วธ.เปิด12รายชื่อ ‘ศิลปินชาติ’ปี66 ครูโจ้-โย่งเชิญยิ้ม

วธ.ประกาศ 12 ศิลปินแห่งชาติ  ประจำปี 66 "ครูโจ้ สุธีศักดิ์-โย่ง เชิญยิ้ม-ปรียนันท์ สุนทรจามร" สาขาศิลปะการแสดง ส่วน "สุดสาคร ชายเสม" ผู้ออกแบบฉากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คว้าสาขาทัศนศิลป์

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)  ในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 จำนวน 12 คน ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ ศ.เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม), นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน), ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ), นายสุดสาคร ชายเสม (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก, สาขาวรรณศิลป์ 2 คน ได้แก่ นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร นายวศิน  อินทสระ, สาขาศิลปะการแสดง 6 คน ได้แก่ นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร), นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย), นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย), จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล-ลูกทุ่ง), นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (นาฏศิลป์สากล) และ รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์)   

ทั้งนี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป    

รมว.วธ.กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 2527 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว 355 คน และในปี 2566 จำนวน 12 คน รวม 367 คน ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตไปแล้ว 183 คน และยังมีชีวิตอยู่รวม 184 คน ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสวัสดิการ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่นให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตาม พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท  เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 150,000 บาท

 จ่าโทหญิงปรียนันท์ สุนทรจามร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าจะได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ รู้สึกปลื้มใจและขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มอบให้กัน ปัจจุบันอายุ 90 ปี ยังคงทำงานร้องเพลงและสอนขับร้องเพลงไทยลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งแก่ผู้สนใจ มีผู้เรียนทั้งเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อฝึกฝนตัวเองเข้าประกวด รวมถึงผู้สูงอายุที่มีใจรักเพลงลูกกรุง เน้นสอนร้องผลงานเพลงของตัวเองเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคอย่างเต็มที่ เพลงที่มีชื่อเสียง เช่น กุหลาบเวียงพิงค์ ช่างร้ายเหลือ บุษบาเสี่ยงเทียน สาวสะอื้น แม่พิมพ์ของชาติ เน้นการออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง อนุรักษ์ภาษาไทยและคงคุณค่าผลงานเพลง อยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันทะนุถนอมเพลงเก่า เพลงอมตะ เพราะครูผู้ให้เนื้อร้องและทำนองสิ้นแล้ว บางบทเพลงไม่ได้บันทึกแผ่นเสียง กลัวจะสูญหายไป ตนจะแนะนำและส่งต่อแก่นักร้องรุ่นใหม่ ไม่อยากให้ลืมกัน จากนี้พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ จำเนื้อเพลงได้กว่า 90 เพลง โดยไม่ต้องดูเนื้อ 

 นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือ "ครูโจ้"  ศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 กล่าวว่า เมื่อได้ทราบข่าวก็หัวใจเต้นแรง รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะสาขาศิลปะการแสดงเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานนาฏศิลป์ไทยและตะวันตกให้เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลของวงตระกูลภักดีเทวา ตนอยากนำความรู้ถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ นาฏศิลป์สากล ไม่ใช่แค่การเต้นที่ปัจจุบันมีผู้สนใจจำนวนมาก เพราะสิ่งที่ยากต้องสื่อให้เห็นว่าเป็นศาสตร์ที่มีตัวตนเป็นตัวดำเนินเรื่องผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน ศิลปินแห่งชาติถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์  ศิลปินไทยสามารถปักธงและได้รับรางวัลในระดับนานาชาติจำนวนมาก ตนจะถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้เพื่อสืบสานและต่อยอดให้การแสดงได้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ “โย่ง เชิญยิ้ม” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 กล่าวว่า รู้สึกดีใจสุดๆ ไปเลย กับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ที่ผ่านมาพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะส่งเสริมการเรียนรู้และการแสดงเพลงฉ่อย ลิเก เป็นสิ่งที่ตนหัดเล่นตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เมื่อเราเห็นคนดูมีความสุขกับการแสดง เรามีความสุขตามไปด้วย ตนพร้อมและยินดีที่จะช่วยธำรงรักษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านตามที่ถนัดสู่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยสังคม ทำให้มรดกอันล้ำค่าคงอยู่ ไม่สูญหาย ถือเป็นการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นรากเหง้าของชาติให้คงอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นวมินทรมหาราช ‘ในหลวง-ราชินี’ เสด็จฯอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

"ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ ทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ศาลรธน.ยืนยัน ‘อุดม’ ไม่เสียดสี แค่ตอบ ‘ข้อกม.’

ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือตอบกลับสภาผู้แทนฯ ยืนยัน "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาล รธน. แสดงความเห็นหลังยุบพรรคก้าวไกล "ยุบ 3 วันตั้งพรรค"