มึน!บินอ้อมโลกอพยพ นายกฯจ่อถกซาอุฯเรื่องน่านฟ้า/คนไทยดับ29ราย

อิสราเอลลั่นยังไม่หยุดยิง แต่จะงดเว้นการโจมตีในช่วง 08.00-12.00 น.ของแต่ละวันเพื่อให้อพยพ “ไบเดน” เตือนอย่ายึดครองฉนวนกาซา “เศรษฐา" สั่งให้เพิ่มเที่ยวบินมากกว่า 32 เที่ยวรับคนไทย เตรียมถกซาอุฯ เรื่องน่านฟ้าในระหว่างประชุม ใบ้กินปมไทยต้องอ้อมโลกอพยพขณะเกาหลีใต้บินตรง “ปรานปรีย์” รีบปัดอย่าสนใจ ให้ดูผลสรุปที่รับแรงงานถึงบ้านเกิดได้ โวมีสัญญาณบวกเรื่องตัวประกัน ยอดสังเวยสงครามไทยเพิ่มอีกรายรวม 29 คน ขอกลับ 7,596 คน สว.จี้รัฐบาลเร่งพานิสิตนักศึกษากลับมาก่อน!

 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสถานการณ์การสู้รบของกลุ่มฮามาสกับกองทัพอิสราเอลที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ให้คำมั่นว่าจะงดเว้นเส้นทางโจมตีภายในฉนวนกาซา ที่กำหนดไว้สำหรับการอพยพผู้คนจากเหนือจรดใต้ในช่วงเวลาที่จำกัด ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.ของแต่ละวัน และพร้อมรับรองความปลอดภัย

รายงานระบุว่า อิสราเอล, อียิปต์ และสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องกันว่า จุดข้ามแดนราฟาห์ระหว่างฉนวนกาซาและอียิปต์จะเปิดใช้งานครั้งเดียวในวันจันทร์ เพื่อให้ชาวต่างชาติใช้หลบหนีและช่วยให้ขบวนสิ่งของเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ผ่านเข้าไปในกาซา

สำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ระบุในแถลงการณ์ว่า อิสราเอลปฏิเสธกระแสข่าวการหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้ชาวต่างชาติได้อพยพ หรือเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา โดยปฏิบัติการทางทหารยังคงดำเนินต่อไป

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสู้รบตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม  ปัจจุบันอยู่ที่ 1,400 รายในอิสราเอล และ 2,750 รายในฉนวนกาซา ขณะที่หน่วยงานสหประชาชาติที่สนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เผยว่า มีผู้พลัดถิ่นประมาณ 1 ล้านคนแล้วในพื้นที่สู้รบที่ถูกปิดล้อม

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางไปประจำการในอิสราเอลอีกครั้ง หลังเดินสายเจรจาใน 6 รัฐอาหรับ โดยหวังให้เกิดการประสานความร่วมมือต่อต้านกลุ่มฮามาส เช่นเดียวกับการค้นหาวิธีบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ก่อนปฏิบัติการบุกภาคพื้นดินเต็มกำลังของอิสราเอล

ภายใต้แรงกดดันของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อิสราเอลได้กลับมาส่งน้ำไปยังฉนวนกาซาทางตอนใต้อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ยืนกรานว่าจะตัดเสบียงอาหาร, น้ำ และพลังงานทั้งหมด จนกว่าฮามาสจะปล่อยตัวประกันที่ได้รับการประเมินล่าสุดว่ามีจำนวน 199 คน

แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะตอบโต้ และสหรัฐอเมริกาเองก็ได้หยุดเรียกร้องการยับยั้งชั่งใจหรือหยุดยิงจากอิสราเอลแล้ว แต่ก็ได้เตือนไม่ให้ใช้มาตรการที่รุนแรงกว่านี้ และอย่าทำผิดพลาดด้วยการยึดครองฉนวนกาซา

ขณะที่แนวรบอีกด้านบริเวณชายแดนทางตอนเหนือ อิสราเอลได้เร่งอพยพชุมชนออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้ปลอดภัยจากการโจมตีของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ หลังมีรายงานว่าพลเรือนชาวอิสราเอลและเจ้าหน้าที่กองทัพเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากเลบานอน และความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ใน 28 ชุมชน

แรงงานอีก 130 คนถึงไทย

สำหรับความคืบหน้าในการอพยพคนไทยนั้น เมื่อเวลา 06.50 น. ที่ท่าอากาศยานกองบิน 6 (บน.6) เครื่องบิน A340-500 ของกองทัพอากาศ (ทอ.) เที่ยวบินแรกที่เดินทางไปอพยพคนไทยในอิสราเอล เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีจำนวน 130 คน แบ่งเป็นชาย 127 คน หญิง 2 คน และเด็กหญิง 1 คน ส่วนการอพยพคนไทยในเที่ยวบินที่ 2 ทอ.วางแผนนำ A340-500 ปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง ในวันที่ 18 ต.ค. 66 โดยใช้เส้นทางบินเดิม

ด้านนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมารับแรงงานไทยที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินของ ทอ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศอีกจำนวนมาก สำหรับอุปสรรคที่สำคัญคือยังมีการสู้รบ ทำให้การเดินทางจากที่ต่างๆ มายังสนามบินมีความลำบาก จึงต้องวางแผนทำงานให้รัดกุม เพราะการเดินทางต้องมาด้วยความปลอดภัย

เมื่อถามว่า ถึงสิ้นเดือนจะมีคนไทยอพยพออกมาได้ประมาณกี่คน นายสุทินกล่าวว่า น่าจะประมาณ 6,000 คน แต่ตอนนี้กำลังคิดวิธีการอื่นๆ ซึ่งหากมีวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมก็อาจได้มากกว่า 6,000 คน

 “เครื่องบิน C-130 มีข้อจำกัดคือต้องเติมน้ำมันหลายที่ และเป็นเครื่องบินทหาร เมื่อบินผ่านหลายประเทศเราก็ต้องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ จึงทำให้ยากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงใช้เครื่องพาณิชย์เข้ามาช่วย วันนี้การอพยพของพวกเราจึงเป็นสองระบบคู่กันอยู่ คือใช้ทางกองทัพ และเครื่องบินพาณิชย์เราก็เช่าเหมาลำ” นายสุทินกล่าวและว่า รัฐบาลกำลังคิดแผนใหม่อยู่ว่าจะเอาเครื่องบิน C-130 เพื่อไปช่วยลำเลียงคนไทยจากประเทศอิสราเอล โดยให้รออยู่ประเทศที่สาม เช่น จอร์แดน, ซาอุดีอาระเบีย, ดูไบ, ไซปรัส กลับมาประเทศไทย เราคิดไปถึงขนาดว่าถ้าจำเป็นอาจต้องเสริมด้วยทางเรือ กองทัพเรือเอาเรือไปจอดรับ แต่ตอนนี้ก็อาจยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าดีใจและขอให้ทุกคนเค้ากลับบ้านด้วยความปลอดภัย

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง กล่าวถึงการอพยพแรงงาน 130 คนของ ทอ.ว่า ดีใจที่คนไทยได้เดินทางกลับประเทศ หลังจากนี้ให้กระทรวงแรงงานช่วยหางานที่เหมาะสมให้ประกอบอาชีพ ส่วนเรื่องการอพยพคนไทยที่เหลือก็พยายามทำอย่างเต็มที่และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ต้องเพิ่มมากกว่า 32 เที่ยวบิน

เมื่อถามว่า ส่วนเที่ยวบินที่รับคนไทยเดินทางกลับยังยืนยันว่าเป็น 32 เที่ยวใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่างน้อยต้องมี 32 เที่ยวบิน และต้องเพิ่มขึ้น

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงการเดินทางไปประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค. จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวพูดคุยขอความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลหรือไม่ ว่ามีผู้นำหลายคนไปจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว และอย่างที่ทราบกันดีต้องอาศัยการทูต ทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งในโอกาสที่พบผู้นำหลายประเทศครั้งนี้จะพูดคุยกันในเรื่องนี้ และเชื่อว่าเรื่องนี้ผู้นำประเทศทุกคนให้ความสำคัญ และเป็นห่วงเป็นใยจริงๆ อยากให้ทุกอย่างจบได้ด้วยดี  

เมื่อถามว่า เครื่องของ ทอ.ที่จะบินไปช่วยคนไทยที่อิสราเอลไม่สามารถบินตรงได้ ขณะที่เกาหลีใต้สามารถบินตรงได้ สะท้อนว่าทางการทูตเราด้อยกว่าหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่น่าใช่และยังไม่ได้รับข้อมูลมา 

ถามย้ำว่า กรณีไม่สามารถบินผ่านเส้นทางของซาอุดีอาระเบียได้ การเดินทางไปเยือนครั้งนี้จะใช้โอกาสพูดคุยขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ดีและคิดว่าคงต้องคุย โดยจะได้เจอเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย คงได้เจรจากันหลายเรื่อง

และก่อนเดินทางไปประชุมจีน นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มอีก 1 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งสถานการณ์ไม่ได้เบาบางลงไป ยังอยู่ในขั้นวิกฤตเหมือนเดิม ส่วนเที่ยวบินที่รับแรงงานไทยกลับล่าสุดได้รับแจ้งว่าจะเดินทางกลับ แต่ไม่สามารถเดินทางมาได้ 6 คน ซึ่งไม่สามารถติดต่อได้คาดว่าจะอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง จึงยังไม่สามารถเดินทางออกมาได้ โดยได้สั่งการไปว่าให้หาเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น เพื่ออพยพคนทั้ง 7,000 คนให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องตัวประกันขณะนี้มีสัญญาณบวกหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มี ก็จะพยายามทำทุกวิถีทาง แต่มีความคืบหน้าที่ดีขึ้นในแง่ของการเจรจา 

เมื่อถามว่า สถานการณ์การสู้รบยังยืดเยื้อขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตของคนไทยก็เพิ่มขึ้น นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ จึงได้สั่งการให้นำคนของเราออกมาโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ขณะที่เรื่องการช่วยตัวประกันก็เป็นเรื่องที่สำคัญเท่าเทียมกัน

เมื่อถามถึงกรณีนายจ้างบังคับให้แรงงานทำงานแม้จะอยู่ในภาวะสงคราม นายเศรษฐากล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีแล้ว และเรื่องนี้ได้เงียบหายไปแล้ว เราได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมประสานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยว่าเรื่องนี้เรารับไม่ได้ ขออย่าให้มีเรื่องนี้เกิดขึ้นเลย เพราะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย จะมาบังคับทำงานไม่ถูกต้อง ซึ่งเอกอัครราชทูตอิสราเอลก็รับปากจะดูแลเรื่องนี้ให้

ส่วนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้ามีแรงงานไทยเดินทางกลับมาจำนวนหนึ่ง และในช่วงเย็นวันนี้จะมีมาเพิ่มเติม  โดยเวลา 19.30 น. จะกลับมาอีก 250 คน แต่ไม่ปรากฏตัวอีก 6 คน จะเหลือ 244 คน ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนราธิวาส 30 คน และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 3 คน ส่วนที่เหลือที่มาศึกษาอยู่ไม่แสดงความจำนงที่จะกลับ ในเรื่องนี้เข้าใจว่าผู้ปกครองของนักศึกษามีความเป็นห่วง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยในอิสราเอลกำลังดำเนินการที่จะให้นักศึกษาเดินทางกลับมาก่อนเพื่อความปลอดภัย ขณะนี้ใครที่แสดงความจำนงกลับมาก่อนสถานทูตก็พร้อมนำส่งกลับไปทันที โดยมีทั้งหมด 32 เที่ยวบิน คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5,600 คน ส่วนที่เหลือกำลังประสานอยู่ให้กลับมาโดยเร็วที่สุด

ตัวประกันสัญญาณบวก

เมื่อถามถึง 6 คนที่แสดงความจำนงจะกลับ แต่หาตัวไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุใด นายปานปรีย์กล่าวว่า มีการลงชื่อไว้แล้วแต่ไม่มา กำลังติดตามตัวอยู่ว่ามีสาเหตุใดถึงไม่มา แต่ไม่เป็นไรหากจะกลับมาก็ยังมีเที่ยวบินอยู่ ยืนยันว่าไม่น่าจะมีปัญหา น่าจะปลอดภัย ส่วนเรื่องการขยายเที่ยวบินเพิ่มอีก เนื่องจากว่ามีผู้ประสงค์ที่จะขอกลับมาเกือบ 7,500 คนแล้ว โดยตามแผนสามารถนำคนไทยกลับมาได้เกือบ 6,000 คนแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1,000 คนนั้น กำลังประสานงานกับสายการบินที่อยู่ในพื้นที่อิสราเอล และตะวันออกกลาง โดยจะนำกลับมาเพิ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีข้อสงสัย เรื่องที่เที่ยวบินของไทยต้องบินอ้อมหลายประเทศ นายปานปรีย์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้แรงงานไทยหรือนักศึกษาเดินทางกลับมาได้ เรื่องการบินผ่านน่านฟ้าเงื่อนไขของแต่ละสายการบินก็แตกต่างกัน เช่น สายการบินของกองทัพอากาศจะต้องบินอ้อมไปบ้าง แต่หากเป็นสายการบินพาณิชย์ที่อยู่ในพื้นที่จะสามารถบินตรงได้เลย ส่วนเครื่องบินที่บินจากไทยไปถ้าเราไม่เคยบินผ่านมาก่อนก็ต้องไปทำข้อตกลงกันใหม่ เรื่องนี้อยากให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าใจ ที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้คนไทยกลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด ถึงแม้จะใช้เวลาเพิ่มไปอีก 1-2 ชั่วโมงก็ตามที

เมื่อถามถึงเรื่องตัวประกันที่เป็นคนไทยซึ่งถูกจับอยู่ในอิสราเอล มีสัญญาณบวกหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า มีสัญญาณบวก อาจไม่ได้บอกถึงรายละเอียดว่าประสานประเทศไหนบ้าง แต่ยืนยันเราประสานทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายอิสราเอล เพราะเขาต้องมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้คนของเรา ส่วนประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีความสนิทสนมและคุ้นเคยกับปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสนั้น เราก็ประสานกับเขาด้วย 

 “ล่าสุด เขาได้ส่งข่าวมาว่าแนวโน้มในการปล่อยตัวประกันมีสูงมาก ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ต้องใช้เวลา ในภาวะสงครามแบบนี้ จำนวนคนที่จะพิสูจน์อัตลักษณ์ก็ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตามจะพยายามเร่งทางการอิสราเอล โดยขอให้เร่งทำในส่วนของไทยก่อน เพราะเราได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งทางการอิสราเอลรับปากแล้วว่าจะเร่งให้” นายปานปรีย์กล่าวและยืนยันว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมง ซึ่งน่าเห็นใจที่สุดคือคนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ที่ส่งไปเพิ่ม ภายใต้ความกดดันที่มีมากและอยู่ภายใต้ความเสี่ยง ดังนั้น จึงขอส่งกำลังใจไปให้เจ้าหน้าที่บ้าง เราจะทำให้ดีที่สุด และนำคนไทยกลับมาสู่ที่ปลอดภัยโดยเร็ว 

ทั้งนี้ กต.แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ล่าสุดว่ามีผู้เสียชีวิต 29 ราย เพิ่มขึ้น 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บยังคง 16 ราย และผู้ถูกจับกุม 17 รายตามเดิม ทั้งนี้ คนไทยที่ลงทะเบียนประสงค์ขอกลับมี 7,596 คน และไม่ขอกลับ 99 คน

เจ้าจำปีร่วมขนคนไทย

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้เร่งประสานไปยังสายการบินต่างๆ เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจอพยพคนไทยในอิสราเอลตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยเฉพาะแอร์บัส A380 ที่สามารถขนผู้โดยสารได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้ประสานหาเครื่องบิน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า การบินไทยจะร่วมปฏิบัติการอพยพคนไทย โดยจะทำการบินในเที่ยวบินแรกด้วยเครื่องโบอิ้ง 777-200ER เที่ยวบินที่ TG8950 เดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 17 ต.ค. 66 เวลา 02.20 น. ใช้เวลาทำการบิน 12 ชั่วโมง คาดว่าจะถึงท่าอากาศยานเทลอาวีฟในเวลาประมาณ 14.20 น. โดยจะขนผู้โดยสารคนไทย 280 คน และเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิวันที่ 18 ต.ค. 66 เวลาประมาณ 05.00 น.

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศว่า พม.ได้ร่วมมือ กต.  กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้จัดนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และสหวิชาชีพใน 2 จุดหลัก คือ ที่จุดคัดกรองแรงงานที่เดินทางมาถึง โดยมีการช่วยเหลือในส่วนของที่พักและค่าใช้จ่าย และ พม.แต่ละจังหวัดที่แรงงานไทยอาศัยอยู่ ได้เข้าไปพูดคุยกับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ และทำแผนช่วยเหลือรายบุคคล สมุดพกครอบครัว ซึ่งมีรายละเอียดระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับสภาพจิตใจในช่วงวิกฤต โดยมีทีมเคสเมเนเจอร์ตรวจเยี่ยมครอบครัวผู้ประสบภัย ทั้งผู้บาดเจ็บและผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 28 ราย พร้อมจัดทีมฮอตไลน์สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ได้สั่งการ ให้ พม.ในแต่พื้นที่รายงานกลับมาทุกวันด้วย

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สว. หารือว่า ขณะนี้มีนักศึกษาไทยของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้งหมด 4 แห่ง  ได้แก่ ศรีษะเกษ 23 คน มหาสารคาม 24 คน ร้อยเอ็ด 29 คน และราชบุรี 2 คนติดค้างอยู่ที่อิสราเอล ห่างจากจุดปะทะไปทางตะวันออกใกล้ประเทศจอร์แดนเพียง 100 กิโลเมตร ซึ่งนักศึกษาไทยจำนวนดังกล่าวได้ลงทะเบียนขอกลับไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนว่าต้องรออีก 2 สัปดาห์จึงจะได้กลับ ประกอบกับสถานการณ์สู้รบดูจะยังเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม เกรงว่านักศึกษาจะไม่ปลอดภัย จึงอยากสื่อสารไปยังรัฐบาลขอให้นำนักศึกษาไทยกลับประเทศเป็นกลุ่มแรกๆ และเป็นการเร่งด่วน และเมื่อเหตุการณ์ที่อิสราเอลสงบลงแล้ว ขอให้ส่งนักศึกษาไทยกลับไปฝึกวิชาชีพตามหลักสูตรจนจบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง' ควงรมต.ใหม่โชว์ตัวในพื้นที่ ฟุ้งจบปัญหาเรื่องน้ำ เงินดิจิทัลสิ้นปี

คึกคัก! “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเวที "เพื่อไทยพบประชาชน" ขอบคุณชาวร้อยเอ็ดเลือกให้เป็นรัฐบาล ย้ำอีกครั้ง เงินดิจิทัลได้แน่สิ้นปีนี้

'เศรษฐา' สั่งพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งกุลา ดันข้าวหอมมะลิตีตลาดโลก

นายกฯ รับฟังสถานการณ์น้ำ-แผนพัฒนาทุ่งกุลาฯ สั่ง“กรมชลฯ” ผลักดันศักยภาพทุ่งกุลาฯ หาแหล่งน้ำ -พัฒนาข้าวหอมมะลิไทย หวังตีตลาดโลก เพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้เกษตรกร