อ้างละเอียดอ่อนทำแจกหมื่นช้า

“เศรษฐา” รีบแจงหลังชาวบ้านทวงเงินหมื่น พลิ้วเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องฟังความเห็นทุกภาคส่วน “ดนุพร” โผล่แจงตั้งอนุกรรมการฯ ไม่อยากซ้ำรอยอดีต “สมชัย” เย้ยปากดีแต่ใจไม่กล้า

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยขณะติดตามการก่อสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต ศูนย์ชัยทวีลึมบองการุณย์เวช   ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร มีชาวบ้านบางส่วนได้ตะโกนสอบถามถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งนายเศรษฐาไม่ตอบเรื่องดังกล่าว

ต่อมาในเวลา 18.15 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการลงพื้นที่อีสานยังมีชาวบ้านทวงถามเรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่ขั้นตอนล่าช้าไปอีก 30 วัน ว่าเรื่องนี้ก็บอกไปแล้วว่าเป็นอย่างนั้น ก็ฝากสื่อช่วยสื่อสารด้วยแล้วกัน  เพราะอย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องให้แน่ใจว่ามีความโปร่งใส ซึ่งเรามั่นใจอยู่แล้ว มีการตั้งคณะกรรมการที่ถูกต้องขึ้นมา ซึ่งทางนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็บอกว่าเพิ่งเห็นเอกสาร ขอเวลาทำความเข้าใจกับข้อมูลทั้งหลายที่ท้วงติงมา ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

ขณะที่ นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลจะผลักดันเต็มที่ ซึ่งในที่ประชุมพรรคก็ประสานเสียงกันว่าอยากให้เรื่องนี้ออกมาเร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ฉะนั้นเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจะพบเจอกับอุปสรรคอะไร ก็จะพยายามต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมองว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความแน่ชัด และการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเพิ่มเติมเป็นเหมือนเป็นการพายเรือในอ่าง นายดนุพร กล่าวว่า เป็นสิทธิของฝ่ายค้าน อยู่ที่มุมมอง แต่การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาฯ และนำปัญหามาพูดคุยกัน เพราะปัญหาเหล่านี้สุ่มเสี่ยงเรื่องการผิดกฎหมาย เมื่อมีคนท้วงติงมาก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่อยากให้ซ้ำรอยในอดีต

 “เชื่อว่าหากเราวางตัวเป็นกลางและมองด้วยเหตุผล ก็จะทราบว่าที่เลื่อนเพราะเราเจออุปสรรคอะไรบ้าง และเชื่อว่ารัฐบาลพยายามจะเร่งแก้ปัญหา หากไม่ติดปัญหาเชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตคงจะดำเนินการไปตามไทม์ไลน์เดิมที่คุยกันไว้”

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า ใครเป็นอุปสรรค ทำให้รัฐบาลยังไม่กล้าตัดสินใจแจกเงินดิจิทัล ไม่ใช่สำนักงานกฤษฎีกาและไม่ใช่ ป.ป.ช. เพราะเป็นเพียงที่ปรึกษากฎหมาย และแค่ให้คำแนะนำ รัฐบาลต่างหากที่มีอำนาจเต็มและมีเสียงในสภาพอที่จะออกกฎหมาย ไม่ใช่ฝ่ายค้าน เพราะเสียงในสภาทำอะไรไม่ได้ และพรรคก้าวไกลยังบอกว่าจะใช้วิธีการในสภาเท่านั้น ไม่ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ แบงก์ชาติ เพราะบ่นจนเลิกบ่นไปแล้ว ทั้งหมดจึงอยู่ที่ความขัดกันระหว่างปากกับใจของรัฐบาลเองที่เป็นอุปสรรค เพราะปากไปถึง แต่ใจไปไม่ถึง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าโทษคนอื่น! ดร.รัชดา ซัดถ้า นายกฯ ไม่เสนอชื่อบุคคลขาดคุณสมบัติ ใครก็ทำอะไรไม่ได้

ถ้านายกฯไม่เสนอชื่อบุคคลที่อาจพิจารณาได้ว่าคุณสมบัติย้อนแย้งกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ใครที่ไหนก็ทำอะไรไม่ได้