ถุงพระราชทานช่วยปชช. เตรียมรับมวลนํ้าเข้ากรุง

ไปมอบแก่ชาวบ้านสวรรคโลกที่ประสบภัยน้ำท่วม “ร.อ.ธรรมนัส” เปิดตัวเลขพื้นที่เกษตรกว่า 7 แสนไร่ เสียหาย 121,708 รายได้รับผลกระทบ ด้านประธานสภาหอการค้าไทยชงรัฐบาลผุด "ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย" นายกฯ คุมหัวโต๊ะสั่งการแบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อความคล่องตัว พร้อมเตรียมแผนรับมวลน้ำเข้ากรุง “ปภ.” เตือนพื้นที่เสี่ยง 44 จังหวัด จับตา “ยางิ” กระทบไทย

เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายนุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 2,000 ถุง ไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎร  เพื่อเชิญไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยต่อไป และมอบแก่ราษฎรอำเภอสวรรคโลก ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจ ในโอกาสนี้ องคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยและเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ

ในการนี้ องคมนตรีได้ลงพื้นที่เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก  จำนวน 3 ครอบครัว ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา ทั้งนี้ องคมนตรีได้พูดคุยให้กำลังใจและขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจิตอาสาพระราชทาน ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว

โดยองคมนตรีได้เข้าร่วมประชุมติดตามการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และรายงานการเกิดอุทกภัย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัย โดยองคมนตรีได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกัน การเตือนภัย การช่วยเหลือราษฎรที่เกิดจากภัยธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก รวมถึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดประสานกันให้ดี ถึงจำนวนมวลน้ำที่จะไหลผ่านแต่ละจังหวัด เพื่อจะได้เตรียมการได้ทันและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม

ที่ จ.สุโขทัย มีสิ่งสาธารณประโยชน์ พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบใน 7 อำเภอ  47 ตำบล 233 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 7,912 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 66 เส้นทาง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 43,747 ไร่ ราษฎรเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งจังหวัดสุโขทัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการและเร่งดำเนินการสำรวจและให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว เหลือในบางพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ โดยจังหวัดได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่ จ.ชัยนาท นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ลงพื้นที่รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา โดยระบุว่า ขอฝากการบ้านให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ให้มีการกระจายน้ำและการหน่วงน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรได้ และทำให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

 “เพราะถึงแม้ว่าจะท่วมแต่ก็ท่วมในปริมาณที่ไม่มาก หรือหากมีน้ำท่วมก็ให้สามารถระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือปากอ่าวให้ได้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงเวลาของน้ำทะเลหนุนด้วย โดยเฉพาะช่วงหนุนที่พีกที่สุดช่วง ต.ค. ในช่วงนี้ถ้าเร่งระบายลงอ่าวไทยได้ก็ต้องเร่งเสียก่อน" นายวราวุธระบุ

ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงอย่างชัดเจน การท่องเที่ยวในพื้นที่สำคัญ เช่น เชียงราย, น่าน, แพร่, พิษณุโลก,  สุโขทัย และเชียงใหม่ ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางและเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวได้ตามปกติขณะนี้ กระทรวงฯ กำลังเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบการท่องเที่ยวทั้งหมด

 “โดยมีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรวม 222 แห่ง แบ่งเป็นที่พัก 82 แห่ง ร้านอาหารและคาเฟ่ 79 แห่ง บริษัทนำเที่ยว 4 แห่ง ร้านขายของฝาก 3 แห่ง และไม่ระบุ 54 แห่ง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีก 62 แห่งที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจและรวบรวมข้อมูล” นายเสริมศักดิ์ระบุ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมสถานการณ์อุทกภัยและฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลดปี 2567 โดยได้รับรายงานจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร สรุปสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 67 ถึงปัจจุบัน ว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 23 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยอีก 16 จังหวัด 64 อำเภอ

ด้านพืชผลมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้งข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล และไม้ยืนต้น รวม 758,376.80 ไร่ เกษตรกร 121,708 ราย

ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ  ทั้งบ่อปลา บ่อกุ้ง รวม 10,514.25 ไร่ กระชัง 80,806.50  ตารางเมตร เกษตรกร 13,107 ราย

ด้านปศุสัตว์ มีสัตว์ได้รับผลกระทบ ทั้งโค กระบือ  สุกร แพะ แกะ และสัตว์ปีก รวม 3,290,033 ตัว แปลงหญ้า 2,476.55 ไร่ เกษตรกร 54,026 ราย

รมว.เกษตรฯ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยบูรณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ เพื่อประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พร้อมเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

               นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของ GDP (สมมติฐานน้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน)

 “ในระยะสั้นหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการ การทำงานคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือน ก.ย.และ ต.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจน ก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก” นายสนั่นระบุ

 นายสนั่นกล่าวว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลง และเข้าสู่ภาวะปกติคือ การช่วยเหลือซ่อมแซมและฟื้นฟูให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่นประชาชนที่บ้านจมหายหรือเสียหายทั้งหลัง ควรได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ ส่วนของภาคธุรกิจก็ต้องเร่งสำรวจจัดลำดับความเสียหาย

ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปภ.ได้ประสานพื้นที่เสี่ยงรวม 44 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทันในช่วงวันที่ 3-9 ก.ย.นี้ เหตุเนื่องจากจะมีฝนตกเพิ่มและตกหนัก

วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน โดยวันนี้เวลา 04.00 น. พายุดีเปรสชัน ที่อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ยางิ (YAGI)” แล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือไปบริเวณหัวเกาะลูซอล

 “พายุดังกล่าวไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะช่วยดึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทยและทะเลจีนใต้ให้แรงขึ้น ทำให้ด้านรับมรสุมของบ้านเรามีฝนเพิ่มขึ้น และมีตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคตะวันออก ต้องติดตามและเฝ้าระวัง” รายงานกรมอุตุฯ ระบุ

ขณะที่ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ อนึ่ง พายุโซนร้อน “ยางิ” บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีนและเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567 จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล