เตือนภัยคุกคามใหม่ ‘สุทิน’หวั่นกระทบสถาบันหลักลั่นนำกองทัพสู้ให้ได้

"สุทิน" เตือนภัยคุกคามใหม่ ความคิดที่หลากหลาย แตกแยกทางความคิด ขัดแย้งทางการเมือง หวั่นกระทบสถาบันหลักของชาติ “ยากจน-เหลื่อมล้ำ” ส่อสงครามประชาชน กองทัพอาจเอาไม่อยู่ ทำเสียเอกราช ยอมรับเข้าใจผิดงบทางทหารมาตลอด ลั่นต้องทำให้กองทัพทันสมัย แข็งแกร่ง ไม่เช่นนั้นสู้ไม่ได้ พร้อมส่งคนกลาโหมแจง กมธ.ปมเรือดำน้ำ 8 ประเด็น ผงะ! คำชี้แจงสัญญาจีทูจีไม่ได้ระบุต้องเป็นเครื่องยนต์เอ็มทียูของเยอรมนี ด้าน “รอมฎอน” เผยคน กอ.รมน.ทักชวนไปร่วมงานเสวนา นึกว่าขำๆ ยันพร้อมร่วมทุกเวที

ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 พร้อมให้นโยบายตอนหนึ่งว่า  สงครามในปัจจุบัน เป็นการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราเคยเสียมาแล้วยุค IMF ซึ่งเอกราชทางด้านความมั่นคงเราต้องคงไว้ซึ่งความมั่นคงทางวัฒนธรรม แต่เด็กรุ่นใหม่ไปเอาวัฒนธรรมต่างชาติ ไม่มีเอาวัฒนธรรมของตัวเอง ตนมองว่าเอกราชทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในการรักษาเอกราช ตนมองว่าภัยคุกคามใหม่ที่มีคือภัยจากข้างนอก คือการรบกันข้างนอก อาทิ รัสเซีย-ยูเครน การรบในอิสราเอล และในอนาคตก็จะเกิดสงคราม 2 ขั้ว ถ้าเราวางตัวไม่ถูกและไม่ดี ประเทศไทยก็โดนดึงเข้าไปร่วมด้วย เมื่อช้างชนกัน หญ้าแพรกอย่างเราก็มีปัญหา ดังนั้นจะมีแนวทางเพื่อให้ประเทศไทยที่เป็นหญ้าแพรกจะได้อยู่รอดเมื่อช้างสารชนกัน นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามใหม่อีกหลากหลาย ซึ่งเราต้องคิดแผนขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากภัยคุกคามทางทหารยังคงมีอยู่

"นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามทางด้านความคิดที่เป็นภัยอยู่ในประเทศ เวลานี้คนไทยมีความคิดเห็นหลากหลาย ที่มีต่อสถาบันสำคัญของชาติ ถูกกระทบซึ่งเป็นภัยที่สำคัญ แตกแยกทางความคิดที่มีในโซเชียล อีกทั้งมีภัยจากการไม่เชื่อมั่นสถาบันการเมือง ที่หากไม่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ความขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้เป็นภัยกับทุกเรื่อง รวมไปถึงภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการ ขณะนี้ไม่ลงตัว เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์" นายสุทินกล่าว 

นายสุทินกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดสงครามประชาชน เป็นภัยที่มองไม่เห็น กองทัพก็จะเอาไม่อยู่ จากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามัคคี เพราะจากนี้ไปกลายเป็นว่าทรัพย์สินต่างๆ จะอยู่กับคนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเราต้องคิดให้หนัก โดยภัยคุกคามใหม่ กองทัพรับมือคนเดียวไม่ได้ ทหารเก่งขนาดไหนก็รับมือไม่ได้ และสุดท้ายจะเกิดความขัดแย้งในสังคมและสะสมหลายรูปแบบ ทั้งความยากจน ความข้นแค้น มีความกดดัน จนมาทะเลาะกันในสภา และมีการลงถนน  โดยเราไม่มีวัฒนธรรมที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำ ดังนั้นทหารก็ต้องเข้ามาแก้ แต่ก็ยาก อีกทั้งยังจะโดนด้อยค่า ถูกแยกออกจากประชาชน

บทสรุปที่สำคัญคือ การป้องกันราชอาณาจักรไม่ใช่หน้าที่ของคนไทยคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ของทหาร แต่เป็นของทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงทำร่วมกันต้องช่วยกัน ตนหวังว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ ที่มาครบทุกสาขาอาชีพ และเป็นผู้ใหญ่ ตนเชื่อว่าทุกคนรักชาติและอยากเห็นประเทศชาติก้าวกระโดด

“ผมมายืนตรงนี้ในฐานะตนเองและพรรค ก็ต้องรับผิดชอบ คือการปกป้องเอกราชสู้กับภัยคุกคามใหม่ ทำให้กองทัพทันสมัย แข็งแกร่ง แต่มีขนาดที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นก็สู้ไม่ได้ รวมทั้งภารกิจ ต้องช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ โดยนำทรัพยากรทางทหารมาช่วย ทั้งด้านเศรษฐกิจด้วย กองทัพต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการบริหารภายในกองทัพ เทคโนโลยีในการรบ ที่ต้องสู้กับเขาได้ อยู่แบบเดิมไม่ได้  ซึ่งการจัดซื้ออย่าถามว่าจะซื้ออะไร แต่ต้องถามว่าซื้อมาแล้วจะสู้อะไรกับเขาได้ไหม ผมเข้าใจผิดมาตลอดเรื่องการจัดงบประมาณของกองทัพ จากเดิมที่เอาฐานเดิมมาทำ แต่กองทัพคิดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเอาคู่แข่งทางทหาร มาคิดด้วย อาทิ เมื่อเขามีเรือดำน้ำ มี F-16 ก็ต้องมีสิ่งที่นำมาสู้กับเขาได้ ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณดูคู่แข่งและคู่ต่อสู้ นับว่าเป็นความทันสมัยเช่นกัน"

"ต้องทันสมัยและอยู่ในใจประชาชน แม้กองทัพยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดไหน ถ้าไม่อยู่ในใจประชาชนและได้ใจประชาชน ก็ไม่ได้ และสิ่งใดไม่อยู่ในใจประชาชนก็ต้องหลีกเลี่ยง" นายสุทิน กล่าว

นายสุทินกล่าวถึงการไปชี้แจงคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า วันนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงกลาโหม และกองทัพไปชี้แจงก่อน ในส่วนของตนจะใช้โอกาสชี้แจงคณะกรรมาธิการการทหาร ที่มาพบในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ โดยได้แจ้งกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหารไปแล้ว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพูดคุยกันนาน ส่วนความคืบหน้าการส่งผู้แทนไปเจรจากับทางจีนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกผู้แทน แต่ขณะนี้ก็ยังมีการพูดคุยเป็นระยะ

ขณะที่ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดเสวนาความมั่นคงเพื่อตอบโต้เรื่องประเด็นการยุบ กอ.รมน. และได้เชิญตน แต่ไม่ได้ไปว่า เพิ่งรู้ได้รับคำเชิญจากพี่ที่ทำงานอยู่ใน กอ.รมน. มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กใต้โพสต์ นึกว่าขำๆ ชวนมาร่วมเสวนาไม่เป็นทางการ ซึ่งตนมีภารกิจประชุมเรื่องสันติภาพ ตอบรับก็ลำบาก แต่ยินดีอย่างยิ่ง ที่จะไปร่วมงานครั้งหน้า ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้คำรับรองร่างกฎหมาย แล้วโยนกลับมาให้สภาพิจารณาต่อ และจากการที่ตนได้พูดคุยกับหลายหน่วยงาน รวมถึงคนของ กอ.รมน.เอง เห็นตรงกันว่าถ้าเราสนับสนุนขีดความสามารถของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เป็นแม่งาน ในการประสานงาน อาจจะเวิร์กกว่ากองทัพ และตัว กอ.รมน.เอง เพราะรู้งานมากกว่า และรู้ความละเอียดซับซ้อนของงานมากกว่า

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนกระทรวงกลาโหม นำโดย พล.อ.อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประมาณ กระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงความคืบหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ต่อ กรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะประธาน ระบุว่า ทางกองทัพเรือไม่ได้มาชี้แจงเอง เนื่องจากนายสุทิน มอบหมายให้สำนักงบประมาณกลาโหมมาชี้แจงแทน ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ระบุว่ากรรมาธิการการทหารได้สอบถามผู้แทนกลาโหมรวม 8 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเครื่องยนต์เรือดำน้ำ มูลค่าความเสียหาย รวมทั้งการเรียกร้องค่าปรับ พร้อมชี้ว่าแนวทางเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ต้องคำนึงถึงผลกระทบตามที่หลายฝ่ายท้วงติง และกรรมาธิการการทหารเห็นพ้องว่า หากจะเปลี่ยนโครงการเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต อาจเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 178 เกี่ยวกับสัญญาต่างประเทศ และการจัดซื้อจีทูจี ที่ต้องนำเข้าสภา 

ขณะที่ พล.อ.อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประมาณ กระทรวงกลาโหม ชี้แจงรายประเด็น ตามที่กรรมาธิการการทหารสอบถาม เริ่มตั้งแต่การขอให้เปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่กองทัพเรือจ้างจีนต่อเรือดำน้ำ S-26 T แต่ทางสำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อตกลงห้ามเปิดเผยความลับให้บุคคลที่สาม  ต้องรอประสานให้ทางจีนอนุญาตด้วย

พล.อ.อดินันท์ยังชี้แจงกรณีการเรียกร้องค่าปรับจากจีนว่า ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการจัดซื้อแบบจีทูจี โดยใช้หลักการเจรจา และไม่ได้กำหนดค่าปรับเป็นรายงวด ส่วนกรณีเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี แต่มีการระบุไว้ในข้อตกลงว่า จีนจะติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งจีนได้ลิขสิทธิ์จากเยอรมนี ผลิตเครื่องยนต์แบบเดียวกับ MTU 396 และเมื่อเยอรมนีไม่ให้จีนผลิตใช้เองหรือส่งออก ทำให้ทางจีนเสนอติดตั้งเครื่องยนต์ CHD-620 ของจีนแทน พร้อมชี้แจงภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณสร้างเรือดำน้ำ และส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าจอดเรือ/โรงซ่อมบำรุง และคลังอาวุธ จนถึงขณะนี้รวม 9,500 ล้านบาทจากวงเงิน 17,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้ใช้งานในโครงการเรือดำน้ำ ก็สามารถดัดแปลงไปใช้ในภารกิจอื่นได้ ส่วนการเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ในปีงบประมาณ 2567 กองทัพเรือมีแผนจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 1 ลำ วงเงิน 17,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง