ไม่พึ่งก๊วนธรรมนัส เสียงรัฐบาลหนุนตู่เกินครึ่ง เย้ยโทนี่กลับมาติดคุกพ.ศ.นี้

สัญญาณเริ่มชัด ลูกโทนี่ ลุยการเมืองแน่ "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร" ลูกสาวเจ้าของพรรคเพื่อไทยสอน พท. สร้างนวัตกรรมทางการเมือง "สาธิต" ลั่นเดินหน้าเร่งพิจารณาแก้ กม.ลูก 2 ฉบับ ดับเสียงวิจารณ์ รบ.คิดเตะถ่วง จ่อคิกออฟเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-พัทยา มท.พร้อมชง ครม.ไฟเขียวสัปดาห์หน้า

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทย” โดยย้ำว่า จะเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับให้เสร็จภายในช่วงปิดสมัยประชุม โดยมีเวลาประมาณ 2 เดือน จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันพุธ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในวันพฤหัสบดี ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์หน้า

นายสาธิตกล่าวว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้าทันที หลังวันที่ 22 พฤษภาคม หรือหากเสร็จเร็วจะประสานประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันข้อครหาว่ารัฐบาลเตะถ่วง เพราะต้องการอยู่ในตำแหน่งนานๆ ทั้งนี้ ยังไม่มีนโยบายอะไรมาจากรัฐบาล และยืนยันว่ารัฐบาลสั่งไม่ได้ เพราะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งโดยรัฐสภา กลไกในกรรมาธิการจะถูกคัดท้ายด้วยประธาน แต่ถูกเดินด้วยความเห็นของกรรมาธิการที่มาจากทุกพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภา  

 “รัฐบาลต้องแสดงออกให้เห็นว่าไม่ได้ถ่วงเวลาที่จะใช้กฎหมายเพื่อให้อยู่ได้นาน ทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ในบ้านเมืองมีความเห็น ความเชื่อแตกต่างกัน รัฐบาลจึงต้องแสดงออก ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าไม่ได้ยื้อเวลา และกฎหมายลูกเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีสิทธิอยู่แล้วว่าจะอยู่ต่อหรือยุบสภา เป็นทางเลือกที่เปิดเอาไว้ แต่ถ้าจะเลือกทำอย่างอื่นแล้วกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ยิ่งตอบคำถามไม่ได้ว่ารัฐบาลจะยื้อหรือจะดึงให้อยู่ต่อ ผมคิดว่าต้องทำตรงนี้ให้พร้อม เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาจากประชาชนที่มีมาถึงท่านนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะมีเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ผมไม่ทราบ ผมไม่เกี่ยว จะใช้เหตุผลในการทำงาน ควบคุมการประชุม เพื่อนำไปสู่กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ด้วยเหตุด้วยผล ต้องยอมรับว่ามีแรงกดดัน เพราะมองกันว่ากรรมาธิการชุดนี้มีความสำคัญ มีคนมาแสดงความยินดีกับผม แต่ผมบอกว่ามันเป็นเผือกร้อน เพราะการจะสร้างกติกาให้แต่ละฝ่ายยอมรับเป็นแรงกดดันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมืองหรือประชาชนฝั่งไหน" นายสาธิตกล่าว

นายสาธิตกล่าวว่า การพิจารณาไม่มีธงว่าหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ จะขอฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน และข้อมูลหลักฐานบัตรดี-บัตรเสีย เพื่อประกอบการพิจารณา แต่คงไม่ถึงขั้นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา แต่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าพร้อมที่จะสร้างกติกาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้

 “ทุกฝ่ายกดดันมา แต่ผมเป็นคนทำงาน ตอบคำถามได้ ตั้งใจทำตรงนี้และไม่มีผลประโยชน์อื่น ไม่รับคำสั่งใคร ผมตอบได้ผมสบายใจ และเชื่อว่าไม่สร้างรอยร้าวอะไรในพรรคร่วมฯ ผมอธิบายได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ผมอธิบายมันตรงกัน แต่ผมมาจากสัดส่วน ครม. ถ้าผมไปที่ประชุมปั๊บ ผมก็ต้องเป็นประธานอยู่ดี เราเป็นตัวแทนจากฝั่ง ครม. แต่ผมเลือกไม่ไป เพราะรักษามารยาท แต่ในที่ประชุมเลือกผมขึ้นมา ก็ต้องเคารพเวทีกรรมาธิการ” นายสาธิตกล่าว

"วิษณุ"จี้งานสภาต้องปรับปรุง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังถูกถามถึงความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยนายวิษณุนิ่งไปช่วงหนึ่ง ก่อนตอบว่า “ที่นิ่งไม่ได้คิดหนัก หรือเป็นคำถามที่ตอบยากอะไร มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะถาม คือได้ถ้าคุณจะไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้ได้หรือไม่นั้นผมไม่รู้ แล้วจะไปแก้ทำไม เพิ่งแก้มาหมาดๆ ถ้าจะแก้ แก้เรื่องอื่นที่มีความสำคัญกว่า”

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่มีคนเสนอชื่อนายสาธิต ปิตุเตชะ ไปแข่ง ถือว่าเป็นความขัดแย้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ไม่ปฏิเสธทั้ง 100% ที่จริงน่าจะมีการพูดกันมาก่อน แต่ทราบว่าเรื่องนี้ไม่มีการพูดกันมาก่อน พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครรู้ว่าจะให้ใครเป็นประธานกรรมาธิการ เรื่องนี้ผิดปกติมาตั้งแต่ต้น เดิมทีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าของร่าง เป็นผู้พูดสรุปในรัฐสภา แต่ไม่มีชื่อนายวิเชียรเป็นกรรมาธิการ แปลว่ายังไม่พูดจาอะไรกันที่ชัดเจน

เมื่อถามว่า แสดงว่าเอกภาพของรัฐบาลในสภามีปัญหาใช่หรือไม่ เพราะเรื่องใหญ่ขนาดนี้ไม่ตกลงกันให้ชัดเจน นายวิษณุกล่าวว่า ก็แล้วแต่จะคิด ประเมินเรื่องนี้ แต่ไม่ขอออกความเห็นทางสาธารณะ

เมื่อถามว่า เช่นนี้แล้วงานสภาต้องปรับปรุงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า​ “ต้อง” ถามต่อว่า คำว่า “ต้อง” ที่ว่าหมายถึงอะไร นายวิษณุกล่าวว่า แค่นี้พอแล้ว เพราะสื่อก็พาดหัวไป 7 วันแล้ว

เมื่อถามว่า แสดงความคิดเห็นออกไปแล้วคิดว่าเขาจะทำตามหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ได้บอกกับเขาว่าให้ทำอะไร เมื่อสื่อถามมาว่าต้องปรับปรุงหรือไม่ ก็ตอบสื่อว่าต้อง ส่วนเขาจะทำตามหรือไม่ คิดว่าเขาคงไม่ได้ยินตนพูด ก็ให้รออ่านจากสื่อที่นำเสนอ

พปชร.บอกเองทำไม'ไพบูลย์'วืด

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพปชร. ไม่ได้ตำแหน่งประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับดังกล่าวว่า คนที่เข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายลูก มีประสบการณ์ตอนเป็นคณะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) และมีความเห็นว่านายไพบูลย์ไม่ค่อยฟังคนใน กมธ. จึงมีความไม่พอใจวิธีการทำงานตั้งแต่ตอนนั้น เพราะบางทีเราต้องให้โอกาสคนที่เป็น กมธ.ได้อธิบายและพูดให้หมดประเด็นจ ะได้บันทึก ส่วนมติเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้มีการติดใจอะไร เท่าที่ทราบเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นพอเห็นจะมาเป็นประธาน กมธ.วิสามัญกฎหมายลูกชุดนี้ เขาก็เกิดความกังวล เขาจึงไม่อยากได้​ นี่คือเนื้อแท้ที่ กมธ.วิสามัญชุดนี้บ่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า​ การที่นายไพบูลย์ไม่ได้ตำแหน่งประธาน กมธ.วิสามัญกฎหมายลูก จะส่งผลต่อการพิจารณากฎหมายลูกในชั้น กมธ.หรือไม่ นายวิเชียรกล่าวว่า นายไพบูลย์ได้คุยแต่แรกว่าจะไปจัดการไปดูให้เรียบร้อย แต่ในเมื่อ กมธ.วิสามัญฯ เลือกนายสาธิต ปิตุเตชะ คิดว่านายสาธิตในฐานะประธานจะสามารถดูแลได้เรียบร้อย

ด้านความคิดเห็นทางการเมืองหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ระบุว่า 260 เสียงที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงฝันไป เพราะเสียงไม่ถึง และจะไม่มีเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยรวมอยู่ด้วย     

โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ไม่รู้เจตนาของ ร.อ.ธรรมนัส แต่ในการที่จะนับคะแนนหรือเสียงนั้น เสียงของรัฐบาลไม่นับพรรคเศรษฐกิจไทย ก็มากกว่าฝ่ายค้านอยู่ประมาณใกล้ๆ 30 เสียง หากนับของพรรคเศรษฐกิจไทยไปรวมกับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ยังมากกว่าฝ่ายค้านอยู่ประมาณ 30 เสียง ฉะนั้นอยากอธิบายตัวเลขที่พูดกันว่าเป็นอย่างนี้ ส่วนจะเป็นการพูดต่อรองอะไรหรือไม่ ตอบไม่ได้ ต้องไปถามเขา เพราะไม่ใช่คนคิดเกม

ขณะที่นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ขอวิจารณ์เกี่ยวกับตัวเลข เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของร.อ.ธรรมนัส แต่มั่นใจว่าเสียงของ ส.ส.ที่จะสนับสนุนรัฐบาล และนายกฯ จะมีเกินครึ่งของจำนวน ส.ส. คือ 238 เสียงแน่นอน ส่วนจะถึง 260 เสียงหรือไม่ คงไม่ไปคาดการณ์ เนื่องจากเป็นเรื่องของสภา และในทางการเมืองอะไรก็เกิดได้ทั้งนั้น คิดว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาในเดือน พ.ค.นี้ คงมีการหยิบยกเรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 บรรจุเข้าในวาระเพื่อพิจารณาก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่มีกรอบเวลาดำเนินการ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในเดือน ต.ค. จากนั้นคงเป็นเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน

 “ผมเชื่อว่าทั้ง 2 เรื่องรัฐบาลจะผ่านไปได้ด้วยเสียงเกินครึ่ง และ พล.อ.ประยุทธ์จะบริหารราชการต่อไป ไม่เห็นว่ามีเรื่องใดต้องกังวล และเชื่อว่านายกฯก็ไม่กังวลหรือมองว่าเป็นอุปสรรค เพราะเป็นแค่ความเห็นทางการเมือง”

ด้านนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. เขตคลองเตย-วัฒนา พรรคพลังประชารัฐ​ ให้ความเห็นหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ชุมชนคลองเตย เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ปฏิบัติภารกิจเพื่อคนคลองเตยมาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยทอดทิ้งชาวคลองเตย ทำงานช่วยเหลือพี่น้องชาวคลองเตยมาโดยตลอดจนเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้ 1.นำเรื่องทุกข์ร้อนของชาวคลองเตยเข้าหารือในรัฐสภา เพื่อสะท้อนปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข 2.ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวคลองเตย แบบถึงลูกถึงคน ทั้งออกหน่วยตรวจคัดกรองโควิด, มอบถุงยังชีพ แจกข้าวกล่อง ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย บริการตัดต้นไม้ ซ่อมถนนและการติดตั้งไฟโซลาร์ตามจุดต่างๆ 3.ติดตามการแก้ปัญหาทั้งในรูปแบบกรรมาธิการ เช่น สายสื่อสารที่รกรุงรัง เรื่องปัญหาอาคารสูงและปัญหาพื้นที่ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน เป็นต้น

เอาแน่'อุ๊งอิ๊ง'ขยับลงการเมือง

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปในหัวข้อ “คิด-เปลี่ยน-โลก สร้างโลกที่ดีกว่าและแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงนวัตกรรม” บรรยายโดยนายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท Fire One One และที่ปรึกษาด้าน Business Transformation เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘กระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม’  (Innovative Thinking) สำหรับนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรค รวมทั้งกรรมการบริหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกพรรค เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า หัวใจของกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรมเริ่มต้นที่การเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง เข้าใจมนุษย์ เข้าใจคน เพื่อเรียนรู้ปัญหา ให้ถึงแก่น จนได้มาซึ่งวิธีการแก้ปัญหา โดยมองว่าพรรคเพื่อไทยสามารถนำเอากระบวนการคิดเชิงนวัตกรรมมาสร้าง ‘นวัตกรรมทางการเมือง’ ผ่าน ส.ส. และสมาชิกในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีรากจากพรรคไทยรักไทย ได้ใช้วิธีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา เพื่อให้เข้าใจปัญหา จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้สำเร็จผ่านหลากหลายนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พรรคการเมืองจึงต้องมีการปรับวิธีการเก็บข้อมูล ที่ต้องมาจากประชาชนและการรับฟังเพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริง  นำมาผ่านกระบวนการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ผ่านวิธี DIWK รวม 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.D : Data จัดเก็บข้อมูลดิบ 2.I : Information ประมวลผลออกมาข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 3.W : Wisdom ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา 4.K : Knowledge ใช้องค์ความรู้ในการสร้างนโยบายเมื่อผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอน จะได้มาซึ่ง ‘สมมติฐาน’ แล้วจึงนำมาสร้างวิธีการแก้ปัญหา ออกมาเป็นนโยบายใหม่ๆ ต่อไป

 “พรรคเพื่อไทยสานต่อแนวคิดการลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนทั่วประเทศ ก่อนนำเสนอเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย ซึ่งในขณะนี้ ในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เรายังไม่เปลี่ยนคือการรับฟังและการค้นหา รากของปัญหาที่แท้จริง เป็นกระบวนการคิดใหม่ที่พรรคการเมืองควรเพิ่มเสริมเข้าไปเพื่อตอบสนองสนองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศ” น.ส.แพทองธารกล่าว

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือโทนี่ วู้ดซัม กล่าวในรายการ CARE Talk x CARE ClubHouse สงสารคนไทย หลังฟังนายสุธรรม แสงประทุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย บอกว่านายกฯประยุทธ์มาทำให้คนไทยจน แต่พวกเขารวย พร้อมบอกว่าจะกลับไทย พ.ศ.นี้  โดยนายเสกสกลระบุว่า หากนายสุธรรม มองว่านายกฯ ประยุทธ์เข้ามาทำให้คนไทยจนนั้น ขอให้กลับไปมองว่าสมัยนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ประชาชนเป็นอย่างไร และทั้ง 2 อดีตนายกฯ ร่ำรวยอย่างไร เพราะตนเห็นว่านอกจากความเป็นอยู่ของประชาชนยังไม่ดีขึ้น ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาประเทศอะไรเลย ทิ้งประชาชน สนใจแต่ประโยชน์ตัวเอง ครอบครัวตัวเอง จนร่ำรวยไม่เลิก อีกทั้งประชาชนออกมาขับไล่ มีคดีจนหนีไปมีความสุขในต่างประเทศ ซึ่งตนมองว่าในสมัยนั้นประชาชนน่าสงสารมากกว่าที่มีผู้นำเช่นนี้

นายเสกสกลกล่าวอีกว่า ที่นายทักษิณบอกว่าจะกลับประเทศไทย พ.ศ.นี้นั้น ได้ยินนายทักษิณพูดเช่นนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่กล้าที่จะกลับเข้ามา ขอย้ำว่าไม่มีใครห้ามนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศ แต่ให้มารับโทษทางกฎหมายที่มีอยู่ กลับมาติดคุกก่อน หากนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่กล้า ที่จะเข้ามาติดคุกตามกฎหมายที่มีอยู่ ก็อย่าฝันหวานว่าจะได้กลับเข้ามาในเมืองไทย และอย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นรัฐบาลและจะหาทางฟอกตัวให้พ้นผิดได้ ไม่กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรืออย่างไร ถ้าไม่กลับมาติดคุก ไม่กลับมารับโทษ ก็คงต้องอยู่ต่างประเทศ เป็นเจ้าของคอกสุนัขอยู่ต่างประเทศตราบสิ้นลมหายใจต่อไป เพราะที่นี่คือประเทศไทย ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย จะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ เมื่อศาลพิพากษาแล้วถือเป็นที่สุด ต้องกลับมานอนคุกเท่านั้น

ขณะที่ความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา กับสมาชิกสภาเมืองพัทยานั้น              

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 ฉบับ คือ 1.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยประกาศเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ก.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 มาตรา 19 และมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กกต.จึงประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ก.ออกเป็น 50 เขตเลือกตั้ง โดยมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละหนึ่งคน และ 2.ประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 มาตรา 19 และมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กกต.จึงประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีทั้งสิ้น 4 เขตเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 6 คน รวม 24 คน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า ยังอยู่ในไทม์ไลน์เดิม คงจะได้เลือกกันในช่วงเดือน พ.ค.นี้ และคาดว่าในสัปดาห์หน้ากระทรวงมหาดไทยไทยจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายประชาสังคมฯ ยื่นหนังสือจี้ถก 'กาสิโนคอมเพล็กซ์' ให้รอบด้าน

เครือข่ายประชาสังคมฯ ยื่น กมธ.วิสามัญสถานบันเทิงครบวงจร หวังสภาพิจารณาอย่างรอบด้าน ลั่นคนเสียผลประโยชน์ที่แท้จริงคือ ปชช. ด้าน 'จักรพล' ย้ำ กิดการจ้างงานแน่