“ไหม” บอกรู้สึกชิลๆ ปม ป.ป.ช.เรียกรับทราบข้อกล่าวหาปมแก้มาตรา 112 “รังสิมันต์” เดือดบอกภารกิจด่วน “สุชาติ” ต้องเร่งกวาดบ้านตัวเอง แนะพึงสังวรกินภาษีประชาชน เร่งแจงไม่ใช่เงียบ “ณฐพร” จี้ประธานสภาฯ-ประธาน ป.ป.ช.ไขก๊อกตอบแทนคุณแผ่นดิน “เรืองไกร” ส่งจดหมายจี้สอบจริยธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือส่งไปยังอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไปรับทราบข้อกล่าวหาในการลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า รู้สึกแบบเดียวกันกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต สส.พรรคก้าวไกล ก็ชิลๆ เฉยๆ มาก สู้ตามกระบวนการได้แน่นอน ก็มั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดตามที่ทาง ป.ป.ช.กล่าวหาว่าอะไรก็ตาม การยื่นแก้กฎหมาย มันไม่มีทางเป็นการผิดจริยธรรมร้ายแรงได้อยู่แล้ว และกรณี ป.ป.ช.ก็ยังคงเป็นชั้นเริ่มต้นมากๆ ที่จะเริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา เราต้องไปแก้ข้อกล่าวหา กว่าจะยื่นศาลต่างๆ กระบวนการยังจะต้องสู้กันอีกไกล
เมื่อถามว่า มีอะไรจะฝากถึงประธาน ป.ป.ช.ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ และเริ่มเดินเครื่องกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า กระบวนการเริ่มต้นก่อนประธาน ป.ป.ช.คนใหม่จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำไป เราเห็นว่ามีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประธาน ป.ป.ช.คนไหน เราไม่กังวลใจ เราเข้าใจว่าประธาน ป.ป.ช.เองก็น่าจะต้องเตรียมสู้คดีของตัวเองอยู่เหมือนกัน
เมื่อถามต่อว่า กังวลหรือเปล่ากับประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ที่กำลังมีประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมเหมือนกัน แต่จะมาเป็นประธาน ป.ป.ช.สอบจริยธรรม 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จริงๆ ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ แต่คราวนี้ฝั่งของประธาน ป.ป.ช.เองก็อาจจะยังไม่ได้มีการเริ่มต้นกระบวนการที่ชัดเจน ในการที่เขาจะต้องโดนสอบจริยธรรมเหมือนกัน แต่ว่าของพรรค ปชน.ก็อาจเริ่มไปก่อน ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการดีกว่า ไม่มีความกังวลอะไรใดๆ เลย
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวว่า ตอนนี้น่าจะได้รับหนังสือเรียกกันหมดแล้ว แค่ติดอยู่ที่ความล่าช้าในการส่งไปรษณีย์ ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับมือกันต่อไป แต่ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของพวกเราเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
“วันนี้คุณอ้างเรื่อง ม.112 วันหน้าคุณก็อ้างเรื่องอื่นมาทำลายพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ก้าวหน้าเพิ่มขึ้น มันไม่มีกฎหมายห้ามในการเสนอแก้เรื่องดังกล่าว ก็ต้องยืนยันในการทำหน้าที่ของเรา”
นายรังสิมันต์ถามกลับว่า อะไรคือภารกิจเร่งด่วนของ ป.ป.ช. ซึ่งภารกิจเร่งด่วนของ ป.ป.ช.คือการเคลียร์ตัวเอง วันนี้ตัวเองยังเคลียร์ไม่ได้ และอาจจะมีความผิดต่างๆ นานาเกี่ยวกับเรื่องทุจริต ดังนั้นมีความชอบธรรมอะไรมาทำหน้าที่ตรงนี้
พึงสังวรกินภาษีประชาชน
"ประทานโทษ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ท่านเป็นถึงประธาน ป.ป.ช. ตัวท่านเองจะอยู่แบบนี้เงียบๆ ต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเรื่องมันก็เงียบไปเองหรือไม่ ผมคิดว่าต้องฝากพี่น้องสื่อมวลชนในการติดตาม ประธาน ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ช.ท่านเป็นองค์กรอิสระ ใช้เงินภาษีของประชาชน เมื่อมีเรื่องที่เป็นข้อกล่าวหาต่างๆ มากมายไปสู่ท่าน ท่านมีหน้าที่สร้างความกระจ่างให้กับประชาชน ถ้าท่านไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ ท่านต้องสังวรว่าท่านกินภาษีของประชาชนอยู่ ต้องตอบคำถาม" นายรังสิมันต์กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ทำให้เสียสมาธิหรือไม่ เพราะใกล้ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ป.ป.ช.ต้องรีบขนาดนี้ เรื่องชี้แจงเราพร้อมไปชี้แจงอยู่แล้ว เราในฐานะที่ต้องเตรียมชี้แจง ก็ยอมรับว่าเสียสมาธิในการเตรียมอภิปราย เพราะต้องมานั่งคิดเรื่องคดีความ รวมถึงบางคนก็ต้องถอนตัวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศนี้ต้องการฝ่ายค้านที่มีคุณภาพในการตรวจสอบต่อไป
ส่วนจะกระทบเสถียรภาพของฝ่ายค้านหรือไม่ นายรังสิมันต์ระบุว่า อยากให้ประชาชนประเมิน พวกเราต้องโฟกัสเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โฟกัสเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ และคดีความอีก มันก็กินพลังไปมากแล้ว แต่ถ้าตัวเลขฝ่ายค้านลดลงก็ยอมรับว่ามีผลต่อการตรวจสอบอย่างแน่นอน
ถามว่า จะกระทบไปถึงเลือกตั้งปี 2570 หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ยังไม่อยากประเมิน ยังไม่รู้ผลจะจบอย่างไร ตอนนี้ยังทำหน้าที่อยู่
ส่วนนายปดิพัทธ์ทวีตข้อความในเอ็กซ์ว่า ได้รับเอกสารให้ไปรับข้อกล่าวหาแล้ว ราวกับเป็นคนชั่วมาก ผิดร้ายแรงทีเดียว ถามว่ารู้สึกยังไง จะสู้ยังไง ชี้แจงไปตามเรื่องครับ ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่กลัว ไม่ขอความเมตตา ไม่ต้องอ้อมค้อม กฎหมายมีปัญหาก็ต้องแก้ได้ ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติปกติก็เท่านั้นเอง
ขณะเดียวกัน ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โพสต์ข้อความในหัวข้อ “ลาออกเถอะครับ” ระบุว่า ท่านประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติเลือกนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นประธาน ป.ป.ช. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อมวลชน และพยานหลักฐานจะเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่า ท่านทั้งหลายมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ได้วางหลักการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ คือมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่า นายสุชาติไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กล่าวคือถูกประชาชน 20,000 รายชื่อ ยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“ประธานรัฐสภาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้นายสุชาติพ้นจากข้อกล่าวหาจากประชาชน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติเลือกนายสุชาติ ทั้งๆ ที่รู้ว่านายสุชาติมีประชาชนร้องเรื่องมีพฤติการณ์การกระทำ ซึ่งมีความร้ายแรงมีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภาในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่จะต้องตรวจสอบกลั่นกรองก่อนที่นำความกราบบังคมทูล กลับมีเจตนาละเว้นไม่ดำเนินการตามหน้าที่อำนาจ การกระทำของคณะบุคคลดังกล่าว จึงเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผมขอใช้สิทธิและหน้าตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ทุกท่านได้โปรดลาออกเถอะครับ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ, นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเป็นตัวอย่างในคำร้องดังนี้
เรืองไกรจี้ฟันจริยธรรม
นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ข้อ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (1) และมาตรา 87 บัญญัติว่า มาตรา 28 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนมาตรา 87 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ซึ่งการเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจมอบหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้”
นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ข้อ 2 มาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 17 กำหนดไว้ดังนี้ “ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง” ข้อ 3 ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ก.พ. เรื่องด่วน จึงขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจับกุมตัวนายไชยามพวานมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายในระหว่างสมัยประชุม ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ข้อ 4 เอกสารแนบระเบียบวาระดังกล่าว แนบหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ตช 0011.25/537 ลงวันที่ 11 ก.พ. ซึ่งเป็นหนังสือการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับนายไชยามพวาน ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 95/2568 (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบวาระการประชุมแล้ว) กรณีนายไชยามพวานจึงอาจเข้าข่ายอันควรตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่
นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ข้อ 5 ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) กับนายสุชาติ ข้อ 6 ข้อเท็จจริงตามข่าวที่ปรากฏ กรณีนายวันมูหะมัดนอร์ กับนายสุชาติ ปัจจุบันเป็นประธาน ป.ป.ช. ควรถือเป็นความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แล้วกรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ตรวจสอบบุคคลทั้งสามแล้วแต่กรณี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่
“เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยตรง จึงไม่ควรไปร้องหน่วยงานอื่น” นายเรืองไกรระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กเต่าขยายผล ทุจริตยาแถว2-3 รพ.ทหารผ่านศึก
"ภูมิธรรม" ตอกฝ่ายค้าน หลังจี้จัดการแก๊งทุจริตยา บอกไม่เคยบริหาร ปท.ไม่รู้วิธีปฏิบัติราชการ ยันต้องทำงานเงียบๆ
อิ๊งค์ลุยภูเก็ตดันท่องเที่ยว ติดดาบ‘กลต.’สกัดปั่นหุ้น
ครม.เห็นชอบงบประมาณปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ไฟเขียว "พ.ร.ก.ตลาดทุน"
สว.สำรองยื่นกมธ.ปปช. สอบ‘กกต.’ละเว้นฮั้วสว.
"ภูมิธรรม" ไม่หวั่นหลังศาล รธน.รับวินิจฉัยคำร้องแทรกแซงการทำงาน
จี้แพทยสภาตอบป่วยทิพย์ชั้น14
"นายกฯ อิ๊งค์" ขอบคุณ ครม.-ขรก. ช่วยชี้แจงเวทีซักฟอก ย้อน "เท้ง" ใช้วาทกรรมไม่เลิกหลังถูกจวกหากยังเป็นนายกฯ
ม็อบไล่รบ.กาสิโน! ครม.ไฟเขียวพรรคร่วมฯไม่ค้านชงเข้าสภาให้ทันสมัยนี้
ฉับไว! "นายกฯ อิ๊งค์" แถลง ครม.ไฟเขียวผ่านร่าง กม.กาสิโนแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครค้าน
งามไส้! ตั๋วผีเกลื่อนอุทยานฯสิมิลัน ต่างชาติเต็มลำเรือ แต่แจ้งเป็นคนไทยกินส่วนต่าง
คณะทำงาน ป.ป.ช. ชุดฉก.ฉลามอันดามัน นำกำลังย่องเงียบ บุกตรวจสอบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา งามไส้! เห็นคาตา นักท่องเที่ยวผีเพียบ