ศาลชี้ปปช.ห้ามกั๊กนาฬิกาป้อม

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของ ป.ป.ช. ปม "วีระ" ฟ้อง ป.ป.ช.เปิดข้อมูลนาฬิกาหรูไม่ครบ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.66 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

โดยคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 789/2564 หมายเลขแดงที่ อ.224/2566 ระหว่างนายวีระ สมความคิด ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่  2 โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 3 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 แก่ผู้ฟ้องคดี 3 รายการ

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ 1461 /2566 และคำสั่งที่ 1462/2566 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยวินิจฉัยว่า เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาล จะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้โต้แย้งการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี  ทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า  เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2532 และตามมาตรา 15 (2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.681/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อร.74/2564 โดยมิได้พิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อ.681/2560 ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.224/2566 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น

กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง