วธ.จัดทำจดหมายเหตุเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บันทึกหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติ พร้อมหนังสือที่ระลึก 5 เล่ม นำเสนอพระราชกรณียกิจ 10 ด้าน 10 ศิลปินแห่งชาติประพันธ์เผยแพร่พระเกียรติคุณ มหรสพสมโภชยิ่งใหญ่ 11-15 ก.ค. ทร.ชวนชมซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกงานเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลนี้
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้กำหนดจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกทั้งหมด 6 เล่ม แบ่งเป็นหนังสือจดหมายเหตุการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 1 เล่ม โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดแต่โบราณไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติ ในครั้งนี้ ได้รวบรวมกฤตภาคข่าวออนไลน์จากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และส่งนักจดหมายเหตุไปสังเกตการณ์การประชุม จดบันทึกการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวบรวมเอกสารและภาพถ่ายกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วประเทศ จดบันทึกเหตุการณ์และถ่ายภาพพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีที่เกี่ยวเนื่อง เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 จนเสร็จสิ้นระยะเวลาของโครงการกิจกรรม ประมาณวันที่ 31 ธ.ค.2567 จากนั้นจึงนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นต้นฉบับตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านการอนุญาตจากสำนักพระราชวัง แล้วจึงจัดพิมพ์เป็นหนังสือจดหมายเหตุ แจกจ่ายเผยแพร่ตามห้องสมุดหน่วยราชการและโรงเรียนทั่วประเทศ
ในส่วนหนังสือที่ระลึก 5 เล่ม ประกอบด้วยหนังสือ “ทศพิธ ทศมรัช” โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบ่งเป็น 10 ด้าน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และกวีที่เป็นศิลปินแห่งชาติ 10 คน ร่วมแต่งคำประพันธ์เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย เป็นร้อยกรองทั้งเล่ม และมีภาพประกอบ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ, หนังสือหกรอบนักษัตร ใต้ร่มฉัตรพระภูมินทร์ : ประมวลข่าวจากหนังสือพิมพ์พุทธศักราช 2495-2567 โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมข่าวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บทความเฉลิมพระเกียรติและสิ่งอนุสรณ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ คัดกรองร้อยเรียงเรื่องราวให้ต่อเนื่องกันไปในแต่ละรอบนักษัตรจัดพิมพ์เป็นหนังสือ, หนังสือที่ระลึกพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, หนังสือที่ระลึกในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยกองทัพเรือ รวบรวมข้อมูลการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และหนังสือที่ระลึกรวบรวมผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาในการจัดทำหนังสือที่ระลึกแต่ละรายการจะแล้วเสร็จ ภายหลังจากสิ้นสุดแต่ละกิจกรรม เมื่อจัดพิมพ์หนังสือแล้วจะมอบให้แก่ห้องสมุด หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษา รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) เผยแพร่ทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า วธ.กำหนดจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค.2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร กำหนดพิธีเปิดงานวันที่ 11 ก.ค. เวลา 19.30 น. ณ ท้องสนามหลวง ก่อนพิธีเปิดเวลา 17.30 น. มีการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ 26 ขบวน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมขบวนกว่า 3,000 คน และการแสดงโดรนเฉลิมพระเกียรติ 1,200 ลำ แปรขบวนแสดงเรื่องพระราชกรณียกิจในหลวง ชุด "รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร" ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน
วันเดียวกัน พล.ร.ท.วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (ประธาน คตร.) ตรวจเยี่ยมการฝึกกำลังพลฝีพายในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดรวมพลใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) ทั้งนี้ การฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพายจากทุกพื้นที่ รวม 2,200 นาย จะเข้ารับการฝึกในเรือในแม่น้ำช่วง 8-30 ก.ค.2567 (15 วันหลัง) โดย 2 พื้นที่หลักคือ บริเวณสะพานพระราม 8 และอู่ทหารเรือธนบุรี โดยกองทัพเรือจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมการฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพายและเรือพระนั่ง ในวันที่ 8- 30 ก.ค. (เฉพาะวันราชการ) สามารถเข้าชมการฝึกซ้อมของกำลังพลฝีพาย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ระหว่างเวลา 09.00-15.30 น., สามารถเข้าชมเรือพระนั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ได้ที่อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ ในวันและเวลาราชการ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
ผู้ที่มีความประสงค์จะชมการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่ง เข้าชมได้ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค. วันที่ 15-19 ก.ค. และ 23-26 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 14.00-15.30 น. ในส่วนของการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายเป็นรูปขบวน จะเริ่มซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกวันที่ 1 ส.ค. สามารถรับชมได้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8-วัดอรุณราชวราราม ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ส่วนซ้อมใหญ่ วันที่ 15 และ 22 ต.ค. และซ้อมเก็บความเรียบร้อย วันที่ 24 ต.ค. โดยพระราชพิธีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 27 ต.ค.2567.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน