ตะวัน-แฟรงค์ นอนตะรางต่อ ศาลยกคำร้อง

ศาลอาญายืนยกคำร้องประกัน-ค้านฝากขัง “ตะวัน-แฟรงค์” ระบุอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต “ทิชา-พ่อตะวัน” หวังผู้พิพากษาชักฟืนออกจากกองไฟ 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค.2567 นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยนายสมหมาย ตัวตุลานนท์ บิดาของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, นายเอกชัย หงส์กังวาน, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม,   นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ  และมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมาที่ศาลอาญาเพื่อยื่นคำแถลงขอให้ศาลพิจารณาไม่รับฝากขังตะวันและแฟรงค์

โดยนางทิชากล่าวว่า ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีการคุมขังผู้ต้องโทษกว่า 250,000 ราย โดย 80% เป็นนักโทษเด็ดขาด ส่วนอีก 20% เป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีและไม่ได้รับการประกันตัว ต่อมามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าถึงที่สุดศาลยกฟ้อง แสดงให้เห็นว่าการคุมขัง 20% ดังกล่าวเป็นการคุมขังผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเราต้องมาคำนวณเกี่ยวกับวันเวลาอิสรภาพ โอกาสในการทำมาหากินของพวกเขา ถ้าเราทำงานวิจัย นี่คือความสูญเสียมหาศาล นอกจากนี้ สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ แต่เรากลับปล่อยให้คนจำนวน 20% เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ของ น.ส.ตะวัน    น.ส.แบม น.ส.บุ้ง นายแฟรงค์ และนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่ตั้งคำถามกับระบบที่เกิดก่อนเขา และเขาก็สงสัยในระบบเหล่านี้ มันเป็นคำถามที่ใหญ่และตบหน้าคนที่เกิดก่อนด้วยซ้ำ

นางทิชากล่าวอีกว่า มั่นใจว่าทุกคนรู้สึกว่าระบบยุติธรรมของไทยตอนนี้กำลังเดินทางเข้าสู่วิกฤตศรัทธา ดังนั้นการต่อสู้ของเด็กๆ ทั้งหมด เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกอย่างเราต้องไม่อยู่เฉย และถ้าทุกคนรู้สึกว่าการอดอาหารประท้วงของพวกเขาเป็นการตัดสินใจกันเอง และถ้าอยากสาปแช่งให้เด็กเหล่านี้ติดคุกและเสียชีวิต เราอยากบอกว่าพวกคุณกำลังลดทอนคุณค่าของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าในอนาคตกฎหมายยังไม่ได้ถูกออกแบบไว้เป็นอย่างดี วันนั้นอาจเป็นชะตากรรมของลูกหลานของพวกคุณก็ได้ที่เจอกฎหมายไม่เป็นธรรม สรุปแล้วการประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของตะวัน แฟรงค์ และบุ้ง โดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่ต้องการระบบที่มันยุติธรรม

“การที่เรามาที่ศาล เพราะยังเหลือศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จึงหวังว่าจะยังคงมีผู้พิพากษาที่มีความเป็นมนุษย์ในสถาบันแห่งนี้ จะกล้าหาญพอที่จะชักฟืนออกจากกองไฟให้ได้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ เพราะในอดีตเรามีประวัติศาสตร์บาดแผลมามากมายแล้ว นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เราจะเลือกว่าจะสร้างประวัติศาสตร์บาดแผลหน้าใหม่  หรือเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นระบบที่เหมาะสมอยู่ร่วมกันได้” นางทิชากล่าว และว่า  แม้ผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีมารยาท ไม่น่ารัก แต่คำถามคือมันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะใช้กฎหมายตั้งข้อหาอย่างรุนแรงขนาดนี้

นายนภสินธุ์กล่าวว่า ป้ามลจะยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อคัดค้านการฝากขัง แล้ว ยังมีคุณพ่อของตะวันที่มายื่นขอประกัน เพราะเขาห่วงลูกสาวมาก นอนไม่หลับ และจะอยู่ฟังผลของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่

ภายหลังนางทิชาและนายสมหมายได้ขึ้นไปยื่นเอกสารคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งหมดได้ลงมาทำกิจกรรมจุดเทียนบนขั้นบันไดหน้าศาลอาญา พร้อมร้องเพลงเเสงดาวแห่งศรัทธา จากนั้น รปภ.ได้ขอความร่วมมือให้ทั้งหมดไปจุดเทียนที่ด้านนอกบริเวณศาล ต่อมาได้เคลื่อนไปยังพื้นที่อนุญาตและจุดเทียนพร้อมร้องเพลงเพื่อมวลชน ในขณะที่ช่วงเช้าน้องหยกได้ใช้ลิปสติกสีแดงเขียนลงบนเสาหน้าศาลอาญาด้วยอักษร ค. ก่อนที่มวลชนโดยรอบจะขอให้น้องหยกยุติการกระทำดังกล่าว และนำผ้ามาเช็ดทำความสะอาด จากนั้นน้องหยกได้เดินไปยังบริเวณด้านหน้าศาลและใช้ลิปสติกแท่งเดิมเขียนลงบนพื้นปูนว่า “ศาลส้น...” และมวลชนก็ได้มาห้ามปรามการกระทำดังกล่าว พร้อมเช็ดทำความสะอาดให้อีกครั้ง ก่อนน้องหยกและเพื่อนชายจะนั่งรถยนต์ส่วนบุคคลออกไป

โดยต่อมานายกฤษฎางค์ นุตจรัส  ทนายความ ได้ยื่นคำร้องประกอบหลักทรัพย์ขอประกันตะวันกับเเฟรงค์อีกครั้ง โดยศาลอาญาได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องว่าพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ศาลมีคำสั่งกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จในการฝากขังครั้งนี้ แม้ผู้ต้องหาทั้งสองมีอาการวิกฤตตามที่ผู้ร้องอ้าง แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสองอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าผู้ต้องหาไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้ต้องหาทราบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง