เคาะสว.ซักฟอก25มี.ค. กก.ยังข้องใจคำวินิจฉัย

รัฐบาลเคาะ 25 มี.ค. ให้ “สว.” ซักฟอก “ก้าวไกล” จี้ “ประธานสภาฯ” ตอบให้ชัด สส.เสนอ กม.ต้องยื่นศาล รธน.ก่อนหรือไม่ หวั่นโดนตีความล้มล้างการปกครอง พร้อมเหน็บถูกก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ “หมออ๋อง” ปลุกจับตาองค์กรอิสระปิดปาก สส. ขณะที่ ป.ป.ช.ไม่รีบ ขอตรวจสอบ 44 สส.ผิดจริยธรรมปมแก้ 112 หรือไม่

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคนกังวลถึงการเลื่อนเปิดอภิปรายทั่วไปของ สว. จะไม่ทันปิดสมัยประชุม แล้วจะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ว่า ไม่ได้กังวล ทั้งนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เรื่องกรอบเวลาในการอภิปราย รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว แต่ต้องหารือกับทางวิป สว.ด้วย หาก สว.มีความกังวล สว.ก็ควรหารือกับวิปของ สว.มากกว่า

ส่วนกรอบเวลาปิดสมัยประชุมนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่า ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. ทางรัฐบาลไม่สามารถไปเลื่อนเวลาได้ และการกำหนดกรอบช่วงเดือน มี.ค. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบ และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนพร้อมไปชี้แจงและตอบข้อซักถาม  ไม่ได้กังวลอะไร

เมื่อถามถึงกรณีที่ สว.หลายคนมองว่าเป็นการยื้อเวลาเพื่อรอให้ สว.หมดวาระ นายจุลพันธ์หัวเราะก่อนจะกล่าวว่า สว.ก็ยังไม่หมดวาระจนถึงเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นก็สามารถใช้สิทธิ์อภิปรายได้อย่างเต็มที่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เลื่อน  แต่เป็นการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลและวิป สว.

ทางด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.  ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมวิปวุฒิสภารับทราบความคืบหน้าการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. และคณะเป็นผู้เสนอ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้มีหนังสือประสานไปยังนายกฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.นั้น เบื้องต้นได้รับการประสานจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งวันแถลงและชี้แจงตามญัตติอย่างไม่เป็นทางการ คือวันที่ 25 มี.ค. โดยรัฐบาลจะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยนายชุติพงศ์​ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล หารือถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มีข้อกังวลว่ามีการก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจนิติบัญญัติ เนื่องจากในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื้อหาในคำวินิจฉัยเลยเข้ามาในอำนาจหน้าที่นิติบัญญัติ ที่มีหน้าที่ทั้งเสนอ แก้ไข และยกเลิกกฎหมาย

คำถามคือ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมา อาจจะทำให้เกิดการตีความได้ว่าในอนาคตข้างหน้า ถ้าจะยื่นหรือจะแก้ข้อกฎหมายต่างๆ ต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้ทำอะไรได้ตามอำนาจหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะพรมแดนคำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้กระทบการทำหน้าที่ของสส.ทุกคน ดังนั้นอยากให้ประธานสภาฯในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติวินิจฉัยหรือยืนยันเป็นจุดยืนของสภา ว่าเรามีหน้าที่ตรากฎหมาย แก้กฎหมาย หรือแม้แต่การให้ความเห็น ซึ่งสภามีการเปิดการให้ความเห็นต่อกฎหมาย ต่อไปต้องปิดหรือไม่ ถ้าการให้ความเห็นหรือการรณรงค์อาจจะเข้าข่ายถูกตีความว่าล้มล้างการปกครองได้

“สิ่งที่กังวลคือต่อไปหากปล่อยให้มีการตีความโดยเข้าใจไม่ตรงกัน หากในอนาคตผมบอกว่ากฎหมายถูกยื่นโดยคนที่เป็นนายพล หรือเป็นอดีตนายกฯ ที่มีประวัติเคยเป็นผู้ก่อการรัฐประหาร เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ผมต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงอยากขอความมั่นใจในเรื่องนี้” นายชุติพงศ์ กล่าว

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า  ได้ให้ฝ่ายกฎหมายรอรับคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์จากศาลรัฐธรรมนูญ และให้ช่วยปรึกษาหารือ รวมทั้งให้สำนักเลขาธิการสภาฯ รับคำหารือและคำถามของนายชุติพงศ์ไปให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา เพื่อที่จะประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แถลงผลงานรัฐสภา ปี 2023 'รัฐสภาแห่งความเท่าเทียมและโปร่งใส' ว่า 6 เดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ง่าย มีอุปสรรคพอสมควร โดยผลงานที่สำเร็จด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การกำหนดพื้นที่การแต่งกายใหม่ จะเห็นได้ว่าชุดสากลนิยมจะใช้ภายในอาคาร แต่ภายนอกอาคารประชาชนสามารถแต่งกายที่หลากหลายได้

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีผู้มาลงชื่อกว่า 150 คนภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งหลังจากนี้ก็เตรียมจะเปิดรับประชาชนมาสังเกตการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ที่สำเร็จแล้ว คือเรื่องห้องให้นมบุตร ขณะที่เรื่องฐานข้อมูลโปร่งใส ได้ปรับปรุงสถานะกฎหมาย ผ่านเว็บไซต์ที่อัปเดตกฎหมายแบบเรียลไทม์ รวมถึงการปรับปรุงเว็บไซต์ PBO หรือสำนักงบประมาณด้วย

สำหรับสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปในปีนี้ กำหนดไว้ว่าจะให้มีการจัดกิจกรรมที่ลานประชาชนขึ้นทุกเดือน ไม่ใช่แค่ตามเทศกาล และจะมีการฉายภาพยนตร์ที่ลานประชาชนในทุกวันศุกร์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย บทบาทความเท่าเทียมของคนในสังคม โดยในวันที่ 14 ก.พ.นี้ จะมีกลุ่มแรกที่จะมาใช้กิจกรรม คือกลุ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เป็นต้น

นายปดิพัทธ์ยังขอให้ประชาชนติดตามสถานะขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้กำลังตกต่ำ และจะจับตาการมีอำนาจล้นเกินขององค์กรอิสระที่ไม่ให้สส.เสนอกฎหมาย หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีข้อจำกัดมากมาย แต่อยากให้ประชาชนมีความหวัง มั่นใจและตั้งใจร่วมกัน ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาให้ดี ให้มีตัวตนและศักดิ์ศรี หากเปลี่ยนแปลงสภาได้ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยก็ไม่ยากจนเกินไป

นอกจากนี้ นายปดิพัทธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีวิปฝ่ายค้านได้ร้องเรียนว่ามี สส.มาใช้ห้องหลังบัลลังก์ที่ว่างอยู่ จนทำให้วิปฝ่ายค้านไม่มีห้องสำหรับประชุมเพื่อประสานงานว่า ในทางทฤษฎีห้องดังกล่าวไม่มีชื่อห้องฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เรียกว่าห้องผู้ชี้แจง เอาไว้สำหรับประสานงานการประชุม ซึ่งในทางปฏิบัติจึงแยกคร่าวๆ ว่าเป็นห้องสำหรับวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลอย่างละห้อง แบ่งตามที่นั่ง อยู่คนละปีก และให้สำนักการประชุมเป็นผู้ดูแล ด้านหลังบัลลังก์จึงมีการจัดผังใหม่ โดยฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างระเบียบการใช้งานออกมาแล้ว ซึ่งจะไม่เรียกว่าเชิญใครเข้า-ใครออก แต่เรียกว่าเคลียร์ใหม่หมด ว่าระเบียบต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร

รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ยืนยันว่า ห้องดังกล่าวต้องมีไว้สำหรับประสานงานการประชุมเท่านั้น เพราะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับเข้าร่วมประชุม ส่วนพรรคการเมืองหากต้องการรวมกลุ่มหรือใช้ห้องเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ นั้น ทางสภามีห้องอีกมากมายที่สามารถใช้ได้ เรื่องนี้จะรองรับความต้องการของทุกภาคส่วนให้ตรงกัน เพราะไม่ได้มีระเบียบ จึงไปร่างระเบียบมา เพื่อให้มีความเป็นธรรมกับ สส.ในการใช้พื้นที่

 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณี 44 สส.ก้าวไกล ที่มีส่วนในการเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบจริยธรรมว่า ทราบว่าเพิ่งยื่นมา ต้องขอตรวจสอบก่อน เพราะ ป.ป.ช.มีกว่า 10,000 เรื่องในมือ กำลังไต่สวนกว่า 3,000 เรื่อง แต่เร่งทุกเรื่องเท่าที่มีอยู่

                    ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เคยมายื่นร้องเรียนเรื่องนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 เมื่อครั้งมีการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย นายนิวัติไชยกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูล โดยการตรวจสอบต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ  เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดลพบุรี ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. ในช่วงบ่าย โดยนายกรัฐมนตรีจะตรวจติดตามการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองลำสนธิ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ วัดสิงหาราม ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ที่ปัจจุบันประสบปัญหาทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี 

จากนั้นในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะชมขบวนประวัติศาสตร์ (ขบวนนพพระ)  ณ บริเวณเทวสถานปรางค์แขก และเป็นประธานพิธีเปิดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง