อายัดตัวนช.ทักษิณ อสส.ฟันข้อหา112/อธิบดีคุกส่งคกก.พักโทษเคาะ

อสส.แจ้งข้อหา "ทักษิณ"  ผิดคดี "112-พ.ร.บ.คอมพ์" ประสานราชทัณฑ์อายัดตัว "แม้ว" ยื่นขอความเป็นธรรมด้วยตนเอง "โฆษกอัยการ" เผยหากได้พักโทษยื่นประกันตัวชั้นตำรวจ-อัยการได้ "เศรษฐา" ปัดไม่รู้เรื่องคดี "ทวี" อุ้ม "แม้ว" บอกนอน รพ.ถือว่ารับโทษแล้ว โบ้ยมีชื่อพักโทษหรือไม่อยู่ที่ คกก.ราชทัณฑ์พิจารณา "อธิบดีคุก" เผยเร่งคัดรายชื่อนักโทษเสนอ "รมว.ยธ." แย้ม "นช.แม้ว" ครบตามเกณฑ์ "คปท." ชี้ชัดปาหี่ เบี่ยงเบนประเด็นช่วย "น.ช.ชั้น 14" ไม่ต้องเข้าเรือนจำ

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 6 ก.พ. นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายณรงค์ ศรีระสันต์  อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันเเถลงข่าวความคืบหน้าคดีที่อดีตอัยการสูงสุดเคยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร  ตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ

นายประยุทธกล่าวว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2559 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จาก พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. กล่าวหานายทักษิณ ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นายประยุทธกล่าวว่า คณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เเต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี  อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว

จากนั้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 นายทักษิณได้เดินทางเข้ามาไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น  พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 17 ม.ค.2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา

"ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป ซึ่งงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนเพิ่มเติมว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว" นายประยุทธกล่าว

แจ้งอายัดตัวทักษิณคดี 112

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า ในการสั่งคดีขณะนั้นสำนักอัยการตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าสำนวนครบถ้วนแล้ว ก็จะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งสำนวนที่เวลาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการฝ่ายผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ นั่นหมายความว่าพนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหาไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ของฝ่ายผู้ต้องหา ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการจะกำหนดให้พนักงานอัยการทั่วประเทศลงความเห็นเพียงว่าควรสั่งฟ้อง

ถามว่าอัยการสูงสุดสามารถมีคำสั่งไม่ฟ้องได้ถูกหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า  กรอบของกฎหมายอัยการสูงสุดสั่งได้ 3 อย่างตาม ป.วิอาญา 1.ถ้าเห็นว่ามีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่างสิ้นข้อสงสัย ก็จะสั่งสอบเพิ่ม 2.ถ้าเห็นว่าสำนวนพร้อมแล้ว สมบูรณ์แล้ว และไม่มีประเด็นจะสอบสวนเพิ่มเติม ก็ยืนไปตามความเห็นและคำสั่งเดิมที่สั่งฟ้องไว้ คำสั่งก็จะเปลี่ยนจากเห็นควรสั่งฟ้องเป็นสั่งฟ้องเพราะครบถ้วนแล้ว และ 3.ถ้าสมมุติว่าพยานหลักฐานจากสอบเพิ่มไปในทิศทางที่ชั่งน้ำหนักว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ตามข้อกล่าวหาก็จะออกความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นี่คือกรอบกฎหมายที่เป็นแนวทางให้อัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการปฏิบัติตามกฎหมาย

ซักว่า มีข่าวนายทักษิณอาจจะได้พักโทษการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งอายัดตัวล่วงหน้าเอาไว้จะมีผลหากได้รับการปล่อยตัวออกมาจะต้องโดนจับอายัดขังคุกหรือไม่ นายนาเคนทร์ชี้แจงว่า คำสั่งที่จะพักโทษนายทักษิณทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีคำสั่ง แต่ทางพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งอายัดและราชทัณฑ์ได้มีการตอบรับการอายัดตัวนายทักษิณไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 ส.ค.

"คดีนี้ถ้าสมมติว่ามีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้มารับตัวคุณทักษิณว่าเนื่องจากว่าเรือนจำจะมีคำสั่งพักโทษแล้ว แล้วคุณมีการแจ้งอายัดไว้ในคดี 112 พนักงานสอบสวนจะต้องไปรับตัวนายทักษิณไว้มาดำเนินการควบคุม การควบคุมของพนักงานสอบสวนก็เป็นอำนาจเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือนำตัวไปคุมขัง โดยใช้อำนาจศาลที่เรียกว่าการฝากขัง ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการแล้วก็จะแจ้งไปยังพนักงานอัยการว่าขณะนี้ตัวของนายทักษิณในคดีของ 112 ได้มีการควบคุมตัว อันนี้เป็นกระบวนการ" อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดระบุ

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเสริมว่า สื่อน่าจะติดตาม 2 เรื่อง 1.การพักโทษ หากทางราชทัณฑ์จะมีการพักโทษผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใดก็จะแจ้งไปยังพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการอายัดไว้ เมื่ออายัดแล้วสมมุติตอนนั้นอัยการตรวจสำนวนเสร็จแล้วก็สามารถส่งมาประกอบสำนวนได้เลย แต่ถ้าสมมุติว่าสำนวนนี้มีผลต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม ทางพนักงานสอบสวนก็อาจจะเอาตัวมาให้ทางพนักงานอัยการได้เลย และทางอัยการก็อาจจะอนุญาตปล่อยชั่วคราวในระหว่างรอผลการสอบสวน เพราะว่าสำนวนอยู่ระหว่างพิจารณาของอัยการเเล้ว แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่ากระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น มันอยู่ขั้นตอนไหนอย่างไร

ส่วน 2.การคุมขังไว้ที่อื่นนอกจากเรือนจำ ซึ่งถ้าสมมุติมีคำสั่งฟ้องในทางปฏิบัติของอัยการทำได้ 2 อย่าง คือ 1.ถ้าตัวอยู่ระหว่างควบคุมของราชทัณฑ์ เช่น ถ้าเป็นกรณีเอาไปคุมขังในที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการฟ้องเบิกตัวตัวธรรมดาอัยการสามารถยื่นสำนวนฟ้องให้ศาลและศาลก็จะมีคำสั่งให้เบิกตัวมาเอง แต่ถ้าเป็นกรณีพักโทษเเล้วสำนวนเสร็จภายหลังมีคำสั่งฟ้อง กรณีแบบนี้คือฟ้องส่งตัวก็จะแจ้งให้ตัวมาพบแล้วก็ส่งฟ้องไป

"ทั้ง 2 ขั้นตอนมีกรอบกฎหมายและมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว และทางสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ประสานงานกันโดยใกล้ชิดอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรจะต้องกังวลตรงนี้" โฆษกอัยการสูงสุดกล่าว

นอน รพ.ชั้น 14 ถือว่ารับโทษแล้ว

ย้ำว่าอำนาจการให้ประกันตัวขึ้นอยู่กับตำรวจหรืออัยการใช่หรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า ใช่ ซึ่งพนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ก็คือพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษฝ่ายอาญา 8 แต่กระบวนการสั่งทั้งหมดก็จะต้องส่งมาให้อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินคดี เพียงแต่มอบหมายให้กับทางสำนักงานคดีอาญาดำเนินการในชั้นพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนปฏิบัติ แต่อำนาจศาลสุดท้ายเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ส่วนอัยการที่ทำคดีมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ ก็คือไม่ต้องทำความเห็นแนบไป ส่วนหน่วยงานที่จะทำความเห็นเเนบไป ก็คือส่วนของสำนักงานกิจการคดีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรองงานให้กับ อสส.

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการพิจารณาคดีของนายทักษิณในรัฐบาลปัจจุบัน อาจจะถูกกดดันกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า คนที่รับผิดชอบคดีนี้คืออัยการสูงสุด เพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานอยู่ภายใต้พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทางคดี  ตรงนี้เราให้ความมั่นใจกับสังคมได้ ไม่ต้องกังวลเพราะสิ่งที่เราพูดมาโดยลำดับนั่นคือกระบวนการที่เราปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายตั้งแต่รับสำนวน สั่งเห็นสมควร สั่งฟ้องออกหมายจับอายัด แจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการเป็นเเบบนี้ไม่ต้องกังวล หากกังวลก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดต้องชี้แจง อย่างที่เราตั้งโต๊ะแถลงวันนี้ เราก็ต้องการให้สังคมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา ให้เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ปฏิเสธไม่รู้เรื่องนายทักษิณจะถูกอายัดตัวดำเนินคดีมาตรา 112 ระบุว่า เรื่องของนายทักษิณอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งเดี๋ยวท่านจะแถลงอีกทีหนึ่ง

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวีให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนายทักษิณจะได้รับการพักโทษวันที่ 18 ก.พ. ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาพักโทษของกรรมราชทัณฑ์ที่มีทั้งสิ้น 19 คนจากหน่วยงานต่างๆ พิจารณากันก่อน โดยจะมีการพิจารณากันทุกเดือน ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงตน แต่น่าจะประชุมใกล้ๆ นี้

"การให้พักโทษจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่ได้ดูที่ชื่อคน การพักโทษเหมือนถูกลงโทษอยู่ แต่กฎหมายอนุญาตให้พักโทษ ซึ่กหากนายทักษิณได้รับการพักโทษจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการและกรมคุมประพฤติ โดยจะลงไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง สิทธิของผู้พักโทษเราก็อยากให้ได้รับสิทธิตรงเวลาตามมาตรฐานสากล ขอยืนยันการให้สิทธิพักโทษนายทักษิณเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

 ถามว่า กรณีของนายทักษิณจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง

"การอยู่โรงพยาบาล เขาใช้คำว่าห้องควบคุม ถูกควบคุม ก็ต้องเรียนว่าในอดีตมีผู้ที่เจ็บป่วยไปถูกควบคุมตัวที่สถานโรงพยาบาลห้องควบคุมพิเศษ ดุลยพินิจนี้อยู่ที่โรงพยาบาลไม่ใช่หมอ โดยในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจก็อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยและอีกหลายเงื่อนไข เป็นดุลยพินิจของโรงพยาบาล" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

ถามถึงกรณีอัยการเตรียมขออายัดตัวนายทักษิณมาดำเนินคดีมาตรา 112 รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า คดี 112 เป็นคดีนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนและจะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมสอบสวนด้วย การอายัดตัวเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวในคคีอื่นอยู่ แล้วมีคดีใหม่เข้ามา ถึงต้องอายัดตัวเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน

เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ไม่ทราบเลย ไม่มี”

กรมคุกรอเคาะพักโทษแม้ว

ที่กรมราชทัณฑ์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงถึงคดี ม. 112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ ของนายทักษิณว่า ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการ​เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร​ ว่าภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งการขออายัดตัวนายทักษิณ  เนื่องจากคดีคงค้างเดิม ซึ่งตนได้รับการยืนยันจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำนายทักษิณเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

"ผู้ต้องหาที่ถูกศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าในระหว่างนั้นยังมีการพิจารณาในคดีอื่น ทางตำรวจก็จะแจ้งการอายัดขอตัวผู้ต้องหาไปที่เรือนจำ เพื่อให้เรือนจำรู้ว่าถ้าครบวันจะปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือได้รับการพักโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรู้ก่อน ซึ่งทางเรือนจำจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหานำส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในคดีที่ขออายัดตัว ส่วนหากจะมีการขอประกันตัวใดๆ ก็เป็นไปตามกระบวนการ" นายสหกรณ์กล่าว

ถามถึงความคืบหน้าเรื่องพิจารณารายชื่อผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์โครงการพักการลงโทษทั้งในกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษว่าเป็นอย่างไรบ้างนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า ได้มีการประชุมไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้รับจำนวนรายชื่อผู้ต้องขังหลายพันราย จากทั้งหมด 143 เรือนจำทั่วประเทศ ขณะนี้รายชื่อทั้งหมดอยู่ในชั้นของกรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ จากนั้นจึงจะนำเสนอไปยังชั้นรมว.​ยุติธรรม ซึ่งแต่ละขั้นตอนค่อนข้างมีความละเอียด เพราะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ต้องขังให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ควรได้รับ

"ผมยังไม่สามารถให้คำยืนยันได้ว่ารายชื่อของนายทักษิณอยู่ในเกณฑ์ผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษหรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอให้ผ่านกระบวนการของคณะกรรมการฯ แต่หากพูดตามหลักการ อดีตนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการเจ็บป่วย และรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 แต่อย่างไรคณะกรรมการฯ ก็จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และถ้ารายชื่อได้รับการรับทราบในชั้นกระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องมีการแจ้งไปยังตำรวจ ปอท. เพื่อให้ดำเนินการเข้าอายัดตัวผู้ต้องหาในสถานที่คุมขังได้" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

เมื่อถามว่า รายชื่อของผู้ต้องขังทั้งหมดที่จะได้รับสิทธิพักโทษ ทางกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จ และส่งไปยังคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อพิจารณา จะเสร็จสิ้นทันภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้หรือไม่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าจะใช้เวลานานมาก เพราะจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังที่ควรได้รับ ซึ่งหากครบกำหนดโทษในวันใด ก็ควรได้รับการปล่อยตัวในวันถัดไปจากวันครบกำหนดคุมขัง

"ที่วิเคราะห์ว่าวันที่ 18 ก.พ. หรือวันที่ 22 ก.พ. จะเป็นวันที่อดีตนายกฯ จะได้รับการปล่อยตัวเพราะผ่านเข้าโครงการพักโทษนั้น โดยปกติแล้วเรือนจำและทัณฑสถานจะมีการพิจารณาล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษได้ถึง 3 เดือน เพราะเราต้องการให้ผู้ต้องขังไม่เสียประโยชน์ในการที่เขาจะได้พักโทษ และพอครบเวลาคุมขังแล้ว วันถัดไปก็สามารถปล่อยตัวเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษ โดยกรมคุมประพฤติจะต้องรับไปดูแลต่อ" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

คปท.ข้องใจปาหี่อายัดตัว

วันเดียวกัน นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "คุณหรือโทษ" ระบุว่า อัยการสูงสุดแถลงข่าวด่วน ประเด็นหลักคงอยู่ที่การเสนออายัดตัวต่อหลังจากทักษิณได้รับการพักโทษ  พนักงานสอบสวนและอัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 17 ม.ค.67 ที่ผ่านมา พอไล่เรียงดีๆ มันเหมือนการเขียนบทละครและแบ่งกันเล่นเป็นขบวนการ ปมมันน่าสนใจคือ อัยการทำไมเพิ่งมาแจ้งข้อกล่าวหาเอาในช่วงเดือนมกราคม หรือรู้แล้ว ทราบแล้วว่า น.ช.ทักษิณจะได้รับการพักโทษเดือนกุมภาพันธ์แน่ๆ เพราะหลังจากพนักสอบสวนและอัยการไปแจ้งข้อกล่าวหา กลางเดือนมกราคม ปลายเดือนมกราคม กรมราชทัณฑ์ก็ประชุมพิจารณาผู้มีสิทธิ์พักโทษของผู้ต้องขังทั้งกรณีปกติและกรณีพิเศษ ที่จะได้รับการพักโทษเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่ามีชื่อ น.ช.ทักษิณ รวมอยู่ด้วย

"ฟังดูผิวเผิน การอายัดตัวทักษิณเพื่อดำเนินคดีต่อจะเป็นเรื่องดี แต่ๆๆๆ นี่คือ การย้ายความสนใจหรือเบี่ยงประเด็นทางคดีตามหลักอาชญาวิทยา ที่ทักษิณเรียนมา การสร้างเรื่องราวเพื่อเปลี่ยนประเด็นนำมาสู่การลดความสนใจด้วยการย้ายความรู้สึกจากการต้องเข้าเรือนจำมาสู่การต้องถูกอายัดตัว เป็นละครปาหี่ชัดๆ" นายพิชิตกล่าว

แกนนำ คปท.ไล่เรียงช่วงเวลาว่า 17 ม.ค. พนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาทักษิณ ทักษิณยื่นร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง สิ้นเดือน ม.ค. ราชทัณฑ์พิจารณาพักโทษ 17-22 ก.พ.เข้าเกณฑ์พักโทษ ให้ปล่อยตัว เมื่อปล่อยตัว อัยการ เข้าไปควบคุมตัวมาสอบสวนตามการขออายัดตัว แล้วสุดท้าย อัยการก็ให้ประกันตัวไปในชั้นอัยการ

"ปาหี่ไหมครับ สุดท้ายคือทักษิณไม่ต้องเข้าเรือนจำ ใช้อาชญาวิทยา ย้ายความรู้สึกสังคมว่าต้องติดคุกไปเรื่อง อายัดตัวต่อ ทั้งหมดเลย ประเด็นคือ คปท.คัดค้านตั้งแต่จะพักโทษ เพราะไม่เคยติดคุก การที่อัยการออกมาแถลงหลังปล่อยข่าวเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาออกมาก่อนหน้านี้ก็เหมือนร่วมในขบวนการ ใช้กฎหมายฟอกความผิดทักษิณนั่นเอง  การแถลงชี้นำทางกฎหมายของอัยการทำตัวเหมือนเป็นทนายส่วนตัวทักษิณนั่นเอง" แกนนำ คปท.ระบุ

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีอัยการจะขออายัดตัวนายทักษิณคดี 112 ว่า จุดยืนของเราต่อคดีทั้งหมด และรวมถึงการนิรโทษกรรม เรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในหลักการเรามองว่ากลไกนิรโทษกรรมเป็นกลไกที่สำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่าย เพื่อไปพิจารณาเป็นกรณี ว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่

ถามว่ากรณีของนายทักษิณจะเข้าข่ายนำเข้าสู่พิจารณาการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า ในเชิงหลักการหากสภาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ของเรา ก็จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมา ซึ่งทุกกรณีที่เข้าข่ายมีเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ

โฆษกพรรค ก.ก.กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับพรรคก้าวไกลว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พรรคผลักดันมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ และได้เคยยื่นร่างเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และพิจารณาในปี 2564 แต่ในขณะนั้นถูกพิจารณาไม่เห็นชอบ จึงได้นำร่างเดิมกลับมายื่นในการประชุมสภาชุดที่ 26 แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน เนื่องจากมีเรื่องของการชดเชยผู้เสียหาย ร่างจึงค้างอยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะให้คำรับรองเมื่อไหร่ และคาดหวังว่านายกฯ จะรับรองร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่งโดยเร็ว

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับก้าวไกล จะยกเลิกคำสั่งทั้งหมดหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า พรรคได้ระบุชุดคำสั่งไว้ 17 ชุด สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของพรรค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง