“พิชัย” ฟุ้งจับเข่าคุย “เศรษฐพุฒิ” เข้าใจกันดี แลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ โยนโจทย์หินลดอัตราดอกเบี้ย จับมือช่วยแก้หนี้ครัวเรือน ปักธงอุ้มกลุ่มเปราะบาง 7-8 แสนบัญชี จ่อหารืออีกรอบถกกรอบเงินเฟ้อ ส่อหลุดเป้าแน่ “เผ่าภูมิ” ลุ้นเศรษฐกิจปีนี้โตทะลุ 2.7% ตีปี๊บแจกหมื่นช่วยดันจีดีพี แย้มปลายปีอัดมาตรการกระตุ้นซ้ำ
ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เวลา 14.20 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. โดยใช้เวลาในการพูดคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
ภายหลังการหารือ นายพิชัยเปิดเผยว่า การหารือเป็นไปด้วยดี คุยกันด้วยความเข้าใจ โดยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยุโรป รวมถึงมาตรการต่างๆ จากจีน ที่มองว่าตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังยังคงยืนยันในหลักการว่า การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งเข้าใจว่า กนง.จะมีการหยิบเอาผลกระทบในหลากหลายมิติมาพิจารณาว่า หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นผลดี โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กู้ใหม่ที่ยังมีความสามารถในการกู้ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการกู้ อาจจะไม่ได้กู้แล้ว แต่จะมีผลดีที่ตามมาคือทำให้บอนด์ยีลด์ลง แม้ว่าจะเป็นการลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม
“เรื่องดอกเบี้ย ผมคิดว่าถ้า กนง.ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ท่านจะต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่ลด แต่ถ้าลด ท่านก็จะต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องลด ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง คิดในมุมของเครื่องมือ แต่ส่วนตัวผมก็เชื่อว่า ธปท.น่าจะมีเครื่องมือหลายตัวมากกว่านั้น” นายพิชัยระบุ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าเงินที่มีผลต่อภาคการส่งออกนั้น จำเป็นจะต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าจะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงปริมาณ และโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะดีขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2567
“การแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินมันไม่ได้แก้กันตรงๆ ด้วยการแค่ประกาศว่าเราจะเข้ามาแก้ไข แต่ต้องมีมาตรการหลายอย่าง จะต้องมีและใช้เครื่องมือตัวไหน ผมคิดว่าเมื่อพิจารณาข้อจำกัดและข้อมูลต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็อยากจะให้ ธปท. ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลและรู้ว่าเครื่องมือมีอะไรบ้าง และจะหยิบเครื่องมือตัวไหนมาใช้ อยากให้ลองไปตัดสินใจดูว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด” รองนายกฯ และ รมว.การคลังกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า ในมิติที่คลังและ ธปท.เห็นตรงกันและเข้ากันใจดี พูดคุยกันรู้เรื่อง เพราะมองภาพเศรษฐกิจในด้านเดียวกัน คือมองว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า และปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องสภาพคล่อง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปล่อยสินเชื่อยังมีความกังวลและไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากกว่า โดยส่วนตัวมองว่าการทำให้ประชาชนที่มีโอกาสฟื้นและไปต่อได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความสำคัญมากกว่าเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะหากลดอัตราดอกเบี้ยไม่กี่ Basis Point ผลคงไม่เยอะ แต่สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยังมีโอกาสเดินไปได้ ยังมีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้ ส่วนนี้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินกับคลังที่จะเข้ามาดูแล หลักๆ คือจะไม่ลดหนี้ให้แบบไม่มีเหตุผล เพราะจะกลายเป็นปัญหา Moral Hazard ส่วนรายละเอียดจะต้องมีการหารือกันเพิ่มเติมอีก และอีกกลุ่มคือ กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนใหญ่มีมูลหนี้ไม่มาก แต่มีสถานะทั้งที่เป็นหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร และอื่นๆ มีจำนวนกว่า 7-8 แสนบัญชี ตรงนี้ต้องมาดูในรายละเอียด และต้องขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน คลัง และ ธปท. ที่จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่
“ถ้าผมเป็นคนแก้หนี้ที่มีไม่กี่เครื่องมือ หากไม่ลดหนี้ ก็ต้องหาวิธีที่ดีที่สุด ทำให้เป็นภาระลูกหนี้น้อยที่สุด นั่นคือการยืดเวลา ตรงนี้ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่ง และอีกเรื่องที่ต้องมาดูคือว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จริงๆ เรื่องนี้มีเครื่องมือใหญ่ๆ อยู่ 2-3 ตัว” นายพิชัยกล่าว
อย่างไรก็ดี การหารือยังไม่จบ โดยภายในเดือนนี้จะมีการนัดหารือกันอีกครั้งเพื่อพูดคุยในรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4/2567 อัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวที่ระดับ 1% และทั้งปีคาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางดำเนินการให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
วันเดียวกัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Fitch on Thailand 2024 ว่า ปีนี้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 2.7% จากการดำเนินมาตรการด้านการคลังและการเงินอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2/2568 และรัฐบาลได้เตรียมเครื่องมือทางการคลังและการเงินเข้ารักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2568 เพื่อผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยส่วนหนึ่งจะมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใส่เข้าไป อีกทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว มีอาวุธอยู่ในมือ โดยยืนยันว่าไม่ใช่รูปแบบโครงการคนละครึ่ง แต่จะเป็นรูปแบบของมาตรการด้านภาษีและการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ในปี 2568 รัฐบาลมองเห็นทิศทางที่ดีของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากที่รัฐบาลได้ทำไว้ในช่วงปีนี้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ไปค่อนข้างมาก เป็นโมเมนตัมที่ดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินราว 1.4 แสนล้านบาทลงไปสู่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย และจะต่อเนื่องยาวไปถึงไตรมาสแรกของปี 2568 และหลังจากนั้น รัฐบาลจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งมาตรการระยะยาวในการดึงดูดนักลงทุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การดูแลสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่