เฮ!สปส.ปรับบำนาญใหม่ 1พ.ค.จ่อขยับค่าแรง400

ผู้ประกันตนเฮ! "บอร์ดประกันสังคม"   มีมติเอกฉันท์เคาะสูตร CARE บำนาญชราภาพใหม่ ทั้งมาตรา 33 และ 39 ได้เงินเพิ่ม ทำประชาพิจารณ์ 90 วัน หวังแก้ กม.เสร็จทัน มิ.ย.นี้   "อนุทิน" เซ็นตั้ง คกก.สอบ "สปส." ซื้อตึก 7 พันล้าน  นายกฯ แย้มข่าวดี "พิพัฒน์"  รายงานแผนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จ่อขึ้นทัน 1 พ.ค.68 ของขวัญวันแรงงาน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มีนาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคประชาชนออกมาเปิดเผยถึงความไม่โปร่งใสภายในสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีการซื้อตึก 7 พันล้านว่า เดี๋ยวให้กระทรวงแรงงานตามดูเรื่องนี้  แน่นอนว่าเรื่องความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ และต้องมีความโปร่งใสมากที่สุด ฉะนั้นไม่มีอะไรต้องห่วง หากมีอะไรที่ต้องเพิ่มเติมหรือปรับปรุงรัฐบาลทำแน่นอน จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ เราตรวจสอบและดูว่ามีอะไรที่สามารถทำให้ชัดเจนขึ้นได้บ้าง          

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม เรียบร้อยแล้ว โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ต้องให้นายอนุทินเป็นคนตั้งคณะกรรมการ ทั้งที่เป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานนั้น นายอนุทินกล่าวว่า เพราะตนเป็นรองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และ รมว.แรงงานต้องการให้มีการสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงมาขอให้ตนตั้งคณะกรรมการ และประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดแรงงานคนปัจจุบันเป็นเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ฉะนั้นการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และเมื่อมีระดับปลัดกระทรวงถูกสอบสวนด้วย จึงจำเป็นต้องตั้งข้าราชการในระดับเดียวกันเพื่อเป็นผู้สอบสวน เพื่อให้มีความชัดเจนและเสร็จสิ้นโดยเร็ว

ส่วนประเด็นหลักการสอบสวนเรื่องการใช้งบประมาณ สปส.ซื้อตึกใช่หรือไม่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดขอบเขต ฉะนั้นตรงไหนที่เป็นประเด็นที่เกิดปัญหาต้องดำเนินการสอบสวน และสั่งการให้พิจารณาเร็วที่สุด แล้วจะไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซงการสอบสวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นการสอบสวน ยังไม่ใช่การลงโทษหรือลงทัณฑ์ เพราะต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และเมื่อทราบแล้วมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายค่อยดำเนินการ

ที่สำนักงานประกันสังคม เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ไอซ์ รักชนก ศรีนอก และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน ได้เดินทางมาติดตามการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ที่มีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ในประเด็นการคำนวณเงินบำนาญชราภาพสูตรใหม่ พร้อมกันนี้ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (WE FAIR) นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายฯ พร้อมตัวแทนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 จำนวนกว่า 50 คน ร่วมกันเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่องข้อเสนอการปฏิรูประบบประกันสังคม

จากนั้นเวลา 12.00 น. นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน แถลงข่าวร่วมกันภายหลังการประชุมว่า  มีข่าวดีบอร์ดประกันสังคมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบหลักการปรับสูตรบำนาญให้กับผู้ประกันตนถูกมาตรา ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้ สูตรที่จะมีการใช้ใหม่เรียกว่า แคร์ (CARE) ซึ่งสำนักงานประกันสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ ได้มีการศึกษาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 และได้มาสำเร็จและเห็นรูปธรรมชัดเจนในวันนี้

นางมารศรีกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่รับบำนาญชราภาพ หากมีการใช้สูตรใหม่แล้วได้รับบำนาญลดลงจะให้ได้เท่าเดิม แต่ถ้าได้รับเพิ่มขึ้นจะได้รับเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ที่ 8 แสนคน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 แสนคน จะได้รับความเป็นธรรมกับสูตรใหม่นี้ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ทำประชาพิจารณ์ 90 วัน

ด้านนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน บอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า เป็นข่าวดีของผู้ประกันตนและนายจ้างที่จะสามารถเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ประกันตนได้อย่างเป็นธรรม เนื่องจากการปรับสูตรบำนาญชราภาพใหม่ จะเป็นการปรับเฉลี่ยรายได้ตลอดอายุ โดยปรับตามอัตราค่าเงิน จะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 กว่า 3 แสนคน มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันบาท นี่คือความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น เป็นวันที่เราสามารถฉลองได้ แต่ยังไม่จบแค่นี้ การต่อสู้ของกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าเพื่อผลักดันความเป็นธรรมให้เดินหน้าต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 1 ปี

นายษัษฐรัมย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ตามความเห็นของฝ่ายวิจัย ในการเปลี่ยนมาใช้สูตรแคร์ สามารถทำได้ก่อนการปรับเพดานค่านจ้าง เงินสมทบ ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้นการทำประชาพิจารณ์ใน 30 วันนี้ เมื่อผลแล้วเสร็จเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และนำเข้าบอร์ดประกันสังคม คาดว่าภายในเดือน พ.ค.2568 ผลการประชาพิจารณ์จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดอีกครั้ง เพื่อเห็นชอบครั้งสุดท้ายก่อนเดินหน้าเข้าสู่การแก้ไขกฎกระทรวงในเรื่องนี้ หวังว่าแก้ไขกฎหมายจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2568 

 “แม้ว่าคนที่เกษียณไปแล้ว สูตรแคร์จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการคำนวณบำนาญเช่น อีก 5 ปีข้างหน้า เงินเพดานค่าจ้าง 20,000 บาท แต่เคยได้เงินค่าจ้าง 10,000 บาท ก็จะไม่ถูกบล็อกที่รายได้ 15,000 บาท แม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว มีการคำนวณให้ใหม่ก็จะได้ฐานเงินเดือนที่ปรับเพิ่ม อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเยอะที่สุด จะต้องดำเนินการควบคู่กัน ทั้งปรับเพดาค่าจ้างจ่ายเงินสมทบและเปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญ จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด แต่การบังคับใช้สูตรแคร์ก็ไม่ได้ผูกกับการปรับเพดานค่าจ้าง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ตามข้อเสนอไม่ได้จ่ายย้อนหลัง แต่จะมีการจ่ายชดเชยให้ เช่น ตอนนี้อายุ 65 ปี รับเงินบำนาญชราภาพ 1,500 บาท มาเป็นเวลา 5 ปี ถ้าปรับเป็นสูตร CARE แล้วได้มากขึ้นเป็น 4,500 บาท เดือนถัดไปหลังจากมีกฎหมายออกมาแล้วก็สามารถรับที่ 4,500 บาทได้เลย แต่ไม่ได้มีผลย้อนหลังให้กับงวดบำนาญที่ผ่านมา

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ช่วงบ่าย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ​ได้มารายงานเรื่องแผนการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2568 ที่ทางกระทรวงแรงงานได้ศึกษาถึงผลกระทบ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างอย่างระมัดระวัง โดยการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทาง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะประชุมในวันที่ 12 มี.ค.นั้น น่าจะมีแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ตลอดจนแต่ละภาคธุรกิจก็มีความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และมาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในจังหวัดนั้นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย

 นายพิพัฒน์กล่าวถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ในวันที่ 12 มี.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ส่วนตัวได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องตอบผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหัวข้อการประชุมจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ หลังมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.67 ก่อนที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในบางพื้นที่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.68 ซึ่งจะมีการส่งผลสรุปผลหลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเมื่อ 1 ม.ค.68 ให้แรงงานทุกจังหวัดทั่วประเทศรับทราบ

 เมื่อถามว่า คาดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทครั้งต่อไป จะสามารถขึ้นได้เมื่อไหร่ และจะขึ้นทั่วประเทศหรือบางพื้นที่ นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตามหลักใหญ่จะพยายามดำเนินการให้ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. หรือวันแรงงานแห่งชาติ โดยเป็นไปตามไทม์ไลน์ เพื่อเป็นของขวัญให้ชาวแรงงาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เปิดประชุม ESCAP สมัยที่ 81 ชู 3 ยุทธศาสตร์สู่ความร่วมมือระดับภูมิภาค

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัยที่ 81