"มาริษ" แจงที่ประชุม สว. MOU 44 ยังไม่ทิ้งการตั้ง JTC เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น 28 ม.ค.นี้ ยันรัฐบาลจะไม่ทำอะไรโดยพลการ ย้ำทุกอย่างรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ สว.จี้ถามจะช่วย 4 ลูกเรือไทยได้เมื่อไหร่ ถูกขังในเมียนมานาน 59 วันแล้ว ขณะที่ “บิ๊กเกรียง” ออกโรงพร้อมช่วยประสานให้ "พปชร." ซัด รบ.ยังไม่พิสูจน์ถูกจับในพื้นที่ทับซ้อน หรืออาณาเขตของประเทศใด
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มกราคม ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือของนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถามเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี
นายมาริษชี้แจงว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา และยังไม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือ JTC ของไทยชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการเจรจากับกัมพูชา โดยระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกลไกดังกล่าว รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้อภิปรายไปประมวล รวบรวมประกอบการกำหนดท่าทีของไทยในการเจรจา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน
“ในเรื่องนี้รัฐบาลจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและที่มีอยู่เพื่อใช้ในการเจรจาได้ ส่วนกรอบการเจรจาที่มีอยู่บนพื้นฐานของ MOU 44 ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลทุกยุคที่มีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเครื่องมือในการเจรจาที่เหมาะสมและสมดุล ในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้ครบถ้วนในมิติความมั่นคง ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ” นายมาริษกล่าว
รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลจะยึดหลักปฏิบัติมี 3 ข้อ คือ 1.ประชาชนต้องยอมรับได้ 2.รัฐสภาต้องสามารถให้ความเห็นชอบ และ 3.เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ยืนยันรัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดโดยที่รัฐสภาไม่เห็นชอบ และจะเจรจาบนพื้นฐานตามที่ได้แจ้งไว้ ส่วน MOU 44 นั้นเป็นเพียงกลไกที่กำหนดกรอบการเจรจาระหว่างประเทศระหว่างไทยและกัมพูชา ไม่ใช่การยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชาแต่อย่างใด และไม่ส่งผลต่ออธิปไตยของประเทศไทยเหนือเกาะกูด เนื่องจากไทยมีอำนาจในอธิปไตยเหนือเกาะกูดโดยสมบูรณ์ และไทยได้ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเสมอมา ส่วนสาระสำคัญของ MOU 44 กำหนดให้การเจรจาแบ่งเขตและพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันโดยแบ่งแยกไม่ได้ หลักการเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน รัฐบาลจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการให้มีผลผูกพัน
“รัฐบาลจะไม่ทำโดยพลการ ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐสภาแห่งนี้จะต้องให้ความเห็นชอบ ระหว่างนี้รัฐบาลจะจัดเวทีเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเสวนาครั้งต่อไปจะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภาในวันที่ 28 ม.ค.นี้" นายมาริษกล่าว
จากนั้นได้มีการพิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือ ของนายธนกร ถาวรชินโชติ สว. ที่ถามเรื่องการช่วยเหลือลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกจับและคุมขังอยู่ที่ประเทศเมียนมา โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ ซึ่งได้ชี้แจงว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เรือประมงไทยถูกยิง และมีลูกเรือถูกทางการเมียนมาจับตัวไป กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังหน่วยงานทุกระดับของเมียนมาเพื่อแก้ปัญหา และตนได้โทรศัพท์ประสานไปยังรองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศเมียนมาให้ช่วยเหลือ แต่ยอมรับว่าขั้นตอนของเมียนมานั้นแตกต่างจากไทย ทั้งนี้รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศของเมียนมาให้คำยืนยันว่า ได้พยายามเต็มที่ให้มีการปล่อยตัวลูกเรือไทยทั้ง 4 คน และพยายามแก้ไขปัญหาที่จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ซึ่งทางเมียนมาขอบคุณที่ฝ่ายไทยพยายามลดความร้อนแรงในสาธารณะ
"สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ สั่งการให้แก้ใน 2 ระดับ คือการดูแลลูกเรือประมงและผลักดันให้ปล่อยตัว โดยขณะนี้คณะกรรมการชายแดนร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาหารือกัน ซึ่งมีบทบาทลดความรุนแรงของความไม่เข้าใจให้อยู่ในความร่วมมือของกรรมการในพื้นที่ร่วมกัน" นายมาริษกล่าว
ทั้งนี้ นายธนกรถามต่อว่า ขอคำยืนยันจากรัฐบาลไทยว่าลูกเรือประมงทั้ง 4 คนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร เพราะที่รัฐบาลชี้แจงว่าได้เข้าไปเยี่ยมและดูแลนั้น ตนทราบจากเจ้าของเรือที่ถูกจับว่าไปเยี่ยมแค่ 1 ครั้ง ประมาณ 2-3 นาที และอนุญาตให้เข้าเยี่ยมแค่คนเดียว ส่วนลูกของลูกเรือที่ถูกจับได้โทรศัพท์คุย 2 นาทีแบบรีบๆ ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น 59 วันได้ข่าวแค่นั้น เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างยาก แต่หากยากแล้วทำได้ก็จะน่าภูมิใจ
ด้านนายมาริษชี้แจงว่า กรรมการพื้นที่ทำอย่างเต็มที่และจะรับสิ่งที่ สว.ท้วงติงไว้ ขอบคุณที่เข้าใจ เพราะเมียนมาไม่เหมือนประเทศไทย การขอเข้าพบต้องใช้เวลา ยืนยันไม่ได้ทอดทิ้ง พยายามเข้าเยี่ยม โดยทำเรื่อง 3 ครั้ง และจะทำต่อไป เราไม่ได้ปล่อยละเลย สถานทูตและพื้นที่ได้ผลักดัน 2 เรื่องคือ การปล่อยตัวและการดูแลลูกเรือที่ถูกจับกุมในเมียนมา
ขณะที่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวขึ้นว่า ตนในฐานะเคยเป็นกรรมการชายแดนท้องถิ่น หากญาติมีความต้องการอย่างไร ตนสามารถประสานให้อีกทางหนึ่งได้
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และคณะทำงานนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นประธานว่า วันนี้วันเกิดพรรคเพื่อไทย และเป็นวันครบรอบ 58 วันที่ 4 ลูกเรือไทยถูกเมียนมาจับตัว ซึ่งทางการไทยยังไม่สามารถนำตัวลูกเรือกลับคืนสู่ครอบครัวได้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกว่าใช้เวลาไม่นาน ก่อนปีใหม่จะกลับสู่ประเทศไทย
"จนวันนี้ครบรอบ 58 วัน ลูกเรือทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของเมียนมา รัฐบาลไม่สามารถนำตัวกลับประเทศได้ และยังไม่รวมถึงการพิสูจน์ทราบว่าบริเวณที่ถูกจับอยู่ในอาณาเขตของไทยหรือพื้นที่ทับซ้อน หรืออาณาเขตของประเทศใด จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่ออาณาเขตทางทะเล" พล.ต.ท.ปิยะกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือก‘ณรงค์-อภิชาติ’นั่งกต.คนนอก
ผู้พิพากษาทั่วประเทศเทคะเเนนเลือก “อ.ณรงค์-หมออภิชาติ” นั่ง ก.ต.คนนอก คุ้มครองอิสระการทำหน้าที่ตุลาการ “สมชาย เล่งหลัก” ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาเก้าอี้ สว. ปมถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี
โจรใต้จ้องบึ้ม สั่งทุกโรงพัก เข้มถึง27มี.ค.
หน่วยมั่นคงชายแดนใต้สั่งทุก สภ.เฝ้าระวังขั้นสูงสุด ตั้งแต่คืน 25-27 มี.ค.
ฝ่ายแค้นจืดหยันเหยาะน้ำปลา
"อิ๊งค์" ยันแจงซักฟอกตรงประเด็น บอกพูดยาวไม่เป็น ชี้พรรครัฐบาลเข้มแข็ง
รัฐบาลปึ้กพ่วงงูเห่า โหวต‘อิ๊งค์’ท่วมท้น/ปิดฉากซักฟอกถลก2พ่อลูกดีลปีศาจ
ดีลแลกประเทศวันสุดท้ายร้อนฉ่า! รังสิมนต์สับ 2 ไอ้โม่งทำให้เกิดดีลปีศาจชั้น 14 ร
ลดเบนซิน-ดีเซล1บาท/ลิตร
"กบน." ใจป้ำปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซล 1 บาท/ลิตร เป็นของขวัญให้ประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์
ชาวนาบุกสภาจี้รัฐบาล ประกันราคา1.1หมื่น/ตัน
ม็อบชาวนาบุกรัฐสภา ปักหลักค้างแรมร่วมฟังศึกซักฟอก เรียกร้องนายกฯ