ทีมคนเก่งเพื่อไทยแถลงข่าว 8 ปีที่ผ่านมา 'ประยุทธ์' ทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤตมาตลอด

เพื่อไทย เสนอ 4 โอกาสของไทย พลังงาน อาหาร ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมอนาคต แนะ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ต้องปรับประเทศเพื่อรองรับอนาคต อนุสรณ์ ชี้ รัฐบาลล้มเหลวแก้เศษฐกิจ

14 มิ.ย.2565- ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าว พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยนายพิขัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็นลิตรละ 35 บาทซึ่งชนเพดานที่พลเอกประยุทธ์ บอกแล้วและกำลังจะขยายเป็นลิตรละ 38 บาท เงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นถึง 8.6% สูงที่สุดในรอบ 41 ปี ซึ่งจะเร่งให้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นน่าจะขึ้นถึง 0.75% ในอีกไม่กี่วันนี้ ขณะที่เงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 7.1% ในเดือนพฤษภาคม ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีกจน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปีนี้เป็น 6.2% จากเดิม 4.9% และอาจจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้เช่นกัน มีการคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะพุ่งขึ้นถึง $150-160 ต่อบาเรล ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้ ปัญหาเงินเฟ้อสูงกำลังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั้งโลกและจะสร้างความปั่นป่วนกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรับมือจากปัญหาเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก

ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำท่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่ดีจะต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาและนำพาประเทศสู่การพัฒนาและการกินดีอยู่ดีของประชาชนในอนาคต ดังนั้นคณะทำงานงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยขอเสนอ แนวทางในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส 4 ด้านดังนี้

  1. โอกาสทางด้านพลังงาน ในขณะที่ น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้ามีราคาแพง และ จะยิ่งแพงขึ้น รัฐบาลควรจะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามที่ได้เสนอไว้แล้ว ค่าการกลั่นเป็นอัตรามาตรฐานของสากลใช้กับโรงกลั่นทั่วโลก ที่เกิดจาก demand และ supply ของน้ำมันสำเร็จรูป อยากให้นาย กรณ์ จาติกวณิช ไปศึกษาให้ดีก่อนที่จะวิจารณ์ว่าเป็นการปล้น แต่ถึงแม้จะเป็นราคามาตรฐานสากลแต่ก็อาจจะลดลงได้ และเมื่อพูดถึงมาตรฐานสากล รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเรื่องราคาหน้าโรงกลั่นก็ต้องเป็นราคาสากลเช่นกัน อย่าให้บริษัทพลังงานเอาเปรียบประชาชนในทุกด้านแบบเอาแต่ได้ แต่ที่สำคัญและอยากเรียกร้องคือการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ที่มีแหล่งพลังงานจำนวนมาก และสามารถนำขึ้นมาใช้และบริการให้กับประชาชนในราคาที่ถูกลง อีกทั้งจะสามารถทำเงินเป็นรายได้เข้ารัฐ ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำสวัสดิการให้กับประชาชนได้ เท่ากับทำเรื่องเดียว แต่ได้แก้ปัญหาสองด้าน แนวทางการเสนอการทำสวัสดิการปัจจุบันจะต้องหาแหล่งที่มาของรายได้ก่อน อย่าเพียงแต่ฝันว่าจะแจกโดยไม่มีเงิน นอกจากนี้โอกาสทางพลังงานยังหมายถึงการปรับโครงสร้างการใข้พลังงานในอนาคตของประเทศไทย การใช้พลังงานที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทิศทางของโลก การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ที่ยุโรปประกาศจะจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ EV ในปี 2035 และเลิกจำหน่ายรถยนต์น้ำมันทั้งหมด ซึ่งไทยคงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางตามแนวทางโลก อีกทั้งต้องคิดวางแผนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) สำหรับอนาคต และ ต้องออกมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในภาวะพลังงานแพงนี้
  2. โอกาสทางด้านอาหาร ในภาวะที่โลกขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยผู้ผลิตอาหารควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิตและขายอาหารที่โลกต้องการเพื่อไปจำหน่ายทั่วโลกในราคาที่สูงเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยประเทศไทยต้องนำระบบ Ai เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อตรวจสอบภูมิอากาศและความชื้น คุณภาพของดิน เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต รวมถึงการใช้ระบบ Automation เช่น โดรน และ อุปกรณ์การเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน
  3. โอกาสทางธุรกิจดิจิทัล ที่ไทยต้องปรับระบบราชการเป็นระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และ กำจัดการคอรัปชั่น การปรับระบบดิจิทัล(Digital Transformation) ทั้งภาคราชการ และ ภาคเอกชน พร้อมทั้งสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจดิจิทัลขนาดใหญ่จำนานมาก และสร้างมูลค่าธุรกิจและมูลค่าของประเทศ เพิ่มการจ้างงานที่มีรายได้สูงในอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางอนาคตของโลก
  4. โอกาสทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยต้องคำนึงว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมที่จำเป็นเหมือนเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของโลก คือ อุตสาหกรรมผลิตไมโครชิพ (Microchip) และ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังขาดแคลนอย่างมากทั่วโลก ราคาได้พุ่งสูง เพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ โดรน จำเป็นต้องใข้อุปกรณ์เหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องหาบริษัทต่างประเทศมาร่วมลงทุนผลิตไมโครชิพและแบตเตอรี่นี้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ทำให้เกิด Supply Chain ครบวงจรภายในประเทศนี้ให้ได้ เพื่อจะนำไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ต่อเนื่องในอนาคต

นายพิชัยกล่าวว่า การเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสยังมีอีกมากหากรัฐบาลมีความคิดและฉลาดพอ โดยอยากให้เริ่มต้นใน 4 เรื่องนี้ เพื่อเป็นจุดหักเห (Turning point) สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหากทำได้ประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก แต่ถ้าประเทศไทยยังบริหารอย่างที่เป็นอยู่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตลอด 8 ปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤตมาตลอด ทั้งนี้เพราะ ตลอดหลายปีก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด เศรษฐกิจโลกดีแต่ไทยกลับขยายตัวต่ำมาก อีกทั้งราคาน้ำมันตลอดหลายปีราคาถูกมากแต่ไทยกลับไม่ได้ประโยชน์เลย พอมาถึงปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และ ราคาน้ำมันแพงและยังจะพุ่งขึ้นอีก พลเอกประยุทธ์จะรับมือได้อย่างไร ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วหลายปี

หากยังจะดื้อรั้นและคิดว่าตนเองทำได้ และทำดีแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวอย่างแน่นอน ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้โหน อดีต. รมว. ชัชชาติ แต่อยากให้ดูถึงวิธีการทำงานที่รู้ปัญหาจริง มีทางแก้ไขและทำได้จริง เข้าถึงพื้นที่ สุภาพไม่ก้าวร้าว ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอปัญหาและทางแก้มาตลอด ซึ่งต่างจากผู้นำปัจจุบันราวฟ้ากับเหว ซึ่งการที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มออกมาเดินขบวนขับไล่พลเอกประยุทธ์อีกครั้งก็น่าจะเพราะทนความล้มเหลวกันไม่ไหวแล้ว

นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้กระแสเศรษฐกิจดิจิทัล จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในปี 2565 แต่ยังมีโอกาสอีกมากมายที่ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมและสร้างผลประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ โดยในปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประชาชนมีการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆได้อย่างดี เห็นได้จากช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ประชาชนไทยสามารถปรับตัวกับกระแสของโลก พัฒนาการให้บริการและเดินเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวชี้วัดและการศึกษาจากต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ถึงแม้จะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ พรรคเพื่อไทยได้เล็งเห็นและเชื่อว่า โอกาสด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังคงเปิดกว้าง แต่หากรัฐบาลยังปล่อยให้ภาคเอกชนต่อสู้และหาโอกาสอยู่ฝ่ายเดียว จะเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสที่สำคัญ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน

การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการพัฒนา แสดงจากการจัดงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย ยังคงได้งบประมาณไม่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับหน้าที่และความสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบราชการ หรือ Digital Transformation ของหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้จะไม่ใช่การสนับสนุนโดยตรงต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย แต่การพัฒนาระบบราชการจะสร้างโอกาสให้ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษกิจดิจิทัล ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นที่เกิดขึ้นในระบบราชการได้อยากมาก เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลไม่เคยพยายามพัฒนาอย่างจริงจัง แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุง แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมายอีกมาก

หากรัฐบาลสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงระบบราชการที่ล่าช้าได้สำเร็จ ภาคเอกชนของไทยจะสามารถถือธงนำประเทศเข้าหาโอกาสในโลกดิจิทัลได้ดีกว่านี้อีกมาก เนื่องจากโลกดิจิทัลยังคงมีสิ่งใหม่และโอกาสใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีต่างๆ หรือช่องทางใหม่ๆในการสื่อสาร การเปิดพื้นที่ในโลกเสมือนจริง หรือกระแส metaverse ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศตั้งเป้าหมายถึงการเป็นผู้เล่นหลักในพื้นที่ใหม่เหล่านี้ ความสามารถของประเทศไทยเองนั้น ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น เรามีประชาชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและประสบความสำเร็จในโลกใหม่นี้ แต่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาล ผู้บริหารประเทศมีวิสัยทัศน์ที่กว้างพอจะมองโลกและนำประเทศไทยเข้าหาโอกาสเหล่านั้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลมา 8 ปี ผ่านงบฯไป 12 ครั้ง ใช้เงินไป 28.5 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจทรุด ทุจริตฟู กู้เก่ง ทำคนไทยเสียโอกาส พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายภายใต้ยุทธการ เด็ดหัว-สอยนั่งร้านประยุทธ์ ทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศ 8 ปี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำหนี้สาธารณะเฉียด 10 ล้านล้านบาท ประชาชนรู้ดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมานแผลเศรษฐกิจ หรือสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ นำมันแพง ค่าแรงถูก คนตกงาน คนจนเพิ่ม ทำประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับหลายประเทศ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ หมดสภาพที่จะมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มีเพียงมาตรการลูบหน้าปะจมูกครึ่งๆกลางๆขอไปที เพื่อให้ตัวเองและเครือข่ายสืบทอดอำนาจไปเรื่อยๆ รัฐบาลล้มเหลวซ้ำซากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนสิ้นหวังกับรัฐบาลที่มองไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นทางออกจากปัญหา จับตรงไหนก็มีแต่ปัญหา เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จะสร้างแนวร่วมทั้งในสภา-นอกสภาสร้างศรัทธาจากภาคประชาชนได้มาก

“พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ไม่อยู่จนตายคารัง แต่ถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจโดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้เลย คนที่ลำบากคือประชาชน” นายอนุสรณ์ กล่าว .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พีระพันธุ์’ สั่งปลัดพลังงาน จับตาผลกระทบด้านพลังงาน สงคราม ’อิหร่าน-อิสราเอล’

รมว.พลังงานเผยสั่งการให้ท่านปลัดฯและหน่วยงานทุกหน่วยของกระทรวงพลังงานติดตามรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ผลกระทบและแนวทางในการรับมือด้านพลังงานตลอดเวลาเช่นกัน

'อนุสรณ์' ชม 'เศรษฐา' ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พาเพื่อไทยชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พูดต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุ พรรค พท.ต้องไม่แพ้ตลอดไป ก

ตามคาด! ซักฟอก 2 วัน ฝ่ายค้านงัดข้อมูลเก่า เน้นวาทกรรมปั้นคำแรง

'ธนกร' ชี้ไม่เกินคาด ฝ่ายค้านยังใช้ข้อมูลเก่า วาทกรรมวนลูปเดิม ติงไม่เหมาะพาดพิง 'บิ๊กตู่' แนะสมัยประชุมหน้างัดหลักฐาน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ มากกว่าปั้นคำแรงๆ

เขย่าอีกรอบ 'พิชัย' จี้แบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ย แถมยกข้อดีเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์

“พิชัย“ สนับสนุน “นายกฯ” จี้ แบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ย ชี้ สวิส ลดก่อนแล้ว อังกฤษ เยอรมัน กำลังจะลด ไทยลดช้าจะเสียเปรียบ หนุน โครงการเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ สร้างรายได้เป็นแสนล้าน โดยนำรายได้สนับสนุนนักศึกษาไทยไปเรียนต่างประเทศ แต่ต้องระวังปัญหาทางสังคม

กกพ. ตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย ถึง ส.ค. 67

กกพ. ประกาศตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย จนถึงเดือน ส.ค. 67