“อนุทิน” สับสวิตช์ตัดไฟ 5 จุดชายแดนไทย-เมียนมา 20 เมกะวัตต์ สกัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามคำสั่ง สมช. กระทบความมั่นคง ยันไม่หวั่นโดนฟ้อง เหตุเข้าเงื่อนไขผิดสัญญาทำไทยเดือดร้อน รับเสียรายได้ 600 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ถึง 1% ถือว่าคุ้ม "พีระพันธุ์" รับลูกคุมเข้มส่งน้ำมันชายแดน "สมช." แจง กมธ.การปกครองสภาฯ เตรียมดาบสองคุมเข้มส่งปัจจัย-ข้ามแดนพื้นที่สีเทา “ผบ.ตร.” สั่งสอบ “ผู้การ ต.” เอี่ยวกาสิโนเมียวดี ประสานขอข้อมูล "รังสิมันต์" เพิ่ม
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง วันที่ 5 ก.พ. เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมตัวขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง เพื่อเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ และการเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน ระหวางวันที่ 5-8 ก.พ.68 โดยทันทีที่ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการตัดไฟ 5 จุด น.ส.แพทองธารได้หันไปถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ซึ่งร่วมคณะไปด้วยว่า กรณีการตัดไฟเป็นอย่างไร เห็นไปกดปุ่มเรียบร้อยดีใช่หรือไม่ ซึ่งนายอนุทินตอบว่า “เรียบร้อยดี”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เวลา 09.00 น. นายอนุทินเดินทางมาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ เพื่อกดปุ่มตัดไฟฟ้า 5 จุด ที่พบข้อมูลว่ามีการนำไฟฟ้าไปใช้ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งนายอนุทินได้กดสวิตช์ปิดกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองเป็นจุดสุดท้ายในเวลา 09.34 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดไฟทั้ง 5 จุด เป็นระบบสั่งการอัตโนมัติควบคุมระยะไกล ซึ่งทันทีที่กดปิดระบบ แผงวงจรที่แสดงบนหน้าจอปุ่มจ่ายไฟจากสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และจำนวนวัตต์ที่จ่ายไฟจะเปลี่ยนเป็น 0 แอมป์ทันที โดยทยอยตัดทีละจุด เริ่มที่จุดแรกเวลา 09.00 น. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เริ่มตัดไฟ เริ่มจากจุด 1 จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์-เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2-เมืองเมียวดี และในจุดที่ 5 จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-เมืองเมียวดี รวมการตัดกระแสไฟฟ้าทั้ง 5 จุด 20 เมกะวัตต์
นายอนุทินกล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปยังประเทศรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 5 จุด ตามมติของที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ลงนามและมีหนังสือสั่งการมายัง กฟภ. ให้ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้า ตามกำหนดเวลา 09.00 น. ซึ่งเราเป็นผู้ปฏิบัติ เมื่อมีข้อสั่งการที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
"ก่อนหน้านี้มีกันตั้งคำถามทำไมกระทรวงมหาดไทยไม่ตัดกระแสไฟฟ้า ต้องบอกว่ามันอยู่นอกเหนืออำนาจ แต่เมื่อ สมช.มีการประชุม และมีมติออกหนังสือคำสั่งออกมา เราก็ดำเนินการทันที ตามที่ผมและปลัดกระทรวงมหาดไทยเคยบอกไว้ว่าบทบาทหน้าที่ของเราเป็นอย่างไร เท่ากับว่าตอนนี้กระแสไฟฟ้าที่ถูกส่งจากไทยไปประเทศเมียนมาได้ถูกยุติลงแล้ว" นายอนุทินกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า การอนุญาตให้ขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นการจะตัดกระแสไฟฟ้า ก็ควรรายงานไปยัง ครม. แม้ว่าเรื่องนี้จะดำเนินการไปแล้วตามมติ สมช. ก็ยังต้องเสนอแจ้งให้นายกฯ ให้รับทราบ ส่วนจะเสนอเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯ เพราะเรื่องนี้ยังมีมติที่ต่อเนื่องเพิ่มอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือให้กระทรวงมหาดไทยและการไฟฟ้าฯ ศึกษามติ ครม. ที่อนุญาตให้ขายไฟฟ้าเพื่อทบทวนและปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ ซึ่งในอดีตยังไม่มี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอให้ ครม.พิจารณา
หนูลั่นตัดไฟเสียรายได้ไม่ถึง 1%
ถามว่า หากทางการเมียนมาติดต่อประสานขอซื้อไฟฟ้าใหม่ จะดำเนินการอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ วันนี้รัฐบาลสั่งให้หยุดเพราะเมียนมานำกระแสไฟฟ้าไปใช้ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อไทยด้วย เขาจึงต้องไปแก้ไขและต้องมีการเจรจาใหม่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าจะเป็นผู้ไปประสานกับรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดกระแสไฟฟ้า
"การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามสัญญาข้อที่ 14 ที่กำหนดว่า หากจ่ายไฟฟ้าไปแล้วเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงของชาติไทย สามารถงดจ่ายไฟได้" รองนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เกรงจะถูกคู่สัญญาฟ้องหรือไม่ นายอนุทินยืนยันว่า การไฟฟ้าฯ ทำตามสัญญา เมื่อพบว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางด้านพลังงานและความมั่นคงของชาติ ก็สามารถหยุดการจ่ายไฟได้ตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งการตัดไฟฟ้าในครั้งนี้ตัดไฟฟ้าไปทั้งหมด 20 เมกะวัตต์ เสียรายได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้การขายไฟทั้งหมดรวม 600,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนนี้จึงไม่ถึง 1% แต่แค่นี้ถือว่าคุ้ม เพราะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และเราไม่ได้ล่าช้า
ซักว่าการขายไฟฟ้าให้กับประเทศกัมพูชา จะใช้ลักษณะเดียวกันหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า จะใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นเมื่อไหร่ให้ถาม สมช.
เมื่อถามว่า การตัดกระแสไฟฟ้าจะช่วยสกัดกั้นการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้มากน้อยแค่ไหน นายอนุทินปฏิเสธการตอบคำถามโดยบอกว่า เป็นการทำตามคำสั่ง ซึ่งทราบว่าทางเมียนมารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวที่จีนไปตั้งบริษัท ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องไปดูแลจัดการกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเราที่จะมากล่าวหาได้ว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก่อให้เกิดสิ่งผิดกฎหมาย
นายอนุทินยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องความมั่นคงและการรับข้อสั่งการจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย ไม่ใช่การเมืองหรือประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยืนยันเรื่องนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เป็นประเด็น ซึ่งตนบอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีข้อสั่งการที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฟภ.จะดำเนินการทันที
ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณี สมช.มีมติให้ตัดไฟฟ้า น้ำมัน และสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบริเวณ 5 จุดชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า ขณะนี้มติดังกล่าวมาถึงปลัดกระทรวงพลังงานเรียบร้อยแล้ว และกำลังทำเรื่องรายงานมายังตน ซึ่งกระทรวงพลังงานก็พร้อมจะดำเนินการตามมติ สมช.
"จากการติดตามสถานการณ์ พบว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เราได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นระยะ พบว่ายังไม่มีบริษัทน้ำมันจากฝั่งไทยส่งน้ำมันไปยังชายแดนไทย-เมียนมาทั้ง 5 จุดเลย เนื่องจากเป็นนโยบายของผมว่าถ้าใช้งานในประเทศยังไม่เพียงพอไม่ให้ส่งออก" นายพีระพันธุ์กล่าว
มีรายงานว่า ในวันที่ 6 ก.พ. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีกำหนดการเดินทางไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อประชุมติดตามและกำชับการปฏิบัติงาน การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดน และการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดตาก
นอกจากนี้ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่แนวชายแดนดูปัญหาการลักลอบค้ายา และตรวจจุดพื้นที่ที่มีการตัดกระแสไฟฟ้าตามมติที่ สมช. ในอำเภอแม่สอด จำนวน 4 จุด คือ จุดที่ 1 บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง อำเภอแม่สอด, จุดที่ 2 บ้านห้วยม่วง, จุดที่ 3 สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และจุดที่ 4 บ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด
ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน วาระพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าข้ามพรมแดนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ กฟภ. เข้าชี้แจง
ตัวแทน สมช.ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ระยะถัดไปไม่ใช่แค่เมียนมา แต่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอื่นอีกที่มีปัญหา ทาง สมช.ก็จะเร่งประมวลปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายไฟฟ้า หรือปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งน่าจะเชื่อว่าถูกนำไปใช้โดยอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ ต้องมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงผลกระทบทุกมิติ ซึ่งมาตรการนี้อาจจะรวมถึงการทบทวนกฎหมายและทบทวนมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความสอดคล้องกัน
จ่อเข้มงวดข้ามชายแดนเทา
นายกรวีร์ถามว่า ในที่ประชุม สมช.ได้พูดคุยกันหรือไม่ว่าในอนาคตจะทำอย่างไร เมื่อเรามีความกังวลและทราบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ เราจะเร่งรัดกระบวนการตรงนี้ให้มีความรวดเร็วและกระชับขึ้นได้อย่างไรบ้าง ในพื้นที่ที่ตัดน้ำตัดไฟจะแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติได้หมดเลยหรือไม่ หรือแค่ชั่วคราว นอกจากนี้ ผลกระทบที่ตามมาหลังจากที่ตัดไฟแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว แต่ยังมีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชาวบ้านที่ใช้ไฟที่กระทบอีกด้วย ทาง สมช.ประเมินเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง
ตัวแทน สมช.ชี้แจงว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบ ซึ่งมาตรการเฉพาะหน้า เราได้แจ้งให้ประชาชนผู้สุจริตที่ใช้ไฟฟ้าร่วมด้วยให้มีการเตรียมความพร้อม แต่เราขออาศัยรัฐบาลเมียนมาให้ติดต่อและดูแลเรื่องนี้ ซึ่งมาตรการที่ตัดไฟเป็นขั้นแรก นอกจากมาตรการตัดไฟ เชื้อเพลิง สัญญาโทรคมนาคม เรายังได้ให้แนวทางในเรื่องของการเพิ่มความเข้มงวดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งปัจจัยหรือการข้ามไปข้ามมาที่เป็นเรื่องเทาๆ ของท่าข้ามก็จะเข้มงวดมากขึ้น
นายกรวีร์ถามว่า ผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน ชุมชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย กระทรวงการต่างประเทศมองอย่างไร และมีข้อมูลสนับสนุนการทำงานของ สมช.ฝ่ายปกครองมีเพิ่มเติมหรือไม่
ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งไปที่รัฐบาลเมียนมาที่สถานทูตเมียนมาเกี่ยวกับมติเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเตรียมตัวล่วงหน้า รวมทั้งดูว่ารัฐบาลเมียนมามีท่าทีกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลเมียนมาก็พร้อมให้ความร่วมมือ และอยากให้ประเทศไทยยกระดับเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
ส่วนตัวแทน กฟภ.ชี้แจงว่า เราเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเราก็ดำเนินการการขายไฟฟ้าภายใต้มติ ครม.ปี 2539 โดยมีรูปแบบการดำเนินการเป็นแบบรัฐต่อรัฐ หรือผู้ที่ได้รับสัมปทานจากประเทศนั้นๆ ส่วนที่เมียนมาเดิมเรามีการขายไฟให้ทั้งหมด 8 จุด งดจ่ายไฟไปแล้ว 3 จุด โดยมี 2 จุดที่ อ.แม่สอด หมดสัมปทาน ทางรัฐบาลเมียนมาได้แจ้งเรื่องมา เราก็ดำเนินการตามที่หน่วยงานรัฐได้แจ้งเข้ามา ส่วนอีก 1 จุดคือที่ จ.เชียงราย มีการค้างจ่ายค่าไฟฟ้า
"คำถามว่าทำไม กฟภ.ไม่ดำเนินการในกรอบของการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้า ในข้อ 14 ที่เป็นประเด็นกระทบความมั่นคง เราต้องการให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องความมั่นคงสั่งการมายัง กฟภ.ให้ตัดไฟได้" ตัวแทน กฟภ.กล่าว
นายกรวีร์ถามว่า จุดอื่นๆ ที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจาก 5 จุดที่ถูกตัดไปแล้ว กฟภ.ได้มีการประเมินว่ามีจุดอื่นอีกหรือไม่ หรือหากได้รับแจ้งจะตัดไฟ รวมถึงได้มีการประเมินว่าจะมีการฟ้องร้องในอนาคตหรือไม่ ทาง กฟภ.ชี้แจงว่า นอกจากเมียนมายังมีประเทศลาวและกัมพูชาที่เราขายไฟให้ ซึ่งเราได้สอบถามไปว่ากระทบความมั่นคงของประเทศหรือไม่ หากได้รับแจ้งมาก็จะดำเนินการเหมือนประเทศเมียนมา อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าจะเจอคู่สัญญาฟ้องร้องในแง่ธุรกิจ เพราะเวลาที่เราแจ้งไปยังประเทศเมียนมามีน้อยเกินไป ถือเป็นสิทธิ์ของคู่สัญญา แต่ทาง กฟภ.เชื่อว่าจะนำสัญญานั้นมาชี้แจงได้
นอกจากนี้ กมธ.ยังสอบถามถึงอัตราการขายไฟไปยังประเทศกัมพูชาและลาว รวมถึงเมื่อตัดไฟไปแล้ว ขณะนี้เหลืออีกกี่จุด ตัวแทน กฟภ.ชี้แจงว่า เราตัดไปแล้ว 5 จุด เหลือ 12 จุด คือประเทศกัมพูชา 8 จุด ประเทศลาว 4 จุด แต่ต้องยอมรับว่าลาวแทบไม่ได้ใช้ เขาใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น มีเพียงประเทศกัมพูชาที่ใช้ ส่วนเรื่องราคานั้น คิดเป็นอัตราเดียวกับอัตราผู้ใช้ไฟในประเทศไทย แต่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม มีแต่ค่าชดเชยแทน ดำเนินการขายไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมนิติเศรษฐกิจชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก
นายกรวีร์แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ทาง กมธ.ได้เน้นย้ำว่าหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอื่นอีก แล้วมีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่ากระทบกับความมั่นคง ก็ขอให้ สมช.เร่งดำเนินการเหมือนกรณีประเทศเมียนมา ซึ่ง กฟภ.ก็ยืนยันว่าหากมีคำสั่งของฝ่ายความมั่นคงมา กฟภ.ก็พร้อมที่จะตัดไฟทันที
วันเดียวกัน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงสถานการณ์แนวชายแดนหลังมีการตัดไฟว่า ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับการลักลอบส่งน้ำมัน นำพาชาวต่างชาติข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ตำรวจทำเต็มที่ หากพบว่ามีใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อ งก็จะต้องถูกดำเนินการทางปกครอง
ถามถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ออกมาระบุมีตำรวจไทย ยศ พล.ต.ต. หรือผู้การ ต. เป็นเจ้าของกาสิโนฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐกล่าวว่า สั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติตรวจสอบแล้ว
"ยืนยันว่าเรารับฟังทุกความเห็น หากพบว่าเป็นความจริง เบื้องต้นผมจะดำเนินการทางปกครองก่อน หลังจากนั้นจะมีความผิดอาญาหรือวินัยก็เป็นเรื่องของพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยหลังจากนี้จะให้ทางจเรตำรวจประสานขอข้อมูลกับนายรังสิมันต์ต่อไป" ผบ.ตร.ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่งกลับ“อุยกูร์”เกมเสี่ยงหวังผลสูง คว้ากระแสลมเปลี่ยนทิศ
เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลพยายามอธิบายเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับคืนให้ทางการจีน คือ “แรงบีบจากจีน”
ทลายบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าใหญ่สุดปท. มูลค่า130ล้าน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ทลายโกดังบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ส่งขาย 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ยึดของกลาง 2.6 แสนชิ้น
นายกฯปัด‘พ่อ’ครอบงำ คลังสนองไอเดียซื้อหนี้
"อิ๊งค์" รีบแก้เกี้ยว "พ่อ" หวังดีกับประเทศผุดไอเดียซื้อหนี้ประชาชน ปัดครอบงำ
จีนประณามUSข่มเหงไทย โชว์อุยกูร์อยู่บ้านดีกว่าคุก
"จีน" ออกโรงประณาม "สหรัฐ" ข่มเหงรังแกไทย ทำตัวสองมาตรฐาน
ห้ามป่วย-ตายช่วยอิ๊งค์
"นายกฯ อิ๊งค์" รับตื่นเต้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก 24-26 มี.ค.
น้ำเงินคว่ำกระดาน! ถล่ม112‘สิริพรรณ’ไม่เห็นชอบ‘ชาตรี’หึ่งเปิดทางสายมท.
สภาน้ำเงินคว่ำกระดานเลือกตุลาการศาล รธน.ร่วงทั้งคู่! โหวตไม่เห็นชอบ “สิริพรรณ” 136 เสียงต่อ 43 เสียง