พท.ขยันเสี้ยมรบ.อยู่แค่กลางปี

วิปรัฐบาลได้ชื่อประธาน กมธ.วิสามัญฯ คุมเกมแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับแล้ว รอเคาะ 1 มี.ค. ฝ่ายค้านบอก ประยุทธ์โดน "บีบไข่" หน้าเขียว เชื่อกลางปีนี้ไม่รอด เสี้ยมระวังโดนเสี่ยหนู-ลุงป้อม ตลบหลัง พท.กางแผนสู้ประชานิยมพปชร. ทำแคมเปญบัตรครอบครัวเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กรณีการเสนอชื่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่คณะ กมธ.จะประชุมกันนัดแรกวันอังคารที่ 1 มีนาคมนี้ว่า ต้องเลือกกันในที่ประชุม ซึ่งภายในก็มีกันบ้างแล้ว แต่เอามาพูดก่อนก็ไม่ได้ โดยตำแหน่งประธาน  กมธ.ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับรัฐมนตรี เป็นเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภาต้องไปตกลงด้วยกันใน กมธ.ว่า ใครมีความเหมาะสมที่จะเป็นประธาน รองประธาน และตำแหน่งอื่นๆ เป็นเรื่องของ กมธ.ที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ให้ความเห็นว่า เรื่องกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. เอาตามร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหลักการคือบัตร 2 ใบ แต่คนละเบอร์ ส่วนเรื่องการนับคะแนน คือนำมารวม แล้วหารด้วย 100 เป็นคะแนนกลางและคิดว่าคงเป็นแบบนี้ ไม่สามารถเป็นแบบอื่นได้ จึงคิดว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งไม่มีการเพิ่มเติมอะไร

นายนิกรกล่าวว่า ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเอาร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งตัวหลักสำคัญคือเรื่องไพรมารีโหวต กับตัวแทนเขต แล้วจากที่ได้ฟังการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา คิดว่าตัวแทนที่ประจำจังหวัดมีแห่งเดียวตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้บุคคลเพียงคนเดียวทำการแทนได้ เห็นว่าไม่น่าจะเหมาะ เพราะไม่สามารถดูแลได้ทั้งจังหวัด เห็นด้วยกับการอภิปรายของ ส.ว.และพรรคฝ่ายค้านว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนเดียว สามารถทำการแทนให้ทั้งจังหวัดนั้นน้อยไป จึงต้องไปแก้ในชั้นกรรมาธิการว่าให้เป็นคณะบุคคลอาจจะ 5 คน แต่ไม่ถึงขั้นให้เป็นสาขาที่ต้องมีสมาชิก 500 คน

ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการคว่ำกฎหมายลูก และถอยกลับไปแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ไม่น่าจะทำได้ แต่เป็นเรื่องที่สามารถคิดได้ ที่สำคัญคือทางการเมืองทำไม่ได้ เพราะเราจะบอกกับประชาชนว่าอย่างไร หากกลับไปกลับมา และถ้าเกิดไปแก้รัฐธรรมนูญ เวลาของรัฐสภาที่เหลืออยู่ไม่พอแน่ และหากจะมีการคว่ำจริง พรรคการเมืองจะให้คว่ำหรือ คำถามคือใครจะเป็นคนยกร่างเสนอแก้รัฐธรรมนูญ หากฝ่ายค้านยกร่างที่เสนอมาโดยประชาชน ฝ่ายค้านอาจจะยิ่งวุ่นวาย นั่นหมายความว่าโดยกฎหมายทำได้ แต่โดยการเมืองและเวลาที่เหลืออยู่นั้นทำไม่ได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหนึ่งใน กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวเช่นกัน กล่าวถึงการเลือกประธาน กมธ. ว่ากำลังปรึกษาหารือกันอยู่ต้องดูว่าฝ่ายรัฐบาลเขาคิดอย่างไร เสนอใครมาเป็นประธาน ถ้าเขาเสนอรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธาน กมธ.เราอาจจะไม่คัดค้าน เพราะเป็นกติกามารยาททางการเมือง เราก็ค่อยมาดูว่าจะเอาใครนั่งเป็นรองประธาน กมธ. เพราะทางรัฐมนตรีน่าจะมีเวลาไม่มากเราก็จะใช้รองประธานในการขับเคลื่อนเป็นหลัก แต่หากรัฐมนตรีไม่รับแล้วจะเสนอเป็นชื่อบุคคลอื่น ตรงนี้ก็อาจจะเป็นข้อพิจารณาที่เราจะเสนอแข่ง

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะคว่ำกฎหมายลูกเพื่อเป็นเงื่อนไขในการที่จะไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญใหม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ เช่น ผ่านการพิจารณาวาระ 2 แล้ววาระ 3 คว่ำเพื่อให้กฎหมายตกไป แต่ถามว่าเป็นทางตันไหม ก็ไม่ตัน เพราะถ้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตกไป ก็ต้องเสนอ พ.ร.ป.ใหม่ โดยมารยาทต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าเขาจะอ้างเหตุเพื่อไปเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เราในฐานะเสียงข้างน้อย เราก็ต้องคัดค้านให้ถึงที่สุด เราต้องทำหน้าที่ของเรา

เมื่อถามว่า จากการที่รัฐสภาตีตกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของฝ่ายค้านทั้งหมดแบบนี้ ทางฝ่ายค้านมีการเตรียมแก้เกมตรงนี้หรือไม่ อย่างไรในชั้น กมธ. นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาระสำคัญที่ถูกตีตกไปคือความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไม่ให้คนนอกมาครอบงำ ชี้นำ และเรื่องการยุบพรรคที่ง่าย ซึ่งตรงนี้ไม่มีในร่างของรัฐบาล คงจะเสนออะไรไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีในหลักการที่รับไว้ แต่ในร่างที่ทางรัฐบาลเสนอมา สิ่งที่เราได้ เราก็ได้ครอบคลุมเกือบหมดบางอย่างที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องรายละเอียด เชื่อว่าจะสามารถปรับกันได้ในชั้น กมธ.

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย หนึ่งใน กมธ.เช่นเดียวกัน บอกว่า การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ยึด 3 ประเด็นที่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลักไว้ก่อน และไม่น่าจะเกิดการคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับเพราะกฎหมายลูกออกมาคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันยากกว่าการแก้ไขกฎหมายลูกและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันคือ ส.ว.และ ส.ส.

ส่วนประเด็นการเมืองเรื่องทั่วๆ ไปก็มี นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค หลังปิดสมัยประชุมสภาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ว่าจะมีกิจกรรมลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยจะมีโครงการฝ่ายค้านพบประชาชน ส่วนของพรรคเพื่อไทย จะมีโครงการ ครอบครัวเพื่อไทย ที่จะยกคณะพรรคเพื่อไทยเดินทางเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมอุดมการณ์ให้สมัคร บัตรครอบครัวเพื่อไทย คนจะมาสมัครบัตรนี้ จะเป็นสมาชิกเพื่อไทยหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ได้ บัตรครอบครัวเพื่อไทย มีวัตถุประสงค์เชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรมของพรรค ได้เสนอแนวคิด ความต้องการ ถ้าพรรคมีโครงการสวัสดิการ ที่อาจจะมีสหกรณ์ ร้านค้า สำหรับสมาชิกบัตรครอบครัวเพื่อไทย แต่เป็นคนละรูปแบบบัตรสวัสดิการประชารัฐ เพราะเราไม่มีอำนาจ ที่จะไปทำอย่างภาครัฐได้ เพียงแต่อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมเป็นครอบครัวเพื่อไทย นอกจากนี้ ช่วงปิดสมัยประชุม จะมีการเตรียมพร้อมรองรับการเลือกตั้งให้จบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบายที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าผู้สมัคร ส.ส.

นายสุทินกล่าวว่า การเปิดประชุมสภาสมัยหน้าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงจากปัจจัยหลายเรื่อง เมื่อเปิดสภาสมัยหน้า มีความเสี่ยง ทั้งเรื่องที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและครม. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 เรื่องการพิจารณางบประมาณ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีนายกฯ เรื่องที่ ส.ส.ออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็เริ่มต่อรองกันสูง

"แต่ละเรื่องระอุทั้งนั้น ช่วงนี้ก็เริ่มมีการต่อรองกันแล้ว ถ้าไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ อาจจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มบีบไข่กันแล้ว ตั้งแต่สมัยประชุมหน้า เรื่องที่จะต้องใช้เสียงโหวตตึงเครียดทั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิทั้งอยู่ได้และอยู่ไม่ได้ตลอดเวลา ปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลหลับกลางอากาศมีพร้อม" ประธานวิปฝ่ายค้านชี้ชัด

เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลก็มั่นใจ นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันมี 260 เสียงอยู่ในมือ นายสุทินแย้งว่า  260 เสียง มองให้ดีเป็น 260 เสียงค้ำรัฐบาลหรือเอาไว้ขู่รัฐบาล มองมุมหนึ่ง อาจทำให้เขาอยู่ร่วมกันได้ เพราะมีเสียงช่วยกันเยอะ แต่ถ้าเขาไม่ช่วยล่ะ ส่วนตัวมอง 260 เสียง คงหวังขู่นายกฯ มากกว่า อย่าไปหลงที่เขายกตัวเลข 260 ถ้าเขายกมือให้ก็อยู่ได้ แต่ถ้าไม่ยกมือให้ ก็มีสิทธิไปได้เหมือนกัน ในวันนี้พรรคภูมิใจไทยมีความพร้อมทุกด้าน ถ้าคู่ต่อสู้อ่อนแอเมื่อไหร่ อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

 “ที่อ้างว่า 260 เสียง แม้ไม่นับรวม ส.ส.รัฐบาลที่แยกตัวออกไป แต่ได้รวมกันไว้หมดทั้งฝ่ายรัฐบาลที่เหลือและงูเห่าในฝ่ายค้านด้วย แต่ยิ่งในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง งูเห่าก็กลัวเหมือนกัน ถ้าเกิดแป้กล่ะ งูเห่าอาจไม่กล้าแผลงฤทธิ์ ดังนั้น 260เสียง ผมคิดว่าคงไม่น่ามีเสียงถึงขนาดนั้นจริงๆ แต่ 260 เสียงคงเอาไว้ขู่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่า สมัยประชุมหน้า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน แต่จะยื่นช่วงเวลาใด คงต้องไปหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง เพราะยังมีเรื่องสำคัญที่ยังไม่ได้อภิปรายครั้งที่ผ่านมา การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ไม่เหมือนกับการอภิปรายตามมาตรา 151 ที่เป็นข้อกล่าวหารุนแรง ที่ฝ่ายค้านมีข้อมูลที่เก็บไว้ รออภิปรายในสมัยประชุมหน้า” นายสุทินกล่าว

ถามอีกว่า คิดว่าจะมีการล้มรัฐบาลกลางสภา เหมือนช่วงปี 2564 อีกหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ความคิดที่จะหักกันกลางสภา เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ครั้งที่แล้ว จ่อไว้แล้ว เปรียบเหมือนกระสุนอยู่ในรังเพลิง จ่อเอาไว้แล้ว เพียงแต่กดสับ ไม่สำเร็จ แป้กเสียก่อน มาครั้งนี้กระสุน บรรจุในรังเพลิงเหมือนเดิม เพียงแต่จะ กดสับหรือไม่กด เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลล้มมีทั้งปัจจัยจากเสี่ยหนู พรรคภูมิใจไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ และเสี่ยป้อม วันนี้นายกฯ เหมือนถูกขี่ ถูกบีบจากรอบทิศทาง

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย บอกว่า เปิดสมัยประชุมสภา 22 พ.ค.65 พรรคเพื่อไทยจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งเรื่องที่อภิปรายก็มีเช่น เรือดำน้ำ การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยพระรามตู่อย่าเพิ่งยุบสภาไปก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง