สุทินเตือนกองทัพ เข้าทาง‘การเมือง’ หั่น700อัตราปี70

"สุทิน" มั่นใจกองทัพไร้ปัญหาโยกย้ายแบบ ตร. มีวินัย-เรียงรุ่นพี่รุ่นน้อง เชื่อนายกฯ ไม่ล้วง-ใช้อำนาจเด้งคนพร่ำเพรื่อ พร้อมสั่งเลิก "พลทหาร" รับใช้บ้านนาย ต้องหมดยุคซักกางเกงในคุณนาย กำชับเหล่าทัพระวังเข้าทางการเมืองตีปี๊บ สภา กห.เดินหน้าลดกำลังพล จัดลิสต์หน่วยทหารถูกยุบ-ควบรวม ตั้งเป้าหั่น 700 อัตราในปี 70

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภาสภากลาโหมว่า ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพไปกวดขันกำลังพลให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล จนทำให้สังคมตำหนิ เพราะกำลังพลมีจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันมีกระบวนการตรวจสอบเรื่องต่างๆ ของกองทัพอยู่ จึงต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง รวมถึงนำพลทหารไปรับใช้ที่บ้าน ให้ยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยให้ทำเฉพาะงานในหน้าที่ นอกเหนือจากนั้นห้ามเด็ดขาด ส่วนกรณีพลทหารที่ถูกส่งไปดูแลตามบ้านผู้บังคับบัญชา ได้สั่งไปแล้วว่าไม่ให้ทำเด็ดขาด ยกเว้นในส่วนที่ทำตามระเบียบระบุไว้ แค่ไหนก็แค่นั้น ซึ่งเข้าใจว่าระเบียบนั้นให้ทำในสิ่งที่สังคมรับได้อยู่แล้ว ขณะนี้แต่ละเหล่าทัพกำลังเช็กยอดและตรวจสอบอยู่

“ข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่เกี่ยวกับพลทหารในช่วงนี้ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง เลือกที่จะดิสเครดิตกับสถาบันที่เข้มแข็งอย่างทหาร เพื่อสร้างกระแสนิยม ชนของใหญ่แล้วดัง ก็ชนสถาบันทหาร กล้าแฉ กล้าที่จะเปิดโปง กล้าตีทหารมันก็จะดัง ได้คะแนนนิยม ต้นก็บอกกับกองทัพให้รู้ตัวและระมัดระวัง” รมว.กลาโหมระบุ

เมื่อถามว่า ในระเบียบได้กำหนดให้พลทหารที่ถูกนำไปใช้เรียกว่าทหารบริการ ทำงานใดได้แค่ไหน นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าระเบียบเปิดไว้กว้างให้ใช้ดุลยพินิจว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะสม สิ่งที่สังคมตำหนิอย่าทำ แม้ระเบียบเปิดช่องไว้ก็ไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งกรณีที่ถามถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งก็คิดกันได้อยู่แล้ว และบอกแล้วว่าอย่าทำ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ก็คงจะรู้อยู่ ท่านก็ฟังกระแสสังคมอยู่ ถ้ากำชับไปแล้วไม่ดีขึ้น รอบหน้าตนก็อาจจะระบุในระเบียบให้ชัดเจน ว่าหน้าที่ของทหารบริการมีอะไรบ้าง แต่ตอนนี้ขอให้นโยบายแบบผู้ใหญ่ก่อน เชื่อว่าน่าจะได้ผล หากไม่ได้ผลก็ไปว่ากันในรายละเอียด ส่วนแนวโน้มจะการแก้ไขหรือยกเลิกระเบียบหรือไม่นั้น  ตนก็ได้มอบให้กรมพระธรรมนูญไปดูแล้ว ระเบียบอะไรที่เปิดช่องและไม่สอดคล้องกับยุคสมัยให้ปรับแก้ไขแล้วตนจะลงนามทันที

“ในอดีตมี เพราะเวลาออกสนามรบ ทหารผู้ใหญ่ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีพลบริการติดตามตัว มีไว้ในเป็นกรอบภารกิจที่เหมาะสมอยู่ ที่จะเอื้อให้การทำงานราบรื่นขึ้น แต่ที่เป็นปัญหาทั้งหมดคือปฏิบัตินอกระเบียบ ก็สั่งไว้ไม่ให้ทำอีก ส่วนทหารที่ซักกางเกงในให้คุณนาย ก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ามีอีกต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าไปยกสิ่งของ บริการผู้บังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติภารกิจ สามารถทำได้ อย่างกรณีของผมก็มีเลขาฯ ส่วนตัว ที่มาช่วยงานอยู่หลายเรื่อง” นายสุทินกล่าว

นายสุทินยังกล่าวถึงกรณีที่มีความเป็นห่วงการปรับย้ายนายทหารปลายปี ที่ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ จะเกษียณอายุราชการจะมีปัญหาเช่นเดียวสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ทหารมีวินัย มีวัฒนธรรม และมีองค์กรพิจารณาปรับย้ายเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหา และในอนาคตก็เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา ส่วนการวิ่งเต้นขอตำแหน่งนั้น ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีปัญหา แต่กระทรวงกลาโหมวิ่งเต้นไม่ได้ เพราะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน กองทัพยังมีวัฒนธรรมเรื่องรุ่นพี่ เด็กๆ ที่จะพรวดพราดขึ้นมาเกินหน้ารุ่นพี่แบบกระทรวงอื่นคงไม่มี ถ้าไม่มีเรื่องเหล่านี้ก็ยอมรับกันได้

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาสั่งย้ายตำแหน่งสำคัญของเหล่าทัพไม่ได้ใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า นายกฯ  ไม่ทำอยู่แล้ว แม้นายกฯ จะมีอำนาจครอบคลุมทุกหน่วยงาน เพราะการบริหารราชการแผ่นดินอำนาจสูงสุดอยู่ที่นายกฯ และเชื่อว่านายกฯ ไม่ใช้อำนาจแบบนี้พร่ำเพรื่อหากไม่จำเป็น โดยเฉพาะการทรวงกลาโหมไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะไปทำแบบนั้น

นายสุทินยังกล่าวว่า ในการประชุมสภากลาโหม ได้เห็นชอบข้อเสนอของคณะทำงานด้านการปฏิรูปกองทัพ ในการปรับลดกำลังพลระยะแรก ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วนในปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2570 โดยปิดอัตราที่ไม่จำเป็น รวมทั้งอัตราที่เกษียณ รวมแล้วกว่า 700 อัตรา นอกจากนั้นมีการควบรวมองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน รวมทั้งการยุบหน่วยงาน ส่งผลให้งบประมาณลดลงกว่า 34 ล้านบาท

ด้าน พล.ร.ต.ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ขณะที่กำลังจัดทำแผนปรับปรุงโครงสร้างระยะที่ 2 ซึ่งมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีหัวหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะพิจารณาการปรับหน่วยจากสภาวะแวดล้อม ภัยคุกคามที่กองทัพต้องเผชิญ ทั้งในภาวะสงครามหรือภาวะปกติ โดยดูว่าโครงสร้าง กำลังพล ต้องจัดวางอย่างไร ต้องมีการบรรจุข้าราชการกลาโหมในส่วนไหน ซึ่งกำลังพลก็จะลดลงตามแผนพัฒนากองทัพ อีกทั้งจะนำมาซึ่งการทำสมุดปกขาวเพื่อเป็นคัมภีร์ให้กองทัพนำไปเป็นแนวทางภาพดำเนินการเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียว สำหรับการยุบรวมหน่วยกำลังรบนั้นจะพิจารณาในเฟสที่ 2 ต่อไป

สำหรับการควบรวมหน่วยที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้แก่ ควบรวมสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกำลังพลสำรองกับกองการสัสดี, ปรับปรุงโครงสร้างกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหมให้สอดคล้องกับ ศูนย์ไซเบอร์ทหาร และเพิ่มการตรวจรักษาด้านจิตเวช, แปรสภาพสำนักงานอาเซียนฯ เป็นสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศและอาเซียน ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย ได้แก่ แปรสภาพศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง เป็น สำนักงานพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, แปรสภาพศูนย์ไซเบอร์ทหาร  เป็นหน่วยบัญชาการไซเบอร์ทหาร

กองทัพอากาศ ได้แก่ จัดตั้งสำนักจัดหายุทโธปกรณ์ กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ และสำนักการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ โดยปรับเกลี่ยจากสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกอ.รมน., เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, ควบรวมศูนย์ไซเบอร์ กับ กรมเทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ, จัดตั้งศูนย์การฝึกกองทัพอากาศน้ำพอง, โอนภารกิจการตรวจสอบมาตรฐานการบินของกรมจเรทหารอากาศ ให้สำนักงานการบินกองทัพอากาศ, ปรับโครงสร้างกรมช่างทหารอากาศ, กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ และกรมสรรพาวุธทหารอากาศรองรับสหวิทยาการ

ทั้งนี้ การยุบหน่วยที่หมดความจำเป็นคือ สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์ประสานภารกิจทางทหาร สำนักนโยบายและแผนกลาโหม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง