นายกฯ ตัวจริงประกาศอีก 2 วันได้ชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เคาะสเปกต้องมีความสัมพันธ์-ความรู้ที่ดี “พิชัย” ยันแจกเงินเฟส 3 ตามไทม์ไลน์เป็นเงินดิจิทัลแน่ “เผ่าภูมิ” โอ่ผลงานเฟส 1 ตรงเป้า โพลเผยแจกเงินหมื่นรอบ 2 ส่งผล 44% หันเชียร์รัฐบาล
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2568 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดค้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ายังไม่เห็นเนื้อหาที่ชัดเจน แต่รู้สึกว่าจะมีการตำหนิผู้นำ เท่าที่ได้สอบถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ อีก 2 วันก็คงจะลงตัว
เมื่อถามว่า เป็นไปตามที่เป็นข่าวหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า เรื่องการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติก็เป็นกลไกที่จะต้องให้แบงก์ชาติและรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเสนอ และให้คณะกรรมการสรรหาไปเลือก
เมื่อถามว่า คุณสมบัติของประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร นายทักษิณกล่าวว่า การเป็นประธานต้องมีความสัมพันธ์และมีความรู้ ซึ่งยังไม่ทราบเหมือนกันว่าทาง รมว.การคลังจะเสนอใคร
“วันนี้พูดตรงๆ ผู้คนที่จะมาทำงานให้กับประเทศโดยส่วนรวมหายาก เพราะว่า 1.ต้องมีความพร้อม 2.ต้องมีความเสียสละ บางคนอาจพร้อมแต่ไม่เสียสละ บางคนอยากเสียสละแต่ไม่พร้อมมาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง ค่อนข้างยาก อาจจะเป็นเพราะผมแก่ไปแล้ว ไม่รู้จักคน เพราะหายไป 17 ปี ขาดการต่อเนื่องในการรู้จักคน อาจจะมองไม่ค่อยออก แต่ก็ช่วยกันมองอยู่” นายทักษิณกล่าว
ด้านนายพิชัยกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 ว่า เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่ต้องการให้เศรษฐกิจกลับมา โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอยู่ในสภาพที่กรอบมานาน การลงทุน การจ้างงานเพื่อไปสู่การแก้ไขเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ เราอาจต้องทำอะไรบางอย่าง เศรษฐกิจต้องอาศัยกำลังคน เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราเคยรุ่งเรืองมาก่อน
“โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั่วโลกเขาไปดิจิทัลอีโคโนมี ทุกอย่างไปทางดิจิทัลหมด แปลว่าต้องทำให้คนในประเทศคุ้นเคยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล เบื้องต้นความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ ซึ่งคืบหน้าเยอะแล้ว ระบบเรียบร้อยดี อาจเป็นระบบที่ทำทีเดียวเสร็จ เพราะระบบนี้จะอยู่กับรัฐบาลและประชาชนไปอีกนาน” นายพิชัยกล่าว
ส่วนกรณีปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสด หากระบบทำไม่ทัน นายพิชัยยืนยันว่า จะต้องทำให้ทัน และเมื่อถามย้ำว่า มั่นใจจะแจกเป็นเงินดิจิทัลหรือไม่ นายพิชัยบอกว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น และจะพยายามแจกเงินให้ได้ในไตรมาสที่ 2 เพราะระบบจะต้องทำให้เรียบร้อยและปลอดภัย
เมื่อถามย้ำว่า การจ่ายเงินดิจิทัลในเฟส 3 จะเปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินสด นายพิชัยระบุว่า ยังมองไม่เห็นว่าจะต้องใช้วิธีนี้
ส่วนนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงผลโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 1 ว่าจากการประมวลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเม็ดเงินสามารถกระจายถูกฝาถูกตัว โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ได้รับเงินสูงคือจังหวัดยากจน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวต่ำ โดยภูมิภาคที่รับเงินมากอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด นอกจากนี้พบว่าเม็ดเงินในโครงการได้กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่ ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศไทย ไม่มีตำบลใดเลยที่ไม่ได้รับเงิน ขณะเดียวกันเม็ดเงินยังพุ่งสู่ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านในชุมชนเป็นหลัก โดยสัดส่วนสูงถึง 68% นำเงินไปใช้จ่ายในร้านค้าชุมชน/ร้านขายของชำ ร้านหาบเร่แผงลอยทั่วไป/ร้านค้าในตลาด ส่วนอีก 30% นำไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรด และที่เหลืออีกราว 2% ใช้จ่ายในร้านอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าการเกษตร, ร้านออนไลน์ เป็นต้น รวมทั้งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือราว 82% ใช้เงินหมดภายใน 3 เดือน ขณะที่มีประชาชนราว 21% ใช้เงินหมดภายใน 1 เดือน และประชาชนอีกราว 61% ใช้เงินหมดภายใน 1-3 เดือน
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่องผู้สูงอายุรับเงินสด 10,000 บาท แล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม โดยสำรวจประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเองและ/หรือคนในครอบครัวได้รับเงิน 10,000 บาท รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง
โดยเมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือคนในครอบครัวที่ได้รับ พบว่า 86.18% ระบุใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, 26.26% ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ, 13.66% ใช้หนี้, 11.98% เก็บออมไว้สำหรับอนาคต, 9.24% ใช้ลงทุนการค้า, 8.70% ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา, 4.35% ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล, 1.76% ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า, 0.53% ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร, 0.46% ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว และ 0.38% ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือคนในครอบครัวที่ได้รับ พบว่า 44.89% มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล, 30.69% จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว, 14.35% ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ 10.07% ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่งกลับ“อุยกูร์”เกมเสี่ยงหวังผลสูง คว้ากระแสลมเปลี่ยนทิศ
เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลพยายามอธิบายเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับคืนให้ทางการจีน คือ “แรงบีบจากจีน”
ทลายบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าใหญ่สุดปท. มูลค่า130ล้าน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ทลายโกดังบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ส่งขาย 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ยึดของกลาง 2.6 แสนชิ้น
จีนประณามUSข่มเหงไทย โชว์อุยกูร์อยู่บ้านดีกว่าคุก
"จีน" ออกโรงประณาม "สหรัฐ" ข่มเหงรังแกไทย ทำตัวสองมาตรฐาน
นายกฯปัด‘พ่อ’ครอบงำ คลังสนองไอเดียซื้อหนี้
"อิ๊งค์" รีบแก้เกี้ยว "พ่อ" หวังดีกับประเทศผุดไอเดียซื้อหนี้ประชาชน ปัดครอบงำ
ห้ามป่วย-ตายช่วยอิ๊งค์
"นายกฯ อิ๊งค์" รับตื่นเต้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก 24-26 มี.ค.
น้ำเงินคว่ำกระดาน! ถล่ม112‘สิริพรรณ’ไม่เห็นชอบ‘ชาตรี’หึ่งเปิดทางสายมท.
สภาน้ำเงินคว่ำกระดานเลือกตุลาการศาล รธน.ร่วงทั้งคู่! โหวตไม่เห็นชอบ “สิริพรรณ” 136 เสียงต่อ 43 เสียง