ติดเชื้อพุ่ง6.5หมื่นพีกสุดกลางเม.ย.

ยอดติดเชื้อใหม่รวมผล ATK เกินครึ่งแสน ดับพุ่ง 49 ราย ชี้พีกสุดกลาง เม.ย. 4-5 หมื่นรายต่อวัน หากหย่อนมาตรการสูงกว่านี้แน่ บี้ทุกจังหวัดเร่งฉีดกระตุ้นผู้สูงอายุก่อนเทศกาลสงกรานต์ "อนุทิน" เร่งเพิ่มคู่สายด่วน 1330 สธ.ดึง 14 รพ.ในสังกัดรอบกรุง เสริมระบบเจอ จ่าย จบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 มีนาคม  พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,618 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 23,211 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22,939 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 272 ราย, มาจากเรือนจำ 226 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 181 ราย หากรวมยอดผู้ติดเชื้อที่ตรวจเอทีเคเป็นผลบวก 42,138 ราย จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 65,756 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,958,162 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,939 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,711,678 ราย อยู่ระหว่างรักษา 223,414 ราย อาการหนัก 1,131 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 325 ราย โดยเป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 79,412 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว 98.5% เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 49 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 25 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 41 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,070 ราย  สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ประกอบด้วย กทม. 2,779 ราย, ชลบุรี 1,217 ราย, นครศรีธรรมราช 959 ราย,  สมุทรปราการ 953 ราย, ระยอง 754 ราย,  นนทบุรี 739 ราย, สมุทรสาคร 704 ราย,  ภูเก็ต 649 ราย, ราชบุรี 570 ราย และบุรีรัมย์ 548 ราย

ส่วนยอดสะสมผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 440,641,800 ราย โดยวันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ทั้งนี้ ในบางประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงได้มีการผ่อนคลาย และมีการจัดการในรูปแบบโรคประจำถิ่น ได้แก่ ประเทศสเปน  ประเทศอินเดีย และในสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้มีประเทศจีน ที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และมีแนวโน้มจะยกเลิกและใช้มาตรการ Living With Covid-19 หรือการอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับมาตรการเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องพิจารณาให้รอบด้านและคำนึงถึงประชาชน

"หากไปดูการคาดการณ์สถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าการติดเชื้อในประเทศยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าประชาชนทำตามมาตรการและหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือ การติดเชื้อมากสุดจะอยู่ช่วงกลางเดือน เม.ย. โดยผู้ติดเชื้อจะอยู่ประมาณวันละ 4-5 หมื่นราย แต่หากทุกคนย่อหย่อน ตัวเลขจะสูงมากกว่านั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการ ดีที่สุดอยากให้คงตัวเลขติดเชื้อวันละไม่เกิน 2 หมื่นราย เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไว้" พญ.สุมนีระบุ

 ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ขณะที่คลัสเตอร์ที่พบมากสุดในวันนี้คือ สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ พบที่ กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา คลัสเตอร์โรงเรียนพบที่ร้อยเอ็ด พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ ชลบุรี เพชรบุรี มหาสารคาม คลัสเตอร์ตลาดพบที่สมุทรสาคร เพชรบุรี อุบลราชธานี จันทบุรี ขอนแก่น มุกดาหาร ส่วนคลัสเตอร์โรงงาน พิธีกรรมศาสนา และร้านอาหารมีการแพร่เชื้อน้อยลงแล้ว

พญ.สุมนีกล่าวว่า กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ว่าผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการระบาดโอมิครอนในระลอกนี้ เมื่อเทียบกับการรับวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ. พบว่าผู้เสียชีวิต 75% เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 928 ราย โดยยังไม่ได้รับวัคซีนเลย  60% หรือ 557 คน ได้รับหนึ่งเข็ม 8% หรือ 77 คน รับสองเข็ม 29% หรือ 271 คน และวัคซีนกระตุ้น 2% หรือ 23 คน ถ้าเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตกับการรับวัคซีน ผู้สูงอายุทั้งหมด 12.71 ล้านคน มีจำนวน 2.2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุด 257 ต่อ 1 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะลดอัตราการเสียชีวิต 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่รับวัคซีน และฉีดครบ 2 เข็ม จะลดการเสียชีวิต 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีน และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส 2 เข็ม กับรับเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 จะลดอัตราการเสียชีวิตลง 7 เท่า เมื่อเทียบกับฉีดครบ 2 เข็ม

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2.2 ล้านคน ให้รับวัคซีน และเข็มที่ 2 ให้ไปฉีดตามนัด และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อครบ 3 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ ที่ลูกหลานจะเดินทางกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน จึงให้กรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัดทุกพื้นที่สำรวจผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังได้รับไม่ครบ หรือมีกำหนดฉีดเข็มกระตุ้น ให้ลงไปฉีดวัคซีนเชิงรุกกับกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากพบปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านสายด่วน 1330 เพิ่มเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้มีการเพิ่มคู่สายรองรับมากขึ้น และหาวิธีการให้คนได้ลงทะเบียนเข้าระบบมากขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้อธิบดีทุกกรมที่มีสายด่วนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเพิ่มช่องทางให้บริการ ซึ่งนโยบายการรักษาในระบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD “เจอ-แจก-จบ” เป็นอีกแนวทางที่พยายามคลายปัญหาคอขวดผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวที่มากขึ้นขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถมารักษาผ่านระบบ OPD ได้ เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วจ่ายยาและจบกลับไปดูแลตนเองที่บ้านได้ภายใน 5-10 วัน ทั้งนี้ต้องสื่อสารให้คนมีความเข้าใจโรคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนรวมถึงบูสเตอร์โดส

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนของไทยยังพบผู้ป่วยติดเชื้อสูง ฉากทัศน์คาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ คาดจะค่อยๆ ลดลงปลายเดือนเม.ย. ส่วนอัตราการเสียชีวิตพบว่าอยู่ที่ 0.19% โดยพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 90% อยู่ในกลุ่ม 608 และ 95% เป็นคนสูงอายุ ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ส่วนอัตราครองเตียง พบเป็นสีเขียว 66.4%, สีเหลือง 22.7% และสีแดง 22.4% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้ป่วยกระจุกตัว และรอการติดต่อจากสายด่วน 1330 จึงมีแนวคิดเปิด OPD ดูแลผู้ป่วยแบบเจอ จ่าย จบ หลังผู้ติดเชื้อตรวจ ATK เป็นบวกก็สามารถมาขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาล จะมีการประเมินอาการและพิจารณาแจกจ่าย และแจกความรู้ในการดูแลตนเองในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการดูแลผู้ป่วยแบบเจอ จ่าย จบ พบว่าในพื้นที่ กทม.มีอัตราผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับมีประชากรค้างในระบบรอการเข้าระบบ 30,000-50,000 คน จึงเตรียมนำโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาช่วยสนับสนุน รวม 14 แห่ง เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก หรือให้บริการ ARI CLINIC แก่ประชาชนในสังกัด กทม. เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของโรงพยาบาลสังกัด กทม . หรือศูนย์บริการสาธารณสุข โดยจะรองรับผู้ป่วยได้ถึง 18,650 คนต่อวัน ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รพ.สังกัด กรมสุขภาพจิต (ปริมณฑล) และ รพ.สังกัดกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ คาดสามารถเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.เป็นต้นไป ในเวลาราชการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง