นิดสดุดีนช.ทักษิณ! นั่งนายกฯ2สมัยไร้อภิสิทธิ์ ย้ำระเบียบทำเพื่อส่วนรวม

“เศรษฐา” เปิดปากแจงปม “นักโทษเทวดา” ยันยึดกฎระเบียบ  ปัดเอื้อใครคนใดคนหนึ่ง อ้างนักโทษมีสิทธิได้รับการดูแล พร้อมสดุดี "ทักษิณ" นายกฯ 2 สมัย ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ลั่นไม่หนักใจฝ่ายค้านขู่เปิดซักฟอก  มั่นใจ รมต.ทุกคนตอบได้ การันตีเสถียรภาพรัฐบาล 314 เสียง แน่นปึ้ก  ปรับ ครม.ต้องรอเวลาเหมาะสม ย้ำแจกเงินดิจิทัลไทม์ไลน์เดิม พ.ค.67 "นิด้าโพล" ชี้ "พิธา" ยังครองใจประชาชนหนุนนั่งนายกฯ ทิ้งห่าง "เสี่ยนิด" ส่วน "อุ๊งอิ๊ง" รั้งอันดับ 4

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สดในรายการ “เนชั่นทันข่าวเช้า” ทางช่องเนชั่นทีวี ถึงกรณีการรักษาตัวในโรงพยาบาลครบ 120 วันของนายทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และมีกระแสข่าวว่านำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือว่า ยังมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเข้ามาด้วย มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องที่เราติดตามกันอยู่ เป็นคดีที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ ประเด็นของนายทักษิณ อย่างที่ตนได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมั่นใจว่าไม่ได้ออกกฎระเบียบมาเพื่อดูแลคนคนเดียว ต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก รวมถึงเชื่อว่าทั้งสองหน่วยงานจะยึดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย

เมื่อถามถึงความพยายามเชื่อมโยงประเด็นของนายทักษิณมาเป็นเรื่องของการเมือง จะส่งผลต่อการกดดันทางการเมืองในปีหน้าด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกเรื่องคงเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด หากจะโยงกันจริงๆ แต่เรายึดมั่นในกฎระเบียบที่ไม่ได้ทำมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามกฎแล้วทุกคนมีสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษหรือผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเอง

"ท่านเองก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาสองสมัย และเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมา ท่านก็ได้รับการดูแล แต่เชื่อทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกาที่ได้วางกันไว้ ส่วนเรื่องจะมาเป็นประเด็นทางการเมืองมากน้อยขนาดไหนอย่างไร  ผมคงไม่ไปทำนายส่วนนั้นได้ มีปัญหาก็ต้องแก้ไขกันไป มีอะไรไม่กระจ่างก็ต้องชี้แจงกันไป แต่เรายึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว” นายเศรษฐาระบุ

นายกฯ กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้านเตรียมขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปีหน้าว่า การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านอยู่แล้ว หน้าที่เราคือทำงาน แต่หากมีการสอบถามมาหรือถึงขั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรามีหน้าที่ต้องตอบ และยืนยันไม่มีความหนักใจ เราทำงานเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนรวมถึงตนตอบอยู่แล้วถึงเรื่องที่ทำกันมา

ส่วนกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลนั้น นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นคำถามที่ค่อนข้างเปราะบาง พรรคร่วมรัฐบาลทำงานกันมาอย่างเต็มที่ เรามีภารกิจใหญ่ที่เราต้องยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เชื่อว่าทุกคนทำงานเต็มที่ ส่วนเรื่องจะปรับ ครม.หรือไม่นั้น คงต้องดูเรื่องของความเหมาะสม ไม่อยากให้รัฐมนตรีทุกคนมีความไม่สบายใจ ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี มีอะไรเราคุยกัน

ปรับ ครม.เรื่องอนาคต

เมื่อถามถึงเรื่องพรรคการเมืองใหม่ที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มาช่วยโหวตตนในช่วงการเลือกนายกฯ ด้วย ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่เราพูดคุยกันได้บ้าง ขอให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่วันนี้รัฐบาลมี 314 เสียงแล้ว ซึ่งถือว่ามีเสถียรภาพ และทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลคุยกันได้ด้วยดี เรื่องของนโยบายพูดคุยกันอยู่ตลอด อาจมีเห็นตรงเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติ เอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนคุ้นเคยกันดี ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า นโยบายรัฐบาลที่บางเรื่องมีความเห็นแตกต่างกับรัฐมนตรีต่างพรรค อย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน และหากถ้าพูดถึงกระทรวงแรงงาน น่าเห็นใจรัฐมนตรีว่าการ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ซึ่งไม่ได้มีอำนาจไปแทรกแซงไตรภาคีได้ แต่ได้เห็นด้วยกับตนว่าขึ้นน้อยเกินไป

"ผมไม่มีความสุข และไม่เห็นด้วยที่ขึ้นมาเพียงเท่านี้ เชื่อว่าท่านรัฐมนตรีก็คงไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็พยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป" นายกฯ ระบุ

นายเศรษฐากล่าวถึงภาพรวมการทำงานของรัฐบาลในปี 2566 ว่า หากให้ประเมินแบบการให้คะแนนตนคงไม่ให้  เพราะเป็นหน้าที่คนอื่นที่ต้องให้ ตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งทำงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนที่ออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งการลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พักชำระหนี้เกษตรกร เป็นต้น อีกทั้งยังมีเรื่องของนโยบายภาพรวมในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญด้วย

เมื่อถามผลประเมินที่บางฝ่ายออกมาให้คะแนนนายกฯ เข้าเกณฑ์สอบผ่าน สะท้อนถึงการทำงานหนักด้วยหรือไม่ นายเศรษฐาร้องโอ๊ย ก่อนกล่าวว่า หากเราทำงานหนักแล้วพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อน ลงไปพื้นที่ยังเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านทำเต็มที่ ไม่ใช่แค่ตนทำงานคนเดียว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันหมด อีกทั้งปัญหาต่างๆ ต้องค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองอยู่แล้วที่อาสาเข้ามาตรงนี้ ทราบอยู่แล้วว่าต้องทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้น นายกฯ ย้ำว่า ยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมคือพฤษภาคมปีหน้า

นายกฯ ยังกล่าวถึงประชาชนให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ขอให้ใช้เวลาพักผ่อนให้เต็มที่ ระมัดระวังเรื่องของการเดินทาง ที่สำคัญคือเมาไม่ขับ ขอให้ทุกคนปลอดภัย และปีหน้าขอให้เป็นปีที่ดีขึ้น ส่วนรัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีซูเปอร์โพลระบุของขวัญปีใหม่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้หนี้ในระบบ นอกเหนือจากการแก้หนี้นอกระบบว่า รัฐบาลดำเนินการทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยเรื่องแก้หนี้นอกระบบ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่านพร้อมกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการพบลูกหนี้รายหนึ่งที่น่าเห็นใจมาก เพราะได้กู้เงินมา 60,000 บาท แต่ต้องใช้หนี้วันละ 4,000 บาท รวมวงเงินที่จ่ายแล้วเป็นล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ให้ไปดูแลเรื่องการแก้ปัญหาและดูแลความปลอดภัย

ทั้งนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่โดนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อวัน ซึ่งถือว่ามากและเป็นปัญหา โดยรัฐบาลพยายามไม่พูดถึงมาตรการเก่า แต่จะพูดถึงมาตรการใหม่ โดยเน้นย้ำให้มีการเจรจากันเพื่อให้ดีขึ้น  หรือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ เพื่อให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งลูกหนี้ในระบบ รัฐบาลกำลังดูอยู่ว่าจะให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร

'พิธา' ทิ้งห่างเศรษฐา-อิ๊งค์

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสปี 2566” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่างว่า เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะมีความเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ดี บุคลิกดี และเข้าถึงประชาชน, อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่านายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความรู้ความสามารถ ตรงไปตรงมา และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคและนโยบายพรรคเพื่อไทย และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร

อันดับ 5 ร้อยละ 2.40 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะมีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และมีความซื่อสัตย์สุจริต, อันดับ 6 ร้อยละ 1.70 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ตรงไปตรงมา และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา,  อันดับ 7 ร้อยละ 1.65 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหารประเทศ และต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ, ร้อยละ 3.90 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ), นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์), นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา), นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์), นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์),  นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ), พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ), นายเฉลิม อยู่บำรุง (พรรคเพื่อไทย), นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) และนายศุภชัย พานิชภักดิ์ และร้อยละ 4.25 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่าพรรคก้าวไกล, อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 พรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 พรรคประชาธิปัตย์,  อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 พรรคภูมิใจไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 พรรคพลังประชารัฐ, ร้อยละ 1.85 ระบุอื่นๆ  ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคเสรีรวมไทย และร้อยละ 3.95 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ฟันธง ก้าวไกลฝ่ายค้านถาวร ถ้าไม่แลนด์สไลด์ ผลการสำรวจของนิด้าโพล ปรากฏว่านายพิธายังเป็นบุคคลที่มีคะแนนนำเป็นที่หนึ่ง แซงหน้านายเศรษฐาแบบทิ้งห่างกันมาก เมื่อรวมกับคะแนนของ น.ส.แพทองธาร ยังไม่ชนะอีก จากผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กระแสความนิยมนายพิธาและพรรคก้าวไกลยังไม่เสื่อมถอยลง แม้ว่าจะมีกระแสข่าวด้านลบถาโถมเข้าใส่ก็ตาม รวมทั้งการที่พรรคเพื่อไทยได้กระโดดข้ามขั้วเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สามารถสร้างผลงานจากการเป็นรัฐบาล ให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมให้สามารถเอาชนะพรรคก้าวไกลได้

'ก้าวไกล' ฝ่ายค้านถาวร

หากสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดยนายเศรษฐา ไม่ได้สร้างผลงานโดดเด่นให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะมีคะแนนนำมาเป็นที่หนึ่งอีก แต่ขณะเดียวกัน ถ้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถสร้างกระแสแลนด์สไลด์ ได้ที่นั่ง สส. เกิน 250 คน อาจจะกลับมาเป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิม เว้นแต่ประชาชนจะเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

การเมืองในขณะนี้พรรคก้าวไกล กำลังถูกโดดเดี่ยวจากทุกพรรค ไม่เว้นแต่พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ยังแอบปันใจสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ไม่อยากจะร่วมทำงานกับพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็เป็นแค่ชื่อ เพราะมีเหตุจำเป็น เพราะยังไม่ถึงเวลาเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้นเอง

นายธนกร พงษ์ภู่ อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการเมืองที่สุดแห่งปี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,108 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-23 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ความกังวลของประชาชนต่อประเด็นการเมืองสู่ความขัดแย้งของคนในชาติที่สุดแห่งปี พบว่า จำนวนมาก หรือร้อยละ 47.0 ระบุว่ามีความกังวลในประเด็นการแก้ไขกฎหมาย 112 รองลงมา ร้อยละ 45.5 ระบุว่านักโทษเทวดา, ร้อยละ 42.6 กระแสพรรคก้าวไกล, ร้อยละ 38.0 ด้อมส้มอกหัก เพื่อไทยสลับขั้วตั้งรัฐบาล และร้อยละ 37.2 ม็อบสามนิ้ว

ที่น่าสนคือ วาทกรรม คำการเมืองแห่งปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างระบุ 5 อันดับแรก คือ “มีลุง ไม่มีเรา” ร้อยละ 52.3,  “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ร้อยละ 42.0,  “นักโทษเทวดา” ร้อยละ 39.3, “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ร้อยละ 38.2, “มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกินมีใช้” ร้อยละ 35.5 เป็นต้น

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ “นักการเมืองแห่งปี” พบว่า ร้อยละ 42.1 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 34.0 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 32.8 นายทักษิณ ชินวัตร, ร้อยละ 29.0 นายเศรษฐา ทวีสิน และร้อยละ 27.5 นายชวน หลีกภัย 

จากผลการสำรวจ พบประเด็นที่น่าสังเกตคือ ประชาชนมีความกังวลต่อประเด็นการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อความจงรักภักดีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเห็นว่า นักการเมืองควรดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสารเสพติด โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือเรียกว่า “โจรไซเบอร์” ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ต่อปากท้องของประชาชนมากกว่า

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง ความหวังกับความกลัว ปีหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 1,134 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-23 ธ.ค.2566 พบว่า การแก้ไขหนี้ในระบบ เป็นความหวังจะได้จากนายกฯ ร้อยละ 51.7 รองลงมาคือแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 51.3,  แจกเงินหมื่น ร้อยละ 50.6, แก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ คอลเซนเตอร์ ร้อยละ 50.2,  แก้ไขหนี้นอกระบบ ร้อยละ 49.8 และ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ร้อยละ 42.2 ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 มีความหวังที่จะก้าวต่อไปในปีหน้า ในขณะที่ร้อยละ 25.7 มีความกลัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นิด้าโพลชี้ประชาชนไม่เชื่อแก้ พ.ร.บ.กลาโหม จะหยุดรัฐประหารได้

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “หยุดรัฐประหาร!” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ