สภาฯอาการหนัก! 'ฝ่ายค้าน-ส.ว.' รุมจวก 'ชวน' เรียกประชุมนัดพิเศษ เสียเวลา 2 ชม.

สภาฯ อาการหนัก เปิดประชุมช้าเกือบ 2 ชั่วโมง ‘ฝ่ายค้าน-ส.ว.’ รุมจวก ‘ชวน’ มั่วนิ่มนัดพิเศษ ยัดกม.จริยธรรมสื่อ ‘ชวน’ ยันใช้สมองสร้างผลงานให้ทันเวลาที่เหลือ
 
7 ก.พ.2566 - เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก
 
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ คือ ให้มีสภาผู้ประกอบการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนระดับชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งยังรับรองให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีเสรีภาพเสนอข่าวหรือแสดงความเห็นแต่ต้องไม่ขัดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น ทั้งนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่มีผลเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อฯ โดยไม่ถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิต้องคำนึงถึงภารกิจหน่วยงานที่สังกัด เป็นต้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานการประชุมฯ ได้กดออดให้สมาชิกเข้าห้องประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. แต่ผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง กลับพบว่ามีสมาชิกเข้าประชุมเพียง 190 คน (จากสมาชิกทั้งหมด 667 คน) แบ่งเป็น ส.ส. 125 คน และส.ว. 65 คน ถือว่ายังไม่ครบองค์ประชุม 334 คน จึงไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะยังขาดอีก 144 คน และยังไม่ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ทีวีรัฐสภา 
 
ต่อมาเวลา 10.00 น. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ลุกขึ้นหารือโดยมีเพียงเสียงผ่านไมค์ลอดออกมานอกห้องประชุมว่า ตนไม่แน่ใจว่าประธานฯ นัดกี่โมง ตอนนี้เหตุใดองค์ประชุมยังไม่ครบ ทั้งที่ปกติหากนัดประชุม 09.00 น. พอเวลา 10.00 น. ก็จะครบองค์ประชุม และสามารถเปิดประชุมได้แล้ว ตนขับรถมาจากจ.อ่างทอง ตั้งแต่ 07.45 น. ยังสามารถมาประชุมตอน 09.00 น. ด้านน.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียดายค่าตั๋วเครื่องบิน และเสียเวลาในการเดินทางมาเข้าประชุม รวมถึงส.ส.หลายคนก็อยากจะใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ต่อสภาฯ 
 
ขณะที่พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ​ (พปชร.) พูดเสียงลอดไมค์ออกมาเช่นกันว่า ขณะนี้มีการขวนขวายให้รับผิดชอบร่วมประชุมในวันนี้ ถ้าจะมีเหตุอันใดอันหนึ่งไม่สามารถประชุมได้ อยากให้สภาฯ จดชื่อและเปิดเผยชื่อออกมา นายพรเพชร จึงชี้แจงว่า สภาฯ มีการเก็บสถิติไว้อยู่แล้ว สามารถไปดูได้
 
ต่อมาเวลา 10.15 น. ขณะรอสมาชิกให้ครบองค์ประชุม และยังไม่ได้มีการเปิดประชุม นายพรเพชร ได้ขอชี้แจงต่อที่ประชุมให้สมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมรับทราบว่า การประชุมในวันนี้เป็นประชุมเพียงเรื่องเดียว โดยการอภิปรายในวาระ 1 กำหนดเวลาในการภิปราย คนละ 7 นาที เรียงตามลำดับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. เป็นการประชุมที่จะต้องมีการลงมติ ตนอยากจะขอใหสมาชิกพิจารณาให้เสร็จ เพราะตนกลัวว่าในชั้นรับหลักการจะมีสมาชิกไม่ครบ เพราะตนอยากให้ลงมติได้ เพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับ นี้ นายชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา ได้กำหนดไว้ว่าจะพิจารณาฉบับนี้เท่านั้น ต้องทำให้จบกระบวนการ ถ้าไม่จบ หรือพิจารณาไม่ได้เลย ก็ต้องเลื่อนไปวัน ไม่ใช่วันพรุ่งนี้ (8 กุมภาพันธ์) และยังขาดองค์ประชุมอีกประมาณ 100 คน เพราะมีส.ว. มาเพียง 82 คน และส.ส. 151 คน รวม 233 คน 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมสภาฯ ยังคงไม่สามารถเปิดประชุมได้ แต่สมาชิกพยายามจะหารือถึงการอภิปรายในครั้งนี้ แต่นายพรเพชรได้ชี้แจงว่าเป็นหน้าที่ของวิปแต่ละฝ่ายต้องไปหารือกัน และขอให้มีสมาชิกครบองค์ประชุมก่อนจึงจะสามารถให้หารือได้ รวมทั้งขอให้แต่ละฝ่ายช่วยให้สมาชิกเข้าห้องประชุมด้วย เพราะยังมีบางส่วนยังอยู่นอกห้องประชุม ทั้งนี้ในเวลา 10.23 น. สมาชิกยังขาดอยู่เกือบ 100 คน
 
ส่วนนายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังค้างการพิจารณาอยู่ ซึ่งคงจะต้องเดินหน้า แต่จู่ๆ กลับมีใครไม่รู้ยัดร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯเข้ามา แล้วบี้นายชวน ให้เอาเข้ามาให้ได้ แต่แทนที่สภาฯ ที่เหลือเวลาการประชุม 2 สัปดาห์สุดท้าย ส.ส.จะได้พิจารณากฎหมายของ ส.ส. กลายเป็นติดกันแบบนี้ ทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น
 
ต่อมานายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรค พท. ลุกขึ้นสอบถามนายพรเพชร ว่า ตามวาระการประชุมรัฐสภาวันนี้ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ต่อ แต่เมื่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ใช้คำว่าประชุมนัดพิเศษ หมายความว่าจะเอาอะไรมาต่อก็ได้ใช่หรือไม่ และร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ จะถือว่าตกไปหรือไม่ โดยนายพรเพชร ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังไม่ตกไป และสามารถนำกลับมาพิจารณาต่อได้ 
 
ส่วนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์​ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (รองวิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า โดยหลักการแล้วการประชุมร่วมรัฐสภา จะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ต่อ แต่การประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ประชุมมีความไม่เห็นพ้องต้องกัน โดยส.ว. อยากให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ส่วนฝ่ายค้านอยากให้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชวนจึงได้หยิบยก 2 เรื่องนี้มาพิจารณา เพื่อให้ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แบ่งเป็น 2 วัน คือ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พิจารณาร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ จะยังไม่ตกไป และสามารถนำกลับมาพิจารณาต่อได้ 
 
โดยในเวลา 10.50 น. มีสมาชิกเข้าประชุม 334 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แม้นายพรเพชร จะยังไม่ได้แจ้งสมาชิกว่าองค์ประชุมครบ และเปิดประชุมตามระเบียบวาระ ก็ไม่ได้ปิดกั้น โดยปล่อยให้สมาชิกหารือและถกเถียงถึงการเลื่อนระเบียบวาระว่าจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ หรือร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ โดยฝ่ายส.ว. ทั้งหมด รวมถึงส.ส.ฝ่ายค้านเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ยืนกรานที่จะให้นำร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ เพื่อพิจารณาต่อ เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปที่มีความสำคัญ และเชื่อว่าจะสามารถผ่านการพิจารณาแล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้ และเสนอให้นำร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพิจารณาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่เปิดประชุมนัดพิเศษโดยไม่หารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน จนทำให้เกิดความวุ่นวาย จากนั้นที่ประชุมยังคงโต้เถียงกันยาวนานต่อเนื่องไปอีกกว่า 2 ชั่วโมง 
 
ทั้งนี้ นายจิรายุ กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่แล้ว ทางส.ว. ยังยืนยันว่าจะให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ต่อ แต่ตนแปลกใจว่า ต่อจากนี้เราจะมีธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้ โดยใช้กลวิธีว่า ถ้าไม่พึงพอใจก็ใช้อำนาจพิเศษของประธานรัฐสภา ให้ใช้วิธีการประชุมนัดพิเศษ ที่จะหยิบอะไรมาพิจารณาก็ได้ นี่คือการเลื่อนระเบียบวาระที่สุดที่สุดตั้งแต่ตนเป็นส.ส.มา ถ้าทำได้ต่อไปนี้ใครเป็นรัฐบาล คุมเสียงสภาฯ มาก และรู้จักส.ว.มาก ก็ใช้วิธีการการเลื่อนระเบียบวาระโดยไม่ต้องขอมติใช่หรือไม่ 
 
ส่วน นายตวง อันทะไชย ส.ว. ลุกขึ้นหารือว่า ประธานฯ ต้องพิจารณาว่ากฎหมายใดบ้างที่จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการ​ (กมธ.) และรอให้ผ่านสภาฯ แต่กฎหมายอีก 2 ฉบับยังเป็นวาระแรก ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาอีกนาน ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติด่วนเพื่อให้ที่ประชุมมีมตินำร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ มาพิจารณาก่อน เนื่องจากเป็นกฎหมายการปฏิรูปประเทศฉบับสุดท้าย ทำให้นายจิรายุ เสนอญัตติแทรกให้นำร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ กลับมาพิจารณา ตามวาระปกติไม่ใช่วาระพิเศษ ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ได้ขอให้นายพรเพชร วินิจฉัยญัตติของนายตวง ว่าขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 19 ที่ระบุว่าต้องพิจารณาตามระเบียบวาระเท่านั้น
 
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา หารือว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ เป็นกฎหมายการปฏิรูปประเทศ ถือว่ามีความสำคัญ ที่คาดว่าจะเสร็จในสมัยประชุมนี้ ตนเห็นด้วยกับนายตวง ที่ต้องกำหนดให้นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ในวันนี้ และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.จริธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่มีเรื่องการประชุมนัดพิเศษ เหมือนกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ จึงไม่สามารถนำร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ มาพิจารณาวันนี้ได้ 
 
ขณะที่ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นมาตำหนิการใช้ดุลยพินิจการจัดระเบียบวาระของประธานรัฐสภา ที่ต้องหารือร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือเกิดจากการใช้ดุลยพินิจของประธานรัฐสภา 
 
โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ได้ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่าไม่มีการประชุมรัฐสภานัดพิเศษ ถ้าจะเปลี่ยนวาระการประชุมต้องเสนอเป็นญัตติ และให้ที่ประชุมพิจารณา เว้นแต่ที่ประชุมลงมติเป็นอย่างอื่น และร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ถูกบรรจุเป็นระเบียบวาระเมื่อวันที่ 10 มกราคม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระการประชุมต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน
 
ต่อมาเวลา 12.14 น. นายชวน ชี้แจงงว่า ตนไม่ได้คิดอะไรตามอำเภอใจ และปรึกษานายพรเพชร แล้ว จึงจัดประชุมรัฐสภานัดพิเศษ การบริหารเวลาในช่วงที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องใช้สมองและความคิด เพื่อให้งานเกิดประโยชน์สูงสุด การจัดระเบียบวาระแบบปกตินั้นจะทำให้ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ จะพิจารณาไปอีกนาน จึงควรทำงานให้ออกมาภายในเวลาที่ทำได้ ภายใต้อำนาจที่ประธานฯ สามารถทำได้ เพื่อให้มีผลงานออกมา ถ้าประชุมปกติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน จะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน และอาจจะถูกมองว่าประธานฯ สบคบกับส.ว. หรือไม่ แต่ขอยืนยันว่า ไม่มีลับลมคมในให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน
 
จากนั้นเวลา 12.41 น. หลังจาก ส.ว.และฝ่ายค้าน ได้ฟังการชี้แจงของนายชวน ก็ไม่ได้ทักท้วง นายชวนจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่าเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และให้นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายดังกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษก ปชป. ยืนยันไม่จริง 'ชวน' หมดสิทธิลงสมัคร สส. มั่นใจ 'เฉลิมชัย' ไม่คิดเช่นนี้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถีงกรณีที่มีบุคคลให้ข่าวว่า “ชวน หลีกภัย” อาจหมดสิทธิลงสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อว่า

'ติ๊งต่าง' จี้ ปชป. แจงข่าวลือจะไม่ส่ง 'ชวน' สมัคร สส. ถ้าจริงต้องมีคำตอบให้สังคม

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ “ติ๊งต่าง” เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับ และแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีข่าวลือว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งคุณชวนลงสมัครสส.เขต และไม่ให้เป็นสส.บัญชีรายชื่อ

ฝ่ายค้านกู้ศรัทธา? 'พิธา' บอกลาสภา

การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีของฝ่ายค้านนำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ซ้อมใหญ่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสภาหน้าตามรัฐธรรมนูญ 151

'นิพิฏฐ์' ซัด ปชป.ตาขาวไม่ป้อง 'ชวน' โต้นายกฯเก็บค่าผ่านทาง 5 บาท 10 บาท

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก "ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย มิใช่ปกครองโดยรัฐบาล" ระบุว่า ผมฟัง นายกเศรษฐา ปะทะคารม กับอดีตนายกชวน หลีกภัย ในสภาเมื่อวาน ก็เพียงคิดเล่นๆ