เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' สิ้นสภาพ ส.ส

18 พ.ย.2564 - เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ความเห็นส่วนตนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 17/2564 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่มีมติเสียงข้างมากว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่สิ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ทั้งนี้ความเห็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ราย พบว่ามี 7 รายมีความเห็นว่า นายไพบูลย์ ไม่สิ้นสภาพ ส.ส. ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , นายปัญญา อุดชาชน , นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ราย ประกอบด้วย นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นวินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ประกอบมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๕) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

ความเห็น

คดีนี้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจง และพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวของพรรค ต่อมาที่ประชุมพรรคมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามข้อบังคับพรรคโดยให้เหตุผลว่า พรรคไม่สามารถจะบริหารกิจการต่อไปได้ เนื่องจากเกิดปัญหาการขาดบุคลากรที่จะมาช่วยงานหัวหน้าพรรค จนไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคได้ตามกฎหมายที่กำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๒ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงหรือไม่

เห็นว่า พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ เป็นรากฐานในระบอบประชาธิปไตย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙ บัญญัติให้การตั้งพรรคการเมืองว่าเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน การเมืองเป็นงานที่ต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมภายใต้หลักสุจริต เพื่อเป็นแกนหลักในระบอบประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๑๐) บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส.ที่สิ้นสุดลง เนื่องจากขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง เพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ให้มีสิทธิสมัครเข้าพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค เพื่อให้ยังคงสภาพความเป็น ส.ส.ต่อไป อันเป็นการคุ้มครอง ส.ส.ที่เป็นสมาชิกพรรค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกยุบ

สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยบัญญัติการสิ้นสุดของพรรคการเมืองไว้ ๓ กรณี ตามมาตรา ๙๐ คือ มีการดำเนินการหรือมีเหตุตามมาตรา ๙๑ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา ๙๒ หรือ กรณีมีการควบรวมพรรคการเมือง

การเลิกพรรคตามข้อบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๗) เป็นเหตุที่บัญญัติขึ้นนอกเหนือจากเหตุตาม รธน. จึงเป็นข้อยกเว้นที่ต้องตีความเคร่งครัด การเลิกพรรคการเมืองตามข้อบังคับ จะต้องเป็นกรณีที่ข้อบังคับกำหนดเหตุที่จะให้ยกเลิกไว้อย่างชัดเจน มิใช่ให้กรรมการบริหารพรรคมีมติให้เลิกพรรคด้วยเหตุใดๆ ก็ได้

พรรคการเมืองต้องร่วมกันตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นการถาวร มิใช่เป็นพรรคเฉพาะกิจ การเลิกพรรคต้องมีเหตุผลที่เป็นความจำเป็นจริงๆ เหตุผลในการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปที่อ้างว่า หัวหน้าพรรคไม่สามารถบริหารกิจการของพรรคต่อไปได้เนื่องจากมีกรรมการบริหารพรรคลาออกหลายคน เป็นปัญหาบริหารทั่วไป ไม่มีความหนักแน่นหรือมีเหตุเพียงพอที่จะต้องเลิกพรรคการเมือง

เมื่อพิจารณาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) จะเห็นได้ว่า เป็นกรณีร้ายแรงที่ไม่อาจทำให้พรรคดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้นการสิ้นสภาพจึงต้องมีเหตุจำเป็นจนพรคไม่อาจดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งมีเหตุอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) กฎหมายจึงเปิดช่องตาม (๗) ให้เลิกพรรคการเมืองได้ โดยให้กำหนดไว้ในข้อบังคับ

หากยอมให้เลิกพรรคการเมืองโดยมติพรรคเป็นไปโดยง่าย ย่อมกระทบกับความมั่นคงในทางการเมือง และเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อหวังประโยชน์จากกองทุนอุดหนุนพรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากประชาชน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้เป็นช่องทางในการแยกตั้งพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งแล้วกลับมารวมกันในภายหลัง

ซึ่งกฎหมายบัญญัติเรื่องการควบรวมพรรคการเมืองในหมวด ๙ แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ ไว้แล้วว่า ระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็น ส.ส.มิได้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องมีความเป็นอิสระต่อกัน การเลิกพรรคหนึ่งเพื่อไปสมัครเข้าพรรคการเมืองอื่น ย่อมมีผลเช่นเดียวกับการควบรวมพรรคการเมือง

แม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๑ วรรคสี่ จะให้ถือว่าสิ้นสภาพพรรคการเมืองโดยการเลิกพรรคตามข้อบังคับ เป็นการถูกยุบพรรคการเมืองก็ตาม แต่การที่กฎหมายบัญญัติเพียงให้ถือว่าเป็นการถูกยุบพรรคการเมือง ย่อมมีความหมายว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่การยุบพรรคการเมือง เพราะมีคำสั่งยุบพรรคตามความหมายของ รธน. มาตรา ๑๐๑ (๑๐) อันเป็นข้อยกเว้นจากหลักซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า เป็นกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ต้องคำสั่งยุบพรรคการเมือง กฎหมายจึงให้โอกาสสมาชิกพรรคที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมีโอกาสหาพรรคการเมืองต้นสังกัดใหม่

การเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปด้วยเหตุดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการยุบพรรคการเมืองตามข้อยกเว้น รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ผู้ถูกร้องไม่มีสิทธิที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น

เมื่อ ส.ส.ต้องเป็นผู้ที่สังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง การที่ผู้ถูกร้องขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง สมาชิกภาพของ ส.ส.ย่อมสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๑๐) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง

นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นวินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ประกอบมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๕) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

ความเห็น

เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันที่มีความสำคัญ เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จะส่งสมาชิกของพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิทางการเมืองในการลงคะแนนเลือกตั้ง ฉะนั้นพรรคการเมืองจึงเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางการเมือง

เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว รธน.มาตรา ๔๕ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๑ บัญญัติให้กฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองซี่งต้องเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น

แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาพรรคการเมืองบางพรรค ส.ส. กรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคการเมืองบางคนอาจไม่ให้ความสำคัญกับหลักการดังกล่าวนัก มีการย้ายพรรคการเมืองกัน หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่อาจที่จะกำหนดได้ครอบคลุมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ดังนั้น การใช้การตีความกฎหมายจึงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมตาม รธน.มาตรา ๓

สำหรับการสิ้นสภาพพรรคการเมืองมีความแตกต่างจากการยุบพรรคการเมือง โดยการสิ้นสภาพเป็นกรณีที่พรรคไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นเงื่อนไขให้ศาลต้องมีคำสั่งยุบพรรค แต่พรรคไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องกระทำ หรือเป็นความประสงค์ของพรรคที่จะเลิกพรรคเสียเอง ซึ่งจากเอกสารบันทึกการประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ ในชั้นคณะกรรมการยกร่างจะเห็นได้ว่า เดิม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ในกรณีที่มีพรรคที่มีข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายกำหนดให้พรรคต้องสิ้นสภาพลง หากพรรคนั้นมีสมาชิกพรรคเป็น ส.ส.อยู่ในเวลานั้น กฎหมายไม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศให้พรรคนั้นสิ้นสภาพลง เพื่อเป็นการคุ้มครอง ส.ส.ให้มีพรรคสังกัด

แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยไม่ให้ห้ามนายทะเบียนมิให้ประกาศให้พรรคที่มี ส.ส.สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง และเปลี่ยนวิธีคุ้มครอง ส.ส.โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๙๑ วรรคสี่ ว่าเพื่อประโยน์ในการคุ้มครอง ส.ส. ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง

อีกทั้งเมื่อพิจารณาระบบเลือกตั้งตาม รธน. และ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมแล้วจะเห็นได้ว่า ในการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง กรณีผู้ถูกร้องจะส่งผลดังนี้

๑.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองเดิม เพราะในกรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องถือว่าบุคคลนั้นได้เป็น ส.ส.เพราะคะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนผู้ลงคะแนนมีความนิยมพรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ในขณะได้รับเลือกตั้ง

๒.จะก่อให้เกิดปัญหาในการคิดคะแนนเสียงเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๔ กำหนดให้ภายใน ๑ ปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตขึ้นใหม่ การคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.๒๕๖๑ และในกรณีที่ผลการคำนวณทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคใดลดลง ให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายตามลำดับพ้นจากตำแหน่ง

ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๑ กำหนดว่าภายใน ๑ ปีหลังจากวันเลือกตั้ง อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ ให้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยมิให้นำคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่มารวมคำนวณด้วย

และหากปรากฏว่าผู้สมัครใดกระทำการอันถือว่าเป็นการทุจริตเลือกตั้ง และผู้นั้นไม่ได้รับการเลือกตั้ง หากมีการนำคะแนนที่ผู้สมัครผู้นั้นได้รับไปรวมคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองที่ผู้นั้นได้รับไปรวมคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคใหม่ โดยมิให้นำคะแนนที่ผู้สมัครดังกล่าวได้รับไปรวมคำนวณด้วย

เมื่อต้องคิดคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับเสียใหม่ เพื่อนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค จะเกิดปัญหาว่าคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปที่สิ้นสภาพไปนั้นจะถูกนับเป็นคะแนนของพรรคกรเมืองใด

๓.ส่งผลกระทบต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอื่น เพราะเมื่อนำค แนนไปรวมกับพรรคใหม่ ก็จะมีปัญหาการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อย้ายเข้าไปพรรคใหม่ไปแทรกอยู่ลำดับใดของบัญชีรายชื่อ

นอกจากมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ส.ส.ที่มาจากระบบการย้ายเข้านี้ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนสิ้นสุดการรับสมัครรับเลือกตั้งตาม รธน.มาตรา ๙๐ บัญญัติแล้ว หากรับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะเป็นการได้เปรียบผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อคนอื่น เพราะไม่ต้องเสี่ยงว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับท้าย

เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูปตามประกาศ กกต.ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง และเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคตามข้อบังคับพรรค ทั้งที่มีสมาชิกเป็น ส.ส. อันเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปไม่เคารพต่อคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรค

และโดยที่ รธน.มีเจตนารมณ์ส่งเสริมให้สาถบันพรรคการเมืองเข้มแข็งและมั่นคงจึงบัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง การที่ผู้ถูกร้องในฐานะหัวหน้าพรรคซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปให้เข้มแข็งมั่นคง กลับร่วมกับกรรมการบริหารพรรคมีมติให้เลิกพรรค แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องไม่มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเป็นสถาบันพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของ รธน.แต่เป็นการจัดตั้งพรรคเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อรวบรวมคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขตทั่วประเทศมาเป็นคะแนนรวมของพรรคเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อมีมติเลิกพรรค อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริตที่จะดำเนินกิจการพรรคการเมือง

เมื่อผู้ถูกร้องดำเนินการให้มีมติเลิกพรรคและได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองจนกระทั่ง กกต.ประกาศการสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องจึงขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ แม้ผู้ถูกร้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๒ อันเป็นระยะเวลาภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง แต่ด้วยเหตุที่ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้ร่วมประชุมกับกรรมการบริหารพรรคแล้วมีมติให้เลิกพรรค จึงเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็ฯการกระทำที่เป็นเหตุให้พรรคถูกประกาศให้สิ้นสภาพ ผู้ถูกร้องจึงไม่ควรได้รับคาวมคุ้มครองตาม รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ประกอบ พ.ร.ป.มาตรา ๙๑ วรรคสี่ สมาชิกภาพของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของผู้ถูกร้อง จึงสิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ประกอบมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๕)

เห็นว่า เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปที่ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรคเลิกตามข้อบังคับตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๗) สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) นับแต่วันที่ กกต.ประกาศการสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๑ วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา ๑๐๑ (๑๐) ประกอบมาตรา ๙๐ และมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๕) นับแต่วันที่ กกต.ประกาศสิ้นสภาพของพรรประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ และให้ถือว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน

อ่านต้นฉบับ ความเห็นส่วนตน ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ