รับวินิจฉัยจริยธรรม ศาลมีมติ6:3ให้นายกฯชี้แจง 5:4ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาล รธน.มีมติ 6 ต่อ 3 รับวินิจฉัยสถานะนายกฯ ปมผิดจริยธรรมตั้ง "พิชิต" นั่ง รมต. แต่มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เปิดทางชี้แจงภายใน 15 วัน พร้อมตีตกร้องฟัน  "รมต.ถุงขนม" เหตุพ้นจากตำแหน่งแล้ว  "เศรษฐา" มั่นใจชี้แจงได้ ลั่นผ่านมาเยอะไม่ต้องขอกำลังใจจากใคร "Switch On and Off" ได้ "ภูมิธรรม" ยันไม่มีแผนสองดัน "อิ๊งค์" เป็นนายกฯ แทน "ทนาย" ยื่นกองปราบฯ ตรวจเอกสาร 40 สว.มีปลอมลายเซ็นหรือไม่ "เอกชน" จับตาผลกระทบมติศาลฯ รับคำร้อง 40 สว. หวั่นการลงทุนชะงัก

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 23 พ.ค.  ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1  ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เนื่องจากศาลฯ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (4) และให้นายกรัฐมนตรียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

ทั้งนี้ เสียงข้างน้อย 3 เสียงในประเด็นนี้ ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

ส่วนกรณีของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2  ได้มีคำร้องของนายพิชิต ลงวันที่ 23 พ.ค.67 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 นายพิชิตได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิตสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของนายพิชิตไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดย 1 เสียงข้างน้อย ได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

โดยตุลาการเสียงข้างน้อย ได้แก่  นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์

นายกฯ มั่นใจแจงศาล รธน.

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. โดยนายเศรษฐายังคงมีท่าทีปกติ และได้มีการตรวจสอบ รวมถึงโทรศัพท์สอบถามกับคณะทำงานอย่างใกล้ชิด กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ที่ร่วมลงชื่อถอดถอนนายกฯ จากกรณีที่แต่งตั้งนายพิชิต

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า ตนเข้าใจว่ามีเวลา 15 วัน และถ้าเสร็จภารกิจในช่วงเย็น จะโทรศัพท์พูดคุยกับทีมกฎหมาย เพื่อที่จะดูเรื่องของเราว่าจะไปชี้แจงอย่างไร ก็เป็นธรรมดาของการเข้าสู่การเมือง เราต้องพร้อมให้มีการตรวจสอบได้ หากทางฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายธุรการมีความข้องใจ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องไปชี้แจง

ถามว่า ได้เห็นหัวข้อที่ทางศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้ชี้แจงประเด็นใดหรือยัง นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มีและตนยังไม่มีเวลา ตอนที่มติศาลรัฐธรรมนูญออกมาก็อยู่ระหว่างการประชุม แต่ก็เป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็ต้องรับฟัง แต่มั่นใจว่าชี้แจงได้ ก็ต้องให้เวลาท่านในการพิจารณา ไม่อยากจะไปกดดันทางด้านศาลรัฐธรรมนูญนัก

ซักว่าไม่มีผลกระทบอะไรกับการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศขณะนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มี และในระยะยาวก็ไม่มี และตนเชื่อว่าไม่ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเรามีภารกิจอยู่แล้ว และเราก็ต้องแยกแยะให้ถูก

"เรื่องปัญหาที่บ้านเราก็ต้องแก้ไขกันไป ก็มีทีมงานที่ช่วยดูเรื่องอยู่แล้ว เป็นธรรมดาของการเข้าสู่เวทีการเมือง ความจริงก็ไม่อยากพูดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องรับทราบและจะต้องให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯ มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างใช่หรือไม่ เพราะการตัดสินใจใดๆ มีทีมที่ปรึกษาและมีคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำปรึกษาอยู่แล้ว นายกฯ กล่าวว่า “ครับ ก็มั่นใจครับ แต่เดี๋ยวต้องดูคำถามอีกทีว่า ตรงไหนเป็นอย่างไร และเชื่อว่าคนที่ต้องตัดสินเขาต้องดูให้ดีๆ”

ถามอีกว่า มีบางฝ่ายออกมาพูดทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีบางคนบางกลุ่ม หรือ สว.บางคนต้องการเล่นเกมต่อรองบางอย่าง นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ทราบว่าท่านต่อรองอะไร ตนไม่อยากคิดไปในแง่ลบ ท่านเองก็มีหน้าที่ของท่าน ก็ได้ยินมาเหมือนกันว่าบางคน ถ้าเกิดหมดวาระไปแล้วไม่ควรจะเสนออะไร อย่างไร แต่ตนไม่ทราบ ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้าตามกฎหมายท่านยังมีสิทธิ์เสนอ ท่านก็มีสิทธิ์เสนอไป อันนี้คงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าเขามีสิทธิ์เสนอก็เสนอ แต่ถ้าไม่มีสิทธิ์เสนอก็เดี๋ยวค่อยว่ากัน

"เรื่องเกมการต่อรองอะไรอยู่ข้างหลัง ผมไม่อยากมองลึกไปขนาดนั้น เพราะผมเชื่อว่าทุกท่านเองมีความปรารถนาดีกับประเทศชาติ ก็อยากให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใสและชอบธรรม" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า ขณะนี้บางฝ่ายไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น เนื่องจากเวลานี้ประเทศกำลังเดินหน้าไปด้วยดี อยากจะพูดอะไรไปถึงฝั่งคนที่มองว่ารัฐบาลยังทำไม่ถูกใจ นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการที่เราเข้ามาสู่การเมืองจะทำทุกอย่างให้ถูกใจทุกคนเป็นไปได้ลำบาก แต่ขอให้มั่นใจ รัฐบาลนี้ภายใต้การนำของตน เรายึดมั่นกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และมีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการตรวจสอบเป็นธรรมดาอยู่แล้ว หากสื่อมวลชนสังเกต ถามตนเมื่อไหร่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ตนก็พร้อมที่จะเข้าไปตอบอยู่แล้ว และให้เกียรติทางรัฐสภามาโดยตลอด

"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เราเข้าสู่การเมืองแล้วต้องมีทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ เราทราบดีอยู่แล้วตรงนี้ อีกทั้งยังมีองค์กรอิสระที่เข้ามากำกับตรวจสอบดูแล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความชอบธรรม ก็อย่าไปบอกเลยว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเบื้องหน้าอะไร โดยส่วนตัวคิดว่าเมื่อมาอย่างนี้เราก็ต้องให้ความกระจ่างกันไป" นายกฯ กล่าว

ถามอีกว่า จะตั้งใครให้เป็นหัวหน้าคณะที่เตรียมข้อมูลทำคำชี้แจง นายเศรษฐากล่าวว่า ยังเลย เดี๋ยวต้องดูกันอีกครั้ง และตนเองก็ต้องไปดูมติก่อนว่าออกมาอย่างไร 6 ต่อ 3 ให้รับเรื่อง 5 ต่อ 4 ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เดี๋ยวต้องไปดูเนื้อหากันอีกที เจ้าหน้าที่ส่งมาให้อ่านแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านเลย

พอถามว่า จะให้กำลังใจตัวเองและผู้สนับสนุนอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับตนคิดว่าคงไม่ต้องให้ เพราะเราอายุขนาดนี้แล้วผ่านวิกฤตมาเยอะ ตรงนี้ไม่มีปัญหาหรอก ส่วนคนที่สนับสนุนก็ขอให้มั่นใจว่าตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเชื่อว่าคนที่ทำงานให้หลายๆ คนก็ทราบดีว่าทำตรงนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเชื่อว่าเราก็เป็นมืออาชีพ ต้องพร้อมที่จะตอบข้อสงสัย ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่อยากให้คิดเป็นอื่น อย่าไปคิดให้ลึกเกินไปเลย มันไม่มีความสบายใจ เชื่อว่าทุกคนก็มีความปรารถนาดีกับประเทศทั้งนั้น

ภูมิธรรมลั่นไม่มีแผนสอง

เมื่อถามว่า กำลังใจสำคัญของนายกฯ ในช่วงเวลานี้คืออะไร นายเศรษฐากล่าวว่า ถ้าเกิดมาอยู่ตรงนี้แล้วตนคิดว่าคงไม่ต้องการกำลังใจหรอก การที่เราเข้ามาสู่เวทีการเมืองผ่านการเลือกตั้งที่ชอบธรรม ผ่านการตั้งรัฐบาล 3 เดือน มาอยู่ในที่นี้ประมาณ 8-9 เดือนแล้ว เชื่อว่าเห็นถึงความเดือดร้อนกันอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะครบกำหนด 15 วันแล้ว มีการตัดสินหรือมีการพิจารณาอีก ในทุกๆ วันมีความหมาย ทุกคนมีความเดือดร้อนอยู่แล้ว ในเรื่องโครงการทั้งหลายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าทุกเรื่องเป็นหน้าที่ที่ตนต้องทำอยู่แล้ว ปัญหาที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เราต้องเป็นผู้ใหญ่พอที่ต้องแบ่งแยกให้ถูกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็มีทีมแก้ไขปัญหาและเข้าไปชี้แจงก็ทำได้

"วันที่ 24 พ.ค. ก็มีภารกิจ และเสาร์-อาทิตย์นี้ เมื่อกลับไปก็มีภารกิจจัดเต็มอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีความคิด ไม่ได้ต้องการกำลังใจพิเศษจากใครใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผมสามารถที่จะ Switch On and Off ได้" นายเศรษฐากล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์  เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติศาล รธน.ว่า ผลนั้นเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางตุลาการเป็นผู้พิจารณารายละเอียดข้อวินิจฉัยกฎหมายต่างๆ แต่ขอยืนยันว่าเราทำถูกต้องทั้งหมด และในกระบวนการไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"จากที่ได้พูดคุยกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีหนังสือออกมาอย่างเป็นทางการ และเราก็คงจะต้องตอบกลับ ซึ่งเราพร้อมที่จะชี้แจงได้ตลอดเวลา" นพ.พรหมินทร์กล่าว

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรน่ากังวล ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และนายกฯ ได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ตามกรอบหน้าที่ และเป็นไปตามที่หน่วยงานต่างๆ ให้ข้อมูล ซึ่งเรื่องที่ สว.ยื่นก็สามารถเกิดขึ้นได้ถือเป็นเรื่องปกติ

"ที่ศาลรับพิจารณาคำร้องก็ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเป็นเรื่องที่ศาลขอไปดูรายละเอียด ไม่ได้หมายความว่ารับแค่นี้แล้วจะมีปัญหาแน่ ผิดแน่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน หลังจากที่ศาลรธน.รับคำร้อง ก็ต้องนำสำนวนไปดู นายกฯ ก็ต้องจัดทีมที่มีความรู้ทางกฎหมายเพื่อชี้แจงต่อศาลต่อไป" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่า มีแผนสำรองเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าเราทำงานบริหารประเทศจะรู้ว่าเรื่องเหล่านี้ธรรมดามาก แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีหลักฐาน แต่ถึงเวลาหากชี้แจงได้เรื่องก็จบไปเงียบๆ อย่ากังวล

 “ไม่ได้มีแผนสำรอง ปล่อยเป็นไปตามกระบวนการ เพราะเราไม่คิดว่าเรามีปัญหา จึงไม่ต้องเตรียมอะไรมาก เดี๋ยวมีข้อกฎหมายอะไร เราก็หาเหตุผลเพื่อต่อสู้คดี ถ้าใครเรียนนิติศาสตร์มาก็จะรู้ว่าเรื่องต่างๆ มีร้อยแปดพันประการตีความได้หลายแบบ ก็ไปว่ากัน ใช้เหตุใช้ผลสู้กัน" นายภูมิธรรมกล่าว

ซักว่าทีมต่อสู้คดีเป็นทีมของทำเนียบรัฐบาลหรือทีมของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรมกล่าวว่า จริงๆ ใช้ได้หมดทีมกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ แต่เรายังไม่คิดไกลถึงขั้นนั้น ขอให้ดูของจริงดีกว่า

พอถามว่า การร้องนายกฯ เป็นเรื่องทางกฎหมายหรือเป็นเรื่องการเมือง นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้ก็ต้องคิดเป็นเรื่องกฎหมายก่อน เพราะฟ้องตามกฎหมาย ส่วนจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่เดี๋ยวค่อยไปดู หากไปดูเรื่องกฎหมายแล้วยังไม่จบ และดูแล้วเป็นการเมืองก็ต้องไปว่ากันอีกอย่าง แต่ขอดูรายละเอียดก่อน

เมื่อถามว่า มองว่ามีกระบวนการให้ถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้รู้สึก

ถามต่อว่า ได้มีการเตรียมชื่อของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไว้แล้วหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการ ผู้ที่เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ มีจำนวนกี่คน อยู่ตรงไหนบ้าง ก็เป็นไปตามกระบวนการ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงไหนก็เป็นไปส่วนนั้น ถ้าไม่มีพรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกันไป ตรงนี้เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่มีรองรับอยู่แล้ว

ซักว่าหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คนที่เป็นนายกฯ คนต่อไปจะต้องเป็นคนของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราไม่อยากคิดอะไรที่เป็นเรื่องร้าย ภารกิจที่เป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารมันมีมากอยู่แล้ว เราอย่าไปคิด ถ้าคิดมากแล้วปวดหัว

ร้อง 40 สว.มีปลอมลายเซ็น

เมื่อถามกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุนายกฯ ถูกวางยากรณีแต่งตั้งนายพิชิต นายภูมิธรรมย้อนถามสื่อว่า นายรังสิมันต์เป็นคนวางยาหรือ ทำไมรู้ล่ะ พร้อมกล่าวต่อว่า ใครจะไปวางยาใครได้ ต้องเคารพในสติปัญญาและมีวุฒิภาวะของผู้รับผิดชอบ ถามย้ำว่ายังไม่เปลี่ยนตัวนายกฯ ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า พูดอย่างนี้ได้อย่างไร เดี๋ยวหาว่าพี่อยากเป็น

ถามว่า กรณีนายพิชิตลาออกจะมีการพิจารณาใครมาแทนหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้สารตั้งต้นอยู่ที่นายกฯ ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าตอนนี้ขาดใคร และจะมีการเพิ่มเติมอย่างไร จะเพิ่มหรือไม่เพิ่ม หรือจะเอาใคร เพราะได้ทั้งคนในคนนอก อยู่ที่นายกฯ จะพิจารณา เมื่อถามว่าขณะนี้มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ควรที่จะรีบมีการแต่งตั้งหรือจะบริหารแบบนี้ไปก่อน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ต้องรีบ ตอนนี้บางคนออกไปบางคนเข้ามา ซึ่งตอนนี้ถ้ายังทำงานได้ นายกฯ ยังรับมือได้ก็จบไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งตอนนี้ทุกคนต้องปรับตัว

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายธเนศณัฏฐ์ สุคนธพันธ์ หัวหน้าสำนักงานกฎหมายธเนศณัฏฐ์  สุคนธพันธ์ เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเอกสารหลักฐานภาพข่าวต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อขอให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ช่วยทำการตรวจสอบกรณีที่สว. 40 คน ร่วมกันลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายเศรษฐาเรื่องการแต่งตั้งนายพิชิตมีการปลอมแปลงลายเซ็น สว. 4 คน ที่มีการอ้างถึงว่าลงชื่อด้วย แต่ปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนว่าไม่ได้ลงชื่อ

"ที่ออกมาร้องเรียนมาในฐานะประชาชนคนไทย และเป็นนักกฎหมาย ที่มองว่ากระบวนการดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง แต่มองว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในกลุ่ม สว.กันเอง ส่วนหากภายหลังกรณีที่ศาล รธน.มติไม่รับคำร้องของ 40 สว.นั้น ก็จะปรึกษากับทีมงานว่าจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป" หัวหน้าสำนักงานกฎหมายรายนี้ระบุ

วันเดียวกัน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวว่า ตนบรรลุผลสำเร็จในแง่ของการทำหน้าที่ ส่วนศาลจะดำเนินการและวินิจฉัยอย่างไร เป็นอำนาจของศาล ซึ่งนายกฯ ต้องหาหลักฐานไปชี้แจงว่า ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย ศีลธรรมอันดี หรือจริยธรรม ต้องให้โอกาสนายกฯ ไปแก้ข้อกล่าวหาที่ศาล

"การยื่นคำร้องนี้ไม่ได้ต้องการให้ประเทศชาติติดหล่ม แต่เป็นเรื่องที่ดีกับประเทศที่มีปัญหาบ้านเมืองสะดุดจากรัฐบาลไม่โปร่งใส ไม่สะอาดมากกว่า เราเห็นปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงได้ทำหน้าที่ เราเป็นผู้ชง ไม่ใช่ผู้ชี้ ควรชงปัญหาชาวบ้านให้ศาลชี้ หากนายกฯ ไม่ผิดแล้วจะสง่างามมากขึ้น" นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

ถามถึงกรณีที่นายพิชิตระบุกลุ่ม 40 สว.เป็นวงจรอุบาทว์ที่จ้องโค่นล้มรัฐบาล สว.รายนี้ระบุว่า แล้วแต่จะคิด เราเห็นเนื้อหาคดีที่ต้องให้ศาลตัดสินเพื่อความยุติธรรม ยืนยันไม่ได้อยู่ในขั้วอำนาจเก่า

ส่วนนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ศาลรับคำร้องแม้จะไม่ได้สั่งให้หยุดพักการปฏิบัติราชการ แต่ก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไปถึงความเชื่อมั่น เพราะก่อนหน้าที่จะถึงวันที่ศาลรับคำร้อง 40 สว. แค่มีกระแสข่าวออกมาก็ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทูตของบางประเทศมีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่ง ณ เวลานั้นก็ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถตอบได้อย่างชัดเจน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช่อ พรรณิการ์' สังเกตการณ์เลือก สว. มั่นใจคำตัดสิน ศาลรธน. จะไม่ทำให้การเลือกเป็นโมฆะ

'ช่อ พรรณิการ์' ร่วมสังเกตการณ์ เชื่อคดีรอตัดสิน 18 มิ.ย.นี้ ไม่ทำ ‘เลือก สว.’ เป็นโมฆะ เปรียบพื้นที่กรุงเทพฯ เหมือนสมรภูมิ คนดังลงเยอะการแข่งขันสูง หวั่น มีฮั้ว หลังรอบอำเภอข้อมูลผู้สมัครหลุดกว่า 2 หมื่นชื่อ

18 มิ.ย.ลุ้น 4 คดีร้อน จับตาใครจะพินาศ?

จับตาว่าในวันที่ 18 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีการพิจารณาคดีทางการเมือง 4 ประเด็นร้อน ที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การเมืองไทยในระยะเวลาต่อไป

พร้อมเลือกสว.รอบ2

เตรียมการเลือก สว.ระดับจังหวัดทั่วประเทศคึกคัก เลขาธิการ กกต.เตือนผู้สมัคร สว.มารายงานตัวให้ทันเวลาก่อน 09.00 น. ย้ำสายเพียง 1 วินาทีก็ไม่ได้