ถอนร่างกม.เลือกตั้งส.ส. หลัง 'กมธ.เสียงข้างน้อย' ชงมาตราใหม่สอดรับสูตร500

26 ก.ค.2565 - ที่รัฐสภา เวลา 09.40 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการพิจารณาในวาระสอง เริ่มที่มาตรา 25

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ได้รับมอบหมายจากนายสาธิต ปิตุเตชะ ประธานกมธ. ให้หารือต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติแก้ไขมาตรา 23 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค และกมธ.หลายคนเห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขมาตราต่อไปเป็นไปตามข้อบังคับ และให้สอดคล้องกับมาตรา 23 จึงควรได้รับอนุญาตแก่ที่ประชุมก่อน และขอพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที

จากนั้นนายชวน อนุญาตและสั่งพักการประชุม 30 นาที ต่อมาเวลา 10.49 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง นายมหรรณพ รายงานผลการหารือว่า กมธ.ขอยืนยันร่างรายงานฉบับเดิมเพื่อพิจารณา ส่วนมาตรา 23 เมื่อแก้ไขผิดจากร่างเดิมไป ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของกมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ

จากนั้น นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้ลุกขึ้นเสนอ มาตรา 24/1 ซึ่งเป็นมาตราที่ขอเพิ่มขึ้นใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการนำเสนอร่างมาตราใหม่ดังกล่าว ฝ่ายค้านหลายคนอภิปรายทักท้วงกมธ. ถามถึงการกระทำดังกล่าวปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่

อาทิ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นไม่ชอบด้วยนิติวิธี ซึ่งกำลังมีกมธ.เสียงข้างน้อยนำเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้กระบวนการแปรญัตติตกไปนานแล้ว อยู่ดีๆ จะมีความเห็นใหม่แทรกขึ้นมาโดยเป็นเสียงข้างน้อยนั้นไม่สามารถทำได้ หากจะทำต้องไปประชุมกันแล้วมาเป็นเสียงข้างมากและลงมติกันมา พวกตนยังจะรับได้มากกว่า แต่กมธ.ฯกลับใช้คำว่าให้เสียงข้างน้อยเสนอขึ้นมา 1 ข้อเพื่อให้รัฐสภามีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ตนคิดว่าไม่ชอบด้วยนิติวิธี กระบวนเช่นนี้เราจะเดินต่ออย่างไร ตนมีความจำเป็นต้องสอบถามว่าอนุญาตให้ทำได้ด้วยข้อบังคับการประชุมใด เพราะไม่มีกระบวนการนี้อยู่ในสารบบวิธีการกระทำกฎหมายที่เราเคยได้ทำมา

นายชวน วินิจฉัยว่า นายมหรรนณพได้แจ้งว่าผลการหารือเป็นอย่างไร และอนุญาตให้กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอแก้ไข แต่ทั้งหมดอยู่ที่มติของที่ประชุม ตนจะต้องถามหลังจากเสร็จแล้วและให้แสดงความเห็น และขอมติว่าจะอนุญาตให้มีการแก้ไขมาตรา 24/1 หรือไม่ ทั้งนี้โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยมีเช่นนี้ แต่โดยหลักแล้ววิธีการมีสิทธิที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ ดังนั้น ก็อนุญาตให้เขาทำได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือมติที่ประชุม

นายจุลพันธ์ จึงถามต่อว่า ทำไมไม่ทำแบบที่เคยปฏิบัติคือ กมธ.ไปประชุมกันแล้วลงมติเห็นชอบกันมา พวกตนยังจะเดินต่อให้กับท่าน แต่เป็นเช่นนี้หมายความว่ากมธ.ไปคุยกันมาแล้วก็ยังคุยไม่จบ จึงส่งกลับมาเป็นภาระของพวกเรา ที่จะต้องกลับมาดำเนินการตามกระบวนการนิติวิธีที่ไม่ชอบใช่หรือไม่

ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า เราก็ต้องแก้ภาระต่อไป เป็นหน้าที่เรา

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กมธ.จากพรรคประชาชาติ ประท้วงว่า วิธีการดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา เพราะในมาตรา 24 ซึ่งผ่านไปแล้วไม่มีการแก้ไขและไม่มีผู้สงวนขอแปรญัตติ แต่ที่จะมีการเสนอ ขณะนี้กมธ.ไม่ได้ไปขอจากรัฐสภาว่าขอเอาไปประชุมเพื่อเอาไปแก้ไข ที่กมธ.ขอประธานคือขอพักการประชุม เมื่อพักการประชุมแล้วจะไปทำอะไรนอกกติกาการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมเดิมก็คงจะกระทำไม่ได้ หากจะทำก็จะต้องขออนุมัติต่อสภาว่าขอให้กมธ.นำไปพิจารณา ทบทวน แต่สภาอนุมัติให้พักการประชุมไม่ได้บอกว่าจะมีการแก้ไข ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขใหม่ได้

นายมหรรณพ ชี้แจงอีกว่า จากการประชุมกมธฯ มีมติ เป็น 2 มติ โดยตนถามว่า 1. กมธ.ยังคงยืนตามรายงานที่ได้นำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้วและอนนุญาตให้กมธ.เสียงข้างน้อย ผู้นำเสนอแก้ไขมาตรา 23 เป็นผู้นำเสนอในที่ประชุมรัฐสภาในมาตราที่เห็นว่ามีความขัดหรือแย้งกับมาตรา 23 ที่แก้ไขแล้ว

และ2.ให้ขอถอนญัตตินี้ไปก่อนเพื่อนำไปพิจารณาทบทวน แล้วกลับมาสภาฯภายใน 1 สัปดาห์ ปรากฎว่าที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 16 ต่อ 5 เห็นด้วยกับมติที่ 1 โดยยอมให้กมธ.เสียงข้างน้อย เป็นผู้นำเสนอมาาตราที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่แก้ไขไปแล้ว โดยให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยร่วมกัน

นายชวน วินิจฉัยว่า เมื่อเป็นมติของที่ประชุมกมธ.ฯให้ทำอย่างนี้ ตนจึงต้องยึดตามที่รองประธานกมธฯ.รายงาน นี่คือเหตุผลที่ตนต้องยึดข้อตกลงของกมธ.ฯ

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธฯ ประท้วงว่า สิ่งที่นายมหรรณพพูดนั้นพูดไม่ผิด แต่สิ่งที่ประธานรัฐสภา วินิจฉัยทางที่ประชุม กมธ.ฯ ยืนยันตามรายงานเดิม คือไม่ได้มีการแก้ไข ส่วนติ่งท้ายที่บอกว่า ให้กมธ.เสียงข้างน้อยนำเสนอถึงแม้จะเป็นมติ แต่แค่ 16 ต่อ 5 เสียงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ กมธ.ฯทั้งหมด เพราะมีงดออกเสียงและไม่ลงคะแนน มีคะแนนใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขรายงาน เป็นแค่การบอกว่าถ้าไปทำอะไรในสภาฯ ก็ให้กมธ.เสียงข้างน้อยไปเสนอ ก็ต้องดูว่าใช้อำนาจตามข้อบังคับข้อใด ที่จะเสนอในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งไม่ได้แปรญัตติไว้

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขาฯกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ระหว่างที่ไม่ได้มีการประชุม กมธ.เสียงข้างน้อยเห็นปัญหาว่ามีกระทบกับมาตราอื่นๆที่ยังไม่ได้พิจารณา จึงพยายามเสนอให้กมธ.ฯเรียกประชุมเพื่อหารือ ซึ่งเสียงส่วนมากในกมธ.ฯมีความเห็นว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ เรากระทำการโดยการทำรายงานเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาสั่งให้ทำถึงจะทำได้ จึงเป็นที่มาที่รองประธานกมธ.ฯ ขอพักการประชุม ซึ่งไม่มีเสียงคัดค้าน แต่ปรากฎว่าในที่ประชุมกมธ.ฯ หลายส่วนเห็นว่าการแก้สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อเป็น 500 หาร ขัดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการไปแก้มาตรการอื่นข้างหลังกระทำมิได้ จึงมีความเห็นแย้ง จึงเป็นมติที่ประชุมกมธ.ให้กมธ.เสียงข้างน้อยเป็นผู้เสนอ เพราะหากจะเอากลับไปพิจารณากันใหม่ เวลาของสภาฯเกี่ยวกับเรื่องนี้เหลือถึงวันที่ 15 ส.ค.ต้องเสร็จ ก็เกรงว่าจะมีปัญหาจึงให้เดินหน้าเสนอความเห็นมาเลย โดยใช้มติที่ประชุมให้ดำเนินการไป

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ อภิปรายว่า เสียงข้างน้อยได้เปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากไปแล้ว ด้วยมติที่ประชุมรัฐสภา เห็นด้วยกับหาร 500 ดังนั้นนพ.ระวี สามารถดำเนินการได้ ว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้ารัฐสภาเห็นชอบก็เดินหน้าต่อไปได้ เช่นเดียวกันพ.ร.บ.ประชามติ และพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เสียงข้างน้อยกลายเป็นเสียงข้ามาก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วง กระบวนการพิจารณาในขณะนี้ โดยเฉพาะการที่ นพ.ระวี เสนอเพิ่มมาตราใหม่ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มข้อความใหม่ทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่ากมธ.ฯอีกหลายคนยังไม่ได้ดูรายละเอียดแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตามมีกมธ.ฯ บางคนชี้ว่า การนำเสนอในลักษณะเช่นนี้เหมือนการแก้ไขกฎมายประชามติ และกฎหมายตำรวจนั้น บังเอิญว่าตนเป็นกมธ.ฯอยู่ในกฎหมายประชามติ อยากจะบอกว่าในครั้งนั้น ไม่มีประเด็นว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมือนกับร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ ดังนั้นจึงเป็นคนละเรื่องกัน และตนเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการเลื่อนการประชุมออกไปเสียก่อน เพื่อให้กมธ.ฯกลับไปทบทวนแก้ไขรายงาน

เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กมธ.ฯจากพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ขอเวลาให้กมธ.ฯและสมาชิกได้อ่านสิ่งที่กมธ.ฯเสียงข้างน้อยเสนอมาให้ละเอียดรอบคอบ ขออย่าเพิ่งแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่า เป็นการแก้ไขแบบไม่เห็นหัวใคร

แต่นายมหรรรพ ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อเพราะ จากการหารือของกมธ.ในนช่วงเช้า มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ให้เสียงข้างน้อยเสนอร่างมาตราใหม่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะโต้แย้งว่าขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น วันนี้พวกเราก็คงเถียงกันไม่จบ สุดท้ายเรื่องนี้อย่างไรก็ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

ที่สุด นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จึงขอเสนอญัตติถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน แล้วนำกลับมาพิจารณาต่อในโอกาสต่อไป เพราะต้องไปพิจารณาทั้งข้องบังคับและเนื้อหา โดยพิจาณาต่อจากมาตราที่พิจารณาค้างอยู่

ต่อมาเวลา 12.20 น. นายชวนสั่งลงมติ โดยที่ประชุมมีมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป ด้วยคะแนน 476 ต่อ 25 งดออกเสียง 20 ไม่ออกเสียง 9 เป็นอันว่าถอนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไปก่อน โดยนายสาธิต นัดประชุมกมธ.ฯช่วงค่ำวันนี้(26 ก.ค.) และหากได้ข้อสรุป ก็อาจจะเสนอกลับเข้ามาที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้

แต่นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ กรรมาธิการ เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องมีความรอบคอบอย่าเพิ่งนัดประชุมพจารณาวันพรุ่งนี้ เลย เรายังมีเวลาพอ ตนคิดว่ากมธ.ควรไปศึกษาให้ละเอียด และสามารถเสนอเข้ามาใหม่ในวันจันทร์สัปดาห์หน้าก็ได้ ซึ่งนายชวนกล่าวว่าตนเห็นด้วย เพราะเป็นภาระกิจของกมธ. เมื่อที่ประชุมเห็นอย่างไรต้องปฏิบัติไปตามนั้น

จากนั้นเวลา 12.33 น. ที่ประชุมเข้าสู่การพิจาณณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุทิน' ร่ายยาวครั้งแรกหลังมีชื่อพ้นครม. แจงดราม่า 'ทักษิณ' เมินมาลัย

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความพอใจผลงาน 6-7 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงกระแสข่าวจะถูกปรับออกจากรัฐมนตรี

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

'ทวี' ยันไม่เคยได้ยิน เพื่อไทยจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสว่าพรรคเพื่อไทยจะขอเก้าอี้ประธานสภา ว่า รัฐธรรมนูญได้มีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาว่าเป็นเรื่องของสภา ส่วนเรื่องคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี

'ไชยา' ลั่นปรับครม.กี่ครั้งก็ตาม ก.เกษตรฯต้องอยู่กับเพื่อไทย

นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีรายชื่อถูกปรับออก ว่าตนทราบตามข่าว ไม่ได้หวั่นไหวอะไร และ 7 เดือนที่ผ่านมา ทำหน้าที่ในกรอบในข้อจำกัดของงบประมาณ ถ้าหากเป็นไปตามนโยบายของผู้ใหญ่ตนก็ไม่ขัดข้อง ก็แล้วแต่

'เศรษฐา' เผยไต๋นั่งควบกลาโหม ทุกอย่างมีโอกาสขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่ประชุมได้มีรัฐมนตรีซักถามถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.หรือไม่ ว่า ไม่มีใครถามอะไรเลย ทุกคนยังทำงานอย่างต่อเนื่อง