'ทิพานัน' ย้อนแสบ! 'พิธา' กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ขาดความรู้สื่อสารบิดเบือน

‘ทิพานัน’ แจงยิบ 4 ประเด็น ‘ก้าวไกล’ แพร่คลิปบิดเบือนหอเตือนภัยน้ำท่วมอุบลฯ ตอก ‘พิธา’ ขาดความรู้สื่อสารเหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ซ้ำเติมวิกฤตประชาชน

10 ต.ค. 2565 – น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวกรณีที่พรรคก้าวไกลเผยแพร่สื่อหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 โดยเป็นคลิปมีข้อความบิดเบือนคลาดเคลื่อน เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวที่ไม่มีหลักฐานประกอบที่แน่ชัด และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวหาว่าการทำงานของหอเตือนภัยในพื้นที่ชุมชนกุดแสนตอ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งก่อสร้างหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2562 ในน้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีการแจ้งเตือนจากหอเตือนภัยแต่อย่างใด มีแต่เปิดเพลงชาติทุกวันพุธ

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐาน การให้ข้อมูลไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นการวิจารณ์ที่ไม่อยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริง กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่ตระหนักถึงความจริงที่ถูกต้องและอาจเป็นการบ่อนทำลายชาติรวมถึงทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานทั้งหมด ดังนั้นเพื่อไม่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความจริงจนทำให้สังคมสับสนและทำลายกำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกพื้นที่ในช่วงวิกฤตินี้ จึงต้องขอชี้แจงว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยงานรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้

1.การแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยในพื้นที่นั้น เป็นการประเมินร่วมกันระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายหรือมีการประสานมาจากพื้นที่ติดตั้งหอเตือนภัย ให้กดส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ฉับพลัน และฉุกเฉิน เท่านั้น ไม่ต้องแจ้งเตือนภัยทุกวันตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลเข้าใจผิด

2.หอเตือนภัย ปภ.ได้กำหนดให้มีการทดสอบการทำงานโดยเปิดเพลงชาติทุกวันพุธ ซึ่งเป็นรูปแบบของการทดสอบและเตรียมความพร้อมของระบบพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ เพื่อตรวจความพร้อมใช้ในการใช้งานของหอเตือนภัยแต่ละแห่ง

3.สำหรับกรณีการเกิดน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี ทาง ปภ. ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบข้อมูลสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งผ่านกลไกหมู่บ้าน/ ชุมชน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี มีระดับในแม่น้ำมูลสูงขึ้น

4.กลไก วิธีการ และเครื่องมือ ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยในปัจจุบัน เป็นการใช้วิธีการและช่องทางเครื่องมือที่หลากหลาย ประกอบด้วย การให้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชน สื่อออนไลน์ แอบพลิเคชัน การแจ้งเตือน เมื่อคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะเกิดสาธารณภัยผ่านหน่วยงานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยังหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแจ้งผ่านหอกระจายข่าว/หอกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน/ชุมชน การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า หอเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงภัยสำหรับกรณีอาจจะเกิดสาธารณภัยฉับพลัน ฉุกเฉินหรือเร่งด่วน และที่ผ่านมาในรอบปี พ.ศ.2565 ปภ.ได้มีการแจ้งเตือนภัยผ่านหอเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่มาโดยตลอด อาทิเช่น วันที่ 26 กันยายน 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย วันที่ 28 กันยายน 2565 หอเตือนภัย อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี หอเตือนภัย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย หอเตือนภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 2 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย หอเตือนภัย อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย วันที่ 5 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หอเตือนภัย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร และวันที่ 8 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

“หากหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่มีความรู้เรื่องหอเตือนภัยและกลไกการแจ้งเตือนภัยก็สามารถสอบถามข้อมูลที่สายด่วน ปภ หมายเลข 1784 สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดในช่วงวิกฤติ แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน กลับกลายเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในยามทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นการสื่อสารจึงเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยให้ภาวะวิกฤติผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลควรกลัดกระดุมให้ถูกต้อง อย่าสื่อสารผิดพลาดบิดเบือน จะทำลายกำลังใจของคนทำงาน เจ้าหน้าที่ทุกระดับและอาจทำลายสังคมโดยไม่รู้ตัว ขอให้พึงระวังตรงนี้ด้วย” น.ส.ทิพานัน ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

'รัดเกล้า' โชว์ผลสำเร็จ 'สงกรานต์สนามหลวง' รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่ม 742 ล้าน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภาพรวมการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 ที่ถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 11-15 เมษายน 2567