โลกประณามบึ้มรพ. ยิว-ฮามาสปฏิเสธโจมตี ปรับแผนอพยพคนไทย

ทั่วโลกรุมประณาม เหตุยิงจรวดระเบิดโรงพยาบาลในฉนวนกาซา ส่งผลมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ก่อน "โจ ไบเดน" เดินทางถึงอิสราเอลไม่กี่ชั่วโมง "กองทัพอิสราเอล-กลุ่มฮามาส" ต่างรีบปฏิเสธไม่ใช่ฝีมือตัวเอง "บัวแก้ว" เผยรัฐบาลไทยเตรียมแถลงจุดยืน "เศรษฐา" เสียใจคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ยอดพุ่ง 30 ศพ ระบุเลขาฯ ยูเอ็นเห็นใจไทยสูญเสียมาก สั่งเร่งอพยพแรงงานพ้นพื้นที่สีแดง ปรับใหม่เริ่ม 22 ต.ค. นำคนไทยพักรอที่ดูไบก่อนรับกลับ ปท. แย้ม 7 เที่ยวบินช่วยได้  926 คน "วราวุธ" บอกพิสูจน์อัตลักษณ์ได้แล้ว 1 ศพ

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซาเดือดชั่วข้ามคืน ภายหลังเกิดการโจมตีโรงพยาบาลอาห์ลี อาหรับ (Ahli Arab)   ในฉนวนกาซาตอนกลาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุดมากกว่า 200 ราย ก่อความไม่พอใจให้โลกอิสลาม, ภูมิภาคตะวันออกกลาง และองค์กรด้านมนุษยธรรมทั่วโลก ซึ่งกำลังกังวลสูงสุดต่อพลเรือนที่ไม่มีทางสู้และไม่มีที่ให้หลบภัย แต่กองทัพอิสราเอลปฏิเสธว่าเป็นฝีมือตน และยังยืนยันด้วยว่าฝ่ายตนมีหลักฐานกล่าวโทษว่าเป็นเพราะจรวดที่ทำงานผิดพลาดจากการยิงโดยกลุ่มติดอาวุธญิฮาดอิสลามในพื้นที่

การโจมตีพลเรือนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังเพิ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 รายจากการโจมตีโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินการโดยสหประชาชาติในพื้นที่เป้าหมายการทำลายของกองทัพอิสราเอล และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการมาถึงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มุ่งหน้าสู่อิสราเอลเพื่อร่วมหาทางออกต่อสงครามที่มีแนวโน้มบานปลาย

ล่าสุดการเหยียบแผ่นดินอิสราเอลของไบเดน ไม่อาจหยุดยั้งการประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดระหว่างตัวเขากับจอร์แดนได้ โดยอัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน กล่าวว่า  การประชุมสุดยอดดังกล่าวจะจัดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการตัดสินใจที่จะหยุดสงครามและยุติการสังหารหมู่เกิดขึ้นเสียก่อน

อีกทั้งมีผู้ประท้วงจำนวนมากในจอร์แดนออกมารวมตัวแสดงความโกรธเกรี้ยวและพยายามโจมตีสถานทูตอิสราเอล ในขณะที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนออกมาสุมไฟเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความโกรธต่ออิสราเอลเช่นกัน และเริ่มมีการรวมตัวชุมนุมประท้วงความรุนแรงดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก

กาตาร์เรียกการโจมตีโรงพยาบาลล่าสุดว่าเป็น "การสังหารหมู่อย่างโหดร้าย"  และ "อาชญากรรมร้ายแรงต่อพลเรือนที่ไม่มีการป้องกัน" เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพยุโรป, สหภาพแอฟริกา ไปจนถึงองค์การอนามัยโลก

ความไม่พอใจที่ลุกลามทำให้อิสราเอลประกาศเตือนพลเมืองของตนในตุรกีให้อพยพออกจากประเทศโดยเร็ว เช่นเดียวกับการแจ้งเตือนพลเมืองของตนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ให้ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะอาจกลายเป็นเป้าโจมตี

จีนร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที  ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียกล่าวว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้ต้องนำความขัดแย้งไปสู่จุดสิ้นสุดให้ได้โดยเร็ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำอินเดียเร่งเร้าให้หาตัวผู้ก่อเหตุมารับผิดชอบ

ด้านความช่วยเหลือที่รอคอยการผ่านพรมแดนไปยังกาซา ยังคงไม่มีความคืบหน้า เพราะอียิปต์ยังไม่เปิดจุดผ่านแดนราฟาห์ให้กับการช่วยเหลือหรืออพยพใดๆ โดยอ้างว่าอิสราเอลไม่ให้ความชัดเจนและไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดในอิสราเอลอยู่ที่ 1,400 ราย และ 3,000 รายในฉนวนกาซา โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตในอิสราเอลอาจคงที่ แต่ในกาซาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากมีการโจมตีพลเรือนในจุดสำคัญ รวมถึงสถานการณ์การเสียชีวิตของผู้คนจากการขาดเสบียงอาหารและเสียโอกาสในการรักษาพยาบาล

คนไทยดับเพิ่มอีก 1 ราย

ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลว่า มีรายงานคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 30 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บและตัวประกันยังมีตัวเลขเท่าเดิม ขณะที่วันที่ 18 ต.ค. ตนได้พบปะกับนายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) และผู้นำหลายประเทศ ระหว่างงานเลี้ยงรับรองที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทุกคนแสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ที่อิสราเอล และทุกคนมั่นใจว่าสถานการณ์จะเคลื่อนไปในทิศทางที่เลวร้ายลง ซึ่งตนได้แจ้งกับเลขาธิการยูเอ็นว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง แต่กลับเป็นผู้ที่สูญเสียมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นแสดงความตกใจ และแสดงความเห็นใจมายังประเทศไทย พร้อมแจ้งว่าในวันที่ 19 ต.ค.จะเดินทางไปอียิปต์และไปยังจุดที่มีความขัดแย้ง ซึ่งเข้าใจว่าไปกดดันให้มีการยุติโดยสันติภาพให้เร็วที่สุด

"เลขาฯ ยูเอ็นแสดงความห่วงใยอย่างมาก พร้อมเป็นกำลังใจให้ประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้นำหลายประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็พยายามเดินทางเข้าไปเจรจา ล่าสุดนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็เตรียมเข้าไป เช่นเดียวกับประเทศอียิปต์ก็มีส่วนร่วมในการช่วยเจรจา ซึ่งทุกประเทศเป็นห่วงสถานการณ์ เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยกลับประเทศว่า ปัจจุบันสามารถนำตัวคนไทยออกมาได้เฉลี่ย 400 คนต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนการกลับไทยเพิ่มขึ้นวันละ 600 คน ดังนั้นความจำเป็นในการนำเครื่องบิน A380 ซึ่งสามารถรองรับได้เที่ยวละ 500-600 คน ก็น้อยลง เนื่องจากไม่สามารถนำคนมารวมกันไว้ได้เยอะขนาดนั้น เพราะสถานที่ไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถรับคนไทยที่แจ้งความประสงค์เดินทางกลับได้หมดภายในสิ้นเดือนนี้

"รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ได้ติดต่อกับท่าเรือ เพราะบางประเทศได้นำเรือสำราญไปรับคนออกมา เช่น สหรัฐไปรับออกมา 1,500-2,000 คน ออกมาจากอิสราเอลแล้วไปจอดไซปรัส แต่ขณะนี้ท่าเรือปิดแล้ว หากไทยขอไปอีกอาจจะลำบาก มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อีกทั้งการรับคนออกมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วมารวบรวมไว้เป็นพันคนไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก" นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องความสับสนทางข้อมูลก็มีประเด็น เพราะก่อนหน้านี้เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แจ้งว่าสามารถอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ถึง 99% ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ใช่ เพราะจากเที่ยวบินล่าสุดมีคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะกลับยังไม่สามารถออกจากพื้นที่นั้นได้หลายสิบคน ทำให้คนที่เดินทางกลับลดน้อยลง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และหากสถานการณ์การสู้รบของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่จะทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องนำคนไทยออกมาให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องประสานด้านโลจิสติกส์ให้ดีว่าหากนำตัวออกจากพื้นที่เสี่ยงได้แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งขณะนี้ฝ่ายค้านมั่นคง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็พยายามติดต่อประสานเพื่อนำคนไทยออกมาให้ได้เร็วและปลอดภัยที่สุด แต่การลำเลียงคนออกจากพื้นที่สีแดงไม่ใช่ทำได้ตลอดเวลา ต้องดูเรื่องเวลาด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามเจรจาและดำเนินการหลายๆ อย่าง

 “ผมอยากให้คนที่ยังได้ตัดสินใจ เร่งตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่กลับ เพราะความเสี่ยงอยู่ที่ตัวท่าน ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลหากท่านแสดงความจำนงว่าจะกลับ เป็นหน้าที่เราที่ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลำเลียงคนออกมาให้เร็วและปลอดภัยที่สุด และวันที่ 18 ต.ค.กระทรวงการต่างประเทศจะประสานไปที่สถานเอกอัครราชทูต เพื่อตรวจสอบจำนวนเที่ยวบินว่ามีเท่าไหร่ ที่สำคัญต้องนำคนไทยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก่อนบินกลับประเทศ" นายเศรษฐากล่าว

รบ.เตรียมแถลงจุดยืน

ขณะที่นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์สำคัญโจมตีโรงพยาบาลที่ฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ทั้งนี้ รัฐบาลขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอีกไม่นานรัฐบาลไทยจะมีแถลงการณ์จุดยืน

ทั้งนี้ ในส่วนผลกระทบต่อคนไทยนั้นมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 30 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ 16 คน และผู้ถูกจับ 17 คนไม่เปลี่ยนแปลง ยอดผู้ประสงค์กลับไทย 8,160 คน ไม่ขอกลับ 110 คน สำหรับสถิติคนไทยที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว 7 เที่ยวบิน 926 คน และกลับเองจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าของวันที่ 18 ต.ค. มีเครื่องบินของกองทัพอากาศบินไปยังกรุงเทลอาวีฟ เพื่อรับคนไทยกลับมา โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 13.40 น. จำนวน 145 คน และยังมีสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์อีก 80 คน นอกจากนี้สถานทูตยังจัดโรงแรมให้เป็นศูนย์พักพิงแก่คนไทยในอิสราเอล รวม 7 แห่ง โดยมีผู้เข้าพักแล้ว 593 คน เพื่อเตรียมพร้อมขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน

"ทางการไทยพยายามจัดเที่ยวบินทุกวัน และยังคงตั้งเป้าหมายขนคนไทยกลับบ้านให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 คน และมีแผนจะลำเลียงคนไทยพักรอที่จุดที่สาม คือดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   โดยระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟถึงดูไบจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ สาเหตุเพราะเราจะจ้างเหมาเครื่องบินขนาดใหญ่ที่บรรจุคนได้เป็นจำนวนมากบินออกจากเทลอาวีฟไปดูไบ และจากกรุงเทพฯ ไปดูไบก็มีหลายสายการบินแล้ว ตั้งแต่เครื่องบิน ทอ. การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ และไลอ้อนแอร์ แผนนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. เป็นต้นไป" นางกาญจนากล่าว

ถามถึงกระแสวิจารณ์การบินอ้อมจนเสียเวลา 3-4 ชั่วโมงต่างจากประเทศอื่นๆ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เราไม่ได้ขอบินผ่านประเทศที่จะมีความเสี่ยงว่าอาจไม่ได้รับอนุญาต หรืออาจจะอนุญาตแต่ล่าช้า เหล่านี้เราไม่ได้ขอ เพราะคิดว่าการเสียเวลาอ้อม 3-4 ชั่วโมงดีกว่าที่จะต้องไปขออนุญาต เช่น ต้องไปขอประเทศที่ปกติไม่อนุญาตให้ปิดไปปลายทางอิสราเอล เราก็จะต้องขออนุญาตหลายประเทศ ขอในสิ่งที่ต้องขอกรณีพิเศษ ซึ่งปกติต้องใช้เวลา ฉะนั้นเพื่อความชัวร์ เราจึงขอกับประเทศที่อนุญาตแน่นอนดีกว่า

 “เราไม่ได้ขอเพราะอยากให้มันเร็ว  เราไม่อยากเสี่ยงเพราะความล่าช้า บางคนอาจจะบอกว่าประเทศอื่นยังบินได้ ก็แล้วแต่ บางประเทศก็มีความตกลงกันและความจริงถ้าเราขออนุญาต ในห้วงภาวะสงคราม สถานการณ์มนุษยธรรมเราอาจจะได้ก็ได้ แต่เราไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากรอ ดังนั้นนักบินบินอ้อม 3-4 ชั่วโมงไม่ได้เป็นประเด็น” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

นางกาญจนากล่าวว่า บางคนอาจคิดว่าเวลาที่เสียไป 3-4 ชั่วโมง อาจทำให้ได้เที่ยวบินกลับประเทศเพิ่มนั้น เรียนว่าเที่ยวบินที่เตรียมไว้มีจำนวนมาก แต่ยอดผู้ลงทะเบียนน้อยกว่าคนที่มาขึ้นเครื่องจริงๆ ซึ่งก็มีสาเหตุความจำเป็นหลายอย่างที่ทำให้ตัวเลขไม่ตรงกัน ปัญหาคือพี่น้องคนไทยในพื้นที่เดินทางมาสนามบินอย่างไร แต่เราก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาของเรา ไม่ว่าคนไทยเหล่านั้นจะลงทะเบียนแสดงความประสงค์กลับไทยหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้เดินทางมายังศูนย์พักพิงที่ทางสถานทูตเตรียมไว้ให้ก่อน

นางกาญจนากล่าวถึงประชาชนบางส่วนที่ยังเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศว่า  ขอให้ติดตามมาตรการต่างๆ ของท้องถิ่นว่าเตือนอย่างไร ทั้งระดับความปลอดภัย และการแจ้งเตือนเรื่องการก่อการร้าย ขอให้ติดตามเฟซบุ๊กสถานทูตและสถานกงสุล นอกจากนั้น เราได้รับทราบว่ายังมีคนเดินทางไปยังเยรูซาเล็ม ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ พื้นที่มีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย ขอให้พิจารณางดเว้นไว้ก่อน

พิสูจน์อัตลักษณ์ได้ 1 ศพ

ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 04.35 น. เครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 8951 ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ เวลา 13.38 น. นำแรงงานไทยจากอิสราเอลเดินทางถึงประเทศไทยเป็นชุดที่ 7 จำนวน 266 คน โดยมีหน่วยงานราชการและญาติพี่น้องมารอรับ ซึ่งเมื่อเดินทางถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต ได้ตรวจคัดกรองสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของแรงงานอยู่บริเวณด้านใน และมีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งจุดอำนวยการรับเอกสารการขอรับสิทธิประโยชน์กองทุนฯสำหรับแรงงานที่ประตู 9-10 ก่อนออกอาคารผู้โดยสารชั้น 2  ซึ่งได้จัดเตรียมรถบัสรอรับแรงงานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาทันที

ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า พม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติการทุกเที่ยวบิน ซึ่งเราจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทั้งที่สนามบิน และในทุกจังหวัดที่เราได้รับรายงานว่ามีสมาชิกของคนในครอบครัวนั้นๆ เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล จนถึงวันนี้สามารถยืนยันผู้เสียชีวิตโดยการพิสูจน์อัตลักษณ์ได้เพียง 1 ราย แต่เรารู้ว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น แต่ในการยืนยันอัตลักษณ์ของแต่ละรายนั้น ยังเป็นไปได้ด้วยความล่าช้า เพราะการขอข้อมูลจากทางการอิสราเอลก็เข้าใจว่ามีหลายประเทศที่ประสบปัญหาเหมือนกัน ไทยเราก็กำลังเร่งติดตามอยู่ทุกนาที

"นอกจากผู้เสียชีวิตก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่กระทรวง พม.จะเข้าช่วยเยียวยาทางจิตใจไปพร้อมกับหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งเรื่องเงินชดเชยเยียวยาต่างๆ โดยงานสำคัญของ พม. คือเข้าเยียวยาจิตใจว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบอย่างไร รู้สึกอึดอัดอย่างไร บางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาชั่วข้ามคืน แต่การที่มีคนเข้าพูดคุย นั่งฟัง เพื่อให้เขาได้ระบายความรู้สึก ได้พูดคุย ถึงความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้น ให้เอาออกมา ดีกว่าเก็บขังเอาไว้ข้างใน ก็จะช่วยผ่อนเบาความเครียดลงไปได้ในระดับหนึ่ง" นายวราวุธกล่าว

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สปน. รับหนังสือ เพื่อขอให้นายกฯ ได้แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วยประสานประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อนำเครื่องบินผ่านน่านฟ้าในการเข้าไปบริการรับคนไทยที่ประเทศอิสราเอลกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องบินอ้อมโลกผ่าน 10 ประเทศ ย่นระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมง

 “ผมในฐานะประชาชนคนไทย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 จึงขอใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ประกอบมาตรา 41 (1) (2) เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประสานรัฐบาลแห่งรัฐซาอุดีอาระเบีย เพื่อขอใช้น่านฟ้าผ่านไปรับคนไทยที่ประเทศอิสราเอลกลับประเทศไทยที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพื่อทันต่อสถานการณ์ที่อันตรายและไม่แน่นอนในประเทศอิสราเอลทันที ทันเหตุการณ์” นายสนธิญาระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง