พรรครัฐบาลผวายุบสภา!

พรรคร่วมรัฐบาลหวั่นสภาล่มบ่อยมีนัยสำคัญ อาจเป็นเหตุให้นายกฯ ใช้ยุบสภาได้ ด้าน “แรมโบ้” ซัด “ฝ่ายค้าน” ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นผู้แทนฯ ขาดจิตสำนึกไร้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เลือกตั้งสมัยหน้าประชาชนจะลงโทษ เหตุทำตัวสกปรกน่าอับอาย ขณะที่ซูเปอร์โพลยก "บิ๊กตู่-จุรินทร์" นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..)พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภาล่ม 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ว่าตนอยู่ในที่ประชุมสภา และเป็นคนหนึ่งที่ขานชื่ออยู่สภาเสมอ ในที่ประชุมวิปฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ให้ความเห็นไว้ในที่ประชุมแล้วว่าในการประชุมเพิ่มวันศุกร์จะมีปัญหาตามมาสมควร เนื่องจากเป็นช่วงปลายของสภา กฎหมายประกอบและธรรมนูญก็ออกแล้วเป็นบัตร 2 ใบ เขตเลือกตั้งเริ่มจะไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ส.ส.เขตซึ่งมีหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นปากเสียงของประชาชน จึงน่าเห็นใจ ส.ส.เขตและสัญญาเลือกตั้งก็เริ่มมาแล้ว เขาต้องลงพื้นที่ เพราะเป็นสภาพบังคับ เมื่อเป็นวันศุกร์เขาก็จะมีปัญหากดดัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิจารณ์ว่าสภาล่มบ่อยอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าสภามีปัญหา อาจทำให้เกิดการยุบสภา นายนิกรตอบว่า การยุบสภาคือสภามีปัญหา ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วทำให้สภาล่ม ก็ถือเป็นปัญหาอย่างมีนัยสำคัญของสภาเหมือนกัน จึงต้องพึงรักษาสภากันไว้ ในฐานะ ส.ส. ถ้าไม่อยากจะเลือกตั้งกันเร็ว ก็ต้องช่วยกันรักษา เพราะเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสามารถนำไปเป็นเหตุยุบสภาได้ ส่วนที่มี ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่มา คงเพราะติดงาน เร่งทำงานเข้าพื้นที่เพราะใกล้สิ้นปี

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านเองก็อยู่ในที่ประชุมจำนวนมาก นายนิกรกล่าวว่า  ฝ่ายค้านเองก็ทำได้ เป็นบทบาทของฝ่ายค้านที่จะทำอย่างนั้น แต่โดยองค์รวมของสภา ก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยในเมื่อเป็น ส.ส.ด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล นายนิกรกล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคมนี้เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะทำงานยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ชุดที่มีนายวิเชียร ชวลิต เป็นประธานคณะทำงาน อาทิ ตน, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ, นายราเมศ รัตนะเชวง, นายชาดา ไทยเศรษฐ์, นายศุภชัย ใจสมุทร, นายโกวิทย์ พวงงาม,  นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชา (พปชร.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) เข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องที่จะยื่นร่างดังกล่าวผ่านรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดมีปัญหายุ่งยากในภายหลัง จึงต้องหารือกันก่อน เพราะร่างที่ กกต.ยกขึ้นมาทำบัตรเป็นเบอร์เดียวกัน อาจจะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 90 แต่ทางพรรคร่วมเห็นว่าเป็นบัตรคนละเบอร์กันจะมีปัญหาน้อยกว่า

นายนิกรกล่าวด้วยว่า ส่วนร่างกฎหมายพรรคการเมือง กกต.แก้มา 2-3 มาตราเท่านั้น ตามอำนาจหน้าที่ กกต. แต่ในความเป็นจริง ทราบว่า กกต.เองมีปัญหาตัวแทนประจำจังหวัดเขตเลือกตั้งอยู่มากในการบริหารจัดการ ก็ต้องเห็นใจกกต. เราพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีการขอแก้กฎหมายพรรคการเมือง เช่น สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งแก้เพื่อให้บริหารจัดการพรรคการเมืองปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น

ด้านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมสภาล่ม เป็นการบ่งบอกถึงความไม่พร้อมของรัฐบาล และฝ่ายค้านไม่ได้เล่นเกม ไม่ใช่ต้นเหตุสภาล่ม  โดยนายเสกสกลกล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านควรตั้งสติและลองทบทวนดูว่าในที่ประชุมมีฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมกี่คน และฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมกี่คน จากการตรวจสอบพบว่าฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส. 268 คน ออกเสียง 219 คน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านมี 208 คน มาออกเสียงเพียง 14 คนเท่านั้น ดังนั้นฝ่ายค้านไม่ควรที่จะออกมาโทษ ส.ส.จากฝั่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังออกมายอมรับแล้วว่าปัญหาสภาล่ม หากมีการมองว่าเป็นเกมการเมือง ก็ไม่เถียง แต่เป็นการเล่นเกมการเมืองแบบโปร่งใส รัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาองค์ประชุมในฐานะเสียงข้างมาก ซึ่งฝ่ายค้านจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา ซึ่งตนมองว่าการออกมาพูดแบบนี้เป็นการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ และเป็นการแถไปเรื่อยให้ตัวเองดูดี แต่ประชาชนเขารู้ทันอยู่แล้ว

นายเสกสกลกล่าวว่า เป็นถึง ส.ส. ผู้ทรงเกียรติในสภา แต่กลับไม่มีสมองคิด  ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด ทำตัวไม่มีความน่าเชื่อถือ จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ถือว่าเป็น ส.ส.เช่นเดียวกัน มีหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน และเข้าประชุมสภา แต่จะมาบอกว่าตนเองเป็นฝ่ายค้าน จึงไม่ต้องเข้าประชุม หากสภาล่มก็ถือเป็นความผิดของฝ่ายรัฐบาล แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้เลิกนิสัยเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นได้แล้ว และอย่าคิดว่าคนอื่นเขาไม่รู้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะทำอะไร เป็น ส.ส. มีหน้าที่ลงพื้นที่และประชุมสภายังทำไม่ได้ แบบนี้จะดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร เสียดายเงินเดือน ส.ส.ที่มาจากภาษีของประชาชน

"นี่คือความเลวร้ายน่าเกลียดน่าชังที่สุดของคนที่แฝงตัวอ้างมาเป็นผู้แทนของประชาชน ละอายแทนประชาชนจริงๆเลือกตั้งครั้งหน้าขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเลือกพรรคการเมืองหรือ ส.ส.เช่นนี้เข้ามารกรุงรังในสภาอันทรงเกียรติเลย เสียภาพพจน์ อัปยศอดสูที่สุด ไม่ควรจะมีส.ส.เลวๆ เช่นนี้ในสภาเด็ดขาด" นายเสกสกลกล่าว

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง ที่สุดแห่งปี 2564 ด้านการเมืองภาพใหญ่ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,086 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11 - 17 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

พบว่า ที่สุดแห่งปี 2564 ด้านการเมืองภาพใหญ่ ที่ผลสำรวจพบนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564 ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 31.6, อันดับที่สอง ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 22.4 และอันดับที่สาม ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 8.8 ตามลำดับ

ส่วนนักการเมืองฝ่ายค้านที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564 ใน 3 อันดับแรก ได้แก่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 32.9, อันดับที่สองได้แก่นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 15.0, อันดับที่สามได้แก่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 5.1 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลงานรัฐบาลที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564 ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 50.4, อันดับที่สอง ได้แก่ เพิ่มกำลังซื้อ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 12.6 และอันดับที่สาม ได้แก่ ประกันรายได้เกษตรกร ร้อยละ 11.4 ตามลำดับ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564 ใน 3 อันดับแรก พบว่า อันดับที่หนึ่ง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ได้ร้อยละ 30.3,  อันดับที่สอง ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 23.9 และอันดับที่สาม ได้แก่พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 17.4 ตามลำดับ

ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่น่าประทับใจ พอใจที่สุดแห่งปี 2564 ใน 3 อันดับแรก ได้แก่พรรคเพื่อไทย ได้ร้อยละ 41.6, อันดับสอง ได้แก่พรรคก้าวไกล ได้ร้อยละ 32.5 และอันดับสาม ได้แก่พรรค เสรีรวมไทย ได้ร้อยละ 11.3 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในภูมิภาคและเป็นที่พอใจของคนไทยแห่งปี 2564 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เพราะเป็นประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีความเจริญ เป็นประเทศมหาอำนาจ ล้ำสมัย ช่วยเหลือเรื่องวัคซีน เด่นเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยี เป็นต้น ร้อยละ 39.4, อันดับที่สอง ได้แก่ จีน เพราะช่วยเรื่องวัคซีน เข้าใจวัฒนธรรมไทย เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เด่นเรื่องการค้าขายและเทคโนโลยี เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีช่วยเหลือจริงใจต่อคนไทย เป็นต้น ร้อยละ 27.1, อันดับที่สาม ได้แก่ อังกฤษ เพราะ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก้าวไกล มีความเจริญ มีระบบการศึกษาที่ดี เป็นต้น ร้อยละ 13.6, อันดับที่สี่ ได้แก่ เยอรมนี เพราะ มีความเจริญ คนมีวินัยในชาติ เด่นเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ มหาอำนาจด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ร้อยละ 8.9 และอันดับที่ห้า ได้แก่ ญี่ปุ่น เพราะ มีวินัย เจริญ เรียบร้อย เสียสละ แก้ปัญหาได้รวดเร็ว เป็นมิตร เป็นต้น ร้อยละ 7.1 ตามลำดับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง