ติดโอมิครอนพุ่งหวั่น3หมื่น/วัน

ศบค.แจงยอดติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 2,437 ราย เสียชีวิต 18 ราย หมอเบิร์ทชี้ยังมีคลัสเตอร์จำนวนมาก “โอมิครอน” เริ่มพ่นพิษก้าวกระโดดอย่างมาก ติดเชื้อแล้ว 514 ราย จุดเริ่มต้นมาจากกาฬสินธุ์เอฟเฟกต์ สธ.ยกระดับเตือนภัยระดับ 3 “หมอเกียรติภูมิ” เผยกระจายไปใน 14 จังหวัด รับดูยากเพราะแทบไม่แสดงอาการ ข่าวดีหากเชื้อไม่ลงปอดแค่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็เอาอยู่ แนะเร่งฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 พร้อมแจงฉากทัศน์เลวร้ายสุดติดเชื้อวันละ 3 หมื่น แต่หากเอาอยู่ติดเชื้อจะสูงสุดแค่ 1.3 หมื่นคน

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,437 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,212,407 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,845 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,156,374 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 10 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,598 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 120,612 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 102,681,943 โดส

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 27 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 427 ราย, นครศรีธรรมราช 450 ราย, ชลบุรี 138 ราย, ขอนแก่น 96 ราย, สมุทรปราการ 88 ราย, เชียงใหม่ 57 ราย, ตรัง 56 ราย, ฉะเชิงเทรา 54 ราย, สงขลา 53 ราย และสุราษฎร์ธานี 52 ราย ทั้งนี้ยังพบคลัสเตอร์ในหลายพื้นที่ ทั้งคลัสเตอร์โรงงาน ตลาด พิธีกรรมทางศาสนา เช่นผู้เดินทางมาจาก จ.ขอนแก่น ไปร่วมงานศพที่ จ.เลย, คลัสเตอร์สถานศึกษา โรงเรียนที่ จ.แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นนทบุรี ลำปาง, คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง ซึ่งหลายพื้นที่ยังพบการลักลอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ จึงมีการเข้มงวดกวดขันที่ไม่ใช่การขอความร่วมมือ แต่จะมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม

พญ.อภิสมัยยังกล่าวถึงสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทย ว่ามี 514 ราย ถือเป็นการก้าวกระโดดจากสัปดาห์ที่แล้ว โดย 2 ใน 3 เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศ และ 1 ใน 3 เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งคลัสเตอร์ใหญ่อยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเคสสามีภรรยาที่เดินทางกลับจากเบลเยียม จากไทม์ไลน์มีการรับประทานอาหารในผับและเดินทางไปตลาดโรงสี ทำให้มีนักดนตรี พนักงาน ลูกค้าที่รับประทานอาหารในขณะนั้นเป็นผู้เสี่ยงสูงทั้งหมด 125 ราย เฉพาะที่ร้านอาหารมีผู้ติดเชื้อแล้ว 21 ราย และมี 97 รายรอยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ คลัสเตอร์นี้ยังเชื่อมโยงไปยัง จ.ลำพูน ที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว 4 ราย และ จ.อุดรธานีอีก 6 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ จ.สุรินทร์ 1 ราย เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากประเทศเดนมาร์ก และพบที่ จ.ภูเก็ตและกระบี่ จังหวัดละ 1 ราย โดยเป็นการสัมผัสจากแม่บ้านที่ทำงานในโรงแรมที่ผู้ติดเชื้อพักอาศัย ส่วนที่ จ.ปัตตานีพบ 7 ราย เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากการแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ กทม.พบ 2 ราย เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่สามีประกอบอาชีพนักบิน เดินทางกลับจากไนจีเรีย

“ข้อมูลเบื้องต้นอาการของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 41 ราย พบว่ามีอาการไอมากที่สุดถึง 54% รองลงมาคือเจ็บคอและเป็นไข้ ส่วนอาการที่พบน้อยที่สุดคือ การรับรู้กลิ่นน้อยลงมีเพียง 1 ราย โดยโอมิครอนเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบน ไม่ลงปอด จึงเป็นการยากที่จะสังเกตอาการคนใกล้ชิด สาธารณสุขจึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นเพื่อเป็นการป้องกัน” พญ.อภิสมัยระบุ

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สถานการณ์โอมิครอนในไทยและหลายประเทศมีมาตรการตอบโต้ โดยแนะนำให้ประชาชนฉีดบูสเตอร์เข็มสาม ซึ่งเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพและหลายประเทศเห็นพ้องแนวทางนี้ ในส่วนของไทยนั้นอัตราการบูสเตอร์เข็มสามยังน้อยมาก มีผู้ฉีดเข็มสามเพียง 6,226,249 รายเท่านั้น คิดเป็น 8.6% ของประชากร จึงขอให้เร่งรณรงค์เรื่องเหล่านี้ โดยผู้ที่ฉีดเข็มที่หนึ่งและสองเป็นซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ให้ฉีดบูสเตอร์เข็มสามหลังจากฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองแล้ว ให้รอ 3 เดือนจึงไปกระตุ้นเข็มที่สาม เช่นเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อแล้วให้รอหลังจากหายแล้ว 3 เดือน และ ศบค.ชุดเล็กยังห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค จึงขอให้ไปฉีดเข็มที่สี่

เมื่อถามถึงการปรับมาตรการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังพบสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดรวดเร็วและเริ่มพบเชื้อในประเทศมากขึ้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีหลายจังหวัดที่เข้มงวดกวดขันเรื่องการจัดงานเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเบื้องต้น ศบค.ยังไม่มีมาตรการห้ามการจัดเทศกาลปีใหม่ แต่ขอให้แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้เข้มงวดมาตรการ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงฉากทัศน์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย และอัปเดตสถานการณ์เชื้อโอมิครอนว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-18 ธ.ค.64 สะสม 514 รายที่เป็นต้นเชื้อ กระจายใน 14 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบเข้าประเทศทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไม่กักตัว (Test&Go) ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และระบบกักตัว (Quarantine) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม แต่บางส่วนเล็ดลอดออกไปได้ พบเป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางจากต่างประเทศประมาณ 20% เช่นไปเยี่ยมญาติ ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ จึงต้องระมัดระวังให้มาก

นพ.เกียรติภูมิกล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะมีอาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ 90% มีอาการเล็กน้อย 10% อาการมาก 3-4% ขณะที่โอมิครอนพบที่หลอดลมมากกว่าลงปอด ดังนั้นอาการที่พบได้มากคือไอ แต่หากลงปอดก็จะรุนแรงเช่นเดียวกับเดลตา ส่วนการศึกษาจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน 41 รายที่เราทำการรักษาอยู่ พบว่ามีอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% ไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และไม่ได้กลิ่น 2% โดยพบอาการไม่ได้กลิ่นน้อยเพียง 1 ราย จึงให้ยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 5 วันตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่าหากให้ยาตั้งแต่ต้นอาการจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง อาการกลับมาเป็นปกติได้

สำหรับฉากทัศน์พยากรณ์ในกรณีการแพร่ระบาดของโอมิครอนใน 3 รูปแบบนั้น รูปแบบที่ 1 ระดับรุนแรงที่สุด พบการระบาดของเชื้อโควิด-19 และฉีดวัคซีนใกล้เคียงช่วงเดือน ธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย ไม่มีการป้องกัน ขณะทำกิจกรรมรวมคน สถานประกอบการจัดกิจกรรมไม่สามารถปฏิบัติตาม VUCA ได้ ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยาก โดยใช้เวลา 3-4 เดือนกว่าจะควบคุมโรคได้ ซึ่งจะติดเชื้อรายวันถึง 3 หมื่นราย และผู้เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน รูปแบบที่ 2 ระดับปานกลาง โอกาสติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ฉีดวัคซีนใกล้เคียงช่วงเดือน ธ.ค. ขณะที่ทุกภาคส่วนยังคงปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด ก็อาจพบผู้ติดเชื้อประมาณ 1.5-1.6 พันรายต่อวัน และใน 1-2 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ค่อยทรงตัว และลดลงมาตามลำดับ โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน และรูปแบบที่ 3 ระดับดีที่สุด ผลจากโอกาสติดเชื้อเพิ่มปานกลาง ฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นทุกกลุ่ม ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และปฏิบัติ VUCA อย่างเคร่งครัด ตัวเลขสูงสุดจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นราย หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะทรงตัวและลดลง ส่วนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 60-70 ราย และจะลดลงในที่สุด

“จากข้อมูลในประเทศอังกฤษที่ได้ศึกษาความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน ลดลงเมื่อเทียบกับเดลตา โดยเดลตาโอกาสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมี 50% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ส่วนโอมิครอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 20-25% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-50%” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อโอมิครอน 100 รายแรกที่พบในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 99 ราย และติดเชื้อในประเทศ 1 ราย เพศชาย 54 ราย หญิง 45 ราย อายุน้อยที่สุด 8 ขวบ สูงสุด 77 ปี ค่ามัธยฐาน 34 ปี สัดส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอีก 11% กำลังรวบรวมข้อมูล พูดง่ายๆ คือคนไข้ไม่มีอาการเลยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งมีอาการไม่มาก จึงอยากย้ำประชาชนที่รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว การฉีดกระตุ้นจะมีผลการป้องกันโอมิครอนได้ดีขึ้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากโอมิครอนระบาด ขณะนี้ประเทศไทยได้ยกระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ ทั้งนี้ ระดับ 1 ความเสี่ยงน้อยใช้ชีวิตปกติ เปิดทุกอย่างได้ภายใต้มาตรการ Covid Free Setting, ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวังคัดกรอง คนยังรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ เปิดระบบ Test&Go, ระดับ 3 จะจำกัดการรวมกลุ่ม/Work From Home/ขนส่งสาธารณะยังดำเนินการได้ตามปกติ แต่มีการคัดกรองก่อนเดินทาง, ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง/ชะลอการเดินทางเข้าประเทศให้เข้าเฉพาะระบบกักตัว หรือ Quarantine และระดับ 5 สถานการณ์เลวร้าย ประกาศเคอร์ฟิว/ จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ คัดกรองก่อนเข้าพื้นที่กรณีเดินทางข้ามจังหวัด

“ความรุนแรงของโอมิครอนดูเหมือนน้อยกว่าเดลตา เพื่อความไม่ประมาทจึงต้องยกระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 เนื่องจากยังมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วติดเชื้อเข้ามา แม้มีมาตรการคัดกรอง ตรวจสอบวัคซีน ตรวจ RT-PCR หาเชื้อก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงต้องตรวจอีก ก็ยังพบผู้เดินทางเข้ามาติดเชื้อ เพราะต่างประเทศยังมีความรุนแรง นี่จึงเป็นสัญญาณที่เราต้องระวังตัว” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนความคืบหน้ากรณีเพจเฟซบุ๊กของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จ.สุรินทร์ ได้เปิดเผยข้อมูลและไทม์ไลน์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 3 ราย ซึ่งเป็นหญิงเดินทางมาจากเดนมาร์กกับลูกชายและเครือญาติ โดยเฉพาะกรณีลูกชายที่เดินทางไปชมการแสดงดนตรีภายในงานช้างแฟร์คืนวันที่ 17 ธ.ค.64 ที่มีผู้เข้าร่วมชมกว่า 2 หมื่นคน จนสร้างความวิตกกันอย่างมากนั้น ล่าสุด นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สุรินทร์ ยืนยันว่ากลุ่มเสี่ยงยังเป็นแค่กลุ่มในเครือญาติเท่านั้น ซึ่งก็มีการกักตัวดูอาการแล้ว

ส่วนที่ จ.สงขลา ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ.กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 1 ราย ขณะนี้มีการเฝ้าระวังให้อยู่ในวงจำกัด เร่งควบคุมกลุ่มเสี่ยงด้วยการกักตัวและตรวจเชื้อ ซึ่งในเบื้องต้นไม่พบเชื้อ แต่ให้ทั้งหมดกักตัวที่บ้าน 14 วันเพื่อรอดูอาการแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง