‘โอมิครอน’ ทำนิวไฮรายวัน

ยอดติดเชื้อโควิดทำนิวไฮ 18,066 ราย เสียชีวิต 27 ราย “กทม.” ยังพุ่งสูง 3,458 ราย “บิ๊กตู่” สั่งผู้ว่าฯ กำชับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เร่งสร้างการรับรู้สถานการณ์โควิดชุมชน หวังช่วยป้องกันลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ “สธ.” ยันระบบสาธารณสุขยังรับมืออยู่ “อนุทิน” วอนเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3-4 ลดความรุนแรง “คณะแพทย์ มช.” เผยผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีน ชี้ฉีด 2 เข็มเอาโอมิครอนไม่อยู่ ต้องเข็ม 3 สู้ได้ 68%


เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,066 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17,815 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17,707 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 108 ราย เรือนจำ 83 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 168 ราย หายป่วยเพิ่ม 12,511 ราย อยู่ระหว่างรักษา 149,589 ราย อาการหนัก 755 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 182 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 9 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 78 ทั้งนี้ ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มของวันที่ 17 ก.พ.2565 รวม 221,920 โดส


สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 18 ก.พ.2565 พบ กทม. 3,458 ราย, สมุทรปราการ 957 ราย, ชลบุรี 811 ราย, นครศรีธรรมราช 750 ราย, นนทบุรี 596 ราย, ภูเก็ต 534 ราย, นครปฐม 484 ราย, นครราชสีมา 479 ราย, สมุทรสาคร 478 ราย และปทุมธานี 397 ราย


ทั้งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 2,674,477 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,502,323 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,565 ราย โดยมียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 120,924,813 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,017,348 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,512,659 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 11,212 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 420,165,628 ราย รักษาหายสะสม 343,938,821 ราย และเสียชีวิตสะสม 5,881,821 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในลำดับที่ 31 ของโลก


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งสร้างการรับรู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด และรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยอาศัยกลไกในระดับพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน ในการสื่อสารทำความเข้าใจและติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19


ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่ กทม.ที่มีสูงว่า ในกทม. ทาง สธ.เป็นผู้สนับสนุน เราไม่มีอำนาจในทางกฎหมายที่จะไปดูเเล แต่ถ้าในต่างจังหวัด พื้นที่นอก กทม.ถือเป็นความรับผิดชอบของ สธ. ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ให้การสนับสนุนและประสานงานให้ กทม.ทุกเรื่อง


“ตอนนี้เราเน้นเรื่องอย่าให้มีการขาดเตียงหรือเวชภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันเรื่องยาอย่างไรก็พอ เราเตรียมการทุกอย่างไว้อยู่แล้ว หากมีความจำเป็นเราพร้อมที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ แต่ช่วงนี้เราเน้นในเรื่องของโฮมไอโซเลชัน ส่วนเตียงและโรงพยาบาลใช้เฉพาะคนที่มีอาการรุนแรง ซึ่งหากจะให้ยอดการติดเชื้อลดลงก็ต้องเพิ่มมาตรการ ซึ่งยังไม่ใช่ทางเลือกของเราตอนนี้ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยเฉพาะต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข็ม 4 และติดเชื้อก็จะไม่รุนแรง” นายอนุทินกล่าว


ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ เตียงมีพอ แม้ว่าผู้ติดเชื้อมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนักลดลง ที่มีข่าวจะมีการขยายศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนนี้เป็นของ กทม. ที่เขากำลังปรับระบบ แต่ในต่างจังหวัดไม่มีปัญหาอะไร เตียงยังมีว่างเยอะ
วันเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ร่วมกับ ดร.กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม หัวหน้าทีมสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่


ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์กล่าวว่า ผลการศึกษาพบในช่วงระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 สายพันธุ์เดลตา มีจำนวนผู้ป่วย 19,235 ราย เสียชีวิต 154 ราย คิดเป็น 0.8% โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มักมีโรคประจำตัวร่วมอยู่ด้วย และเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึง 80% ในผู้ป่วยที่เสียชีวิต นอกนั้นได้รับวัคซีน 1 เข็ม 12% วัคซีน 2 เข็ม 8% และไม่พบผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม
ส่วนเดือน ม.ค.2565 มีผู้ป่วยโควิด 15,961 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 12 ราย คิดเป็น 0.075% โดยผู้เสียชีวิต 9 ราย เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนประมาณ 50% ฉีดวัคซีน 1 เข็ม 33% ฉีด 2 เข็ม 17% และไม่พบผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม และส่งตรวจสายพันธุ์ของผู้เสียชีวิต 3 ตัวอย่างพบเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด


เมื่อวิเคราะห์หาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยวิเคราะห์เฉพาะผู้ป่วยโควิดเปรียบเทียบกับกลุ่มสัมผัสที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และเป็นคนไทยพบในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมากกว่า 14 วันขึ้นไป สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 71% ในวัคซีนเกือบทุกสูตร ส่วนวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้สูงประมาณ 93% ในวัคซีนทุกสูตร รวมถึงวัคซีนสูตรไขว้ 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ และที่สำคัญคือช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 97% ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 และ 99% ในผู้รับวัคซีน 3 เข็ม


ในช่วงเดือน ม.ค.2565 ช่วงครึ่งเดือนหลังมากกว่า 80% จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน พบผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะไม่มีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อได้เหมือนก่อนหน้านี้ แต่ยังช่วยลดการตายได้กว่า 89% แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือฉีดเข็มที่ 3 ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 68% (ระหว่าง 62-78%) และยังช่วยลดการตายได้ดีมากถึง 96% เมื่อวิเคราะห์ชนิดของสูตรวัคซีน 3 เข็ม ต่อการป้องกันการติดเชื้อ พบว่าทุกสูตรหลักที่มีการใช้ในประเทศไทย ได้ผลไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ประมาณ 62% ถึง 78% รวมถึงสูตร 2SV 1AZ และ 1SV 2AZ ที่เป็นสูตรไขว้ และวัคซีนสูตร mRNA ที่มีการใช้ค่อนข้างสูง


“จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ วัคซีนสูตร 3 เข็มทุกชนิดที่กำหนดให้ใช้ในประเทศไทยยังพอมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่ง แม้จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แต่ที่สำคัญคือช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการตายได้ค่อนข้างสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย SV หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ AZ หรือ mRNA ก็ได้ผลไม่แตกต่างกัน รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์