ดร.ธีรภัทร์เล่าเรื่องวาระ 8 ปีชี้เป็นประเพณีการเมืองตั้งแต่ 2550

'ดร.ธีรภัทร์' ย้อนอดีตที่มาของวาระ 8 ปี เผยเป็นประเพณีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2550 แล้ว แม้ศาลตีความให้ลุงตู่อยู่ยาว แต่หากอยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าก็ควรแสดงสปิริตลาออก

11 ส.ค.2565 - ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นักวิชาการประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ขอคุยด้วยคน ว่าด้วยวาระ 8 ปี” ระบุว่า ผมไม่รู้ว่าจะมีคนเคยเสนอก่อนผมหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบ ผมเป็นคนแรกที่เสนอให้จำกัดการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ที่ตัวเลข 8 ปีหรือไม่เกินสองสมัยของการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2549

จำได้ว่าผมได้รับเชิญไปอภิปรายที่ห้องประชุมองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน โดยสถาบันพระปกเกล้า หัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาการทางการเมืองของไทย ก่อนอภิปรายผมขอถอดหัวโขนจากตำแหน่งรัฐมนตรี ขอพูดในนามนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ การพูดในวันนั้นมาจากแรงบันดาลใจเพราะประทับใจในสปิริตของนายพลจอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเมื่อท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบสองวาระ 8 ปี แม้รัฐธรรมนูญของสหรัฐในขณะนั้นจะยังไม่มีข้อบัญญัติให้ประธานาธิบดีห้ามเป็นเกินกว่าสองสมัยติดต่อกันก็ตาม ท่านแสดงตนเป็น "รัฐบุรุษ" ที่ประกาศไม่ขอลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปเป็นสมัยที่ 3 ด้วยคำกล่าวที่ว่า "หากให้ข้าพเจ้าลงสมัครต่อไป ข้าพเจ้าจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ข้าพเจ้าจะกลายเป็นจักรพรรดิแทน"

และการปฏิบัติดังกล่าวของท่าน ได้กลายเป็นประเพณีทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา สำหรับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อๆมาได้ยึดถือปฏิบัติตาม คือเป็นไม่เกินสองสมัยติดต่อกันหรือ 8 ปี

ผมจึงนำมาเสนอในเวทีของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อประมาณปลายปี 2549 หรือต้นปี 2550 ในช่วงที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังเตรียมจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการบัญญัติหลักการนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และจำกัดเวลาของการดำรงตำแหน่งไว้ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์นำไปพาดหัวข่าวใหญ่เท่านั้น ผมก็ถูกพวกนักการเมืองทั้งหลายรุมกันด่าว่าวิพากษ์วิจารณ์สารพัด และกล่าวหาเกินเลยความจริงว่าเป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารที่จะมาจำกัดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ผมพูดในฐานะนักวิชาการ ที่ถอดหัวโขนตำแหน่งทางการเมือง แต่สื่อมวลชนก็ไม่ได้จำแนกเอาไว้

ก็ไม่เป็นไรแม้จะถูกด่าว่าจากบรรดานักการเมือง ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะภายหลังปรากฏว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 จำกัดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้เพียงตำแหน่งเดียว ไม่รวมตำแหน่งรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ทั้งหมดก็ตาม ตำแหน่งเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

และต่อมารัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2560 ก็นำมาบัญญัติไว้ต่อเนื่องกันมา จนน่าจะกลายเป็นประเพณีทางการเมืองไปแล้ว
ดังนั้น มาถึงประเด็นของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมที่จะถึงในอีกไม่กี่วันนี้ เมื่อนับรวมตั้งแต่เริ่มยึดอำนาจแล้วเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้าใจว่ามีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะครบ 8 ปีเมื่อไร จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้หรือจะครบ 8 ปีเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2568 หรือจะครบ 8 ปีนับจากการประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ในปี 2570

ผมไม่อาจทราบหรือก้าวล่วงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ (ที่ความน่าเชื่อถือค่อนข้างน้อย) แต่ในทรรศนะส่วนตัว และ (อาจกล่าวอ้างได้ว่า) เป็นคนแรกที่เสนอการจำกัดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ ผมคิดว่าการเมืองไทยจะพัฒนาการหรือยกระดับมาตรฐานทางการเมืองอย่างชัดเจนว่าประเทศเราจะเป็นประชาธิปไตยเชิงคุณภาพได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจครั้งนี้

ทรรศนะของผมคือ การจำกัดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ที่ 8 ปีได้กลายเป็นประเพณีทางการเมืองของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ที่ชาวไทยทุกคนควรช่วยกันรักษาไว้ และกระแสสังคมก็ดูเหมือนจะตอบรับในประเด็นนี้

ประเพณีทางการเมืองดังกล่าวจึงเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นเป้าหมายที่ไม่ต้องการให้บุคคลใดก็ตามที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาโดยการยึดอำนาจหรือมาจากการเลือกตั้งจะต้องไม่อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีเป็นอันขาด

ผมจึงขอเสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญควรยึดถือประเพณีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นอื่น พลเอกประยุทธ์ ก็ควรแสดงสปิริตทางการเมืองโดยการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม

ผมอาจฝันเกินความจริง แต่อยากเห็นการเมืองไทยก้าวไปข้างหน้าได้เสียทีหนึ่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ

ศาลรธน. ยังมุ่งมั่นรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

'นครินทร์' ปลื้มผลงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 ปี นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชน ขัดต่อนิติธรรม 76 ฉบับ ลั่นศาลยังมุ่งมั่นรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป