อก.ลุยแก้ฝุ่นพิษ 75%ไม่เชื่อน้ำยา ชี้เสียหาย6พันล.

“พิมพ์ภัทรา” สั่งทุกหน่วยงานกระทรวงอุตฯ เร่งหามาตรการลดฝุ่นพิษ หวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สวนดุสิตโพลเผยคนส่วนใหญ่ 74.53% ไม่เชื่อน้ำยาแก้ปัญหา PM 2.5 ได้ “อนุสรณ์” ชี้หากไม่เร่งทำ ประเทศเสียหายกว่า 6 พันล้านบาท

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธ.ค.2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานใน อก.เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น และมีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สนับสนุนแก้ปัญหาการเผาอ้อย มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ให้ตัดอ้อยสด ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน เริ่มจ่ายประมาณเดือน ม.ค.2567  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค.2567 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เข้มงวดกรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้เข้มงวดตรวจสอบและเฝ้าระวังการประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่ง แร่และโรงประกอบโลหกรรม

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รมว.อุตสาหกรรมชื่นชมเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาในหลายพื้นที่ตื่นตัวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยส่วนใหญ่เน้นตัดอ้อยสดแทนการเผา ถือเป็นการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ให้มีการตื่นตัวและร่วมมือกันลดเผา

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องคนไทยกับฝุ่น PM 2.5 โดยสอบถามทางออนไลน์ 1,123 คน ซึ่งเมื่อถามว่าประชาชนมีความวิตกกังวลมากน้อยเพียงใดต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเกินมาตรฐาน พบว่า 48.89% ค่อนข้างวิตกกังวล

41.58% วิตกกังวลอย่างมาก  8.19% ไม่ค่อยวิตกกังวล และ 1.34% ไม่วิตกกังวล ทั้งนี้ เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเกิดจากสาเหตุใด พบว่า  79.04% การเผาไร่นา เผาป่า ไฟป่า 70.65% โรงงานอุตสาหกรรม และ 68.42% การก่อสร้าง

เมื่อถามว่าประชาชนมีวิธีการรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างไร พบว่า 78.72% ติดตามข่าวสารเรื่องฝุ่น PM 2.5 และแนวทางปฏิบัติจากภาครัฐ 76.14% สวมหน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ และ 62.42% ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อถามอีกว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างไร พบว่า 85.89% มีมาตรการควบคุมและบทลงโทษที่เด็ดขาด        80.45% มีระบบการแจ้งเตือน ตรวจวัด และรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ 69.55% ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยมลพิษ 

 “เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้หรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ 74.53% คงจะแก้ไขไม่ได้ และ 25.47% แก้ไขได้แน่นอน”

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดต้นทุนและค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ และสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,100 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวพื้นที่กรุงเทพฯ 1,000-3,500 ล้านบาท การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ 1,200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการป้องกันมลพิษและการสวมใส่หน้ากากอนามัย 400-1,900 ล้านบาท โดยคนจนในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ขอเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหา 14 มาตรการ อาทิ ให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติแบบเร่งด่วน, ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษ, ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ, ยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง, ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5, การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลง และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศความเข้มข้นสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น

“หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อไปเกินกว่า 2 เดือน จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-6,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย” รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง