
จุฬาฯ เปิดเวทีถก “พิรงรองเอฟเฟกต์” จวกยับกฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์ ไร้อำนาจคุม OTT ทีวีดิจิทัลทรุดหนัก อุตสาหกรรมสื่อส่อเค้าร่อแร่ อาจารย์นิติฯ ชี้คดีนี้อาจส่งผลไกล ต่อไป จนท.รัฐอาจลังเลใช้อำนาจ กลัวเสี่ยงถูกฟ้องร้อง
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ อ่านแถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์ ระบุว่า ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช.เกิดขึ้นได้ ซึ่งผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้น อาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อและผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช.ในอนาคต อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคม โดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นคดีที่ผิดปกติจากแนวทางปกติที่ควรเป็นเรื่องของศาลปกครอง แต่ยังเปิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับกลไกทางกฎหมายและการใช้อำนาจรัฐโดยปกติ ข้อสังเกตสำคัญคือ คดีนี้ฟ้องร้องตัว กสทช. ในขณะที่ผู้มีอำนาจเซ็นจดหมายหรือเป็นผู้สั่งการจริงๆ กลับไม่มีความชัดเจนว่าควรเป็นผู้รับผิดหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้เกิดความแปลกประหลาดในทางกฎหมาย เพราะตามหลักความรับผิดทางอาญา ผู้ที่ออกคำสั่งและลงนามในเอกสารทางราชการควรเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง แต่คดีนี้กลับมุ่งเป้าไปที่องค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดข้อกังขาว่า อาจเป็นแนวทางใหม่ในการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ ผลกระทบของคดีนี้อาจส่งผลไกลกว่า กสทช. เพราะในอนาคตเจ้าหน้าที่รัฐอาจลังเลที่จะดำเนินงานด้านกำกับดูแลที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หากความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องมีมากขึ้น เช่น หน่วยงานที่ควบคุมมลพิษอาจหลีกเลี่ยงการเอาผิดโรงงานที่ปล่อยสารพิษ หรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสื่ออาจไม่กล้าออกมาตรการควบคุมโฆษณาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ บริบท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ตีความตัวบทตามอักษรเพียงอย่างเดียว หากยึดติดเพียงตัวหนังสือโดยไม่คำนึงถึงสาระสำคัญ อาจทำให้ความยุติธรรมหล่นหายไป หลายกรณีที่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ไม่ได้มีเป้าหมายแค่แพ้หรือชนะ แต่ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่แฝงอยู่ เช่น การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือผลกระทบทางสังคม นักกฎหมายต้องระวังอย่าให้ตัวเองเป็นเพียงกลไกในการดำเนินคดีที่เบี่ยงเบนจากเส้นทางของความยุติธรรม
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมในเชิงสิทธิและความเป็นส่วนตัว แต่ยังเปิดโปงปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม กสทช. และอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมไทย คำพิพากษาที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักนิติธรรมและมาตรฐานความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทย นักกฎหมายหลายฝ่ายมองว่า คดีนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงเชิงโครงสร้าง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงการปล่อยให้เป็นกระแสชั่วคราวแล้วจางหายไป
“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ บทบาทของ กสทช. ที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและสื่อ การที่สังคมตื่นตัวกับบทบาทขององค์กรนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะ กสทช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานเรื่องธรรมาภิบาลและการดำเนินงานที่ไม่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล กรณีนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาต้องตรวจสอบและปรับปรุงบทบาทขององค์กรกำกับดูแลนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน อนาคตของอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมไทยก็กำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ ธุรกิจโทรทัศน์แบบดั้งเดิมกำลังถูกแทนที่ด้วยแพลตฟอร์ม OTT และ Streaming Online แต่ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่โครงสร้างโทรคมนาคมของประเทศต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อยุค 5G, 6G และ AI ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล หากยังปล่อยให้เกิดความล่าช้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ประเทศไทยอาจเสียโอกาสครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้”
นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจ OTT หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิง เช่น YouTube, Netflix และ Prime Video กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ กฎหมายไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจและการควบคุมเนื้อหาภายในประเทศ OTT แตกต่างจาก IPTV ซึ่งเป็นบริการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีกฎหมายรองรับ แต่ OTT นั้นพัฒนามาไกลเกินกว่าที่กฎหมายเดิมจะควบคุมได้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้ศึกษาแนวทางการกำกับดูแล OTT และจัดทำร่างข้อกำหนดขึ้นเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2566 แต่จนถึงปัจจุบัน ร่างดังกล่าวยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ทำให้ OTT สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่มีข้อบังคับใดๆ และปัญหาสำคัญคือ OTT ไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานรัฐไม่มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในเรื่องของเนื้อหาและโฆษณา แตกต่างจากประเทศอื่น เช่นอังกฤษและออสเตรเลีย ที่มีกลไกปรับดูแลตามบริบททางวัฒนธรรมของประเทศตนเอง การปล่อยให้ OTT เติบโตแบบไร้การกำกับดูแลนี้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างหนัก
“หนึ่งในผลกระทบสำคัญคือ ทีวีดิจิทัลที่กำลังรอการต่อสัญญาในปี 2572 ซึ่งต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการประมูลใหม่ในปี 2570 โดยเจ้าของช่องโทรทัศน์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีแนวทางดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร เนื่องจาก OTT ดึงเม็ดเงินโฆษณาออกจากโทรทัศน์แบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง ค่าโฆษณาบน OTT มีราคาถูกกว่า ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันไปลงโฆษณากับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ผลที่ตามมาคือรายได้ของทีวีดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน และหากไม่มีมาตรการรองรับ อุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมของไทยอาจถึงจุดล่มสลาย กสทช.จะเริ่มกำกับดูแล OTT กี่โมง และแนวทางที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะหากยังคงปล่อยให้ธุรกิจ OTT เติบโตโดยไม่มีมาตรการควบคุม ขณะที่ทีวีดิจิทัลยังติดอยู่กับกรอบกฎหมายเดิม ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนไทยอาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์” นายระวีกล่าว
ขณะเดียวกัน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนสนับสนุนการทำหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เช่นเดียวกับสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) ที่ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนบทบาทหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สังเวยพระราม2อีก5ศพ
ประมาทซ้ำซาก สะพานกำลังก่อสร้างถนนพระราม 2 ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 27 ราย อัปยศ! "สุริยะ" อ้างมาตรการสมุดพกผู้รับเหมาจะออกมาเดือนเมษา.
อเมริการะงับวีซ่า กาหัวเจ้าหน้าที่ไทยส่งอุยกูร์กลับจีนพัวพันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์!
อเมริกายุคทรัมป์เป็นห่วงชาวมุสลิม รัฐมนตรีต่างประเทศแถลง ระงับวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันชาวอุยกูร์กลับจีน
‘วันนอร์’ ชี้ช่อง ใช้ ‘สทร.’ แทน
"วันนอร์" ลั่น! แก้ญัตติซักฟอกกับการอภิปรายในสภาเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าพาดพิง "ทักษิณ" ก็ต้องสั่งหยุด แนะใช้ สทร.แทนก็ได้ เพราะไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคล "หัวหน้าเท้ง"
ใต้เดือดต่อเนื่อง ระเบิด ‘ปัตตานี’ บาดเจ็บระนาว
โจรใต้วางระเบิดต่อเนื่อง บึ้มสนั่นใจกลางเมืองปัตตานี เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินเจ็บ 8 นาย ชาวบ้านถูกลูกหลงอีก 1 คน คาดเป็นกลุ่มเดิม
อย่าทำตัวน่ารำคาญ ‘ทักษิณ’อัดศึกอภิปราย! ไล่ปชน.คุยผู้ก่อตั้งพรรค
"ผู้นำฝ่ายค้านฯ" ยันซักฟอก 30 ชม.เหมาะสม น้อยกว่านี้เนื้อหาอาจตกหล่น บอก "นายกฯ อิ๊งค์" ก็อยากตอบ ขอฝั่งรัฐบาลอย่ากั๊กเวลา อุบตัดชื่อ "ทักษิณ" จากญัตติอภิปรายแล้วใช้คำอะไรแทน อ้างเก็บเป็นไพ่ใบสุดท้ายต่อรองเวลาอภิปราย
สั่งรัฐบาลเรียกทูตอียูแจงปมอุยกูร์
“ทวี” เชื่อ กต.มีแผนรับมือหลังอียูประณามไทยปมส่งกลับอุยกูร์ “ปชน.” ได้ทีขย่ม รีบบอกให้รัฐบาลขยับเรื่องมาตรา 112 “นันทนา” จี้อธิบายต่อสังคมโลกให้ดี