สภาเดือดแฉล้มเจ้า ผู้ช่วยสส.หนุน‘ทะลุวัง’ ตะวันนอนคุกขออดข้าว

สภาเดือด! ถกมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ "โรม"  โชว์ภาพ "ศปปส." ถ่ายคู่ "ชาดา" ประกอบอภิปรายกลุ่มปลุกปั่น ขู่เหตุปะทะ "รมช.มหาดไทย" ฉุน ฉะเลวทรามโยงมั่ว บอกถ้าอยู่เบื้องหลังจริงยิ่งกว่านี้ ซัดขบวนการล้มเจ้ามีจริง ไล่ถ้ารับไม่ได้ไปอยู่ประเทศอื่น "สส.ก้าวไกล" โดดป้อง "ตะวัน" บอกต้นตอพฤติกรรมมาจากโดนปิดกั้นแสดงความเห็น "ตะวัน-แฟรงค์" นอนคุก ศาลไม่ให้ประกัน เหตุไม่ยำเกรง กม.บ้านเมือง   ส่ง จม.น้อยบอกสื่อมุกเดิม "อดข้าว-น้ำ" ประท้วง "จุฬาฯ-ชาวอุทัยธานี" ใส่เสื้อสีม่วงแสดงพลังปกป้อง "กรมสมเด็จพระเทพฯ"

ที่รัฐสภา วันที่ 14 ก.พ. เวลา 12.30 น.  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

นายเอกนัฏกล่าวว่า การเสนอญัตติครั้งนี้ไม่มีความตั้งใจที่จะมาพูดเพื่อซ้ำเติมความร้าวฉาน ความแตกแยกที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในความรู้สึกของทั้งสองฝั่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรเกิดขึ้นอีก และถ้าเราปล่อยปละละเลย ในที่สุดสถานการณ์ตามที่เราได้เห็น วันที่ 10 ก.พ. เริ่มมีการประท้วง มีการปะทะกันในหมู่ประชาชน ถ้าเราไม่รีบบริหารจัดการ จะบานปลายไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรง ที่อาจจะปะทุบานปลายถึงความขัดแย้งระดับประเทศ

"หากเราไม่ทบทวนมาตรการเข้มงวด จะเป็นการปล่อยปละละเลยจนกระทั่งการกระทำในลักษณะแบบนี้เป็นแฟชั่น เป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์แบบนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่ความวุ่นวาย เกิดการปะทะกันในหมู่ประชาชน เกิดความแตกแยก ขอย้ำว่าพวกเราอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีพฤติกรรมหรือค่านิยมแฟชั่นที่ออกมาบั่นทอนสถาบันที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ" นายเอกนัฏกล่าว

จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติเรื่องถวายความปลอดภัยว่า ตนและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้ วัตถุประสงค์ของญัตติมี 2 ประการคือ 1.ประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ส่งความเห็นของสภา เพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ และ 2.ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร รับไปประกอบการพิจารณาด้วย

นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอเสนอข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้สภาได้โปรดพิจารณา 1.รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึก กระตือรือร้น  จงรักภักดี แล้วควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก 2.รัฐบาลแม้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ก็ย้ำว่าให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต

3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก

ข้อ 4.รัฐบาลควรจะได้ตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบ รอบด้าน ว่าสมควรจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือเมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่ และจะดำเนินการในรูปแบบไหน อย่างไรต่อไป รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

สภาเดือด 'ชาดา' ปะทะ 'โรม'

ต่อมา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หลังจากมีข่าวการขวางขบวนเสด็จฯ ออกมา ต้องยอมรับว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความหวาดกลัว ซึ่งตอนนี้ได้เลยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตนเข้าใจดีว่า ทุกคนล้วนมีความรู้สึกกับเรื่องนี้ไปต่างๆ นานา แต่หากไม่พิจารณาเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะด้วยสติที่มั่นคง สิ่งที่ทุกคนกำลังสร้างคือบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว  ส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อหน้าตำรวจและสื่อมวลชน และตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างใจเย็น ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลาย

"รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของนายกฯ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีของบ้านเมือง ได้แต่บอกว่าตนเองและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนความรุนแรง และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบัน แต่กลับไม่มีการบอกให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงเลย แบบนี้จะกลายเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่" นายรังสิมันต์กล่าว

สส.พรรค ก.ก.กล่าวว่า กลุ่ม ศปปส.มีการโพสต์ข้อความปลุกปั่นในโซเชียลมีเดียว่าจะเชือดไก่ให้ลิงดู หรือกลุ่มอาชีวะราชภักดีที่ขู่จะจัดการสายน้ำ ตามวิถีอาชีวะปะทะก่อนค่อยคุย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายถึงตอนนี้ มีการนำรูปของกลุ่ม ศปปส. ซึ่งถ่ายคู่กับนายชาดา ไทยเศรษฐ์  รมช.มหาดไทย โดยไม่มีการเบลอหน้า

นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีอีกหลายข้อความที่ถูกกล่าวขึ้นโดยบุคคลสำคัญ แม้กระทั่งนายชาดา พูดถึงการเนรคุณแผ่นดิน มีการปลุกปั่นให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าความเป็นจริงมาก และทำให้คนทั้งสังคมรู้สึกไม่ปลอดภัย รัฐจะสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายรังสิมันต์อภิปรายจบ นายชาดาลุกขึ้นประท้วงที่นำรูปตนมาแสดงในห้องประชุม โดยนายชาดาระบุว่า มีเจตนาไม่ดี ซึ่งรูปดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเลือกนายกฯ และมีประชาชนขอถ่ายรูปกับตนเป็นล้านคน และการเข้าร่วมกิจกรรมที่ดีงามไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด

"สิ่งที่นายรังสิมันต์กระทำไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ความรู้สึกของคนที่ดี และไม่ใช่การอธิบายเชิงสร้างสรรค์ ปากบอกต้องการความสงบให้ตั้งอยู่ตรงกลาง แต่พฤติกรรมไม่ใช่ และขอตำหนิการทำงานของประธานผู้ควบคุมการประชุม ที่อนุญาตให้นำรูปดังกล่าวขึ้นมาว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นกลาง ญัตตินี้เป็นเรื่องของการอารักขาขบวนเสด็จฯ ที่ทำร้ายจิตใจประชาชน แต่กำลังเอาเรื่องนอกประเด็น ผลของการกระทำเด็กหรือใครก็ตาม กี่ครั้งแล้วที่ทำผิดกฎหมาย การแสดงออกด้วยหัวใจคนไทยไม่มีปัญหา แต่มันมีขบวนการในประเทศนี้ที่จะล้มล้าง ที่จะบั่นทอน อย่าพูดว่าไม่มี ถ้าทำกับผมแบบนี้ พูดกับผมแบบนี้ เดี๋ยวผมจะพูดให้หมด" นายชาดากล่าว

รมช.มหาดไทยกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้อยากจะพูด แต่หัวใจความรักชาติมันเต็มเปี่ยม สิ่งที่ท่านทำไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ ปากบอกว่าพัฒนา แต่สิ่งที่ทำเมื่อสักครู่นี้เลวทรามมากในความรู้สึกตน ซึ่งประธานปล่อยภาพนี้ออกมาได้อย่างไร  ใครอนุญาต ตนไม่ว่าสมาชิก แต่ขอถามประธาน การอภิปรายอยู่ดีๆ สร้างปัญหาเอง อย่าพูดว่าไม่มีขบวนการล้มเจ้า ยืนยันว่ามี ซึ่งตนพร้อมจะถ่ายรูปกับคนทุกคนที่ปกป้องสถาบัน แต่เขาจะเอาไปทำอะไรไม่รู้ ไม่เกี่ยว คนละเรื่อง ต้องมีสามัญสำนึกในการกระทำ อย่ามาพูดดูดีแต่ปฏิบัติไม่ดี

ด้านนายรังสิมันต์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ภาพที่นำเสนอนั้นได้มีการยื่นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างถูกต้อง และเข้าใจว่าจะมีการพิจารณาตามระบบ ซึ่งเป็นอำนาจของประธานเป็นผู้พิจารณาคนสุดท้าย โดยทั่วไปการขึ้นรูปรัฐมนตรีสามารถทำได้อยู่แล้ว รออยู่ในที่ประชุม และตนขอให้นายชาดาใจเย็นๆ เพราะการขึ้นรูปไม่ได้ปรักปรำว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

นายชาดาโต้กลับว่า ไม่ได้ปรักปรำเพิ่มเติม หมายความว่าปรักปรำมาก่อนแล้วใช่หรือไม่ โดยนายรังสิมันต์ชี้แจงว่า  ข้อความที่ขึ้นในรูปไม่ได้เป็นประโยคของนายชาดา แต่เป็นข้อความของผู้ที่ก่อความรุนแรง แล้วเขาอาจจะคิดด้วยซ้ำว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่มีใครอยู่เบื้องหลังก็ได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีว่านักการเมืองอย่างเราๆ ถูกโยงไปยังกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ตลอดเวลา ทั้งที่การกระทำอาจไม่ถึงขนาดนั้น จึงอยากให้มีสติ เพราะหลายคนเข้ามาเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว มีสติกันเป็นหลักเป็นฐานให้กับบ้านเมือง

นายชาดาอภิปรายต่อว่า การกระทำบ่งบอกถึงเจตนาชัดเจน มีเจตนาบอกว่าตนอยู่เบื้องหลัง ถ้าอยู่เบื้องหลังจริง สนุกกว่านี้เยอะ และตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ท่านไม่ใช้สติในการพิจารณา คนไทยทุกคนยอมรับได้ แม้ว่าจะรอนานเท่าไร ถ้ายอมรับไม่ได้ ไปอยู่ประเทศอื่น

อ้างบีบแตรเหตุโดนปิดกั้น

เวลา 14.20 น. น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเห็นว่าหากจะพิจารณาเรื่องการถวายความปลอดภัย เราต้องมองอย่างรอบด้านมากกว่าเรื่องอารักขาขบวนเสด็จฯ จึงอยากชวนทบทวนเรื่องดังกล่าวผ่านเรื่องของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน นักกิจกรรมการเมือง เจ้าของคลิปบีบแตรและมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่บนทางด่วนที่มีขบวนเสด็จฯ​ จนเป็นเหตุของญัตติในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของน.ส.พนิดา กล่าวถึงเหตุกาณ์ที่ น.ส.ทานตะวันถูกกระทำในอดีต ทำให้มีการประท้วงหลายครั้ง โดยเฉพาะจากนายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มองว่าพูดนอกประเด็น

น.ส.พนิดาอภิปรายตอนหนึ่งว่า  เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น  ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เราต่างกำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหา หลายคนเสนอให้มีการเพิ่มมาตรการให้มีการอารักขาให้เข้มงวดมากขึ้น ตนก็เสนออีกแนวทางหนึ่งให้มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิด ไทม์ไลน์ที่ตนเล่ามา จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ของ น.ส.ทานตะวันในวันแรกจนถึงวันนี้มีท่าทีที่เปลี่ยนไป นั่นคือการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่

"น.ส.ทานตะวันเป็นเพียงภาพสะท้อนของชุดความคิดที่ไม่มีการรับฟัง ไม่มีการตอบสนอง ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นปลายเหตุของการสะสมความไม่พอใจต่อระบบนี้เท่านั้น จึงขอฝากไปยังนายกฯ ไม่เพียงแค่ทบทวนปรับปรุงมาตรการการรักษาความปลอดภัย แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ความขัดแย้ง หรือความเห็นต่าง ให้มีการรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อยุติความขัดแย้งไม่ให้บานปลายไปกว่านี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" สส.พรรค ก.ก.ระบุ
เวลา 15.57 น. นายชาดาอภิปรายว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้อยู่เบื้องหลัง มอบเงินให้เด็ก มีต่างชาติไปประกัน กดดันที่โรงพัก เหตุการณ์นี้เป็นการปะทุครั้งหนึ่ง สิ่งสำคัญคือมีเงินสนับสนุนจากบางคน บางกลุ่ม จนทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกของคนทั้งชาติ แต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเข้ามาข้องแวะ จนทำให้เกิดความเสื่อมของสถาบัน คำถามคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากจิตใจของเด็กจริงหรือไม่ หรือเกิดจากการปลุกปั่นยุยงอย่างเป็นกระบวนการ และต้องคิดด้วยว่าใครอยู่เบื้องหลังเด็กเหล่านี้ ตนมีเอกสารและข้อมูลอยู่ในมือว่าใครสนับสนุนเงินบ้าง

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ประท้วงว่า หากมีเอกสารใดๆ หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งเงินสนับสนุน ขอให้ส่งเพิ่มเติมให้รัฐบาล คณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม และคณะกรรมาธิการความมั่นคง ด้วย ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาลอยๆ กับคนที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมนี้

ทั้งนี้ นายชาดาโต้ว่า ข้อมูลมีแน่นอน อยู่ในมือถ้าอยากดู ตนไม่อยากสร้างความขัดแย้ง แต่ท่านเริ่มก่อน สิ่งที่พูดมีหลักฐานแน่นอน ไม่อยากบอกว่าผู้ช่วยสส.คนใดที่ส่งเงินให้ขบวนการพวกนี้ ตอนนี้ยังจับไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน ตนกล้าพูดเพราะเป็นเรื่องจริง ไม่ต้องห่วง ความจริงต้องเปิดเผยแน่นอน  ถ้าใช้กลไกสภาก็ดี

กระทั่งเวลา 16.50 น. ที่ประชุมสภาฯ มีเห็นความเห็นร่วมกันว่า ให้ส่งเนื้อหาญัตติและหลักฐานต่างๆ ไปยังรัฐบาล และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมทั้งประธานสภาฯ จะส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ตามคำขอของนายรังสิมันต์ ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ

ตะวันนอนคุกไม่ได้ประกัน

ที่ศาลอาญา เวลา 07.25 น. พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ควบคุมตัว น.ส.ทานตะวันจากสถานที่คุมขัง สน.ฉลองกรุง และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ จาก สน.ดินแดง เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องฝากขัง ส่วนนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ที่ถูกจับกุมพร้อมกับตะวันและแฟรงค์ กรณีมีหมายจับคดีค้างเก่าที่ไปมีส่วนสนับสนุนผู้ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง อยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนนำตัวมาขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษกด้วยเช่นกัน

กระทั่งเวลา 14.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ดินแดน ได้ยื่นคำร้องฝากขัง น.ส.ทานตะวันและนายณัฐนนท์ ผู้ต้องหาที่ 1-2 แจ้งข้อหาว่า "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ, ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มาขออำนาจศาลฝากขัง

ทั้งนี้ ในคำร้องพนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหา พร้อมระบุว่า ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน โดยประสงค์จะให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานอีก 7 ปากเป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2 ด้วยความจำเป็นดังกล่าว จึงขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ระหว่างการสอบสวนกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-25 ก.พ.67

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านหากผู้ต้องหาทั้งสองขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ถ้าหากศาลเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง พนักงานสอบสวนขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดในขณะนี้อีก

ทั้งนี้ จากข้อมูลและประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวก พบว่าเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว มีการกลับมากระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก หากไม่มีการควบคุมกำหนดมาตรการบังคับ หรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัด เป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาพลักษณ์ภายในประเทศ

ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองได้ เช่นเดียวกับคดีของนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ ศาลก็อนุญาตฝากขังได้

ต่อมาช่วงเย็น นายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายนภสินธุ์ ตีราคาประกัน 3.5 หมื่นบาท โดยกำหนดเงื่อนไขก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีอีก

ทนายความระบุว่า ในส่วนของ น.ส.ทานตะวันและนายณัฐนนท์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้หรือประการอื่น อีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยกคำร้อง ส่วนจะยื่นซ้ำหรือไม่ ต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง ในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอถอนประกัน ก็ทราบจากข่าว ซึ่งผู้ต้องหายังมีคดีอื่นในศาลอาญา เเละศาลอาญากรุงเทพใต้

 "ทานตะวันได้ฝากข้อความเป็นลายมือถึงผู้สื่อข่าวความว่า “นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเข้าเรือนจำ เราไม่เหลืออะไร นอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือสู้ต่อไป  หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก 3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน" ทนายความระบุ

'จุฬา-อุทัยฯ' ร่วมแสดงพลัง

วันเดียวกัน ช่วงเช้า บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย ผู้ประสานงานกลุ่มฯ นัดหมายผู้จงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี รวมตัวกันพร้อมใจใส่เสื้อสีม่วง หรือสัญลักษณ์สีม่วง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงพลังความจงรักภักดีต่อสถาบันอันเป็นที่รักและเทิดทูน  ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสถาบัน ม.จุฬาฯ โดยมี นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ร่วมกิจกรรมนี้ด้วย

ที่บริเวณลานสุพรรณิการ์ หน้าศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี นายชาดา พร้อมด้วยนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าฯ อุทัยธานี, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย,  นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี เขต 1 ตลอดจนส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชน และนักเรียนนับหมื่นคน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีม่วงและสีเหลือง  มาร่วมร้องเพลงชาติไทย พร้อมแสดงจุดยืนในการปกป้องและถวายกำลังใจแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนพากันเดินเท้าจากจุดดังกล่าวไปร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่บริเวณหน้าบ้าน 905

นายชาดากล่าวว่า ขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกคนว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ คนไทยทุกคนที่หัวใจรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตนเชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะจอดรถ ไม่ได้จอดหลบให้ใคร จอดให้ขบวนเสด็จฯ ทุกคนเต็มใจ การกระทําพฤติกรรมแบบนี้คือเจตนามาก่อกวน และกําลังจะสร้างความร้าวฉาน มายุ่งกับสถาบันที่เป็นสถาบันหลักของชาติ สิ่งที่ดําเนินคดีตามกฎหมายต้องทําไป

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 ก.พ. เวลา 08.30 น. ตนพร้อมเพื่อนๆ ข้าราชการ พม. เราจะพร้อมใจกันเข้าร่วมในพิธีแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการแต่งกายโทนสีม่วงทั้งกระทรวง เพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่พวกเรารัก และเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง