ติดเชื้อไฟลามทุ่ง นายกฯถก‘อัศวิน’ หนุน‘เจอแจกจบ’

"โอมิครอน" ครองเมือง! สธ.เผย  BA.2 มาแรงแพร่เร็ว ยันยังไม่ผุดสายพันธุ์ใหม่ เตือนรีบฉีดเข็ม 3 กระตุ้น ด้าน ศบค.เผยตัวเลขติดเชื้อไฟลามทุ่ง  รวมตรวจ ATK หวิดแตะ 5 หมื่น ตายนิวไฮ 65 ราย  โดยเฉพาะโรคมะเร็ง-ไต-อ้วน วอนพากลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนก่อนเทศกาลหยุดยาว จับตาเคาะมาตรการสงกรานต์  ขณะที่ "อัศวิน" ดอดขึ้นตึกไทยฯ คุย "บิ๊กตู่" มาตการเจอ  แจก จบ เล็งขยับสาธารณสุข กทม. 69 ศูนย์เสริมทัพรักษาผู้ป่วย

เมื่อวันจันทร์ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,162 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,986 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 20,784 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 202 ราย มาจากเรือนจำ 74 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 102 ราย เป็นผู้มีผลตรวจ ATK  เป็นบวก 24,236 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่  45,398 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 65 ราย เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในระลอกนี้ โดยเป็นชาย 34 ราย หญิง 31 ราย  เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 55 ราย มีโรคเรื้อรัง  8 ราย

“ทั้งนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ใน กทม. คือคลัสเตอร์ก่อสร้างที่เขตคลองสามวา ส่วน 5 เขตที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน กทม. ได้แก่ หลักสี่, บางซื่อ, หนองแขม, วัฒนา และดินแดง นอกจากนี้ ยังให้มีการเฝ้าระวังจังหวัดชายแดน จ.ตากและสระแก้ว เนื่องจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามา ทั้งนี้โรคที่พบร่วมกับผู้เสียชีวิตในช่วงนี้ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย, โรคไตวายเรื้อรัง, ภาวะติดเตียง และโรคอ้วน ซึ่งเจอมากกว่าโรคอื่นๆ” พญ.สุมนีระบุ  

พญ.สุมนีกล่าวว่า ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่จะต้องมีการกลับไปทำกิจกรรมร่วมกัน ขอให้คนในครอบครัวพาผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง และเด็กเล็กซึ่งมีตัวเลขเสียชีวิตมากขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันและยังไม่ได้รับวัคซีนไปฉีดวัคซีน

พญ.สุมนีกล่าวว่า ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะเป็นช่วงหยุดยาวหลายวันตั้งแต่วันพุธที่ 13-15  เม.ย.และติดเสาร์-อาทิตย์อีก รวมแล้วอย่างน้อย 5 วัน  โดยจะพิจารณามาตรการไปพร้อมกับสถานการณ์ในช่วงนี้ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18  มี.ค.นี้ โดย 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, มหาดไทย, คมนาคม, การท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการ​ณ์การแพร่ระบาดของ​โรค​โค​วิด​-19 ว่า​ ข้อมูลในปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนครองโลกเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยโอมิครอนสายพันธุ์  BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก และมี BA.1.1 สายพันธุ์ลูกซึ่งมีการกลายพันธุ์ เจอค่อนข้างมาก ส่วน BA.2 พบแสนกว่า ส่วน BA.3 มีน้อยมาก​    

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยที่มีการเฝ้าระวังช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ตรวจ 1,900 ราย พบว่าสายพันธุ์อัลฟา​ (อังกฤษ)​ เบตา (แอฟริกาใต้)​ แกรมมา ไม่พบแล้ว มีเดลตา​ (อินเดีย)​ 7 ราย ที่เหลือโอมิครอนทั้งหมด โดยแชร์ส่วนแบ่งในตลาดแล้ว 99.6% มีอยู่ในทุกจังหวัด ทั้งนี้พบโอมิครอน BA.1 และ BA.2 สัดส่วน พบในภาพรวม BA.2 พบ 52% โดยพบว่า BA.2  แพร่กระจายเร็วกว่า ค่อยๆ เบียด สัปดาห์ต่อไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักพักจะแทน BA.1 รวมทั้งต้องเฝ้าระวังว่าจะมี  BA อื่นอีกหรือไม่

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนความรุนแรงยังไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 ที่สำคัญพบว่ามีการแพร่ได้รวดเร็วกว่า 1.4 เท่า ถ้าติดในครัวเรือนจะแพร่กระจายได้สูงกว่า  BA.1 เทียบ 39% ต่อ 29% โดย BA.2 แพร่เร็วกว่า 10% ในส่วนวัคซีนพบ BA.2 ดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โอมิครอน BA. 1 และ BA.2 ต่างกันไม่มากจากงานวิจัย

 “แต่ที่พบสำคัญคือเรื่องยาป้องกัน จากที่เคยรักษา  BA.1 เดลตาได้ แต่มารักษา BA.2 ไม่ได้ จากที่ใช้ยาราคาแพงจัดการเชื้อได้ พอมาเจอสายพันธุ์ BA.2  จัดการไม่ได้ แม้จะเสียเงินแพงแค่ไหนการรักษาก็แทบไม่ต่างกัน โดยสรุปพบโอมิครอน BA.2 ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นการก้าวกระโดด  แต่เป็นตามสัดส่วนที่พบผู้ติดเชื้อ” นพ.ศุภกิจระบุ

เมื่อถามว่า สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 จะมีความรุนแรงต่อกลุ่มเสี่ยงหรือไม่อย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่พบรุนแรง พบว่าเมื่อติดเชื้อเร็ว ก็จะมีคนรับเชื้อได้มากขึ้น เป็น 39 เปอร์เซ็นต์ต่อ 29  เปอร์เซ็นต์ ในคนสูงอายุ 2 เข็มช่วยได้ไม่มากในเรื่องความรุนแรง

 “แต่ให้ชัวร์ต้องเข็ม 3 พบว่าวันนี้ผู้ที่เสียชีวิตยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่เพียงพอ มีติดเตียงที่บ้าน และยิ่งในช่วงสงกรานต์ที่จะมีการกลับบ้าน อาจจะเอาโอมิครอนไปฝากได้ ที่ใดที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือ 2 เข็มต้องรีบ ส่วนวัคซีนที่ใช้ในไทยจะมีผลต่อสายพันธุ์ย่อยที่พบ BA.1  และ BA.2 ไม่แตกต่าง วัคซีนทุกยี่ห้อเมื่อฉีดระยะหนึ่ง ภูมิจะลดลงแน่ เข็มกระตุ้นจึงจำเป็นในขณะนี้” นพ.ศุภกิจ ระบุ

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ในปัจจุบันย้ำว่าในไทยยังไม่พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.3 จึงยังไม่ต้องกังวล ยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอนยังเป็นสายพันธุ์สุดท้ายที่พบในขณะนี้

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 10.30 น.  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยภายหลังเข้าพบนายกฯ ว่า เป็นการมารายงานถึงสถานการณ์โอมิครอน และมาตรการ "เจอ แจก  จบ" โดยขอเร่งโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขทั้ง 69  ศูนย์ของ กทม. ที่จะปรับศูนย์ให้คล้ายๆ กับโรงพยาบาล มาช่วยสนับสนุนในการรักษา เนื่องจากโรงพยาบาลของ กทม.เองมีเพียง 11 แห่ง 

 “โดยขณะนี้ผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้รักษาที่บ้าน โดยจะให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเข้ามาช่วยในการจ่ายยาให้ประชาชนตามบ้าน  ส่วน 6 กลุ่มโรคเสี่ยงจำเป็นต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหากไม่เพียงพอเราก็ต้องพยายามจัดหาโรงพยาบาลให้” พล.ต.อ.อัศวินระบุ 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ตนเองเรียกมาสอบถามสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องที่ประชาชนมาร้องเรียน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงมาตรการต่างๆ ได้ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.รับไปว่าจะดูแลในรายละเอียดให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มาตรการที่ออกทุกครั้งก็ไม่ได้ฟังกันว่าจะทำอะไร อย่างไร บางครั้งไปอ่านจากโซเชียลก็ไม่เข้าใจกัน ฝากสื่อช่วยชี้แจงด้วย อย่างมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เจอ แจก จบ ก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร  แต่เขาอธิบายกันไปหมดแล้ว ไม่ต้องถามว่าอะไร ซึ่งตนเองก็ฟังเขาพูดมาทุกครั้ง ถ้าตรงกันก็ไม่มีปัญหา ถ้าเดือดร้อนก็แจ้งกันมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง