"นายกฯ อิ๊งค์" ย้ำแก้นิรโทษกรรมต้องคุยพรรคร่วม รบ. "ภูมิธรรม" อุบดินเนอร์พรรคร่วมฯ 21 ต.ค. ยังไม่มีประเด็นพิเศษ แสลงหูโดนซักถ้าแก้ รธน.ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ บอกขออย่า “ถ้า” มึน! ชงผลศึกษานิรโทษกรรมเข้าสภา 17 ต.ค. "เสี่ยอ้วน" แย้มเล็งถอนร่าง "ชูศักดิ์" เสียงแข็งควรนำเข้าพิจารณา เหตุเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว ยันรายงานผลศึกษาไม่แตะ 112 "พท." เสียงแตกมอง 3 แนวทาง "อนุทิน" เสียงแข็งร่าง กม.ต้องไร้ 112-ทุจริต "เท้ง" ลั่นสู้ต่อหากถูกปัดตก "ลุงป้อม" โผล่เซ็นชื่อสภาแต่ไม่เข้าประชุม
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า ทุกเรื่องต้องพูดคุยกัน
ถามว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปคุยกันในวงรับประทานอาหารร่วมกันกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 21 ต.ค.เลยหรือไม่ นายกฯ หันมาตอบว่า “ดีไหมคะ”
พอถามกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง นายกฯ กล่าวว่า “ไม่เข้าใจคำถามนักข่าว เอ๊ะ ใครนะ ใครฟ้องนะ” ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 17 ต.ค. น.ส.แพทองธารมีกำหนดการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคาย เพื่อติดตามผลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลายจังหวัดในภาคอีสานได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ นายกฯ จะติดตามการดำเนินนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการติดตามนโยบายในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย
นอกจากนี้ นายกฯ จะเป็นประธานในประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 ลานนาคาเบิกฟ้า 2 ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และร่วมในพิธีบวงสรวงบูชาพญาพิสัยสัตนาคราช และชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ณ พุทธอุทยานนานาชาติ (ปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์)
“ประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการท่องเที่ยวเมืองรอง ยกระดับก้าวสู่การเป็น Soft Power สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง” โฆษกรัฐบาลระบุ
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารวันที่ 21 ต.ค.ว่า เรายังไม่กำหนดประเด็นที่ชัดเจน เพราะเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร เวทีนี้จะมีโอกาสแลกเปลี่ยน มองปัญหาและบูรณาการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฯ ใครติดขัดเรื่องการทำงานอะไร ตรงนี้จะได้ทำความเข้าใจ เพื่อให้งานเป็นเอกภาพมากขึ้น
ถามว่า จะมีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คงเป็นประเด็นการเมืองทั่วไป เราจะคุยประเด็นการเมืองทุกเรื่อง ใครสนใจอะไรเป็นพิเศษจะหยิบขึ้นมา วันนี้มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น
ถามอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ เราพยายามทำให้ทัน แต่จะทันหรือไม่นั้นอยู่ที่การถกเถียง ความเห็นต่างหากไม่มากก็เดินได้เร็ว แต่ถ้าเห็นต่างกันมากก็ต้องใช้เวลา
พอซักว่า หากไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดถ้าเรายังไม่รู้ เวลา ยังเหลืออีกสองปีกว่าเกือบสามปี อย่าเพิ่งถ้า รอให้สถานการณ์มันเกิด มันมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง
ผลศึกษานิรโทษฯ ไม่แตะ 112
เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภา นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุย เข้าใจว่าเขาจะเลื่อน
อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการเสนอผลการศึกษาเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ต.ค.ว่า ทาง กมธ.ยังคงยืนยันว่าควรจะพิจารณาผลการศึกษาในวันที่ 17 ต.ค. เนื่องจากรายงานดังกล่าวมีการเลื่อนเสนอสภามาแล้ว 2 ครั้ง เกรงจะสร้างความสับสนว่าที่เลื่อนไปเป็นเพราะอะไร
นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราอยากชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจเหมือนกันกับผลการศึกษา แต่เท่าที่ฟังดูเหมือนกับมีความสับสนอยู่ว่าการพิจารณารายงานเป็นการพิจารณากฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่การพิจารณากฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการพิจารณารายงานการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายว่าควรมีแนวทางอย่างไรเท่านั้น
"ยืนยันว่าไม่ใช่ยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย และไม่ใช่ว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ควรนิรโทษกรรมมาตรานั้นมาตรานี้ แต่ผลของรายงานที่จะเสนอสภานั้น มีเพียงการรับทราบการศึกษาของ กมธ. ส่วนท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร จะยกร่างกฎหมายอย่างไร หรือจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบไหน เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจเสนอกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต่างๆ ยังมีอยู่เหมือนเดิม เช่น มาตรา 112 ยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้แตะต้อง จึงเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะพิจารณาต่อไป เพราะสภาเพียงแค่รับทราบ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาต่อไป” นายชูศักดิ์กล่าว
ซักว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคยังมีความกังวลเรื่องนี้อยู่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตนพยายามอธิบายแบบนี้ว่าไม่ใช่การพิจารณาร่างกฎหมาย แต่รายงานฉบับนี้มีการเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง จึงควรได้รับการพิจารณา ซึ่งที่ประชุมสภามีมติแค่รับทราบรายงานเท่านั้น
ย้ำว่า ได้มีการคุยในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ ว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาวันที่ 17 ต.ค.แน่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ได้คุยกับประธานวิปว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณา เพราะเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง และ กมธ.ก็เตรียมการแล้วว่าจะต้องมีการพิจารณา ส่วนจะพิจารณาได้หรือไม่ได้ จะทันหรือไม่ทันนั้น ก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากวันที่ 17 ต.ค.จะมีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาศึกษาปัญหาและการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันธุรกิจอันเข้าลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ด้วย
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค พท. กล่าวถึงการนำรายงานของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาที่สภาวันที่ 17 ต.ค.นี้ว่า ไม่แน่ใจว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะวันที่ 15 ต.ค. ในที่ประชุมพรรค นายชูศักดิ์ยังยืนยันจะเอาเข้า แต่ทั้งนี้ต้องคุยกับทางพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ขณะนี้วิปรัฐบาลกำลังคุยกันอยู่ เนื่องจากบางพรรคไม่เห็นด้วย
ถามว่า พรรค พท.มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายดนุพรกล่าวว่า วันนี้ สส.ในพรรคยังคงเสียงแตก ยังมองเป็น 3 แนวทาง คือ รวมมาตรา 112, ไม่รวมมาตรา 112 และรวมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือการมีคณะกรรมการขึ้นมา มีการยกโทษให้ แต่หากไปทำผิดซ้ำอีกเราจะยกโทษเก่ากลับมาทั้งหมด โดยจะรวมโทษทั้งต้นและดอก
'ป้อม' มาเซ็นชื่อแต่ไม่เข้าสภา
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรนำเข้าสู่การพิจารณาต่อที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ว่า เรื่องมาตรา 112 จะไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนของพรรคมาแต่ไหนแต่ไร ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ที่อาจจะมีความคิดที่ไม่ตรงกันแบบนั้น ก็สามารถคุยกันได้
"อะไรที่มันชัดเจนเราพร้อมที่จะพิจารณา แต่หากเข้ามาแล้วมีนิรโทษกรรมมาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย" นายอนุทินระบุ
ถามว่า ในส่วนของประเด็นการทุจริตจะต้องนำมากำหนดในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ประเด็นทุจริตไม่ต้องถามอยู่แล้ว ใครจะไปนิรโทษกรรม
เมื่อถามถึงกรณีนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.จังหวัดสุรินทร์ พรรค พท. ระบุเรื่องการทำประชามติจะให้หัวหน้าพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ช่วยคุยให้ โดยเปลี่ยนจากการทำประชามติ 2 ชั้นมาเป็นชั้นเดียว โดยได้พูดถึงพรรค ภท.ด้วย นายอนุทินกล่าวว่า ภท.เราได้ลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเชื่อว่าเรื่องประชามติเป็นเรื่องประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน เนื่องจากการมีดับเบิลล็อก จะมีความรอบคอบมากกว่า ซึ่งเราได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนไปแล้ว
"ผมไม่ได้ติดใจอะไร เป็นการแสดงความคิดเห็นของ สส.คนหนึ่ง และเราควรฟัง ส่วนความเห็นของเราบุคคลอื่นก็ต้องฟังด้วย เพราะเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และใช้เวทีของรัฐสภาเป็นตัวกำหนด" หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงความไม่ชัดเจนของการรายงานผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจเข้าวาระการพิจารณาของสภาไม่ทันในสมัยประชุมนี้ว่า ตัวรายงานได้ผ่านชั้น กมธ.มาแล้ว ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่ใน กมธ. เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมาคุยในส่วนเนื้อหาอีก
ส่วนเล่มรายงานเป็นเพียงผลการศึกษาที่ทำให้สังคมและสภาเห็นทางเลือกของทางออกความขัดแย้ง หรือการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองที่ผ่านมา ดังนั้นคิดว่าต้องรีบเร่งพิจารณาตัวร่างให้ผ่านสภาโดยเร็ว และคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอันใดที่สภาจะโหวตไม่รับ หรือไม่ผ่านหลักการของร่างรายงาน
"การตัดสินใจว่าร่างกฎหมายจะทำถึงขั้นไหน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะเสนอเข้าสู่สภา ฉะนั้นในชั้นของเล่มรายงาน ยํ้าว่ายังไม่เห็นเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่สภาจะไม่ผ่านเล่มรายงานดังกล่าว การที่จะโหวตควํ่ารายงานฉบับนี้ ผมคิดว่าอาจจะเป็นการกลัวบางอย่างมากเกินไป" นายณัฐพงษ์กล่าว
ถามว่า หากร่างรายงานถูกควํ่า พรรค ปชน.จะมีมาตรการอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคคงผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างที่เคยทำมา
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 07.40 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายังอาคารรัฐสภา พร้อมด้วยทีมอารักขาส่วนตัว โดยได้ขึ้นมาบริเวณชั้น 2 หน้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมาเซ็นชื่อและยืนยันตัวตน ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมในวันนี้ เวลา 09.00 น.จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้ขึ้นรถส่วนตัวออกจากอาคารรัฐสภาไปทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท. ออกมาเปิดเผยและตรวจสอบขาดการประชุมของ พล.อ.ประวิตร พบว่าตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66-19 ก.ย.67 ที่มีการประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง แต่ พล.อ.ประวิตรขาดประชุม 84 ครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฮึ่ม! โชว์ภาพแกนนำทุกวงการ เขย่าขวัญรัฐบาลเพื่อไทย นัดเยี่ยม ป.ป.ช.ถามปมป่วยทิพย์ชั้น 14
'จตุพร' เผย ฝ่ายปชช.แทบทุกวงการนัดหารือปัญหาชั้น 14 จ่อขยับไปเยี่ยม ปปช.ทวงถามทำหน้าที่ตรวจสอบป่วยทิพย์ จี้รัฐบาลเลิก MOU 44 หวั่นก่อปัญหาระหว่างประเทศ ย้ำต้องเจรจาเขตแดนก่อนหารือผลประโยชน์ เตือนสิ่งทีรัฐบาลทำไม่ต่างจากเรียกทหารออกมายึดอำนาจ
ฟังไม่ผิด หูไม่เพี้ยน คนไทยจะรวยแล้ว สุดยอดไอเดียนายกฯ กับอาชีพขุดดินขุดโคลนไปขาย
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมแชร์คลิปคำพูดของน.ส.แพทองธาร ตอนหนึ่งว่า นึกว่าฟังผิดหูเพี้ยน แต่ฟังซ้ำๆชัดเจนมากครับ คนไทยจะรวยยยยยแล้ว
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม