'ก้าวไกล' เปิด 19 สวัสดิการก้าวหน้า ใช้งบประมาณ 6.5 แสนล้าน

5 พ.ย.2565 - ที่บริเวณศูนย์เด็กเล็กในวัดลาดพร้าว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดงานแถลงนโยบายชุดที่สอง สวัสดิการไทยก้าวหน้า ช่วงหนึ่งว่า ชุดนโยบาย สวัสดิการไทยก้าวหน้าเป็นหนึ่งใน 9 ชุดนโยบายของพรรคก้าวไกล เสมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ต้องนำมาต่อกับชิ้นอื่นๆ จึงจะกลายเป็นภาพประเทศไทยก้าวหน้าที่สมบูรณ์ จะขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ได้ โดยเหตุผลที่เลือกบริเวณศูนย์เด็กเล็ก และวัดลาดพร้าวเป็นสถานที่เปิดนโยบายสวัสดิการ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของวงจรชีวิตที่คนไทยจำนวนมากมาเริ่มที่นี่และจบที่นี่ เสมือนจุดที่สวัสดิการเริ่มต้นและจุดที่สวัสดิการสิ้นสุด

นายพิธา กล่าวว่าชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้านั้น เกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับนโยบายด้านอื่นๆเช่น การเมือง เพราะการทำสวัสดิการต้องใช้งบประมาณมาก ต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณใหม่ เอางบความมั่นคงมาเป็นงบสวัสดิการ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ประเทศก็ต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อำนาจต้องเป็นของประชาชน หรือ เช่น เศรษฐกิจ เพราะการทำให้ประชาชนมีความมั่นคง จะทำให้เขากล้าเดินตามความฝันในสายอาชีพที่อาจมีความเสี่ยง แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลให้กับประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

นายพิธา ยกตัวอย่างสถิติในปี 2564 ที่เป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนเสียชีวิต โดยส่วนหนึ่งสังคมที่สูงวัยขึ้นก็มาจากการที่คนอายุยืนเพราะระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง สะท้อนถึงความสำเร็จของประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นสวัสดิการ แต่จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงส่วนหนึ่งก็มาจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและความมั่นคงของชีวิตในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยสวัสดิการเช่นกัน บุคคลหนึ่งที่พูดถึงสวัสดิการมานาน ที่เรียกว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน คือ ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ผ่านมาหลายสิบปี สังคมไทยวันนี้ยังมีสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม ในวันที่ประชาชนมีความตื่นตัวสูงขึ้นเรื่องสวัสดิการ พรรคก้าวไกลจึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“นโยบายสวัสดิการของเรา เชื่อในการที่คนไทยพร้อมช่วยเหลือกันในยามลำบาก การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพียงแต่ที่ผ่านมายังขาดการออกแบบอย่างเป็นระบบ นโยบายสวัสดิการของพรรคก้าวไกลจะสร้างประเทศที่เป็นธรรม โดยการลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สร้างประเทศที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนโดยการวางตาข่ายรองรับคุณภาพชีวิตและโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชน และสร้างประเทศที่ปลดปล่อย ศักยภาพของคนไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปข้างหน้า คนรุ่นใหม่จะกล้าเสี่ยงสร้างธุรกิจหรือไล่ตามความฝันของตัวเองมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าพลาดไป ล้มแล้วยังลุกได้ เรามาเสนอรัฐสวัสดิการที่ทำได้จริง ไม่ได้ขายฝัน สามารถหาเงินมาจ่ายรัฐสวัสดิการได้ทุกบาททุกสตางค์ เป็นนโยบายสวัสดิการก้าวหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย” นายพิธา กล่าว

สำหรับชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้า แบ่งตาม 5 ช่วงวัย และมีทั้งหมด 19 นโยบาย ได้แก่ วัยเกิด ประกอบด้วย(1) ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก (2) เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท (3) สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ (4) ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน ในวัยเติบโต ประกอบด้วย

(5) เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง (6) คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน (7) ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน ในวัยทำงาน ประกอบด้วย (8) ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก (9) สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

(10) แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (11) ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ (12) เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคูปองเรียนเสริม สำหรับวัยสูงวัย ประกอบด้วย (13) เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง (14) ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท ทั้งนี้ ทุกอายุ ประกอบด้วย

(15) บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน-จ่ายค่าเช่า (16) น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่ (17) เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ (18) เน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน (19) เงินคนพิการเดือนละ 3,000 บาท

ขณะที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ 650,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2570 ที่จะต้องนำมาสร้างระบบสวัสดิการตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกลโดยถือเป็นความรับผิดชอบของพรรคที่ต้องแจกแจงที่มารายได้ทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน เพื่อยืนยันว่าสวัสดิการทั้งหมด มีเงินจ่าย ทำได้จริง

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า หลักการสำคัญของพรรคก้าวไกลในการจัดหางบประมาณ คือต้องไม่สร้างผลกระทบต่อคนหมู่มาก โดยการเริ่มต้นที่การตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น ลดขนาดกองทัพและเรียกคืนธุรกิจกองทัพ ลดงบกลางลดโครงการที่ไม่จำเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่แล้ว เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลที่เป็นธรรมระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย และการพิจารณาภาษีก้าวหน้าประเภทใหม่ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลงในกรณีที่บุคคลครอบครองที่ดินจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมดทั่วประเทศ และ ภาษีความมั่งคั่ง ด้วยการเก็บภาษีความมั่งคั่งแบบขั้นบันไดจากบุคคลที่มีทรัพย์สินสุทธิเกิน 300 ล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 52)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ดร.ณัฏฐ์ ซัด ‘นันทนา’ เล่นเกมสองหน้า เบรก ‘สว.’ เลือกตุลาการศาลรธน.

ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ซัด ‘สว.นันทนา’ เล่นเกมสองหน้า ยกปมฮั้ว เบือกสว.ให้ชะลอเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นอำนาจหน้าที่ สว. มีผลสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะ

'3 ไม่' ยุทธศาสตร์พรรคส้ม 'พูดง่ายแต่ทำยาก' ในเกมการเมืองที่ซับซ้อนและพลิกผัน!

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลตามกลไกประชาธิปไตย