มิติใหม่การแถลงข่าว "โดนัลด์ ทรัมป์" กับ "โวโลดิมีร์ เซเลนสกี" โต้เถียงกันดุเดือด จนผู้นำสหรัฐโกรธจัดและไล่ผู้นำยูเครนออกจากทำเนียบขาว ส่อแววล้มข้อตกลงสันติภาพรวมทั้งข้อตกลงการเข้าถึงแร่หายาก นักวิชาการชี้ ผู้นำยูเครนไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศ
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2568 ว่า ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางมาเยือนทำเนียบขาวตามกำหนดการ และได้เข้าเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นสงครามกับรัสเซีย รวมทั้งข้อตกลงการเข้าถึงแร่หายากเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ
แต่การเจรจาจบลงด้วยการที่ผู้นำทั้งสองตะคอกใส่กัน จนโดนัลด์ ทรัมป์ โกรธจัด และไล่เซเลนสกีออกจากทำเนียบขาว พร้อมยกเลิกทั้งการลงนามข้อตกลงการเข้าถึงแร่หายากและการแถลงข่าวร่วมกัน
ความขัดแย้งที่น่าตกตะลึงนี้ทำให้บรรดาผู้นำยุโรปต้องรีบออกมาแสดงการสนับสนุนยูเครน ในช่วงเวลาข้างหน้าที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากการรับมือการรุกรานของรัสเซีย
มีรายงานว่า การปะทะคารมได้ปะทุขึ้นที่ห้องทำงานรูปไข่ โดยทรัมป์และรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ตะโกนใส่เซเลนสกี พร้อมกล่าวหาว่าเขาไม่แสดงทีท่า "ขอบคุณ" สำหรับความช่วยเหลือจากสหรัฐ ในสงครามที่กินเวลามานานกว่า 3 ปี
ทรัมป์บอกกับเซเลนสกีว่า หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ ยูเครนคงถูกรัสเซียยึดครอง และผู้นำในช่วงสงครามก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะเจรจาใดๆ ได้
"ตอนนี้คุณไม่มีไพ่ในมือ คุณต้องทำข้อตกลงหรือไม่ก็ให้เราถอนตัวออกไป และถ้าเราออกไป คุณก็คงต้องสู้ และผมไม่คิดว่าผลลัพธ์จะออกมาดี" ทรัมป์พูดใส่เซเลนสกี
เซเลนสกีเดินทางออกจากทำเนียบขาวไม่นานหลังจากนั้น โดยทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า "เซเลนสกีจะกลับมาได้เมื่อเขาพร้อมสำหรับสันติภาพ"
สื่อของสหรัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทรัมป์บอกให้เซเลนสกีกลับไปซะ ทำให้ข้อตกลงแร่ธาตุไม่ได้รับการลงนามและการแถลงข่าวร่วมกันถูกยกเลิก
ต่อมาประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวหาเซเลนสกีว่า เล่นใหญ่เกินตัว และแสดงทีท่าคัดค้านการหยุดยิง พร้อมยืนยันว่า สหรัฐต้องการให้การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียยุติลงในทันที
ด้านเซเลนสกีเองได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับฟอกซ์นิวส์ในภายหลัง ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะขอโทษทรัมป์
เซเลนสกีกล่าวกับพิธีกรข่าวของฟอกซ์ว่า เขาเคารพทรัมป์และชาวอเมริกัน แต่ก็ยืนยันว่าตัวเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
พันธมิตรของสหรัฐในยุโรป ซึ่งกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทรัมป์จะบังคับให้ยูเครนต้องมอบชัยชนะให้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ต่างรีบออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนเซเลนสกี
"คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว" โดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวในสารแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ ซึ่งเพิ่งเยือนทำเนียบขาวไม่นาน กล่าวว่า เขาได้โทรศัพท์พูดคุยกับทั้งทรัมป์และเซเลนสกี หลังจากเกิดการปะทะกัน และให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ
จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาจัดของอิตาลี เรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และพันธมิตรในเรื่องยูเครนโดยเร็ว เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์บานปลาย
ทำงานสกปรกให้ปูติน
ขณะที่การเมืองฝั่งตรงข้ามในสหรัฐเองก็ออกมาตำหนิทั้งทรัมป์และแวนซ์ โดยชัค ชูเมอร์ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทั้งสองคนกำลังทำงานสกปรกให้ปูติน
และแน่นอนว่าฝั่งรัสเซียตีปีกยินดีกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเคียฟและวอชิงตันที่พังทลายลง
ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย เรียกเซเลนสกีว่าเป็น "หมูหน้าด้านที่ถูกตบหน้าอย่างรุนแรงในห้องทำงานรูปไข่"
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า "การที่ทรัมป์และแวนซ์ยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำร้ายไอ้สารเลวคนนั้นได้ ถือเป็นปาฏิหาริย์แห่งความอดทน"
พรรครีพับลิกันของทรัมป์เองก็กล่าวเหมือนกับที่รัสเซียประณามเซเลนสกี โดยวุฒิสมาชิกลินด์เซย์ เกรแฮม กล่าวว่า "หลังจากสิ่งที่เห็นในวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะยังต้องการเป็นหุ้นส่วนกับเซเลนสกีต่อไป"
อย่างไรก็ตาม ยูเครนดูเหมือนจะยังคงสนับสนุนเซเลนสกี โดยผู้บัญชาการกองทัพให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดเคียงข้างเขา ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศยกย่องความกล้าหาญของเขา
วิวาทะดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่า ยูเครนจะต้องประนีประนอมในการสงบศึกกับรัสเซีย ซึ่งยึดครองพื้นที่บางส่วนของประเทศไป แต่เซเลนสกีตอบกลับว่า "ไม่ควรมีการประนีประนอมกับฆาตกรในดินแดนของเรา"
หลังจากที่เซเลนสกีชี้ให้เห็นว่าความพยายามสร้างสันติภาพก่อนหน้านี้ไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของรัสเซียได้ แวนซ์ก็ขัดจังหวะด้วยความโกรธและตำหนิเขาว่า "ไม่ให้เกียรติ"
จากนั้นการประชุมก็กลายเป็นการที่ทรัมป์และแวนซ์ตำหนิผู้นำยูเครนอย่างเสียงดังต่อหน้าสื่อมวลชนทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ทำให้ยูเครนและพันธมิตรในยุโรปตกใจด้วยการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐอย่างกะทันหัน โดยอ้างว่าตัวเองเป็นคนกลางระหว่างปูตินกับเซเลนสกี และปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานของรัสเซีย
ทรัมป์กล่าวที่ห้องทำงานรูปไข่ว่าเขาได้พูดคุยกับปูตินหลายครั้ง มากกว่าที่ปรากฏเป็นรายงานต่อสาธารณะ และก่อนเกิดการโต้เถียง ทรัมป์บอกกับเซเลนสกีว่าการสงบศึกใกล้จะบรรลุแล้ว
ทั้งนี้ ข้อตกลงแร่ธาตุที่ยูเครนเสนอนั้นมีขึ้นเพื่อให้สหรัฐได้รับผลประโยชน์ทางการเงินสำหรับการช่วยเหลือยูเครนในการสงบศึก แม้ว่าทรัมป์จะปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะส่งกองกำลังทหารสหรัฐไปสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพของยุโรปก็ตาม
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์เรียกเซเลนสกีว่า "เผด็จการ" และกล่าวว่าเขาเชื่อมั่นปูตินว่าเป็นคนรักษาคำพูดในเรื่องข้อตกลงหยุดยิง
ขณะเดียวกัน การโจมตีในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป โดยทหารราบของรัสเซียบุกเข้าโจมตีชายแดนยูเครนจากเขตเคิร์สก์ของรัสเซียเมื่อวันศุกร์ ใกล้กับพื้นที่ที่กองกำลังยูเครนยึดครองไว้เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว
ผู้นำไม่รักษาผลประโยชน์ประเทศ
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถอดบทเรียนยูเครน: เมื่อผู้นำไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ภาพความอัปยศอดสูที่ผู้นำยูเครน Zelenskyy ถูกเชิญไปรุมกินโต๊ะโดย ประธานาธิบดี Trump และรองประธานาธิบดี Vance รวมทั้งการเจรจาที่ชะงักงันและไม่มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต้องประชาชนยูเครนที่สูญเสียทั้งชีวิต ดินแดน ทรัพยากร และที่สำคัญที่สุดคือ อนาคต ทำให้เราต้องมาถอดบทเรียน
1.ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศยูเครนมิได้เป็นตัวของตัวเองเนื่องจากถูกแทรกแซงผ่านกระบวนการการสงครามผสมผสาน (Hybrid Warfare) มาอย่างต่อเนื่อง ปั่นหัวให้ประชาชนยูเครนลุกฮือขึ้นมาอย่างน้อย 3 ครั้ง 1) Orange Revolution 2004/2005 2) Euro Maidan 2014 และ 3) การลงประชามติของประชาชนในคาบสมุทร Crimea เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและในที่สุดขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทั้งหมดไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ หากแต่ทั้งหมดเป็นเกมของมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยุโรป+สหรัฐ หรือฝ่ายรัสเซีย
2.ผู้นำของยูเครน ไม่ว่าจะเป็น Leonid Kuchma (1995-2005 โปรรัสเซีย), Viktor Yushchenko (2005-2010 โปร NATO), Viktor Yanukovych (2010-2014 โปรรัสเซีย), Petro Poroshenko (2014-2019) และ Volodymyr Zelenskyy (2019- ปัจจุบัน) แน่นอนว่า 2 คนสุดท้ายโปร NATO อย่างยิ่งยวด ล้วนทำให้เราเห็นว่าผู้นำที่เลือกข้าง ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ล้วนแล้วแต่ทำให้ตลอดมา แทนที่พวกเขาจะรักษาผลประโยชน์ของยูเครนเป็นหลัก พวกเขากลับต้องเอาอกเอาใจมหาอำนาจภายนอก และดึงยูเครนเข้าสู่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปลุกปั่นแทรกแซงให้เลือกข้าง
3.ผลประโยชน์ของประเทศ ประกอบด้วย 4 ประเด็น 1) ความมั่นคงทางในมิติอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความมั่นคงแบบ Non-Traditional Security ที่เน้นความมั่นคงของมนุษย์ 2) ความมั่งคั่งที่หมายถึงเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ มีการเจริญเติบโต และมีการจัดสรรที่เป็นธรรม 3) การขยายพลังอำนาจของชาติในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การทหาร และสุดท้ายที่อาจจะสำคัญที่สุด นั่นคือ 4) ความภาคภูมิใจของชาติ (บางพื้นที่ บางชนชาติ อาจจะไม่ได้รับรองเป็นประเทศ อาจจะไม่มีแผ่นดิน แต่พวกเขาก็ยังคงมีความภาคภูมิใจในตนเอง ลองนึกถึงชาวปาเลสไตน์ ชาวไต้หวัน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ)
4.แต่เมื่อผลประโยชน์ของชาติไม่ได้รับการรักษาผลประโยชน์ เพราะผู้นำต้องเลือกข้างรับใช้มหาอำนาจที่มีอิทธิพลเหนือกว่า เมื่อประชาชนถูกปลุกปั่นแทรกแซงให้เลือกข้าง ให้แตกแยก ในที่สุด อย่างกรณีของยูเครน ความมั่นคงก็กำลังสูญเสียดินแดน ซึ่งคงไม่สามารถกลับไปมีดินแดนเหมือนก่อนปี 2014 ได้ ในเรื่องความมั่งคั่ง คงไม่ต้องพูดถึง เพราะมหาอำนาจที่เคยสนับสนุนนั่นเองที่ตอนนี้กำลังจะกลับมาของสูบเลือด สูบทรัพยากร มิพักต้องพูดถึงพลังอำนาจในมิติต่างๆ ที่วันนี้ประชาชนยูเครนก็อ่อนแรง หมดกำลังใจ และในที่สุดผู้นำก็ถูกเรียกมาโดนรุมแบบไร้ศักดิ์ศรีเช่นนี้
5.คำถามคือ สำหรับประเทศไทย เราต้องช่วยกันระวังอย่างยิ่งยวด อย่าให้มีใครมาแทรกแซง ปลุกปั่น ต้องคอยเฝ้าระวังให้ผู้นำรักษาผลประโยชน์ของชาติ อย่าให้เกิดผลประโยชน์ที่ขัดแย้งระหว่าง ผลประโยชน์ของชาติ กับผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ของครอบครัว และผลประโยชน์ทางธุรกิจ
6.นาทีนี้เราต้องการทีมประเทศไทยที่ประกอบขึ้นจาก 6 เสาหลักที่ทำงานสอดประสานกัน อันได้แก่
1.ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ไม่สับสนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศกับผลประโยชน์ของครอบครัวหรือของธุรกิจครอบครัว
2.ผู้ตัดสินใจทางนโยบายในระดับสูงที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ และรับผิดชอบการตัดสินใจ
3.เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ซื่อสัตย์ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
4.นักวิชาการที่ทำงานหนักแบบสหสาขาวิชา ให้รู้ลึก รู้กว้าง รู้จริง และกล้าเปลืองตัวที่จะชี้นำสังคมผ่านการบริการวิชาการ
5.ภาคเอกชน (แน่นอนที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจ) และภาคประชาสังคม (ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน) ที่ต้องการมีส่วนร่วม ให้ข้อมูลสนับสนุนช่วยการตัดสินใจ
6.สื่อสารมวลชนที่เข้มแข็ง กล้าหาญที่จะตรวจสอบ และนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้อง ไม่ถูกบิดเบือนแทรกแซง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชี้ออกแบบไม่สมมาตร DSIค้นนอมินีตึกสตง.
เผยผลสอบตึก สตง.พุ่งเป้าไปที่การออกแบบ-ปล่องลิฟต์ไม่สมมาตร “อนุทิน” ไม่สบายใจหลังพบปลอมลายเซ็นวิศวกร
พท.ตัดหางพีช ปัดเอี่ยวทักษิณ ฟันข้อหาหนัก
เครือข่ายทักษิณทั้งนั้น! ลูกชายนายกเบี้ยวซิ่้งบีเอ็มฯ เบียดกระบะ คู่กรณีเจ็บสาหัส
คุก5ปี93เดือน‘เอกราช’ ภท.จ่อตะเพิดพ้นพรรค
ยังไม่หลุด สส.! ศาลขอนแก่นให้ประกันตัว "เอกราช ช่างเหลา" หลังสั่งจำคุก 5 ปี 93 เดือน
สภาสูงขู่สส.เร่งกาสิโนควํ่าแน่
"กมธ.กาสิโน" สภาสูงถกนัดแรก 23 เม.ย. แนะ สส.รอผลการศึกษาชุดนี้ให้เสร็จก่อน
คุยสหรัฐ23เม.ย. อิ๊งค์สนิทครอบครัวทรัมป์ พ่อนายกฯเลี้ยง2ผู้นำปท.
"นายกฯ อิ๊งค์" ฟิตหลังสงกรานต์ จับเข่าคุยทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ