ยันคุมโควิดได้ ขยับมาตรการ ผ่อนคลายเพิ่ม

ศบค.เผยไทยติดเชื้อหลักหมื่นต่อเนื่อง  ยันควบคุมสถานการณ์ได้ ระบุคลัสเตอร์ตลาดมาแรง มหาสารคามออกกฎเหล็กห้ามนั่งกินข้าวร่วมกัน ขณะที่แพทย์ยกผลศึกษา ม.เชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 สกัดป่วยรุนแรง-ตายได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้าน "บิ๊กตู่" สั่งเร่งทำความเข้าใจ ปชช.อยู่ร่วมโควิดให้ได้อย่างปลอดภัย เล็งขยับมาตรการผ่อนคลายต่อเนื่อง จ่อปัดฝุ่น Travel  Bubble นำร่องเป้าหมายจีน-มาเลเซีย 

เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์  ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ  กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่  10,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,300  ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 10,255  ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 45 ราย มาจากเรือนจำ 4  ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 166 ราย

พญ.สุมนีกล่าวว่า ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,507,471 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,711 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 2,392,384 ราย อยู่ระหว่างรักษา  92,784 ราย อาการหนัก 535 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ  102 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 ราย เป็นชาย 3 ราย  หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย  มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 22,303 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม  216,538 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28  ก.พ.64 ทั้งสิ้น 117,094,785 โดส

  “คลัสเตอร์ตลาดซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่พบมากที่สุด โดยพบที่ กทม., ชลบุรี, อุบลราชธานี, ประจวบคีรีขันธ์,  ขอนแก่น, น่าน, หนองบัวลำภู, ราชบุรี, นครราชสีมา,  ร้อยเอ็ด, ลพบุรี, สมุทรสาคร, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา,  เพชรบุรี” พญ.สุมนีระบุ 

พญ.สุมนีกล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในประเทศยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่เป็นไปตามที่คาดการณ์และยังสามารถควบคุมได้ แม้ตัวเลขอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ แต่ถ้าเทียบกับการระบาดของเดือน เม.ย.ปีที่แล้วถือว่าลดลง อัตราค่อนข้างทรงตัว และระบบสาธารณสุขยังรองรับได้

 “ขณะนี้ จ.มหาสารคามได้มีการออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนให้งดกินข้าวร่วมกัน ในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในงานประชุม งานเสวนา พิธีกรรมศาสนา งานบวช งานศพ งานแต่ง และงานบุญต่างๆ รวมถึงสถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จังหวัดต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้ในการป้องกันการระบาดจากการรับประอาหารร่วมกันได้” พญ.สุมนีระบุ

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ย้ำให้ทุกฝ่ายติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19  หลังพบผู้ติดเชื้อยอดพุ่งถึงหลักหมื่นติดต่อหลายวัน  โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงว่า แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว แต่อาการไม่ได้รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา และจำนวนยอดผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักไม่ได้เพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่าเราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด

 “คาดว่าจะมีการพิจารณาทบทวนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงมาตรการผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนกิจการกิจกรรมในที่ประชุม ศบค.ครั้งต่อไป  เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนปกติมากที่สุด” นายธนกรระบุ

นายธนกรระบุด้วยว่า รวมทั้งจากการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล จะเตรียมการหารือเพื่อจัด Travel Bubble กับประเทศที่มีศักยภาพใช้เป็นกลยุทธ์ทางการท่องเที่ยวควบคู่กับการเดินทางท่องเที่ยวโดยทั่วไป ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานและหารือร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวร่วมกัน โดยล่าสุดจะมีการพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน รวมไปถึงการพิจารณาร่วมกับทางการมาเลเซียในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นเดียวกัน

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา  ร่วมแถลงข่าว โดย นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้การติดเชื้อในบ้านเราจะมีการกระจายไปตามสถานที่เสี่ยงต่างๆ  คลัสเตอร์ต่างๆ โดยขณะนี้มีผู้ที่กำลังรักษาอยู่ 92,784  ราย โดยจังหวัดที่เสี่ยงคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี, ภูเก็ต ฯลฯ ที่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงอยู่ ทั้งนี้ขณะที่ช่วงนี้ยังคงมีสัญญาณเตือนภัยโควิดที่ระดับ 4 และยังขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 “ขอให้ผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อยังเป็นการติดเชื้อจากครอบครัว  เพื่อนที่ทำงาน รองลงมาคือไปสถานที่เสี่ยง จึงขอให้หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม และเน้นการดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล” นพ.จักรรัฐระบุ

ด้าน นพ.ทวีทรัพย์กล่าวถึงผลการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ใช้จริงของประเทศไทยว่า ในขณะนี้ได้ศึกษาในส่วนของประสิทธิผลวัคซีนใช้จริง โดยคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโควิด-19 กรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พบว่า การใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ที่มีประวัติรับวัคซีนและเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง นำมาเปรียบเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อแล้วและมีประวัติรับวัคซีน พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออยู่ที่ 65% และป้องกันการป่วยรุนแรง/ตายอยู่ที่ 88% ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออยู่ที่ 94% และป้องกันการป่วยรุนแรง/ตายอยู่ที่ 98%

 “การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนจึงได้ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 โดยพบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ประสิทธิผลของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 81% แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็จะลดลงเหลือ 50% อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีด 2 เข็มสามารถป้องกันอาการป่วยหนัก/ตาย ลดลงมาเล็กน้อยเหลือ 79% ส่วนการฉีดเข็มที่ 3  ป้องกันการติดเชื้อได้ 90% ซึ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และป้องกันป่วยรุนแรง/ตายได้ 96%” นพ.ทวีทรัพย์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง