กนง.คงดอกเบี้ย ประคองศก.ฟื้น ขยับจีดีพี0.9%

“กนง.” มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ประคองเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 ขยับจีดีพีปีนี้โตเพิ่มเป็น 0.9% แต่หั่นปีหน้าเหลือ 3.4% คาดเศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 66 แจงพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อร้อนแรง นายกฯ ปลื้ม "Fitch" คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB+ สะท้อนเชื่อมั่นรัฐบาล

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

นายปิติกล่าวว่า กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.9% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 0.7% และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 ที่ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาได้สู่ภาวะปกติต้นปี 2566 โดยสิ้นปี 2564 การฉีดวัคซีนคาดว่าได้ 70% ส่วนต้นปี 2565 ได้บูสเตอร์เข็ม 3 ทำให้การแพร่ระบาดของโอมิครอนน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ยืดเยื้อในต้นปีหน้า ซึ่งการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ได้คำนึงถึงมาตรการที่ทางรัฐบาลประกาศไว้แล้ว เป็นเหตุผลที่ปรับนักท่องเที่ยวลงเยอะในต้นปี 2565 แต่ประมาณการว่าฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป เทียบกับครึ่งปีหลังที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเยอะ” เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาด และความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำ

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 2565 และ 2566 จะอยู่ที่ 1.2%, 1.7%, และ 1.4% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด

“ถ้าดูแลเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดว่าขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กนง.เห็นว่าสมควรหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องสื่อสารว่าธนาคารกลางให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอีกเครื่องมือ ที่ยึดเหนี่ยวให้เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่เหมาะสม” นายปิติกล่าว

ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมทรงตัว สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด ที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

นายปิติกล่าวว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลและรู้สึกยินดีที่บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าผลจากการคงอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว สะท้อนความเชื่อมั่นของความเข้มแข็งด้านนโยบายการเงินการคลังที่รอบคอบของรัฐบาล และขอบคุณที่ Fitch เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง เห็นผลอย่างชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับ

รายงานของ Fitch สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ การกู้เงินก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และมีการดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง