำเป็นต้องบินอ้อมหรือบินในเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะการปฏิบัติภารกิจต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ทรัพยากรของเรา และประชาชนที่จะไปอพยพกลับมา" พล.อ.อ.พันธ์ภักดีกล่าว

ผบ.ทอ.กล่าวถึงจำนวนคนที่แจ้งความจำนงจะเดินทางกลับมากว่า 3,000 คนนั้นว่า หากใช้เฉพาะเครื่องบินของกองทัพอากาศอาจต้องใช้เวลานาน จึงต้องประสานงานกับการบินไทยในการใช้เครื่องบินพาณิชย์ด้วย เพื่อช่วยลำเลียงคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการระดมสรรพกำลังทรัพยากรที่มีอยู่ในชาติ รวมถึงความรักสามัคคี ซึ่งกองทัพอากาศได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

วันเดียวกัน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) กล่าวถึงการช่วยเหลือครอบครัวแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลว่า เบื้องตนได้ประสานไปยังอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนหลายจังหวัด (อคช.) ให้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อติดต่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล พบว่า ที่ อ.ปัว จ.น่าน มีคนไทยไปขายแรงงานมากที่สุดกว่า 800 ราย รวมทั้งที่ จ.นครพนมอีกหลายร้อยราย และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นเสาหลักเลี้ยงดูครอบครัว

"ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานบางรายใช้หนี้หมดแล้ว ส่วนปัญหาของรายที่ยังใช้หนี้ไม่หมด แต่ตอนนี้ต้องหยุดงาน เจ้าหนี้ที่เมืองไทยก็ทวงถาม รวมทั้งการขาดส่งเงินกลับมาทางบ้าน ผ่อนไร่ ผ่อนนา ผ่อนบ้าน ผ่อนร้านค้าที่กู้มาลงทุนค้าขาย บัญชีเงินฝาก  ทรัพย์สินต่างๆ บ้าน ที่ดินจะถูกยึดหรือไม่ ใบมรณบัตรก็ยังออกที่เมืองไทยไม่ได้ รวมทั้งแรงงานที่หายสาบสูญเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนนั้น อคช.ทุกจังหวัดยินดีเข้าไปช่วยเหลือ หากยังเป็นหนี้สินอัยการยินดีช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทขอขยายเวลาชำระหนี้ได้ หากเสียชีวิตหรือสูญหายในต่างประเทศอัยการช่วยติดต่อประสานงานระหว่างประเทศเพื่อนำเอกสารหลักฐานมาดำเนินการต่อในประเทศไทย" อธิบดี สคช.กล่าว

ที่ จ.นครพนม นางเนตรนภา โฮมสร ชาวบ้านหนองเดิ่นพัฒนา ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองฯ จ.นครพนม ซึ่งมีน้องชาย 3 คนไปทำงานในประเทศอิสราเอลว่า ล่าสุดนายอนุวัต โฮมสร อายุ 32 ปี น้องชายคนเล็กได้ติดต่อทักแชตวิดีโอคอลผ่านเฟซบุ๊กมาหาพี่สาวและภรรยา เล่าความเป็นอยู่ให้ฟังว่า วันเกิดสงครามคือวันที่ 7 ต.ค. ได้ถูกกลุ่มฮามาสติดอาวุธหนักบุกเข้ามาในแคมป์คนงานที่อยู่ด้วยกันรวม 11 คน จับตัวได้ 5 คน แต่ภายหลังหนีรอดมาได้ 2 คน จึงเหลือแค่ 3 คนที่หนีออกมาไม่ได้ แต่ 1 ใน 3 คนมีนายเศรษฐา โฮมสร หรือต้อม อายุ 38 ปี ถูกกวาดต้อนไปเป็นตัวประกันด้วย ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้

"กลุ่มฮามาสติดอาวุธหนักมีพฤติกรรมสุดเหี้ยม หากใครวิ่งหนีจะกราดยิง โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังใช้มีดกรีดหลังเพื่อนคนงานที่เป็นชาว จ.อุดรธานี ที่ถูกจับตัว และซ้อมทำร้ายร่างกาย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาทางช่วยเหลือ ทุกคนอยากกลับประเทศไทย ถึงแม้จะมีภาระหนี้สิน แต่ขอเอาชีวิตรอดไว้ก่อน" นายอนุวัตเล่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง