กกต.ถก‘วิษณุ’ แก้กม.35มาตรา เลือกตั้งบัตร2ใบ

 “บิ๊กตู่” ซุ่มถก 3 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 20 นาที “อนุทิน-จุรินทร์” ประสานเสียงคุยเรื่องปกติไร้วาระพิเศษ “ธรรมนัส” โผล่ขอนแก่นประกาศก้อง พปชร.จะกวาดเก้าอี้มากกว่าเดิม “ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล” กลายเป็นเผือกร้อน พรรคร่วมรัฐบาลไม่กล้าบอกรับ “สุวิทย์” ทีม 4 ยอดกุมารประกาศเว้นวรรคทางการเมือง กกต.นัดหารือ "วิษณุ" ชงแก้ กม.เลือกตั้ง 35 มาตรา รับบัตร 2 ใบ คำนวณ ส.ส.ใหม่ พ่วงรื้อไพรมารีโหวต

เมื่อวันพุธที่ 13 ต.ค. มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช   บรมนาถบพิตร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.), นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นเวลา 20 นาที โดยหลังการหารือเสร็จสิ้น นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามสื่อ

ขณะที่นายจุรินทร์ระบุว่า นายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นพิเศษ แต่เป็นการพูดคุยตามปกติทุกครั้งที่เจอกัน ส่วนเรื่องน้ำท่วมได้พูดกันอยู่แล้วในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งทุกคนต้องลงไปช่วย ไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่ง ยืนยันไม่มีการแจ้งเรื่องปรับ ครม. และนายกฯ ก็ไม่ต้องมีการเคลียร์ใจอะไรกับพรรค ปชป.อยู่แล้ว เพราะพรรคไม่มีปัญหาอะไร

นายอนุทินกล่าวเช่นกันว่า เป็นการพูดคุยตามปกติ ไม่มีการสั่งการในเรื่องใดๆ เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุให้ ครม.ร่วมกันทำงานในการประชุมเอเปก เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ว่านายกฯ แสดงเจตจำนงไปหลายครั้งแล้ว ท่านก็พูดทำนองว่าไม่มีการยุบสภา หรือยังไม่มี เช่นนี้แล้วก็ต้องฟังท่าน เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้มีอำนาจยุบหรือไม่ยุบสภา ก็ต้องถือท่านเป็นเกณฑ์ ส่วนที่พรรคการเมืองเริ่มทำพื้นที่กันแล้วนั้น ในส่วนของพรรค ปชป.เราลงพื้นที่กันมานานแล้ว โดยเฉพาะในช่วงปิดสมัยประชุมสภา เราดำเนินการต่อเนื่อง 2-3 ปีมาแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะมียุบสภาถึงจะลงพื้นที่

เมื่อถามถึงกรณีพรรค ปชป.และ ภท.พูดถึงแคนดิเดตนายกฯ เป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนนายอนุทินกล่าวในประเด็นนี้ว่า เราก็ทำให้ดีที่สุดตราบใดที่ยังมีหน้าที่มีภารกิจอยู่ ก็จะทำให้ดี ส่วนเรื่องการลงพื้นที่นั้น เราลงพื้นที่ตลอดเวลาอยู่แล้วไม่เคยหยุด ทั้งตนและสมาชิกพรรคทุกคนลงพื้นที่ตลอดไม่ว่าจะสถานการณ์อะไร เมื่อถามย้ำว่าสบายใจขึ้นหรือไม่ที่สถานการณ์รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมแน่  นายอนุทินย้ำว่า "ทำทุกวันให้มันดีที่สุด"

ส่วนที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จ.ขอนแก่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมคณะ ได้พบปะสมาชิกพรรคและสังเกตการณ์การประชุมเลือกตั้งตัวแทนพรรค พปชร.ประจำจังหวัด โดย ร.อ.ธรรมนัสระบุว่า การประชุมเลือกตัวแทนเขตของพรรคได้รับความสนใจจากชาวขอนแก่นทุกเขตเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนมีความพร้อมและกระตือรือร้นในการเตรียมการเลือกตั้งในครั้งหน้าที่จะมาถึง

"ด้วยนโยบายที่ชัดเจน แน่วแน่ และแน่นอน จะทำให้ พปชร.คว้าชัยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ได้ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขอนแก่น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ปรับให้เดิมมี ส.ส. 10 เขต 10 คน เป็น 11 เขต 11 คน ดังนั้นการเตรียมการในด้านต่างๆ นั้นไม่เร็วเกินไป ซึ่งคิวต่อไปคือ จ.นราธิวาส ที่คณะทำงานจะลงพื้นที่พูดคุยกับ ส.ส. ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ และผู้แทนของพรรคประจำเขตเลือกตั้ง ตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว และว่า ขอให้ทุกคนมีความมั่นใจในนโยบายของพรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มีเป้าหมายทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองและพี่น้องประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำมาตลอดว่าทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เดินไปข้างหน้า เพื่อความเป็นปึกแผ่นของพรรค และเป็นที่พึ่งพาได้ของประชาชนต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ขับนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค โดยนายศรัณย์วุฒิระบุว่า ในวันที่ 14 ต.ค. จะแถลงข่าวถึงรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงท่าทีต่อมติของพรรค รวมถึงเรื่องการจะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองใดด้วย

ด้าน​ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวนายศรัณย์วุฒิจะมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พปชร.

ส่วนกรณี น.ส.พรพิมลนั้น นายอนุทินกล่าวปฏิเสธว่ายังไม่มีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค
นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง   กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ใช่หัวหน้าพรรค     

ขณะที่นายจุรินทร์ก็ปฏิเสธข่าวของ  น.ส.พรพิมลเช่นกันว่า ไม่มีการพิจารณาเรื่องตัวบุคคลเป็นหน้าที่เลขาฯ และรองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาค กรณีนี้ไม่มีข้อมูล

วันเดียวกัน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษาฯ และอดีตรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีกระแสข่าวกลุ่มสี่กุมารเตรียมจับมือกลุ่มการเมืองว่า เรื่องนี้ก็ไม่ทราบ และไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น เพราะได้บอกกับคนอื่นๆ ในทีมสี่กุมารแล้วว่า ครั้งนี้ขอเว้นวรรคทางการเมือง เพราะยังมีหลายเรื่องที่ทำให้กับบ้านเมืองได้ และกำลังทำอยู่ แต่ขอให้กำลังใจกับทุกคนที่จะเดินหน้าทำงานการเมืองกันต่อไป 

เมื่อถามว่า ที่แสดงเจตนารมณ์ต้องการเว้นวรรคทางการเมือง เป็นเพราะการเมืองที่กลุ่มสี่กุมารเจอมาหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า อย่างที่บอก อะไรก็ตามเมื่อเรามา เราก็ต้องไป คงไม่ได้ยึดติด และด้วยสูตรโครงสร้างเวลานั้น ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส.ในสภาได้ ซึ่งเป็นจุดตายอยู่แล้ว และเรื่องของเกมการเมืองเราก็รู้อยู่แล้วว่าก็ต้องเป็นแบบนี้

ทางด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันที่ 14 ต.ค. ตนและคณะจะเดินทางเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้เตรียมศึกษารายละเอียดไว้บ้างแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการเสนอยกร่างก่อนที่สำนักงานจะเสนอ ครม. ต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาก่อน เพราะอำนาจอยู่ที่ กกต. ดังนั้นขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ก่อนที่เสนอต้องไปปรึกษากับนายวิษณุว่า หากจะทำแบบนี้ต้องเสนอไปเมื่อใด เพราะนอกจากการยกร่างกฎหมายแล้ว ยังต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดไว้ด้วย 

มีรายงานว่า กกต.จะมีการนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.​ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ได้ศึกษาและยกร่างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยมี 35 มาตรา เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน และหากจัดสรรแล้วยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน จะจัดสรรให้พรรคที่เหลือคะแนนเศษมากตามลำดับ การแบ่งเขตใหม่ 400 เขตให้เสร็จใน 90 วัน ส.ส.เขตใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรค การลดเวลาลงคะแนนเหลือ 16.00 น. เช่นเดิม เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีการหารือถึงข้อติดขัดของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง คือกรณีการทำไพรมารีโหวต เพื่อคัดเลือกและส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้เสนอแนวทางให้สำนักงานไปพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ว่าพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครได้ต้องมีสาขาพรรคการเมืองจังหวัดละ 1 แห่ง ประชุมร่วมกับสมาชิก 500 คน สามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาได้ น่าจะทำให้กระบวนการคัดสรรผู้สมัครของพรรคคล่องตัวขึ้น

ทั้งนี้ หลัง กกต.หารือกับทางรัฐบาลแล้ว จะนำประเด็นหารือกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กกต. ก่อนทำการยกร่างแก้ไขกฎหมาย และนำไปรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก่อนเสนอ ครม.และรัฐสภาพิจารณาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.